“คลัง” คาดไร้รัฐบาลใหม่ฉุดงบปี 2567 ล่าช้าครึ่งปี ทุบจีดีพีสะดุด 0.05% งัด 3 แผนวงเงิน 6.3 แสนล้านบาทมาฉุดรั้งเศรษฐกิจ “กกร.” ร่อนหนังสือถึง “บิ๊กตู่” บี้ลดค่าเอฟทีรอบปลายปีไม่ควรเกิน 4.25 บาท
เมื่อวันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม 2566 นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ต้องล่าช้าออกไปเนื่องจากยังไม่มีรัฐบาลว่า คาดว่าเต็มที่ไม่เกิน 6 เดือน หรือ มี.ค.2567 ซึ่งจะกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทย ประมาณ 0.05% โดยคาดว่าช่วงที่เหลือของปี 2566 การเบิกจ่ายงบประมาณจะยังเป็นไปตามที่วางไว้ และได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเบิกจ่ายให้เป็นไปตามตามแผน ส่วนที่งบประมาณ 2567 ที่ล่าช้า ต้องหารือกับสำนักงบประมาณว่ามีงบประมาณส่วนใดบ้างจากงบประมาณปี 2566 มาใช้ไปพลางก่อน โดยจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา
นายกฤษฎากล่าวว่า เบื้องต้นระหว่างที่รอรัฐบาลใหม่มาจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 กระทรวงได้เตรียม 3 แนวทาง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และหากทำได้ ก็จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าวได้ประมาณ 0.03-0.04% ประกอบด้วย 1.นำงบประมาณประจำในส่วนที่เบิกจ่ายก่อนได้ จากเดิมที่จะมีการเร่งเบิกจ่ายปลายปี ให้นำมาใช้ก่อนในช่วงต้นปีงบประมาณทันที เช่น งบอบรม สัมมนา ซึ่งมีอยู่ราว 5-6 หมื่นล้านบาท 2.งบลงทุนรัฐวิสาหกิจที่จะเร่งเบิกจ่ายได้ โดยในปีปฏิทินให้เร่งเบิกจ่ายปลายปี 2566 และต้นปี 2567 เช่น งบเวนคืน งบซื้อที่ดินต่างๆ ซึ่งส่วนนี้มีอยู่ราว 5 แสนล้านบาท และ 3.ใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ไปดูว่ามีโครงการของรัฐใดบ้างที่จะนำมาใช้ เช่น สินเชื่อผ่อนปรนที่ยังมีเงินเหลือกว่า 7 หมื่นล้านบาท รวมทั้ง 3 แนวทาง เป็นเงินที่คาดว่าจะเบิกได้กว่า 6.2-6.3 แสนล้านบาท
“งบประมาณ 2567 ที่คาดว่าล่าช้าไปอย่างมากที่สุด 6 เดือน และที่กระทบคือในส่วนของงบลงทุนกว่า 6 แสนล้านบาทที่ปกติไม่ได้มาลงช่วง 2 ไตรมาสแรกอยู่แล้ว และจะไปกระจุกอยู่ช่วง 2 ไตรมาสสุดท้าย คงไม่ได้กระทบเศรษฐกิจในภาพรวมอะไรมาก ก็ต้องไปดูเพิ่มว่ามีงบตัวไหนสามารถมาลงช่วง 2 ไตรมาสแรกได้ ต้องหางบอื่นมาชดเชยเพื่อพยุงเศรษฐกิจ” นายกฤษฎากล่าว และว่า งบปี 2567 ที่ล่าช้าออกไป จะไม่กระทบกับมาตรการต่างๆ ในการดูแลประชาชน เช่น การช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ในวันที่ 26 ก.ค. จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 รอบใหม่ ภายใต้สมมติฐานที่เปลี่ยนไป เช่น ค่าเงินบาท และนักท่องเที่ยว โดยเดิมกระทรวงการคลังคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.6% การส่งออก -0.5% และมีจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 29 ล้านคน ขณะที่การจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วง 8 เดือน จัดเก็บได้ 1.98 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 1.51 แสนล้านบาท ส่วนฐานะการคลังเบิกจ่ายได้ 2.22 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 1.05 แสนล้านบาท มีเงินคงคลังเหลือ 2.26 แสนล้านบาท
วันเดียวกัน นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) 3 สถาบัน ได้ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงแนวทางการปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ที่เรียกเก็บค่าไฟฟ้า งวดที่ 3 ในรอบเดือน ก.ย.- ธ.ค.2566 แล้ว โดย กกร.เห็นว่าค่าไฟงวดใหม่ไม่ควรเกินหน่วยละ 4.25 บาท จากงวดปัจจุบัน (พ.ค.-ส.ค.) อยู่ที่หน่วยละ 4.70 บาท
“กกร.มีความกังวลต่อภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนและผู้ประกอบการที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ที่จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน และขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ซึ่งหากพิจารณาจากปัจจัยที่นำมาคำนวณค่าเอฟทีแล้ว พบว่ามีหลายประเด็นสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถพิจารณาปรับลดค่าเอฟทีในงวดที่ 3 ได้” นายอิศเรศกล่าว
นายอิศเรศยังกล่าวถึงรายละเอียดปัจจัยที่ทำให้ลดค่าเอฟทีได้ว่า 1.ปริมาณก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากแหล่งเอราวัณ 2.ปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ลดลงเหลือ 41% จากเดิมที่มีการนำเข้า 47% 3.ราคา LNG Spot ที่นำเข้าลดลงประมาณ 30% จากราคาประมาณ 20 ดอลลาร์/ล้านบีทียู มาอยู่ที่ 14 ดอลลาร์/ล้านบีทียู 4.ราคาพลังงานโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และ 5.ภาระหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งงวดที่ 1 และงวดที่ 2 ลดลงเร็วกว่าแผน
ทั้งนี้ กกร. ในฐานะผู้แทนภาคเอกชน เห็นว่าการที่ค่าไฟฟ้าของไทยยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง นักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุน รวมทั้งกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน กกร. จึงขอนำเสนอข้อเสนอแนวทางการปรับอัตราค่าเอฟที งวดที่ 3 ในรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 ดังนี้ 1.ขอให้พิจารณาขยายเวลาการคืนหนี้ให้ กฟผ.จาก 5 งวด เป็น 6 งวด เพื่อให้ค่าเอฟทีลดลงอีก 10 สตางค์/หน่วย ซึ่ง กฟผ.จะได้รับเงินคืนครบภายในเดือน ส.ค.2568 และ 2.ขอให้มีการบูรณาการในการจัดหาเชื้อเพลิง LNG โดยมอบหมายผู้นำเข้าหลักเพียงรายเดียวจัดหา และจัดหาล่วงหน้า ในราคาเฉลี่ยที่ 14-16 ดอลลาร์/ล้านบีทียู.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
10วันปีใหม่เมาขับ7พันคดี ขับรถเร็วตายบนถนนพุ่ง
ปิดศูนย์ 10 วันอันตรายปีใหม่ สังเวย 436 ศพ เจ็บ 2,376 ราย
‘อ้วน’สั่งทบทวน หนทางดับไฟใต้ พูดคุยให้ถูกคน
ยังไร้แววเมียนมาปล่อย 4 คนไทย "ภูมิธรรม" ย้ำต้องรอจบกระบวนการ
ดักคอล้วงภาษีอุ้มค่าไฟ ‘ดีอี’เร่งกาสิโนขึ้นบนดิน
"ภูมิธรรม" ขำข่าวปรับ ครม.เขี่ย รทสช. บอกอย่าฟังคนปล่อยข่าว
สว.ส่งสัญญาณเบรกแก้รธน.
แก้ รธน. "เพื่อไทย" ตีกรรเชียงหนี "พรรคส้ม" ปักธงเคาะร่างแก้ รธน. 256 ไม่แตะหมวดกษัตริย์ “ชูศักดิ์” ชี้พุ่งเป้าไปที่ ส.ส.ร.เป็นหลัก
รุมตบปากพ่อนายกฯ สว.จี้ขอโทษเหยียดสีผิว/อดีตกกต.แนะอบรมมารยาทหาเสียง
รัฐมนตรีเพื่อไทยดาหน้าป้องนายใหญ่ บอกหาเสียง อบจ.เชียงรายปกติ
โค้งสุดท้ายสังเวย393ศพ ศปถ.จ่อถอดบทเรียนอีก
โค้งสุดท้าย 10 วันอันตราย วันที่ 9 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,322 ครั้ง