"พิธา" ไปไม่ถึงเก้าอี้ "นายกฯ" รัฐสภาโหวตหนุนเพียง 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง งดออกเสียง 199 เสียง ส.ว.โหวตให้แค่ 13 เสียง หลัง "ส.ส.-ส.ว." ดาหน้าอภิปรายข้องใจปมแก้ ม.112 "ชาดา" ฟาดแรงถามหวังจะล้มล้างหรือ "ประพันธุ์" ชี้ขาดคุณสมบัติ ส.ส.ไปแล้ว "หน.ก้าวไกล" หน้าตึงยอมรับผลโหวตไม่ผ่าน ลั่นยังไม่ยอมแพ้ ขอปรับยุทธศาสตร์ลุยโหวตครั้งที่ 2 ตอบสื่อเสียงแข็งยังไม่ถึงเวลาเพื่อไทยตั้งรัฐบาลแทน "วิโรจน์" ย้ำชัดไม่ถอย ม.112 เอาใจ ส.ว. "ชลน่าน" แย้ม "พท." ขอคุยท่าทีในพรรคก่อน
ที่รัฐสภา วันที่ 13 ก.ค. เวลา 09.30 น. มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม วาระสำคัญคือ การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร โดยก่อนการประชุม นายวันมูหะมัดนอร์แจ้งให้ทราบถึงเวลาของแต่ละฝ่ายที่จะใช้สำหรับการอภิปราย ว่า ฝ่ายวุฒิสภา (ส.ว.) จะได้เวลา 2 ชั่วโมง ส่วนฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จะได้เวลา 4 ชั่วโมง โดยเป็นของพรรคการเมือง 8 พรรคที่จะตั้งรัฐบาล 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ ควรจะยุติการอภิปรายก่อนเวลา 17.00 น.
นอกจากนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ยังได้ชี้แจงขั้นตอนการเสนอชื่อบุคคลเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีว่า เมื่อมี ส.ส.เสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ แล้วนั้น ส.ส.จะต้องรับรองบุคคลนั้นจำนวน 50 คน โดยการเสียบบัตรแสดงตน
จากนั้นเวลา 09.59 น. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ นายวันมูหะนอร์แจ้งว่ามี ส.ส.รับรองชื่อนายพิธาจำนวน 302 คน
นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย เริ่มอภิปรายคนแรกว่า แถลงการณ์ของพรรค ภท. เมื่อวันที่ 17 พ.ค.66 ประกาศจุดยืนของพรรค คือไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถ้าพรรค ก.ก.เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ พรรค ภท.พร้อมจะเป็นฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างมีคุณภาพ และคัดค้านการแก้ไขมาตรา 112 อย่างเต็มที่ และยืนยันพรรคไม่มีเจตนาจัดตั้งหรือสนับสนุนรัฐบาลเสียงข้างน้อยแข่ง เพราะเราเคารพมติประชาชน และยึดมั่นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
นายชาดากล่าวว่า ขอให้หัวหน้าพรรคการเมือง 7 พรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 เป็นเหตุให้การจัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันของ 8 พรรค ไม่มีการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 แม้ว่าพรรคการเมืองทั้ง 8 พรรคจะลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันว่าภารกิจของรัฐบาลที่จะผลักดันต้องไม่กระทบรูปแบบการปกครองของรัฐ แต่ทางกลับกัน นายพิธาและเป็นผู้ที่จะได้รับการเสนอในที่ประชุมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี กลับเป็นคนเดียวที่ยืนยันจะแก้ไขมาตรา 112 โดยให้ ส.ส.พรรค ก.ก.เสนอร่างกฎมายเอง
"ประชาชนเข้าใจดีว่าการแก้ไขมาตรา 112 คือหนึ่งในเป้าหมายที่จะผลักดัน โดยบอกว่าจะทำเพื่อรักษาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ขอบอกตรงๆ ว่าผมและพรรค ภท.ไม่เชื่อ เพราะพฤติกรรมต่างๆ ที่ผ่านมาทำให้เห็นชัดเจน หลายท่านรับทราบว่าท่านมีแนวคิดเรื่องมาตรา 112 อย่างไร การกำหนดโทษในกฎหมายมาตรา 112 ระบุว่า ผู้ใดดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี ราชวงศ์ ต้องถูกลงโทษจำคุก 3-15 ปี ท่านบอกจะแก้ไขไม่ได้ยกเลิก แต่ผมเห็นว่าสิ่งที่ท่านนำเสนอไม่ได้เป็นการแก้ไข แต่จะยกเลิกมาตรา 112" นายชาดากล่าว
'ส.ส.-ส.ว.' ข้องใจแก้ 112
ส.ส.อุทัยธานีพรรค ภท.กล่าวว่า จะแก้ทั้งมาตราหรือจะแก้แบบไหน แต่สิ่งสำคัญท่านคิดหรือไม่ว่าหากแก้มาตรา 112 บ้านเมืองนี้จะสงบจะเจริญแบบนี้หรือไม่ วันนี้ท่านได้รับเลือกตั้งมาแล้ว ท่านก็เก็บเรื่องนี้ไว้ในกระเป๋าไม่ได้หรือ หากแก้ไม่ได้แล้วจะล่มจมตนจะไม่ว่าเลย ท่านเสนอนโยบาย 200-300 ข้อ ประชาชนอาจถูกใจ หวังว่าท่านจะมาเปลี่ยนแปลงพัฒนาประเทศ แต่ท่านไม่ยอมอะไรเลย ถามว่าพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล เกิดมาเพื่อจะแก้มาตรา 112 อย่างเดียวเลยหรือ พฤติกรรมท่านคือกูไม่ยอม นี่คือจุดยืน ทำให้ตนคิดว่าพรรคก้าวไกลเกิดมาเพื่อล้มล้าง ตนแอบหวังลึกๆ แต่ท่านก็ไม่ยอมอะไรเลย วันนี้ท่านไม่ต้องชี้ใคร ไม่ต่องไปด่า ส.ว. ไม่ต้องไปด่าฝ่ายตรงข้าม แต่ท่านต้องชี้ที่ตัวเอง ถ้าท่านพูดมาคำเดียวว่าจะไม่ยุ่งมาตรา 112 พรรค ภท.จะลงให้ท่าน
เวลา 10.38 น. นายประพันธุ์ คูณมี ส.ว. อภิปรายคัดค้านเห็นชอบนายพิธาเป็นนายกฯ ว่า นายพิธาเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 และมาตรา 160 ประกอบกับมาตรา 98 (3) การเสนอชื่อดังกล่าวถือว่าขัดกับข้อบังคับข้อ 136 กรณีของนายพิธาถูก กกต.ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยประเด็นสมาชิกภาพได้สิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาล รธน.ได้ลงรับในทางธุรการ และเตรียมเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา เป็นข้อเท็จจริงที่ปราศจากข้อสงสัยว่านายพิธามีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
“การพิจารณาของสภามีหน้าที่พิจารณาว่าหัวหน้าพรรค พท.เสนอชื่อนายพิธานั้น เป็นการเสนอชื่อบุคคลที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและข้อบังคับหรือไม่ และมีปัญหาคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ แม้มีคนแย้งว่าคำชี้ขาดของศาลไม่เป็นที่สุดจะพิจารณาแบบนั้นไม่ได้ แต่ผมมองว่าปัญหานี้ไม่จำเป็นต้องรอคำวินิจฉัย เพราะปัญหาคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.เป็นคุณสมมบัติเดียวกันกับคนที่เป็นนายกฯ เป็นเรื่องที่วิญญูชน บุคคลทั่วไปวินิจฉัยได้ ไม่จำเป็นต้องถามศาล เพราะมีวิจารณญาณพิจารณาได้เอง ซึ่งท่านสามารถรู้ได้เองเหมือนกับว่าท่านจบ ม.6 หรือไม่” นายประพันธุ์กล่าว
