‘พิธา’ลุ้นมติ8พรรค ถก17ก.ค.‘พท.’หวั่นผิดกม.ดันซ้ำ/‘ภูมิธรรม’ค้านแก้ม.272

8 พรรคร่วมนัดถกจันทร์นี้   "ก้าวไกล" ยังฝัน ส.ว.โหวต "พิธา" รอบ 2 ดักทางหากเสนอชื่อ "บิ๊กป้อม" ลงแข่งต้องถูกอภิปรายหาเหตุผล "แกนนำ พท." ย้ำพรรคร่วมยังไม่เคาะเสนอชื่อ “พิธา” รอบสอง ห่วงผิดข้อบังคับและซ้ำรอยรอบแรก ค้านแก้ ม.272 แนะโฟกัสเรื่องจัดตั้งรัฐบาลหวังได้ความชัดเจนก่อนโหวต "ส.ว.เสรี" ยก ม.272 วรรค 2-ข้อบังคับฯ 41 ฟันธงชื่อ "พิธา" ถูกตีตกแล้ว เตือนหากยังฝืนจะมีคนยื่นศาล รธน. ขณะที่ พปชร.อยู่นิ่งๆ รอจังหวะ "อดุลย์" ชงทุกพรรคร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลช่วยชาติ ภาคประชาชน จี้ ส.ว.โหวตหนุน "พิธา" นิด้าโพลหนุนโหวต "พิธา" ไปเรื่อยๆ

เมื่อวันอาทิตย์ มีรายงานความคืบหน้าถึงการโหวตนายกรัฐมนตรีรอบสอง ว่า 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเลื่อนกำหนดประชุมหัวหน้าพรรค จากเดิมที่จะประชุมในวันอังคารที่ 18 ก.ค. ได้เลื่อนมาเป็นวันจันทร์ที่ 17 ก.ค.นี้ เนื่องจากกำหนดเดิมตรงกับการประชุม 3 ฝ่าย ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม นอกจากนี้ หลายพรรคยังนัดประชุมพรรคในวันอังคาร ก่อนการประชุมร่วมรัฐสภาด้วย

ทั้งนี้ ยังไม่มีกำหนดสถานที่นัดหมายประชุมในวันจันทร์ เนื่องจากยังต้องรอแกนนำพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่หารือกันเรื่องการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเสร็จสิ้นในวันอาทิตย์ กำหนดและแจ้งไปยัง 6 พรรคร่วมที่เหลือ

ส่วนบรรยากาศการหารือ แหล่งข่าวใน 8 พรรคร่วมเปิดเผยว่า เป็นไปในทิศทางที่ดี ยืนยันว่าจะมีการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 19 ก.ค.นี้แน่นอน และหากยังไม่ผ่าน อาจให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้ง โดยพรรคเล็กที่เหลือไม่ติดใจ แต่ขอเพียงแค่ 8 พรรคร่วมไม่แตกกันไปไหน

นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงโรดแมปทั้ง 2 สมรภูมิของพรรค ก.ก.ในการผลักดันนายพิธาขึ้นเป็นนายกฯ และการปิดสวิตช์ ส.ว.ว่า อย่างที่นายพิธาได้แถลงว่าในการโหวตนายกฯ ครั้งถัดไปในวันที่ 19 ก.ค.นี้ และการโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกมาตรา 272 เป็นการลงมติครั้งสำคัญ ประกอบกับบรรยากาศการสนับสนุนจากประชาชนที่สะท้อนออกมาประกอบกัน เป็นการประเมินว่าโอกาสที่นายพิธาจะได้เป็นนายกฯ ​มีมากน้อยอย่างไร ถ้าชัดเจนว่าโอกาสมีน้อยจริงๆ นายพิธาพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้ประเทศอีกครั้ง ด้วยการให้พรรคที่ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับ 2 ขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

เมื่อถามว่า ระยะเวลาที่เหลืออยู่ก่อนถึงวันโหวตนายกฯ​ ครั้งที่ 2 ก้าวไกลมียุทธศาสตร์ในการที่จะดึงเสียง ส.ว.ให้มาสนับสนุนนายพิธาอย่างไร นายชัยธวัช กล่าวว่า เป็นการพยายามพูดคุยทำความเข้าใจกับ ส.ว.ต่อ โดยเฉพาะกับ ส.ว.ที่ยังลังเล ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย และยังคงมีอีกหลายๆ วิธีการเพื่อที่จะได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภามากขึ้น แต่ก็ต้องมีการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจซ้ำรอยในวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา

เมื่อถามถึงความกังวลของพรรค ก.ก.หากขั้วรัฐบาลเดิมอาจจะเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพื่อชิงกับนายพิธาในวันโหวตนายกฯ เลขาธิการพรรคก้าวไกลกล่าวว่า หากมีการเสนอชื่อจริง ก็ควรที่จะให้มีการอภิปรายในสภา เพื่อให้แคนดิเดตนายกฯ​ ถูกอภิปราย และให้เกิดการซักถามกันเกิดขึ้น หลายคนก็เกิดความกังวลว่า หาก พล.อ.ประวิตรถูกเสนอชื่อแข่งจะได้รับการโหวตอย่างท่วมท้น ทั้งจาก ส.ว.และฝั่ง ส.ส.เสียงข้างน้อยจนสามารถขึ้นเป็นนายกฯ ได้ แต่ตนไม่ได้กังวลขนาดนั้น เพราะเชื่อว่าแม้จะมี ส.ว.จำนวนหนึ่งพร้อมหนุน พล.อ.ประวิตร แต่ก็มี ส.ว.จำนวนมากที่ไม่พร้อมจะโหวตให้เช่นกัน

"ส.ว.จำนวนมากก็ยังไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายต่อสังคมและตนเองได้  ว่าเหตุใดเมื่อไม่โหวตให้นายพิธาเป็นนายกฯ ทั้งที่เป็นเสียงข้างมาก แล้วเหตุผลอะไรที่จะต้องโหวตให้กับ พล.อ.ประวิตร ยังไม่รวมถึงคุณสมบัติความเหมาะสมในการเป็นผู้นำประเทศ ในสถานการณ์ที่ต้องการผู้นำเพื่อแก้ไขปัญหาซับซ้อน ดังนั้นผมไม่ได้หนักใจอะไร เชื่อว่า พล.อ.ประวิตรก็ยังไม่พร้อมที่จะเสนอชื่อตัวเองแข่งด้วยซ้ำ" นายธวัชชัยกล่าว

พท.จี้ ก.ก.ตอบให้ชัดเจน

ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายพิธาขอสู้อีก 2 สมรภูมิคือ การโหวตนายกฯ วันที่ 19 ก.ค. และการเสนอแก้มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ ว่า การสื่อสารระหว่างตัวแทนพรรคก้าวไกลที่ร่วมหารือกับพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 14 ก.ค. กับนายพิธา อาจมีความคลาดเคลื่อน เพราะยังคงมีความเห็นต่างที่แต่ละพรรคยังสงวนความคิดเห็นไปหารือภายในกันก่อน แล้วค่อยไปหารือกับ 8 พรรคร่วมที่เดิมกำหนดเป็นเช้าวันที่ 18 ก.ค. แต่มีการเปลี่ยนมาเป็นเย็นวันที่ 17 ก.ค. ก่อนที่ทั้งสองพรรคจะนำความเห็นมาหารือกันอีกครั้งเพื่อกำหนดเป็นแนวทางโหวตนายกฯ วันที่ 19 ก.ค. เราจึงยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับการเสนอชื่อนายกฯ วันที่ 19 ก.ค.ของ 8 พรรคร่วม 

"เรื่องที่ทั้งสองพรรคสงวนความคิดเห็นกลับไปพิจารณาภายในนั้น เช่นเรื่องการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ถือเป็นการเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 หรือไม่ เพราะการเสนอญัตติซ้ำในสมัยประชุมเดียวกันไม่สามารถทำได้ ทางออกของเรื่องนี้คือประธานรัฐสภาเป็นผู้วินิจฉัย หรือให้ที่ประชุมลงมติหาทางออกร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ทั้งสองแนวทาง หากสามารถเสนอชื่อนายพิธาได้ 141 เสียงของพรรคเพื่อไทยพร้อมสนับสนุนนายพิธา แต่นายพิธาก็ต้องตอบให้ชัดว่าสมรภูมินี้จะสู้ถึงที่สุดเมื่อไหร่ คะแนนเสียง ส.ว.ที่ได้มาเพียง 13 เสียง กว่าจะไปถึง 64 เสียง พรรคก้าวไกลต้องตอบให้ได้ว่าจะนำมาจากไหน การเสนอครั้งนี้มีโอกาสสำเร็จหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการเสนอชื่อแข่งจากซีกรัฐบาลเดิมที่มีกระแสข่าวเข้ามาอีก"

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากไม่เสนอชื่อนายพิธา 8 พรรคร่วมจะเสนอชื่อใคร นายภูมิธรรมกล่าวว่า ขอสงวนสิทธิ์ที่จะตอบคำถาม เพราะต้องให้ได้ความชัดเจนก่อนว่าจะเสนอชื่อนายพิธาหรือไม่ ส่วนที่ระบุว่าเอ็มโอยูสิ้นสุดไปแล้วนั้น ไม่ขอตอบประเด็นดังกล่าว แต่สิ่งที่เห็นคือมีการเพิ่มเนื้อหาของเอ็มโอยู ที่ไม่ได้อยู่ในข้อตกลงเดิมตามที่นายพิธาได้แสดงความคิดเห็นออกมา ถือเป็นการประกาศของพรรค ก.ก.โดยที่ยังไม่ได้ข้อสรุปร่วมกัน 

 เมื่อถามถึงกรณีพรรค ก.ก.ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 นายภูมิธรรมกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเคยยื่นแก้ไขมาตรานี้ไปแล้ว 2 ครั้งโดยไม่ผ่านการพิจารณา มองว่าไม่ใช่เรื่องด่วนที่ต้องทำตอนนี้ เพราะทราบผลอยู่แล้วว่าไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากต้องมีเสียงฝ่ายค้านสนับสนุน 20% ตอนนี้ยังไม่มีฝ่ายค้าน และต้องได้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 ของสมาชิก ส.ว. หรือ 84 เสียง จะหามาจากไหน มองว่าเป็นการเสนอเพื่อเป็นสัญลักษณ์เท่านั้น หากเรื่องแก้มาตรา 272 ของพรรค ก.ก.เข้าสภา พรรค พท.จะงดออกเสียง เพราะเราอยากให้โฟกัสเรื่องจัดตั้งรัฐบาลเป็นสำคัญที่สุด เพราะปัญหาประชาชนการฟื้นฟูเศรษฐกิจชัดเจนเป็นเรื่องที่รอไม่ได้

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค พท. ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุม 8 พรรคร่วมช่วงเย็นวันที่ 17 ก.ค.ว่า ก่อนไปหารือกับ 8 พรรคร่วม ทางพรรคเพื่อไทยคงมีการหารือภายในถึงสถานการณ์การเมืองหลายๆ เรื่อง ซึ่งการอภิปรายวันที่ 13 ก.ค. เห็นชัดว่า ส.ว.ไม่ติดขัดในการเลือกนายพิธา แต่เขากังวลเรื่องท่าทีพรรค ก.ก.เกี่ยวกับประเด็น 112 ซึ่งมองว่าก่อนการหารือกับพรรคร่วม 8 พรรค เย็นวันที่ 17 ก.ค. พรรค ก.ก.ควรมีความชัดเจนในประเด็นนี้มาบอกพรรคร่วมด้วยกัน ส่วนมาตรา 272 ไม่ได้อยู่ในข้อตกลงเอ็มโอยู และก่อนเสนอประเด็นนี้พรรค ก.ก.ก็ไม่ได้หารือกับพรรคร่วมทั้ง 8 พรรค เราเห็นว่าขณะนี้ยังไม่ถึงเวลามาพูดถึงเรื่องดังกล่าว ประเด็นที่ประชาชนเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนคือการจัดตั้งรัฐบาล ก็อยากให้พรรค ก.ก.โฟกัสตรงนี้ ดังนั้นการประชุมครั้งนี้ก็หวังว่าจะได้ความชัดเจนจากพรรค ก.ก.ก่อนโหวตวันที่ 19 ก.ค.

เมื่อถามถึงกรณีเสนอชื่อนายพิธาครั้งที่ 2 สามารถเสนอได้หรือไม่ นายประเสริฐกล่าวว่า เป็นประเด็นข้อกฎหมาย ซึ่งทราบว่าประธานรัฐสภาได้หารือทีมนักกฎหมายของรัฐสภาเพื่อหาความชัดเจน และวันที่ 18 ก.ค. ช่วงเช้าประธานรัฐสภาเรียกประชุมวิป 3 ฝ่าย และจะได้ความชัดเจนก่อนการโหวตวันที่ 19 แน่นอน

นายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ได้ให้สัมภาษณ์หลังจากทำคลิปโปรโมตเรื่องเศรษฐกิจของพรรคว่า พรรคเพื่อไทยต้องเดินหน้า ไม่ว่าจะเป็นแกนนำหรือส่วนหนึ่งของรัฐบาล เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ ปากท้อง ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ต้องเร่งจัดการ หากเป็นรัฐบาลได้ดูแลในกระทรวงที่ได้รับมอบหมาย ก็จะเร่งผลักดันมาตรการต่างๆ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก ต้องระงับความเดือดร้อนของประชาชน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เลือกตั้งจบสองเดือน แต่ยังไม่ได้นายกฯ ประชาชนมีความเอือมระอา ส่วนตัวยืนยันว่าเราอยู่ใน 8 พรรคร่วมที่สนับสนุนนายพิธาจนสุดทาง                 

พปชร.อยู่นิ่งๆ รอจังหวะ

นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกระแสข่าวมีความเคลื่อนไหวผลักดัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. แข่งชิงตำแหน่งนายกฯ  หากมีเสียง ส.ส.สนับสนุน 250 เสียงว่า ประเด็นดังกล่าวยังเป็นข่าวเท่านั้น และเมื่อนายพิธาไม่ผ่านการโหวตของสภา ถือว่าหมดความชอบธรรมแล้ว จึงเป็นความชอบธรรมของพรรคเพื่อไทย ที่อยู่อันดับ 2 ไปคุยกับพรรคร่วมที่เหลือเพื่อรวบรวมเสียงเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล ส่วนข้อสังเกตว่ามีการมาพูดคุยกับ พปชร.ร่วมรัฐบาล นั้น ตนไม่ทราบ

"เวลานี้พรรค พปชร.เราจะอยู่นิ่งๆ ดูจังหวะที่จะออกมา และเรื่องใดที่จะช่วยกันไม่ให้บ้านเมืองถึงทางตัน มีรัฐบาลบริหารประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้โดยเร็ว ก็ต้องช่วยกัน แต่ต้องไม่สวนทางกับจุดยืนของพรรค พปชร.เรื่องก้าวข้ามความขัดแย้ง และเราไม่มีเงื่อนไขในการทำงานร่วมกับใคร แต่มีเงื่อนไขไม่เอาพรรคหรือกลุ่มการเมืองที่จะแก้ไขมาตรา 112" นายบุญสิงห์กล่าว 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวความเคลื่อนไหวของ พปชร.เตรียมขอเสียง ส.ส.จาก 8 พรรค ให้ได้ 250 เสียง เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประวิตรเป็นนายกฯ หากมีการเสนอชื่อแข่ง นายบุญสิงห์กล่าวว่า คงไม่มี เพราะเรื่องการรวมเสียงตั้งรัฐบาล หรือเสนอชื่อนายกฯ เพื่อโหวตในรอบ 2 ต้องเป็นเรื่องของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล รวมถึงพรรคร่วม ต้องไปพูดคุยตกลงกันเองว่าจะเลือกแนวทางใด

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงกรณีที่พรรค ก.ก.ต้องการเสนอชื่อนายพิธาให้รัฐสภาพิจารณาว่าจะเห็นชอบเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 อีกครั้งในวันที่ 19 ก.ค.ว่า กรณีการเสนอชื่อนายกฯ ให้รัฐสภาพิจารณาจะเข้าข่ายเป็นญัตติและตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 กำหนดไว้ชัดเจนว่า ญัตติใดที่ตกไปแล้วหรือรัฐสภาไม่เห็นชอบ ห้ามนำกลับมาเสนอใหม่ แล้วยังมีความของรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสอง ที่ระบุว่า กรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกฯ จากบัญรายชื่อพรรคการเมืองแจ้งไว้ ตามมาตรา 88 กรณีดังกล่าวมองว่าแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคนั้นๆ ทำได้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาถือว่าหมดสิทธิเสนออีก และต้องพิจารณาแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองอื่นที่มีสิทธิต่อไป

"หากฝืนจะทำได้ จะให้โหวตซ้ำ ระวังจะมีผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญว่าทำผิดรัฐธรรมนูญ ไม่ว่ารอบสองคุณจะชนะหรือแพ้ แต่ไม่ถึงขั้นที่ ส.ว.จะพิจารณาไปถึงระดับนั้น" นายเสรีกล่าว

นายเสรีกล่าวว่า จากนี้พรรคเพื่อไทยคือพรรคที่ได้รับโอกาส แต่หากพรรคเพื่อไทยยังรวมกับก้าวไกล หรือให้พรรคก้าวไกลอยู่ร่วม 8 พรรค คาดว่าที่ประชุมรัฐสภาจะไม่เห็นด้วย หากแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยไม่ได้รับเสียงเห็นชอบ ชื่อนั้นจะเสียไป แต่พรรคเพื่อไทยยังมีโอกาสอยู่ เพราะมีแคนดิเดตนายกฯ 3 คน

เมื่อถามว่า ข้อบังคับการประชุมให้ประธานรัฐสภาตัดสินใจ นายเสรีกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ที่มติของสภา การประชุมโหวตนายกฯ รอบสอง อาจมีประเด็นให้เกิดกรณีอภิปรายเรื่องหลักการและข้อบังคับการประชุมได้ แต่สุดท้ายจะสรุปอย่างไร ต้องขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม ซึ่งอาจจะมีคนเสนอให้โหวตหรือไม่ก็ได้

'อดุลย์' ชงรัฐบาลช่วยชาติ

ขณะนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา ’35 กล่าวว่า ผลการลงมติโหวตเลือกนายกฯ ไม่เหนือความคาดหมาย เพราะรู้กันดีอยู่แล้วว่า ส.ว.จะไม่โหวตให้นายพิธา ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความแตกแยกทางการเมือง เนื่องจากพรรคที่ได้เสียงอันดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เมื่อมีการสลับขั้วก็จะเกิดการชุมนุมต่อต้านจากอีกฝ่าย หากปล่อยให้ดำเนินการไปเช่นนี้ สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นนองเลือดอีก จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องรอมชอมสามัคคีกัน เอานโยบายที่เหมาะสมจากทุกพรรคการเมืองมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมืองอย่างแท้จริง และเชิญบุคคลที่มีความรู้ความสามารถจากทุกพรรคมาร่วมกันเป็นรัฐบาลช่วยชาติโดยไม่ยึดติดโควตา

ที่ห้องประชุมด้านหลังอนุสรณ์ 14 ตุลา คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และภาคประชาชน จัดเวทีแถลงวิพากษ์บทบาท ส.ว. และข้อเสนอในการเลือกนายกฯ วันที่ 19 ก.ค.66 ประกอบด้วย นายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป., นายจำนงค์ หนูพันธุ์  ประธานขบวนการการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move), นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), นายเยี่ยมยอด ศรีมันตะ ที่ปรึกษาสหภาพครูแห่งชาติ และนาย อมร อมรรัตนานนท์ อดีตเลขาธิการเครือข่ายเดือนตุลา โดยภาคประชาชนขอโอกาสอีกครั้งว่า ส.ว.ควรโหวตตามเสียงข้างมากในสภา และอย่าโหวตงดออกเสียงอีก เพราะจะเท่ากับไม่เห็นชอบ แต่หากยังเป็นแบบเดิม จะทำให้บทบาท ส.ว.ถูกตั้งคำถามอย่างหนักว่า ส.ว. เป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตยหรือไม่

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล”  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “เลือกนายกรัฐมนตรี 2566” ระหว่างวันที่ 11-12 ก.ค.2566 รวมทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง สรุปว่า หากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้คะแนนเสียงไม่เพียงพอที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 43.21 ระบุว่าควรมีการเสนอชื่อนายพิธา เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ รองลงมา ร้อยละ 20.69 ระบุว่า ควรมีการเสนอชื่อนายพิธา เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาอีก 1-2 รอบเท่านั้น, ร้อยละ 12.98 ระบุว่าพรรคก้าวไกลควรยอมยกเลิกบางนโยบายที่ ส.ว.ไม่เห็นด้วย เพื่อให้ได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้น, ร้อยละ 7.94 ระบุว่าควรเปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคแทนทันที, ร้อยละ 4.88 ระบุว่าพรรคก้าวไกลควรเจรจาชวนพรรคการเมืองในรัฐบาลปัจจุบันเข้าร่วมรัฐบาล เพื่อให้ได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้น, ร้อยละ 2.67 ระบุว่าควรมีการชุมนุมประท้วงเพื่อกดดัน ส.ว. ให้เลือกนายพิธา, ร้อยละ 2.52 ระบุว่าพรรคเพื่อไทยควรขอเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคแทนทันที, ร้อยละ 2.29 ระบุว่าพรรคก้าวไกลควรประกาศไปเป็นฝ่ายค้านทันที, ร้อยละ 2.06 ระบุว่าพรรคเพื่อไทยควรสลับขั้วในการจัดตั้งรัฐบาลทันที

เมื่อถามถึงบุคคลที่มีโอกาสจะได้เป็นนายกฯ หากนายพิธาไม่ได้รับเสียงสนับสนุนที่เพียงพอจากรัฐสภา พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 38.55 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองลงมา ร้อยละ 35.04 ระบุว่าเป็นนายเศรษฐา ทวีสิน, ร้อยละ 6.79 ระบุว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ร้อยละ 5.65 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ, ร้อยละ 5.42 ระบุว่าเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และร้อยละ 4.27 ระบุว่าเป็นนายอนุทิน ชาญวีรกูล.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธปท.จับตาแจกเงินเฟส2-3

“คลัง” ฟุ้งเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย.โตต่อเนื่อง อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุนเต็มพิกัด