สภาฝัง‘พิธา’ นัดโหวตนายกฯใหม่27ก.ค./พท.ถก8พรรค

สภาถกเดือดทั้งวัน ปมเสนอชื่อเป็นนายกฯ ซ้ำรอบสองได้หรือไม่  ก่อน "พิธา" รับทราบคำวินิจฉัยศาล รธน.สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ลุกยืนอำลาสภา ลั่น! ประเทศไทยเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว "ส.ส.ก้าวไกล" ปรบมือหลั่งน้ำตาอาลัย สุดท้าย "ส.ส.-ส.ว." ลงมติ 395 ต่อ 317 เสียง ห้ามชง "พิธา" ซ้ำสอง "ก.ก." ขอหารือในพรรคกำหนดท่าทีอีกครั้ง "สุริยะ" เผยผู้บริหารเพื่อไทยเตรียมนัด 8 พรรคร่วมคุยท่าทีโหวตครั้งใหม่ เล็งขอ ส.ว.สนับสนุน "เศรษฐา" ชิงนายกฯ "รทสช.-ส.ว." ลั่นพร้อมหนุนแต่ต้องไม่มีพวกแก้ 112

ที่รัฐสภา วันที่ 19 ก.ค. เวลา 09.35 น.  ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีวาระลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคหนึ่ง โดยการประชุมครั้งนี้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในสัดส่วนเหล่าทัพเดินทางมาร่วมประชุมด้วยเกือบทั้งหมด ยกเว้น พล.อ.ณรงค์พันธ์  จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ลาการประชุม เนื่องจากเดินทางไปราชการที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีกำหนดการเดินทางไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว

ทั้งนี้ เมื่อนายวันมูหะมัดนอร์เปิดการประชุม นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นบุคคลเหมาะสมดำรงตำแหน่งนายกฯ

จากนั้น นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์   ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อภิปรายเห็นแย้งว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 41 ห้ามเสนอญัตติซ้ำ ซึ่งญัตติเสนอนายพิธาเป็นนายกฯ นั้นตกไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ก.ค.  ที่ผ่านมาแล้ว ดังนั้น วันนี้จึงเสนออีกไม่ได้ และขออาศัยข้อบังคับ ข้อ 32 (1) เสนอญัตติว่า ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้อีกรอบ 

อย่างไรก็ตาม มี ส.ส.จาก 8 พรรคร่วมรัฐบาลลุกขึ้นประท้วง ทั้งนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่า นายอัครเดชดำเนินการไม่ถูกต้อง เพราะวันนี้ที่ประชุมรัฐสภาต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ นายรังสิมันต์ยังโต้แย้งด้วยว่า จะต้องทำตามระเบียบวาระการประชุม แต่สิ่งที่นายอัครเดชกระทำอยู่ไม่ได้อยู่ในระเบียบวาระ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เสนอว่า ขอให้มีการรับรองเสนอชื่อผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ เพื่อให้ญัตติสมบูรณ์ ก่อนจะดำเนินการคัดค้านต่อไป ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์วินิจฉัยว่าขอให้ดำเนินการตามขั้นตอนรับรองก่อน และให้นายอัครเดชรอ ทั้งนี้ จากการรับรองชื่อนายพิธา พบว่ามี ส.ส.ที่รับรอง รวม 304 คน

ด้านนายวิโรจน์กล่าวว่า ตอนนี้เรากำลังถกกันผิดประเด็น เพราะตามระเบียบวาระให้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งได้รับตำแหน่งนายกฯ ตนทราบดีว่ากำลังเอานิยามคำว่าญัตติ คือข้อเสนอเพื่อให้ที่ประชุมลงมติไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ซึ่งตามข้อบังคับที่ 29   ต้องเสนอเป็นลายลักษณ์อักษร หรือถ้าไม่เสนอล่วงหน้า ก็ต้องเข้าข้อบังคับที่ 32 ซึ่งผู้ที่ได้รับความเห็นชอบให้เป็นนายกฯ ไม่อยู่ในมาตรานี้ แต่อยู่ในข้อบังคับที่ 136

เถียงกันวุ่นโหวตซ้ำรอบ 2

 “ผมอยากเตือนทุกคนว่า ให้ไปอ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 5 ให้ดี ข้อบังคับไม่ได้ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ยืนยันว่าการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกฯ ไม่ใช่ญัตติ และถ้าตีความว่าเป็นญัตติ ต้องบอกด้วยว่าถ้ามีผลกระทบกระเทือนให้บันทึกด้วยว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” นายวิโรจน์กล่าว

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. กล่าวว่า การที่นายอัครเดชเชื่อว่าการเสนอโหวตนายกฯเป็นญัตติ แล้วตอนนี้ก็ยังเสนอญัตติซ้อนญัตติอีกว่าการโหวตนายกฯ ขัดข้อบังคับข้อ 41 ซึ่งตามข้อบังคับการเสนอญัตติซ้อนญัตติทำไม่ได้

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีสมาชิกหลายคนลุกขึ้นโต้เถียงกันอย่างเข้มข้น โดย ส.ว.สนับสนุนนายอัครเดช พร้อมย้ำว่าญัตติเสนอชื่อพิธานั้นต้องตกไปตามข้อบังคับ   แต่ยังถูก ส.ส.พรรค ก.ก.โต้แย้งเป็นระยะๆ

กระทั่งนายวันมูหะมัดนอร์เสนอให้ใช้ข้อบังคับข้อ 151 ให้ที่ประชุมลงมติเพื่อหาข้อยุติการตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา แต่ปรากฏว่าก็ยังมีการถกเถียงกันว่าอาศัยข้อบังคับข้อ 151 ไม่ได้ ทำให้ที่ประชุมเสียเวลากับประเด็นดังกล่าวกว่า 3 ชั่วโมงแล้ว

ต่อมาเวลา 12.50 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ประชุมรัฐสภากำลังถกเถียงกันเกี่ยวกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ปรากฏว่าเป็นเวลาเดียวกันกับที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราว ทำให้นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ลุกขึ้นแจ้งข่าวดังกล่าวต่อที่ประชุม ทำให้ถูก ส.ส.พรรค ก.ก.ประท้วง จนมีเหตุวุ่นวาย ทำให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมกล่าวด้วยน้ำเสียงโมโหว่า จะถกเถียงกันอีกกี่ครั้ง ตนเพิ่งเข้ามาทำหน้าที่ พร้อมขอให้นั่งลง ทั้งนี้ นายวิโรจน์ได้ประท้วงนายกิตติศักดิ์ว่า ในประเด็นคำวินิจฉัยของศาล ควรรอหนังสือราชการ อย่าใจร้อนหรือกระเหี้ยนกระหือรือ ทำไมเขาไม่ให้เข้าวัดหรือ

ขณะเดียวกัน นายพิธาได้เดินออกทางประตูหลังของห้องประชุม โดยได้โบกมือและชูบัตรประจำตัว ส.ส. ไปยังด้านหน้าห้องประชุมด้วย แต่ภายหลังก็ได้กลับเข้ามาร่วมประชุม

จนเวลา 13.28 น. สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้รับหนังสือแจ้งจากศาลรัฐธรรมนูญแล้ว โดยลงเลขที่รับ 8329/2566 ซึ่งเนื้อหาแจ้งถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องเรื่องสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธาไว้วินิจฉัย และมีคำสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. นับตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ลดจำนวนสมาชิกรัฐสภา จาก 749 เป็น 748 คน

เวลา 14.23 น. ระหว่างที่ประชุมร่วมรัฐสภากำลังอภิปราย ก่อนลงมติว่าการเสนอชื่อนายพิธาสามารถทำได้ตามข้อบังคับการประชุมข้อที่ 151 เพื่อพิจารณาว่าประเด็นการเสนอชื่อถือเป็นญัตติหรือไม่นั้น

พิธารับมติศาลอำลาสภา

ปรากฏว่านายพิธาได้ลุกขึ้นแจ้งต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า ขณะนี้มีเอกสารจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ตนหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะฉะนั้นขออนุญาตพูดกับท่านประธานว่า รับทราบคำสั่งและจะปฏิบัติตามคำสั่งจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยเป็นอื่น   ขอใช้โอกาสนี้อำลาท่านประธานจนกว่าเราจะพบกันใหม่ ฝากเพื่อนสมาชิกใช้รัฐสภาดูแลพี่น้องประชาชน

"ผมคิดว่าประเทศไทยเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. ถ้าประชาชนชนะมาได้ครึ่งทาง เหลืออีกครึ่งทาง ถึงแม้ผมจะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ ขอให้พี่น้องสมาชิกช่วยกันดูแลประชาชนต่อไป" นายพิธากล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อนายพิธากล่าวเสร็จได้ถอดบัตรประจำตัว ส.ส.วางไว้ที่โต๊ะ ขณะเดียวกัน ส.ส.ฝ่ายพรรค ก.ก.ได้ปรบมือเพื่อเป็นกำลังใจให้กับนายพิธา ซึ่งเจ้าตัวชูกำปั้นเพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ว่ายังสู้ต่อไป โดยบรรยากาศในห้องประชุมร่วมรัฐสภา ส.ส.พรรค ก.ก.ต่างอยู่ในอาการเศร้า นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. ถึงกับหลั่งน้ำตา ทำให้นายพิธาและ ส.ส.คนอื่นๆ ของพรรค ก.ก.ต้องเข้ามาปลอบให้กำลังใจนายณัฐวุฒิ และยังมีนายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ส.ส.ระยอง พรรค ก.ก. ที่ร้องไห้เข้ามาสวมกอดนายพิธา รวมถึงยังมี น.ส.ธิษะณา ชุณหะวัณ ส.ส.กทม.พรรค ก.ก. ก็ร้องไห้ด้วยเช่นกัน ซึ่งนายพิธายังมีสีหน้ายิ้มแย้มและได้พูดปลอบใจ  ส.ส.ของพรรค

ส่วน ส.ส.จากพรรค พท.หลายคนได้เข้ามาจับมือ และบางคนก็ตบไหล่เพื่อเป็นกำลังใจด้วย อาทิ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ นอกจากนี้ ยังมีนพ.ทศพร เสรีรักษ์ ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย มอบภาพวาดหน้าเหมือนให้แก่นายพิธา ก่อนที่นายพิธาจะเดินโบกมืออำลาออกจากห้องประชุม พร้อมเสียงปรบมือตลอดการเดินออกจากห้องประชุม 

 จากนั้นเวลา 15.45 น. ขณะที่สมาชิกกำลังอภิปรายวาระขอให้ที่ประชุมวินิจฉัยตีความข้อบังคับฯ ข้อ 41 เสนอชื่อนายพิธาเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาเป็นผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ถือเป็นการนำญัตติที่ตกไปแล้วขึ้นมาเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน ต้องห้ามตามข้อบังคับฯ ข้อ 41 หรือไม่นั้น เกิดเหตุวิวาทะกันระหว่างนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร   ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. กับนายสมชาย แสวงการ ส.ว. โดยเริ่มจากนายวิโรจน์นำคลิปการอภิปรายของนายสมชายที่เผยแพร่ในเว็บไซต์รัฐสภา มีเนื้อหาว่า ส.ว.จะไม่ขวางการโหวตนายกฯ ของเสียงข้างมากจากสภา หากมีเสียง ส.ส. 270- 300 เสียง พร้อมระบุว่าเป็นพฤติกรรมของส.ว.ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง หลังจากพบความพยายามขัดขวางแคนดิเดตนายกฯ ที่เป็นเสียงข้างมากของสภา  ทำให้นายสมชายลุกขึ้นประท้วงและขอให้ถอนคลิปดังกล่าว พร้อมกล่าวตอบโต้ว่า  ตนมีคลิปของนายวิโรจน์จำนวนมากเหมือนกัน แต่ไม่อยากนำมาเปิด ทั้งนี้อย่าเล่นเป็นเด็ก โตสักทีเถอะ

 ด้านนายวิโรจน์กล่าวตอบโต้ว่า หากให้ตนโต ก็ขอบอกท่านว่าแก่ให้เป็นด้วย  อย่าแก่กะโหลกกะลา อย่ากลัว อย่าแสดงอาการกลัวความจริง หลอนสิ่งที่ตัวเองเคยพูดไว้ ไหนบอกว่าแก่เป็น

ขณะที่นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. ลุกขึ้นกล่าวสนับสนุนนายวิโรจน์ และกล่าวตอบโต้นายสมชายด้วยว่า “เป็นผู้ใหญ่แล้ว อย่าเล่นเป็นเด็ก”

จากนั้นนายวันมูหะมัดนอร์ซึ่งทำหน้าที่ประธานขณะนั้นตัดบทเพื่อป้องกันการตอบโต้ไปมาจนบานปลาย โดยขอให้นายวิโรจน์ถอนคลิปดังกล่าว แต่เจ้าตัวไม่ยอม อ้างว่าเป็นคลิปที่นายวันมูหะมัดนอร์อนุญาตแล้ว ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวยอมรับว่า ตนได้อนุญาตตามเอกสารที่เสนอมา แต่ไม่ได้เปิดคลิปดูเนื้อหา พร้อมกับขอร้องให้นายสมชายถอนข้อเรียกร้องที่ให้นายวิโรจน์ถอนคลิป แต่นายสมชายไม่ยอมพร้อมตำหนินายวันมูหะมัดนอร์

สุดท้าย นายวันมูหะมัดนอร์ตัดบทโดยวินิจฉัยว่า ขอให้นายสมชายและนายวิโรจน์ยุติการตอบโต้ และไม่ต้องถอนคลิปที่เปิดไปแล้ว เพื่อให้การประชุมสภาดำเนินไปได้ด้วยความเรียบร้อยต่อไป

กระทั่งเวลา 16.55 น. หลังสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวาง นายวันมูหะมัดนอร์ทำหน้าที่ประธานการประชุม  เชิญให้สมาชิกเสียบบัตรแสดงตนเพื่อเป็นองค์ประชุม ก่อนลงมติว่าการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาเป็นผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ อีกครั้ง  ถือเป็นการนำญัตติที่ตกไปแล้วขึ้นมาเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน ต้องห้ามตามข้อบังคับฯ ข้อ 41 หรือไม่

มติ 395 ต่อ 317 ห้ามชงชื่อพิธา

ผลปรากฏว่า เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าห้ามเสนอชื่อนายพิธาซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ในสมัยประชุมเดียวกัน ด้วยคะแนน 395 ต่อ 317 งดออกเสียง 8 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง จากนั้นนายวันมูหะมัดนอร์สั่งปิดประชุมในเวลา 17.09 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลโหวตลงคะแนน 395 เสียงที่เห็นว่าชื่อของนายพิธาไม่สามารถนำกลับมาโหวตรอบสองได้ เป็นเสียงของซีกรัฐบาลรักษาการ เดิมที่ลงมติไปในทางเดียวกัน ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย, พรรคพลังประชารัฐ, พรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคประชาธิปัตย์,  พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคชาติพัฒนากล้า, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, พรรคท้องที่ไท และพรรคประชาธิปไตยใหม่ ที่ลงคะแนนไม่มีแตกแถว ยกเว้นนายชวน หลีกภัย และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ลงมติงดออกเสียง

สำหรับเสียง ส.ว.ที่เห็นว่าชื่อนายพิธาไม่สามารถนำกลับมาโหวตรอบสองได้ มี 211 เสียง โดยมีเสียง ส.ว. 2 เสียง จากเดิมที่ลงมติสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯในรอบแรก กลับมติว่าชื่อนายพิธาไม่สามารถนำกลับมาโหวตรอบสองได้ คือ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา กับนายวันชัย สอนศิริ ด้านผู้นำเหล่าทัพ ได้แก่ พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผบ.ทอ., พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร., พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกลาโหม ก็ลงมติเห็นด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่ลงคะแนน 317 เสียง ให้ชื่อนายพิธาสามารถนำกลับมาโหวตรอบสองได้ ยังคงเป็นเสียงของ 8พรรคร่วมตั้งรัฐบาลที่ลงมติไปในทางเดียวกัน ยกเว้นพรรคเสรีรวมไทย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่ไม่ปรากฏการลงมติใดๆ ทั้งสิ้น

ส่วนเสียง ส.ว. ที่จากเดิมเคยลงมติสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ ในรอบแรก จำนวน 13 เสียง แต่ในการลงมติรอบนี้ เหลืออยู่เพียง 8 เสียงเท่านั้นคือ นายไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์, พล.ต.ท.ณัฏฐวัฒก์ รอดบางยาง, นายเฉลา พวงมาลัย, นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล, นางประภาศรี สุฉันทบุตร, นายพิศาล มาณวพัฒน์, นายมณเฑียร บุญตัน และนายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์

ทั้งนี้ ชื่อของ 8พรรคร่วมรัฐบาล จากเดิมตอนโหวตนายกฯ รอบแรก มีเสียงสนับสนุน 324 เสียง แต่รอบนี้ได้ 317เสียง หายไป 7 เสียงได้แก่ นายวันชัย สอนศิริ, พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา, นายอำพล จินดาวัฒนา, นายพีระศักดิ์ พอจิต,  นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ, พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ขณะที่คะแนนงดออกเสียง 8 เสียง เป็น ส.ว. 6 คน คือ นายกิตติ วะสีนนท์,  นายขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันต์, นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา, นายพีระศักดิ์ พอจิต, นายสมพล เกียรติไพบูลย์, นายอำพล จินดาวัฒนะ และส.ส. 2 คน คือนายชวนและนายบัญญัติ ทั้งนี้ ในส่วนของ ส.ว. นายพีระศักดิ์กับนายอำพล ได้เปลี่ยนการลงมติเป็นงดออกเสียง จากเดิมรอบแรกลงมติสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ ส่วนคนที่ลงมติไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน ได้แก่ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์

นอกจากนี้ยังมี ส.ว.อีก 23 คน ที่ไม่ปรากฏการลงคะแนนใดๆ อาทิ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ, พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุด, พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ., นายอุปกิต ปาจรียางกูร, นายอนุศักดิ์ คงมาลัย และนายประพันธุ์ คูณมี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 15.54 น. ภายหลังจากนายพิธาออกจากห้องประชุมสภา ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว "Pita Limjaroenrat - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ระบุว่า ตั้งแต่การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม สังคมไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว  "กาก้าวไกลประเทศไทยไม่เหมือนเดิม" และประเทศไทยจะไม่มีวันกลับไปสู่จุดเดิมอีก ดังนั้น ต่อสู้ร่วมกันต่อไป เราชนะมาแล้วครึ่งทาง อีกครึ่งทางขอให้สู้ร่วมกันจนสำเร็จจงได้

ขณะที่นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรค ก.ก. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมร่วมรัฐสภาว่า ยังไม่ได้คุยกับนายพิธาหลังแจ้งต่อที่ประชุมรัฐสภาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งคงต้องขอพูดคุยกันก่อน

ถามถึงแนวทางที่จะให้สิทธิพรรค พท.เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ภายหลังรัฐสภามีมติไม่ให้เสนอชื่อนายพิธาซ้ำนั้น  นายชัยธวัชกล่าวว่า ยังต้องมีการพูดคุยกันก่อน และเชื่อว่าคงใช้เวลาในการพูดคุยกันไม่นาน เพราะมองว่าการได้นายกรัฐมนตรีเร็วจะดีที่สุด

เมื่อถามถึงกำลังใจของนายพิธา หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.จนกว่าศาลจะมีคำสั่งนั้น นายชัยธวัช กล่าวว่า นายพิธายังมีกำลังใจเต็มร้อย

นายชัยธวัชกล่าวถึงผลการประชุมร่วมรัฐสภาที่ออกมาว่า ไม่เกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะสมาชิกเตรียมที่จะอภิปรายมาตั้งแต่ช่วงเช้า หลังจากนี้พรรค ก.ก.จะประชุมหารือกันก่อนที่จะแถลงท่าทีอีกครั้งว่าจะทำอะไรหลังจากนี้

พท.จ่อคุย สว.หนุน 'เศรษฐา'

ส่วนนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค ก.ก. กล่าวว่า หลังจากนี้พรรค ก.ก.ต้องไปหารือกันอีกครั้งก่อน