ส.ว.รายนี้ระบุว่า รัฐสภาไม่อาจรับชื่อของนายพิธาไว้พิจารณาลงคะแนนเสียงได้ เพราะคุณสมบัติขัดต่อกฎหมาย และมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ หากรัฐสภาลงมติพิจารณา ย่อมขัดกับรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เพราะคนที่พิจารณาย่อมถือว่ารู้อยู่แล้วว่าและจงใจทำผิดและฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับของการประชุมรัฐสภา หากดึงดันอาจจะถูกร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) จงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม ส่วนกรณีที่ ส.ว.จะลงมติอาจจะมีปัญหาต่อการทำผิดประมวลจริยธรรมเช่นเดียว
จากนั้นนายพิธาลุกขึ้นใช้สิทธิ์พาดพิงว่า กรณีที่นายประพันธุ์กล่าวถึงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามการเป็นส.ส.ของตน ขอยืนยันตนยังมีคุณสมบัติสมบูรณ์แบบทุกประการ และด้วยความชอบธรรม ตนยังไม่รู้เลยว่าข้อกล่าวหาคืออะไร ทราบมติ กกต.ก็จากสื่อมวลชน จนถึงวันนี้ยังไม่ทราบว่า กกต.สงสัยประเด็นใด ข้อสมมุติฐานทางกฎหมายบอกให้ผู้ถูกกล่าวหาบริสุทธิ์ไว้ก่อน
ลั่นมีศาลเตี้ยในสภาไม่ได้
"ผมคิดว่ามีศาลเตี้ยในรัฐสภาไม่ได้ ผมยังไม่มีโอกาสชี้แจงแม้แต่ครั้งเดียว และขอให้ทุกคนมั่นใจและไม่ต้องกังวล ผมรัดกุมมาตลอดเกี่ยวกับการยื่น ป.ป.ช. หรือเรื่องคุณสมบัติ สอบถามทั้ง กกต. ป.ป.ช. เพราะผมยอมรับการตรวจสอบ" นายพิธาระบุ
เวลา 11.30 น. นายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายในฐานะตัวแทนพรรคว่า ขอฝากถึงสมาชิกวุฒิสภา ตนเคารพทุกท่านเพราะท่านมาตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ความศรัทธาจะเกิดขึ้นหรือไม่อยู่ที่การกระทำ แต่ขอยืนยันกับประธานรัฐสภาว่าพรรค พท.ยินดีสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30
"ขอฝากกลอนสั้นๆ ว่า ขอสัญญาจะเลือกพิธาเป็นนายกฯ ขอสมาชิกรัฐสภายกมือสนับสนุน ประชาชนเขาเลือกมานั้นเป็นทุน พิธาจะทำงานแทนคุณประเทศเอย" นายอดิศรกล่าว
ต่อมาเวลา 11.50 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. อภิปรายย้ำในการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรค ก.ก.ว่า รับไม่ได้เพราะตามแนวทางของพรรค ก.ก.นั้นละเมิดต่อรัฐ ต่อความมั่นคง โดยเฉพาะการลดโทษอย่างมีเงื่อนไขต่อบุคคลที่ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 3 แสนบาท และมีบทยกเว้นโทษที่ถือว่าไม่ต้องรับโทษข้อเสนอแก้ไขกฎหมายของพรรค ก.ก. ไม่จำกัดแค่สถานะที่องค์พระมหากษัตริย์จะละเมิดไม่ได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ การใส่ร้าย การวิจารณ์ไม่เป็นธรรมบนโซเชียลมีเดีย
"สังคมใหม่ที่ท่านจะสร้างขึ้นคิดดีแล้วหรือไม่ เพราะจะกระทบต่อการเคารพของสถาบันที่บุคคลละเมิดมิได้ และเสมือนแก้รัฐธรรมนูญบทคุ้มครองฐานะขององค์พระมหากษัตริย์ รวมถึงนิรโทษกรรมจำเลยและผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ทั้งหมด เนื่องจากร่างที่เสนอต่อสภาไม่มีบทเฉพาะให้มีผลบังคับใช้ทันทีนับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส.ว.ได้พูดคุยว่าเห็นตรงกัน แต่การแก้มาตรา 112 อีกยาวไกล เสนอจะผ่านหรือไม่ ผมทราบดีว่ากระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ต้องใช้เวลา อย่างไรก็ดี ผมไม่อาจยอมรับได้กับการเห็นด้วยหรือสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรค ก.ก.” นายคำนูณกล่าว
นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายยืนยันว่า ส.ส.พรรค ปชป.รวม 25 คน จะออกไปต่อสู้และคัดค้านต่อการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
เวลา 12.39 น. นายพิธาชี้แจงว่า กรณีถูกพาดพิงใน 3 ประเด็น คือ 1.เรื่องการต่างประเทศ ซึ่งเราต้องรีบเลือกนายกฯ เพราะเดือน ก.ย.นี้ จะมีการประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ตนต้องการเป็นผู้นำไปบอกทุกคนบอกโลกว่าไทยพร้อมแล้วที่จะกลับมามีบทบาทที่ดีในมุมมองทางการต่างประเทศ 2.เรื่องการแบ่งแยกดินแดน ขอให้คำยืนยันรัฐไทยภายใต้การนำของนายพิธา ประเทศไทยจะเป็นรัฐเดี่ยว 3.เรื่องที่เกี่ยวกับยาเสพติด และน้ำมันเถื่อน จะดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
จากนั้นเวลา 12.46 น. นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรค ก.ก. ชี้แจงเกี่ยวกับข้อเสนอการแก้ไขม.112 ว่า ที่มาเกี่ยวกับข้อเสนอนี้เกิดขึ้นจากสำนึก ส.ส.ของพรรคที่เห็นปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 กับประชาชนอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ในฐานะ ส.ส.ที่เป็นผู้แทนราษฎร จะทำเป็นมองไม่เห็นปัญหาใหญ่ปัญหานี้ของสังคมไม่ได้ ไม่ใช่ว่าพรรคนึกสนุกแล้วเสนอแก้ไข
"ที่ระบุว่าตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเห็นการเสนอยกเว้นความผิด ยกเว้นบทลงโทษฐานหมิ่นประมาทสถาบันนั้น ขอชี้แจงว่าในปี 2478 เคยมีการปรับปรุงกฎหมายอาญา ร.ศ.127 เรื่องนี้มาแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย" เลขาธิการพรรค ก.ก.ระบุ
เวลา 14.14 น. นายสมชาย แสวงการ ส.ว. อภิปรายว่า ต้องเลิกอ้างเสียงข้างมาก 14 ล้านเสียง แล้วบังคับคนทั้งประเทศว่าต้องเห็นด้วย แบบนั้นผิดหลักประชาธิปไตย แต่เป็นเผด็จการ เรากำลังเข้าสู่การเมืองที่เราอยากเห็นประชาธิปไตยรุ่นใหม่ เราอยากเห็นความสงบ วันนี้เราเดินเข้าสู่ครรลองประชาธิปไตยแล้ว อย่าใช้สังคมกดทับ อย่าใช้ประชาธิปไตยแบบฟุ่มเฟือย หรือเลือกพวกข้าเท่านั้นที่ถูก เลือกพวกเอ็งผิด แบบนั้นไม่ใช่ประชาธิปไตย ถ้าเลือกทางเดินแบบสุดโต่ง สร้างลัทธิสุดโต่งครอบงำเยาวชน ตนในฐานะสมาชิกรัฐสภา พิจารณาแล้วเห็นว่านายพิธายังไม่เหมาะสมเป็นนายกฯ
ผลโหวต 'พิธา' ไม่ถึงฝั่งฝัน
เวลา 13.45 น. นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า นายพิธาไม่สมควรได้รับเสนอชื่อเป็นนายกฯ การที่พรรคก้าวไกลได้ 14 ล้านเสียง อย่าสำคัญผิดว่าได้ 30 เสียงล้านเสียง เพราะเสียงที่เหลือเป็นของพรรคอื่นที่ประชาชนลงคะแนนให้ การทำหน้าที่นายกฯ ต้องมีพฤติกรรมชัดเจน ไม่ลบลู่สถาบัน 4 ปี ส.ว.ถูกด่ามาตลอด แต่ทนอยู่เพื่อปกป้องบ้านเมืองที่มีสร้างแนวคิดให้ประชาชน และยุยงเด็กไปในแนวทางที่ผิดให้ละเมิดสถาบัน ถ้าบอกว่าอยากเป็นนายกฯ และจะเลิกแก้มาตรา 112 ตนก็ไม่เชื่อ คิดว่าหลอกลวง วันนี้พูดอย่าง พรุ่งนี้พูดอีกอย่าง
จากนั้นนายพิธาใช้สิทธิถูกพาดพิงชี้แจงการยุยงสนับสนุนเด็ก ยืนยันว่าเด็กรุ่นใหม่ยุยงปลุกปั่นไม่ได้ เขามีความคิดเป็นของตัวเอง สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ไม่เหมือนสมัยก่อน ส่วนการใช้ตำแหน่ง ส.ส.ไปประกันตัวเด็กนั้น เพื่อต้องการให้เข้าถึงเสรีภาพการเข้าถึงทนาย และสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อนถ้ายังไม่มีคำพิพากษา
ขณะที่นายเสรีโต้กลับว่า มีหลักฐานเป็นคลิประบุชัดเจนที่เด็กพูดเองมีพรรคก้าวไกลอยู่เบื้องหลัง แต่นายพิธายืนยันว่าเรื่องคลิปต่างๆ มีเฟกนิวส์ ใครจะทำอะไรก็ได้ เพราะไม่มีการตรวจสอบ จะพูดอะไรต้องพิสูจน์ก่อน ต้องมีวุฒิภาวะการตรวจสอบ แต่นายเสรียืนยันว่า ที่ผ่านมาอยู่ในสายตาท่านมาตลอด ไม่ใช่เฟกนิวส์ เป็นเรื่องจริง
นายสมชาย แสวงการ ส.ว. อภิปรายว่า ขณะนี้มีกองทัพอวตารแก้วสามประการในโซเชียล พยายามมากดดัน บูลลี่ ส.ว.ให้เลือกตามมติเสียงข้างมาก แม้จะมี ส.ว.บางส่วนขอปิดสวิตช์ตัวเอง แต่ก็ยังมีการขู่ บูลลี่ไม่ให้ปิดสวิตช์ ไม่ขอพูดถึงวิชามาร มีทุกรูปแบบ แต่ยืนยัน ส.ว.ทั้งหมดมีสิทธิทำหน้าที่เท่าเทียม ส.ส.ทุกประการ
เวลา 15.20 น. นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อภิปรายว่า ตนไม่ติดใจนายพิธา แต่ติดใจนโยบายการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรค ก.ก. ทั้งนี้ พรรคการเมือง 17 พรรคในสภาและ ส.ว. ไม่สนับสนุน แต่มีเพียงพรรคเดียวที่สนับสนุน ถือเป็นความผิดปกติ ดังนั้นขอให้ทบทวนข้อติดขัดได้หรือไม่ จะปรับปรุงให้ปกติ ต้องปรับให้ถูกที่
จนเวลา 16.05 น. ที่ประชุมรัฐสภาเข้าสู่ขั้นตอนการลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบให้นายพิธาเป็นนายกฯ โดยการขานชื่อสมาชิกรัฐสภาตามลำดับอักษร ทั้งนี้ พบว่ามีสมาชิกรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ได้รวม 749 คน เนื่องจากเมื่อวันที่ 12 ก.ค. น.ส.เรณู ตังคจิวางกูร ส.ว. ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง
กระทั่งเวลา 18.23 น. นายวันมูหะมัดนอร์แจ้งผลการนับคะแนนว่า ที่ประชุมเห็นชอบ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 เสียง เท่ากับนายพิธาได้คะแนนไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ จากนั้นประธานได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 18.25 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลการลงคะแนนโหวตนายกฯ มีสาระที่น่าสนใจ คือ ในส่วนของ ส.ว.ที่ลงคะแนนเห็นชอบให้นายพิธาเป็นนายกฯ นั้น มี 13 คน ได้แก่ 1.นายไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ 2.พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา 3.นายเฉลา พวงมาลัย 4.นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล 5.พล.ต.ท.ณัฏฐวัฒก์ รอดบางยาง 6.นายพิศาล มาณวพัฒน์ 7.นายพีระศักดิ์ พอจิต 8.นายมณเฑียร บุญตัน 9.นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์10.นายวันชัย สอนศิริ 11.นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ 12.นพ.อำพล จินดาวัฒนะ 13.นางประภาศรี สุฉันทบุตร ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นไปตามข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่ามี ส.ว.บางส่วนที่เคยระบุจะลงคะแนนสนับสนุนนายพิธา แต่กลับไม่ยอมลงมติให้ อาทิ น.ส.ภัทรา วรามิตร, นายประมาณ สว่างญาติ, นายสถิต ลิ่มพงศ์พันธุ์, นางประยูร เหล่าสายเชื้อ, นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ขณะที่นายรณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล และนายทรงเดช เสมอคำ ลงมติงดออกเสียง
ในส่วนการลงคะแนนโหวตนายกรัฐมนตรี มี ส.ว.ลาการประชุมทั้งหมด 33 คน ทำให้เหลือจำนวน ส.ว.ที่เข้าร่วมประชุม 216 คน ซึ่งปรากฏว่าในการลงมติโหวตนายกฯ มี ส.ว.ที่ขานชื่อลงมติเพียง 205 คนเท่านั้น แสดงว่ามี ส.ว.อีก 11 คน ที่ไม่ได้ลาประชุม แต่ไม่ยอมร่วมลงมติใดๆ ทั้งสิ้นในการโหวตนายกฯ
ส่วนการลงคะแนนของ ส.ส. ปรากฏว่าลงคะแนนไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด โดย 8 พรรคร่วมรัฐบาลลงคะแนนในทิศทางเดียวกันทั้ง 312 เสียง คือเห็นชอบนายพิธาเป็นนายกฯ ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ส่วนใหญ่ลงมติไปในทางไม่เห็นชอบนายพิธาเป็นนายกฯ ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย, พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคชาติพัฒนากล้า ลงมติงดออกเสียง ส่วนพรรคเล็กก็ลงมติแตกต่างกัน อาทิ พรรคใหม่ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ลงมติงดออกเสียง พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคท้องที่ไทย ลงมติไม่เห็นชอบ ทั้งนี้ มี ส.ส.เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ 499 คน จากจำนวน 500 คน ขาดไป 1 คนคือ นายศักดิ์ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย เนื่องจากป่วยนอนอยู่โรงพยาบาล
'ทิม' ลั่นไม่ยอมแพ้ลุยสู้ครั้ง 2
นายพิธาให้สัมภาษณ์หลังไม่ผ่านการลงมติโหวตเลือกนายกฯ ถึงเสียง ส.ว.วันนี้ผิดคาดหรือไม่ว่า ผลที่ออกมาเรายอมรับ แต่ไม่ยอมแพ้ และยอมรับว่าเสียงมติไม่ถึง 376 ได้เพียง 324 แล้วสาเหตุที่ออกมาเช่นนี้เพราะว่ามีการกดดัน ส.ว.เยอะ และที่ไม่มาประชุมอีกกว่า 40 คน จึงไม่ตรงตามที่เราคาดการณ์ไว้ และหลังจากนี้เราก็จะหาเวลาคิดยุทธศาสตร์เพื่อรวบรวมเสียงในการโหวตครั้งต่อไป ส่วนจะเป็นวันใด ก็ขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภา และก็จะมุ่งหน้าเพื่อให้มีการโหวตนายกฯ ในครั้งที่ 2 ต่อไป
ถามว่า ยังมั่นใจกับพรรค พท.จะจับมือไปกันต่อใช่หรือไม่ นายพิธากล่าวว่า ผลออกมาเช่นนั้น เราก็ยังทำงานด้วยความเชื่อใจซึ่งกันและกัน เมื่อถามว่าการโหวตครั้งหน้าจะต้องยอมถอยการแก้ไขมาตรา 112 หรือไม่ นายพิธากล่าวว่า เราได้สัญญากับประชาชนไว้อย่างไรเราก็ทำอย่างนั้น ไม่ถอยมาตรา 112 แล้ววันนี้ก็เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ได้อภิปรายเรื่องนี้ในสภา เพื่ออธิบายให้ ส.ส.และ ส.ว.ที่ไม่เข้าใจตรงกันหรือคลาดเคลื่อน จึงได้โอกาสชี้แจง ซึ่งถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี
ย้ำว่า ถ้าถอยเรื่องมาตรา 112 อาจจะได้เสียงเพิ่ม นายพิธากล่าวว่า อาจจะเป็นอุปมาอุปไมยที่ไม่ใช่เรื่องจริง อาจจะได้เสียงเพิ่มโดยเพราะไม่ได้เป็นเงื่อนไขดังกล่าว หลังจากนี้ขอเวลาทำใจในสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เสียก่อน ซึ่งตอนนี้ยังมีเวลา เมื่อถามว่าจะมีแนวทางยุทธศาสตร์อย่างใดในการให้ได้เสียง ส.ว.ที่เพิ่มขึ้นหลังจากวันนี้ได้เพียง 13 เสียง นายพิธากล่าวว่า ก็คงต้องมียุทธศาสตร์ในการรวบรวมเสียงในครั้งใหม่ต่อไป โดยอาจจะต้องลงในรายละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง เพราะบางคนได้ข่าวว่าไปต่างประเทศหรือบางคนไม่อยู่ บางท่านออกจากห้องประชุมไปก่อน
"ที่พูดได้คือไม่ยอมแพ้ และจะใช้เวลานี้ในการปรับยุทธศาสตร์เพื่อรวบรวมเสียงใหม่ และผมขอขอบคุณ ส.ว. 13 ท่าน ที่กล้าหาญลงมติให้ผม" นายพิธากล่าว
เมื่อถามต่อว่า ถ้าการโหวตครั้งที่ 2 เป็นแบบวันนี้ จะสู้ต่อหรือไม่ นายพิธากล่าวว่า ต้องวางแผนครั้งที่ 2 ให้เรียบร้อยก่อน เมื่อถามว่ามีการเตรียมใจเป็นฝ่ายค้านหรือไม่ นายพิธากล่าวว่า เตรียมใจ เตรียมแผน เตรียมสมอง เพื่อโหวตนายกฯ ในครั้งที่ 2 ถามอีกว่าระยะเวลาในการโหวตรอบ 2 กระชั้นชิด แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะชนะ นายพิธากล่าวว่า ก็แล้วแต่ที่จะมอง ตนยังคิดว่ามีเวลา
พอถามว่า ถ้าพรรค พท.เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะยอมหรือไม่ นายพิธา กล่าวด้วยสีหน้าตึงเครียดว่า "ยังไม่ถึงเวลาตอนนั้น ตอนนี้ผมยังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอยู่"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าการตอบคำถามของนายพิธามีสีหน้าไม่สู้ดี ไม่ยิ้มแย้มเหมือนที่ผ่านมา และเดินหนีวงสื่อ
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 พรรคมีจุดยืน และทำอย่างตรงไปตรงมา โดยจะต้องรักษาอุดมการณ์ของพรรค และต้องคงจุดยืนเดิมไว้อย่างมั่นคง
ส่วน นพ.ชลน่านกล่าวว่า เมื่อทราบผลการโหวตวันนี้ ตนและนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรค พท. ได้เดินไปให้กำลังใจนายพิธา รวมถึง ส.ส.พรรค ก.ก. ส่วนการดำเนินการหลังจากนี้เราคงต้องมีการหารือกันภายในถึงแนวทางการดำเนินงานต่างๆ เพื่อนำไปหารือกับพรรค ก.ก.ต่อไป ซึ่งคงต้องรอให้พรรค ก.ก.เป็นคนนัดหมาย เพื่อหารือรวมถึงพรรคอื่นๆ
นายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งที่ 2 ว่า พรรค รทสช.จะมีการพูดคุยกันอีกครั้ง เพราะถือว่าสมการเปลี่ยนไปแล้ว ต้องคุยกันว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร แต่ถึงอย่างไรเราก็ยืนยันไม่เปลี่ยนแปลง และไม่ยอมรับนายพิธา.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
'เอ็ดดี้ อัษฎางค์' มีคำตอบให้! 'พิธา' ไม่เข้าใจทำไมกลายเป็นศัตรูเพื่อไทย
เอ็ดดี้-อัษฎางค์ ยมนาค อินฟลูเอ็นเซอร์การเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ไม่เข้าใจทำไมกลายเป็นศัตรูกับเพื่อไทย อัษฎางค์ ยมนาค มีคำตอบให้