“ประพันธุ์” ยกข้อบังคับ-รธน. ค้านชงโหวต “พิธา” ซ้ำ ระบุถ้าปลดล็อกต้องใช้ 500 เสียง “เสรี” แจงเอกสารล็อกไม่ให้โหวตหลุด ไม่มีใบสั่ง แค่ถกในกลุ่ม “กิตติศักดิ์” เย้ยหัวหน้าพรรคส้ม สินค้ามีตำหนิ แนะ “ก้าวไกล-พท.” จูงมือไปจดใบหย่า ท้าทำให้ได้แล้วกัน จะปิดสวิตช์สภาสูง ด้าน “จรุงวิทย์” อ้างยกมือเห็นชอบ เหตุเคารพประชาชน
เมื่อวันที่ 14 ก.ค. นายประพันธุ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ออกมาให้ความเห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล รอบสอง ว่านายพิธาได้เสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกของสองสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 จึงทำให้ญัตติดังกล่าวเป็นอันตกไป ดังนั้น กรณีจะเสนอชื่อนายพิธาให้โหวตอีกครั้งนั้น ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาถือว่าทำไม่ได้ เพราะญัตติตกไป ถือว่าจบแล้ว
นายประพันธุ์กล่าวว่า ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 กำหนดว่า ญัตติใดที่จบไปแล้ว ห้ามนำญัตติที่มีหลักการเดียวกันเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ไม่มีการลงมติหรือประธานสภาฯ อนุญาต เมื่อเห็นว่าเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น หากจะนำญัตติเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ กลับมาอีกในสมัยประชุมปัจจุบัน ต้องมีเหตุเปลี่ยนแปลงตามมาตรา 272 วรรคสองเท่านั้น
ส.ว.รายนี้ขยายความมาตรา 272 วรรคสองว่า ตามหลักการ หากโหวตครั้งแรกไม่สามารถได้บุคคลเป็นนายกฯ ไม่ว่าด้วยเหตุใด ประธานรัฐสภาไม่มีอำนาจที่จะเปิดให้มีการลงคะแนนใหม่เองได้ ต้องให้สมาชิกรัฐสภารวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาตามมาตรา 272 วรรคสองเท่านั้น และต้องได้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสองสภา หรือ 500 เสียง จึงจะทำให้นายพิธา ในฐานะผู้ที่เคยได้รับการเสนอชื่อให้โหวตเป็นนายกฯ กลับมาเสนอได้อีก หากดำเนินการใดๆ นอกจากแนวทางนี้ ย่อมไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
"เมื่อรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้เช่นนี้แล้ว จึงไม่เปิดช่องทางอื่นให้นายพิธาถูกเสนอชื่อกลับมาให้รัฐสภาโหวตโดยง่าย หรือโหวตเลือกนายพิธาฯ ซ้ำซากไปเรื่อยๆ เหมือนนักกฎหมาย หรือพวกกุนซือสมองทื่อเสนอให้โหวตไปเรื่อยๆ จนสิ้นวาระของวุฒิสภา ด้วยเหตุนี้พรรคก้าวไกลและนายพิธาควรให้การศึกษาพวกด้อมส้มให้โปรดเข้าใจตามนี้ด้วย" นายประพันธุ์กล่าว
เขาระบุด้วยว่า และหากในระหว่างนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเสนอชื่อนายพิธาให้รัฐสภาพิจารณา ดังนั้น จึงไม่ควรไปปลุกให้ความหวังพวกด้อมส้มแบบผิดๆ ควรยอมรับและเคารพมติโดยชอบของรัฐสภา หยุดปลุกมวลชนเพื่อสร้างปัญหาให้บ้านเมือง เพราะความดื้อรั้น มีแต่เกิดหายนะกับตนเอง
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวถึงข้อบังคับที่ 41 ว่า แนวทางดังกล่าวเป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมา ซึ่งกำหนดไว้ว่าการเสนอญัตติ เมื่อมีการเสนอและตกไปแล้ว จะไม่ให้เสนอซ้ำในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ว่าได้รับอนุญาตจากประธานรัฐสภาด้วยเหตุว่ามีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลง อาทิ ญัตติที่ผ่านมาคือเลือกนายพิธาจากพรรคก้าวไกลเพียงคนเดียว แต่หากมีการเสนอเหมือนเดิมกลับเข้ามาอีกครั้ง ไม่สามารถทำได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเสนอนายพิธา พร้อมกับชื่อคนอื่น สามารถทำได้หรือไม่ นายเสรีตอบว่า มีโอกาสเป็นไปได้หากประธานรัฐสภาอนุญาต เมื่อถามว่าแนวทางดังกล่าวมาจากความเห็นส่วนตัว หรือ ส.ว.คนอื่นร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยหรือไม่ นายเสรียอมรับว่า เป็นการพูดคุยกันในกลุ่ม ส.ว.
เมื่อถามถึงเอกสารที่หลุดออกมา เพื่อให้ ส.ว.ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวหากประชุมรัฐสภาในครั้งที่ 2 ให้หยิบยกเรื่องข้อบังคับ 41 ขึ้นมาพิจารณาเหมือนมีใบสั่งนั้น นายเสรีปฏิเสธว่า ไม่มี เป็นเพียงการหารือกันในกลุ่ม เพราะเวลาเสนอความเห็น แต่ละคนจะมีแนวทางของตัวเอง เป็นข้อเสนอที่ต้องพิจารณาร่วมกัน ไม่มีใครสั่งใครได้ เพราะเป็นมุมมองในข้อกฎหมายที่มีการส่งกันในไลน์ ซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นกับเพื่อนให้สมาชิกให้ได้ทราบ ไม่ได้เป็นเรื่องการสั่ง
ต่อข้อถามว่า ที่ผ่านมามีข้อมูลหลุดมาจากไลน์ของ ส.ว.บ่อยครั้ง กังวลหรือไม่ว่าจะมีหนอนบ่อนไส้นำข้อมูลมาให้พรรคก้าวไกล นายเสรีบอกว่า ไม่ห่วง เพราะคนหมู่มากย่อมมีความเห็นต่าง และคนเห็นต่างก็นำไปส่ง ช่วงหลังจึงมีการระมัดระวังมากขึ้น ว่าหากอะไรเสนอความเห็นไปแล้ว และไปกระทบการทำงาน ก็ไม่ควรที่จะเสนอกันเข้ามาในไลน์ ไม่ต้องห่วงว่า ถ้าก้าวไกลจะทราบในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ เพราะคนเป็นร้อยคน ก็ต้องมีคนรู้จักกันบ้าง ซึ่งต้องมีอยู่แล้ว
ขณะที่นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. กล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลยื่นปิดสวิตช์ ส.ว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญว่า ไม่คิดว่าเป็นการตอบโต้ ส.ว.ที่ไม่โหวตให้นายพิธา เพราะเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่ทำให้ได้แล้วกัน เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องอาศัยเสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 คน ที่จะให้แก้หรือไม่แก้ก็ต้องไปวัดกัน
นายกิตติศักดิ์ยังขอแก้ข่าวที่นั่งรถมอเตอร์ไซค์หนีกลับหลังโหวตไม่เห็นชอบ นายพิธาว่า เมื่อเห็นภาพตัวเองก็ขำดี น่ารักดี แต่ข้อเท็จจริงคือต้องรีบไปเคลียร์ปัญหาวัดบางคลาน จ.พิจิตร ทั้งนี้ ยอมนับว่าทัวร์ลงกระหน่ำอยู่แล้วที่ไม่เห็นชอบนายพิธา แต่ตัวเองชีวิตมากับดิน ต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ไม่กลัวอะไรทั้งนั้น ยิ่งมากระทบสถาบันแบบนี้
เขาระบุว่า จากการวิเคราะห์ของตนเอง เชื่อว่าการโหวตครั้งที่ 2 คงไม่ใช่ชื่อของนายพิธา เพราะคะแนนน้อย ไม่เหมาะสมแล้ว และมองว่านายพิธาเป็นสินค้ามีตำหนิ แนะนำให้จูงมือกันไปหย่าที่อำเภอ แล้วหาแฟนใหม่ เพราะถ้าเขายังรักกัน มัดข้าวต้มติดกัน อาจจะเลือดท่วมจอ มีการแทงกันข้างหลัง อาจทำให้ตาอยู่มาได้ ดังนั้นวันที่ 19 ก.ค. หากเสนอนายพิธาไปอีก ตนบอกเลยว่าถ้าเป็นแบบนี้เปอร์เซ็นต์ต่ำเลย คะแนนก็ไม่ต่างจากเดิม เผลอๆ ลดกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะไม่สามารถเรียกคะแนนเพิ่มมาได้แล้ว
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว. ที่ลงมติงดออกเสียงในการโหวตนายพิธา โพสต์ข้อความผ่านเพจ วัลลภ ครูหยุย ตังคณานุรักษ์ ระบุว่า การลงมติใดๆ ในสภา จะมีสามทางเลือกครับคือ เห็นชอบ ไม่เห็นชอบ งดออกเสียงผมตัดสินใจ งดออกเสียง เพราะต้องการคงเจตนารมณ์ที่เคยลงมติ ปิดสวิตช์ตนเอง มาแล้วเมื่อปี 2565 ว่าจะไม่ใช่สิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีคนใดอีก ดังนั้น คราวนี้เสนอ ส.ส.พิธา จึงประกาศงดออกเสียง คราวต่อไป ถ้าเสนอ อุ๊งอิ๊ง หรือเศรษฐา หรืออนุทิน หรือลุงป้อม ผมก็จะประกาศงดออกเสียงเช่นกัน
ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา ส.ว. ซึ่งเป็น 1 ใน 13 ส.ว. ที่ลงมติเห็นชอบให้นายพิธาออกมาชี้แจงว่า การโหวตเห็นชอบของตนนั้นมีเหตุที่ใกล้เคียงกับนายพีระศักดิ์ พอจิต ส.ว. ซึ่งโหวตเห็นชอบ เพราะคิดถึงผลการเลือกตั้งและความคาดหวังของประชาชนเป็นหลัก ในฐานะอดีตเลขาธิการ กกต. ตนเคยจัดเลือกตั้งมา หลักการเลือกตั้ง พรรคได้เสียงข้างมากมา ถ้าไม่เกินครึ่งก็จับขั้วกันได้ข้างมากสุดต้องยอมรับ หลักคือเป็นการเคารพเสียงประชาชน
เมื่อถามถึงเรื่องการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล พ.ต.อ.จรุงวิทย์ตอบว่า การโหวตเมื่อวันที่ 13 ก.ค.นั้น เป็นการพิจารณาผู้สมควรรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่การพิจารณากฎหมาย แต่ก็มีการอภิปรายค่อนข้างละเอียด ขณะที่ในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน หรือ MOU ของ 8 พรรคการเมืองร่วมจัดตั้งรัฐบาล ไม่ได้กล่าวถึงการแก้ไขมาตรา 112 แต่อย่างใด ทั้งนี้ คำร้องเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 นั้น มีผู้ร้องในช่วงหาเสียงของพรรคก้าวไกล ศาลรัฐธรรมนูญได้นำเข้าสู่กระบวนการแล้ว อีกทั้งการแก้ไขกฎหมายเป็นเรื่องพรรคต้องเสนอร่างแก้ไขเข้าสู่สภา ไม่ใช่ในนามของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นคนละสนามกัน ซึ่งต้องเป็นไปตามกฎหมาย
พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวด้วยว่า ไม่ได้มีความกังวลอะไรหลังออกเสียงเห็นชอบไป เพราะทั้งฝ่ายที่ไม่เห็นชอบหรืองดออกเสียงก็มีความเห็นของตัวเอง ต่างคนต่างมีหลักการที่ตนเองเชื่อ ไปว่าใครผิดใครถูกไม่ได้ และต้องเคารพความเห็นที่แตกต่างกัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
10วันปีใหม่เมาขับ7พันคดี ขับรถเร็วตายบนถนนพุ่ง
ปิดศูนย์ 10 วันอันตรายปีใหม่ สังเวย 436 ศพ เจ็บ 2,376 ราย
‘อ้วน’สั่งทบทวน หนทางดับไฟใต้ พูดคุยให้ถูกคน
ยังไร้แววเมียนมาปล่อย 4 คนไทย "ภูมิธรรม" ย้ำต้องรอจบกระบวนการ
ดักคอล้วงภาษีอุ้มค่าไฟ ‘ดีอี’เร่งกาสิโนขึ้นบนดิน
"ภูมิธรรม" ขำข่าวปรับ ครม.เขี่ย รทสช. บอกอย่าฟังคนปล่อยข่าว
สว.ส่งสัญญาณเบรกแก้รธน.
แก้ รธน. "เพื่อไทย" ตีกรรเชียงหนี "พรรคส้ม" ปักธงเคาะร่างแก้ รธน. 256 ไม่แตะหมวดกษัตริย์ “ชูศักดิ์” ชี้พุ่งเป้าไปที่ ส.ส.ร.เป็นหลัก
รุมตบปากพ่อนายกฯ สว.จี้ขอโทษเหยียดสีผิว/อดีตกกต.แนะอบรมมารยาทหาเสียง
รัฐมนตรีเพื่อไทยดาหน้าป้องนายใหญ่ บอกหาเสียง อบจ.เชียงรายปกติ
'สว.อังคณา' ตบปาก 'พ่อนายกฯ' พล่อยเหยียดผิว บี้ขอโทษก่อนบานปลาย
'อังคณา' จี้ 'ทักษิณ' ขอโทษ หลังปราศรัยเหยียดผิว ช่วยหาเสียงเป็นสิทธิ แต่ไม่ควรพูดด้อยค่า-ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์