ถามว่า ที่นายพิธาเคยระบุจะเปิดทางให้พรรค พท.หากพรรค ก.ก.ตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ มีกำหนดระยะเวลาเมื่อใด นายพิจารณ์กล่าวว่า จริงๆ วันนี้ตั้งใจจะมาให้เกิดการลงมติว่าเสนอชื่อนายพิธา แต่ปรากฏว่ากระบวนการเสนอชื่อนายพิธายังไม่เกิดขึ้น กลายเป็นการตีความการเสนอชื่อเป็นญัตติ จนมีการลงมติอย่างที่เห็น ก็ต้องอธิบายกับประชาชนว่า กระบวนการที่เกิดขึ้นในวันนี้ไม่ใช่กระบวนการเลือกนายกฯ แต่เกิดจากการตีความว่าการเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ เป็นญัตติตามข้อบังคับที่ 41 ซึ่งข้อบังคับบอกว่าถ้าญัตติใดตกไปแล้วไม่สามารถจะเสนอช้ำในสมัยประชุมได้ เว้นแต่ประธานจะวินิจฉัยว่าเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปจึงจะเสนอได้

 “เมื่อมีการตีความแบบนี้ ที่ประชุมลงคะแนนแล้ว ก็ปิดประชุมทันที ยังไม่ได้เข้าสู่การเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ แล้วประธานจะวินิจฉัยว่ามีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ มันก็คล้ายๆ กับยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการ ยังไปไม่ถึงการเสนอชื่อนายพิธา แล้วมีการลงมติ นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น หลังจากนี้ก็คงต้องพูดคุยกันภายในพรรค อาจเป็นพรุ่งนี้ (20 ก.ค.) ตอนนี้โทร.หานายพิธาก็ยังไม่รับสาย จึงยังไม่ได้พูดคุยกัน” นายพิจารณ์กล่าว

ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. กล่าวว่า หลังจากนี้ 8 พรรคร่วมจะนัดหมายปรึกษาหารือว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ในส่วนของพรรค พท. หัวหน้าและเลขาธิการพรรคจะเป็นผู้ประสานงานพูดคุย

ถามว่า กังวลหรือไม่ว่าในการเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรค พท. จะโหวตไม่ผ่านอีก นายสุริยะ กล่าวว่า คณะผู้บริหารพรรคเพื่อไทยต้องไปพูดคุยกับ ส.ว.เช่นกัน   

ซักว่าจะมีการปรับกระบวนทัพในการจัดตั้งรัฐบาลอย่างไร เนื่องจาก ส.ว.จะไม่โหวตให้ หากมีพรรค ก.ก.ร่วมจัดตั้งรัฐบาล นายสุริยะกล่าวว่า ผู้บริหารพรรคพท.ต้องกำหนดท่าทีของพรรค ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะมีการนัดประชุมกันเมื่อไหร่ จากนั้นจึงจะไปพูดคุยกับแกนนำของพรรคร่วมรัฐบาลที่เหลือ

ในส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวภายหลังรัฐสภามีมติไม่ให้เสนอชื่อโหวตนายพิธาชิงนายกฯ ซ้ำ ถึงกรณีถึงคิวพรรคอันดับ 2 จัดตั้งรัฐบาลแล้วหรือไม่ว่า ต้องไปถาม 8 พรรคร่วมก่อน ซึ่งเราก็ทำตามมติของพรรค ภท.

ถามว่า หากพรรค พท.ยังรวมกับพรรค ก.ก. จะไม่เอาใช่หรือไม่ นายอนุทินระบุว่า ก็เป็นไปตามที่ตนได้แถลงและโฆษกพรรคได้แถลงไว้ เมื่อถามย้ำว่าโอกาสจะมาถึงพรรคอันดับ 3 หรือไม่ และพร้อมหรือไม่ นายอนุทินปฏิเสธตอบคำถาม

เมื่อถามว่า เวลานี้ใกล้เข้ามาแล้วพรรคอันดับ 3 มีแนวโน้มอย่างไร  นายอนุทินกล่าวว่า ยังมีอีกหลายขั้นตอน เราก็ให้กำลังใจทุกคน ซักว่าถ้าพรรค พท.มาทาบทามพรรคอันดับ 3 ร่วมรัฐบาล จะมีเงื่อนไขอะไรหรือไม่ นายอนุทินปฏิเสธว่า ยังไม่ได้คุย และไม่ได้คิดอะไรเลย ก่อนปฏิเสธว่าวันนี้พอก่อน เจ็บคอ

นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)  กล่าวถึงท่าทีของพรรค รทสช. หลังจากชื่อนายพิธาไม่ผ่านโหวตนายกฯ แล้วว่า พรรค รทสช.ยืนยันชัดเจน ถ้าพรรคที่เป็นรัฐบาลไม่แก้ไขมาตรา 112 ก็ไม่ขัดข้องที่จะพูดคุย ดังนั้นจึงต้องดูว่ารอบที่ 3 จะเป็นอย่างไร หากพรรคอันดับ 2 จะจัดตั้งรัฐบาล เราก็ต้องมาดูว่าพรรคที่ร่วมรัฐบาลด้วยจะแก้มาตรา 112 หรือไม่ ถ้ามี เราก็ไม่ร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว นี่เป็นหลักการที่พรรคยืนยันมาตลอด

ถามว่า พรรค พท.ไม่ได้มีเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 นายธนกรกล่าวว่า เราก็ไม่ได้ขัดข้อง แต่ทุกอย่างต้องคุยกันในพรรคก่อน เพราะถ้ามีพรรคร่วมที่ต้องการแก้มาตรา 112 เราก็คงไม่สามารถไปร่วมรัฐบาลด้วยได้

"ก็ต้องรอดูว่าจะจบในสัปดาห์หน้าซึ่งถือเป็นสัปดาห์ที่ 3 หรือไม่ ถ้าไม่จบก็ต่อสัปดาห์ที่ 4 แต่ผมคิดว่าตอนนี้เราต้องเร่งเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้โดยเร็ว เพราะประชาชนก็รออยู่ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาให้ประชาชน" นายธนกรกล่าว

เมื่อถามว่า คิดว่าพรรค พท.จะทิ้งพรรค ก.ก.ได้หรือไม่ นายธนกรกล่าวว่า ตนคงไม่ไปก้าวล่วง แต่คิดว่าทุกพรรคก็ต้องยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ดังนั้นแกนนำคงต้องดู และคิดว่าหลังจากนี้กลไกต่างๆ คงไม่ยากแล้ว คิดว่าการพิจารณาเรื่องต่างๆ คงง่ายขึ้นแล้ว

ขณะที่ พล.อ.มารุต ปัชโชตะสิงห์ ส.ว. กล่าวถึงจุดยืนในการโหวตนายกฯ หากพรรค พท.มีการเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ ว่า ก็ต้องไปดูหน้างาน เมื่อถามว่าต้องมีการพิจารณาอีกครั้งใช่หรือไม่ พล.อ.มารุตกล่าวว่า “ครับ” เมื่อถามอีกว่า ส.ว.จะมีการพูดคุยอีกครั้งถึงแนวทางการโหวตหรือไม่ พล.อ.มารุต กล่าวว่า ส่วนใหญ่การโหวตเป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคน

เมื่อถามว่า หากเป็นชื่อนายเศรษฐาแต่มีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล จะมีการพิจารณาอย่างไร พล.อ.มารุตกล่าวว่า ก็คงจะพิจารณาพอสมควร ถามย้ำว่ามีแนวโน้มที่จะโหวตหรือไม่โหวตก็ได้ใช่หรือไม่ พล.อ.มารุตกล่าวว่า “ใช่ครับ” ถามอีกว่า ติดเงื่อนไขในข้อกังวลเรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก.ก.ใช่หรือไม่ พล.อ.มารุตกล่าวว่า ใช่ ส.ว.เราก็เป็นห่วงเรื่องนี้ เมื่อถามว่าหากไม่มีพรรค ก.ก.ร่วมรัฐบาลจะสบายใจในการโหวตมากขึ้นหรือไม่ พล.อ.มารุต กล่าวว่า “ก็น่าจะง่ายขึ้น แต่เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคน”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง