ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.

ศาล รธน.สั่ง "พิธา"  หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ทันที หลังมีมติเอกฉันท์รับคำร้องปมถือหุ้นสื่อ ศาลให้แก้ข้อกล่าวหาใน 15 วัน ขณะที่ ปธ.กกต. เผยไม่กังวลที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำสั่งรับตรวจคำร้องคดีตรวจสอบ "พิธา" เตรียมรวบรวมหลักฐาน หลังพบ ส.ส.ภูมิใจไทยถือหุ้นสื่อไอทีวี

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น โดยเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสี่ ประกอบวรรคหนึ่ง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 75 โดยให้นายพิธา ผู้ถูกร้อง ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 54

สำหรับคำขอของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายพิธา ผู้ถูกร้อง หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรค 2 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2  เห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฏเหตุอันควรสงสัย ว่ามีกรณีตามที่ถูกร้อง ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายพิธาอาจก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมาย และการคัดค้านโต้แย้งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานสำคัญของที่ประชุมรัฐสภา และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ จึงมีคำสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.66 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ประชุม กกต.มีมติด้วยคะแนนเสียง 4 ต่อ 1 เห็นว่ากรณีมีหลักฐานปรากฏว่านายพิธาเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดในวันสมัครรับเลือกตั้ง อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และเป็นเหตุให้สมาชิกภาพส.ส.ของนายพิธาสิ้นสุดลง จึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย และได้มีการยื่นคำร้องในบ่ายวันเดียวกัน

มีรายงานว่า สำหรับตุลาการเสียงข้างน้อย 2 เสียง ที่ไม่เห็นด้วยกับคำขอให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ประกอบด้วย นายนภดล เทพพิทักษ์ และนายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์

ทั้งนี้ ก่อนการประชุม มีการรักษาความปลอดภัยรอบบริเวณสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเข้มงวดกว่าทุกวัน มีคำสั่งของประธานศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงาน รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดตรวจเก็บกู้วัตถุระเบิด วัตถุต้องสงสัย (EOD)​ เข้ารักษาความปลอดภัยในพื้นที่อย่างเข้มงวดตลอดทั้งวัน ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีผู้ชุมนุมเข้ามาปักหลัก​ในพื้นที่

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ กล่าวถึงการที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำสั่งรับตรวจคำร้อง ในกรณีนายยงยุทธ เสาแก้วสถิต ทนายความ ยื่นฟ้อง กกต.ทั้ง 7 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง และการส่งเรื่องคุณสมบัติของนายพิธาให้ศาลรัฐธรรมนูวินิจฉัยว่า ไม่กังวล เพราะการปฏิบัติหน้าที่ หากมีใครไม่เห็นด้วย ก็สามารถยื่นคำร้องต่อศาลได้ และหากเรื่องถึงศาลแล้ว ก็ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของศาลในการพิจารณา

เมื่อถามถึงกรณีพบนายจักรกฤษณ์ ทองศรี ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ถือหุ้นสื่อไอทีวีจำนวน 40,000 หุ้น นายอิทธิพรกล่าวว่า เรื่องนี้ตามปกติไม่ต้องรอให้ผู้อื่นมาร้องเรียน กกต.มีอำนาจตรวจสอบได้โดยตรง ซึ่งเรื่องนี้หลังปรากฏเป็นข่าว โดยหลักแล้วสำนักงาน กกต.ซึ่งเปรียบเสมือนฝ่ายเลขาฯ ของ กกต. ก็จะพิจารณารวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน และหากเห็นว่าสมควรจะให้ กกต.พิจารณาอย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามนั้น ยืนยันการพิจารณาคำร้องของ กกต.ทุกเรื่อง พิจารณาบนพื้นฐานเดียวกันหมด และพิจารณาตามระเบียบ

ด้านนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ผู้ร้องต่อคณะ กกต. ให้ตรวจสอบคุณสมบัติสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเด็นเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ภายหลังทราบมติศาลรัฐธรรมนูญกรณีสั่งให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ว่า จากกรณีของนายพิธา ตนยืนยันในคำร้องและข้อเท็จจริงมาโดยตลอด และเมื่อกกต.มีคำร้องไป ศาลก็ต้องรับ ส่วนที่ศาลสั่งก็เป็นเรื่องของดุลพินิจ ซึ่งศาลเห็นข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับ กกต.

นายเรืองไกรกล่าวว่า แต่ที่ยังไม่ทราบอีกเรื่องหนึ่งคือ ศาลจะต้องให้นายพิธาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เหมือนกับคดีที่มีการร้อง ซึ่งโดยหลักศาลให้ชี้แจงครั้งที่หนึ่งและสอง ดังนั้นเมื่อคดีนี้มาถึงวันนี้ ที่ประชุมทราบผลคำสั่งศาล นายพิธาก็ต้องเดินออก อยู่ไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเทียบกรณีนายพิธาที่ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ กับกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในอดีตต่างกันอย่างไร  นายเรืองไกรกล่าวว่า กรณีนายธนาธรนั้นเป็นบริษัทครอบครัว พยานหลักฐานยังอาจชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเพิ่มเติมได้ แต่กรณีของนายพิธา เป็นกรณีบริษัทมหาชน

ถามถึงกรณีศาลอาญาคดีทุจริตฯ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. รับคำร้องที่มีผู้ร้อง 7 กกต.จัดเลือกตั้งโดยทุจริต กลั่นแกล้งนายพิธา  หาก กกต.มีความผิดจะทำอย่างไร นายเรืองไกรกล่าวว่า ไปอ่านพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลฎีกานักการเมืองดูก่อน ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยเรื่องนี้โดยผ่าน ป.ป.ช. เท่านั้น ส่วนศาลอื่นไม่มีอำนาจรับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ล่า ‘หมอบุญ’ เมียแค้นเอาคืน

ออกหมายจับ "หมอบุญ" พร้อมพวก 9 คน ร่วมหลอกลวงประชาชนร่วมลงทุนธุรกิจ รพ.ขนาดใหญ่หลายโครงการ เสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท