ห่วงม็อบรุนแรง จี้เร่งตั้งรัฐบาล หุ้นบวก2.88จุด

หอการค้าไทยห่วงตั้งรัฐบาลล่าช้า-ม็อบรุนแรงบานปลาย รายได้ท่องเที่ยวหาย 5 แสนล้าน ฉุดเศรษฐกิจกด GDP ลง 1% ภาคเอกชนจี้ตั้งรัฐบาลใหม่ตามไทม์ไลน์ดึงความเชื่อมั่นนักลงทุน   "กนอ." ลุ้นโหวตนายกฯ ราบรื่น เผยนักลงทุนเข้าใจกองเชียร์ทุกฝ่าย พร้อมลงทุนต่อเนื่อง หุ้นบวก 2.88 จุด รับโหวตนายกฯ 

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ในการประชุมรัฐสภาวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการประเมินผลกระทบทางการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ภาคธุรกิจและประชาชนกังวลมาก ทั้งนี้ มีมุมมองว่าประเด็นเรื่องการเมืองจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจจาก 2 ปัจจัย ดังนี้

 1.มีการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า เป็นกรณีที่มีโอกาสเกิดขึ้น แต่ไม่ง่าย เนื่องจากมองว่าสภาจะสามารถดำเนินการให้จบลงได้จาก 3 กรณีคือ เลือกพรรคก้าวไกล โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่, ถ้านายพิธาไม่ได้เป็นนายกฯ พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อต่อ โหวตเลือกหรือไม่เลือก และถ้าพรรคขั้วเดิมเสนอแล้วไม่ผ่าน เลือกไม่ได้ ก็สลับขั้ว โดยอาจมีการเลือกนายกฯ ในบัญชีรายชื่อ และเสนอโหวตผ่านหรือไม่ผ่าน ถ้าไม่ผ่านต้องดูว่านายกฯ ที่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อจะมาหรือไม่ อย่างไร จบหรือไม่จบ จุดที่จะมีความล่าช้า คือไม่สามารถโหวตนายกฯ ได้ หรือไม่สามารถเสนอขั้นตอนต่างๆ ได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

"ภาพที่ชัดเจนคือการมีรัฐบาลที่อยู่ในกรอบ ส.ค.-ก.ย. จะทำให้ภาคเอกชนเริ่มเห็นทิศทาง และเริ่มตัดสินใจในการลงทุน เคลื่อนเศรษฐกิจต่อ ถ้าจัดตั้งรัฐบาลดีเลย์ไป 2 เดือน หรือ ต.ค. ก็จะทำให้งบประมาณล่าช้าไปอีก หรือใช้ได้ในไตรมาส 2/67 ดังนั้น การตั้งรัฐบาลน่าจะอยู่ในไตรมาส 3/66 หรือต้นไตรมาส 4/66 ก็จะยังพอขยับเศรษฐกิจได้ ถ้าเลยไปกว่านั้นน่ากังวล แต่ตามเทคนิคไม่ควรเกิน" นายธนวรรธน์กล่าว

 2.มีเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรง ถ้าการชุมนุมอยู่ในกรอบที่เหมาะสม ไม่มีเหตุการณ์ปะทะรุนแรง จนมีการบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือเผาทำลายทรัพย์สิน ไม่น่ามีเหตุให้ระบบเศรษฐกิจกระเทือน ถ้าการชุมนุมยืดเยื้อ เป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยที่ทำได้ และอยู่ในกรอบตามกฎหมาย ซึ่งมองว่าไม่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจถูกพึ่งพาด้วยการท่องเที่ยว ดังนั้นเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยยังโต 3.0-3.5% ได้ แต่ถ้าทุกอย่างผ่านไปได้ ไม่มีการชุมนุมทางการเมือง เศรษฐกิจไทยพร้อมไปต่อ และโตในกรอบ 3.5-4.0%

"ถ้าการเมืองกระทบการท่องเที่ยว จะทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเพียงเดือนละ 1 ล้านคน จากเดิมเดือนละ 2-3 ล้านคน ซึ่งถ้าสถานการณ์บานปลายลากยาวไปถึง 6 เดือน หรือถ้าการชุมนุมเกิดขึ้นตั้งแต่ ก.ค. ถ้ารุนแรงและทำให้นักท่องเที่ยวกลัว นักท่องเที่ยวจะหายไปครึ่งหนึ่ง หรือนักท่องเที่ยวหายไป 10 ล้านคน รายได้หายไป 5 แสนล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจไทยลดลงประมาณ 1% ซึ่งจะทำให้ความเชื่อมั่น และการจ้างงานเริ่มติดขัด อย่างไรก็ดี การชุมนุมประท้วงรุนแรงไม่น่าจะเกิดขึ้น จึงยังไม่ประเมินว่าจะเลวร้ายถึงขั้นนั้น" นายธนวรรธน์กล่าว

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และ ส.อ.ท. คาดหวังว่าการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งที่ 1 จะผ่านพ้นไปด้วยความเรียบร้อย และนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ตามไทม์ไลน์ เพื่อดึงภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นในสายตาของนักลงทุนไทยและต่างประเทศ  ภาคเอกชนพร้อมที่จะร่วมมือทำงานกับทุกรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในช่วงที่เปราะบางและอ่อนไหว อีกทั้งมีหลายเรื่องที่รัฐบาลตัวจริงจะต้องรีบเร่งเข้ามาฟื้นฟูและพัฒนา จัดสรรงบประมาณปีหน้าและอนุมัติการใช้จ่ายภาครัฐ

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ต้องการให้ตั้งรัฐบาลเร็วที่สุด และไม่อยากให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น เพราะจัดตั้งรัฐบาลช้าเท่าไร ผลเสียจะตกอยู่ที่ภาคธุรกิจ โดยหลังจากเลือกตั้งมาแล้ว แม้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา หากปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการชุมนุมตามมา จะยิ่งไม่ดีต่อบรรยากาศการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่นจะกังวลในเรื่องเหล่านี้มาก

นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า กังวลว่านายพิธาจะรอดจากข้อกล่าวหายาก ที่เป็นห่วงคือหากเกิดการชุมนุมแล้วมีความวุ่นวาย จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัวได้

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)  เปิดเผยว่า จากการหารือกับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ พบว่ามีความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หากมีการชุมนุมทางการเมืองในกรณีที่การโหวตนายกฯ ไม่เป็นไปตามที่หวัง ต้องถือว่าเป็นอุดมการณ์ที่ทุกฝ่ายสามารถมีได้ในระบอบประชาธิปไตย เพียงแต่ไม่อยากให้เกิดความวุ่นวายหรือรุนแรง จนกระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของประเทศในภาพรวม ทั้งนี้ นักลงทุนเข้าใจในการสนับสนุน หรือกองเชียร์ของแต่ละฝ่าย แต่ก็มีความคาดหวังว่าทุกฝ่ายจะดำเนินการกันภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 13 ก.ค. เคลื่อนไหวในแดนบวกและลบตลอดทั้งวัน จากการติดตามการโหวตเลือกนายกฯ คนที่ 30 โดยระหว่างวันลดลงต่ำสุดที่ 1,487.48 จุด ลดลง 3.66 จุด หรือเปลี่ยนแปลง 0.24% ก่อนมีแรงซื้อกลับหนุนดัชนีสูงสุดอยู่ที่ 1,497.24 จุด เพิ่มขึ้น 6.10 จุด หรือเปลี่ยนแปลง 0.40% และดัชนีของวันปิดที่ 1,494.02 จุด เพิ่มขึ้น 2.88 จุด หรือเปลี่ยนแปลง 0.19% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 40,446.98 ล้านบาท.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง