สตช.-กทม.ล้อมคอกความปลอดภัยโหวตนายกฯ ขีดเส้นห้ามชุมนุมรอบสภา 50 เมตร 12-15 ก.ค. ขณะที่คำนูณการันตีไม่สะดุด "พิธา" เข้าสภาได้ตามปกติ ด้าน "อิ๊งค์" ให้กำลังใจ ยันเพื่อไทยไม่ปล่อยมือ “บิ๊กเหล่าทัพ” ตบเท้าโดดร่มระนาว ไม่เข้าร่วมประชุมสภา พร้อมกางแผนฉุกเฉินอพยพทางน้ำ ขณะที่ “ธนากร” ออกโรง "บิ๊กตู่" วางมือ ไม่อยากเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง
เมื่อวันพุธ เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 1 ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม โดยนายวันมูหะมัดนอร์แจ้งต่อที่ประชุมว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ทำหนังสือลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย เมื่อวันที่ 10 ก.ค. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ทำให้สมาชิกภาพความเป็น ส.ส.สิ้นสุดลง และ น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. เนื่องจากต้องคดีเมาแล้วขับ ซึ่งศาลอาญามีนบุรีมีคำพิพากษาเป็นที่สุด
ตนเองจึงได้ออกประกาศประธานสภา เพื่อเลื่อน ส.ส.บัญชีรายชื่อ แทนตำแหน่งที่ว่าง ได้แก่ นายอนุชา บูรพชัยศรี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ แทนนายพีระพันธุ์ นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แทน น.ส.ณธีภัสร์ และนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย แทนคุณหญิงสุดารัตน์
จากนั้นนายวันมูหะมัดนอร์ได้ให้ ส.ส.ใหม่ดังกล่าวกล่าวปฏิญาณตน รวมถึงนายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ ที่ไม่สามารถมาร่วมปฏิญาณตน เมื่อวันที่ 4 ก.ค.
ต่อมาที่ประชุมพิจารณาวาระกำหนดวันและเวลาการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้เปิดให้สมาชิกอภิปรายเสนอแนะอย่างกว้างขวาง ประธานสภาระบุว่า ยินดีปฏิบัติตามข้อหารือของสมาชิกที่จะทำให้การประชุมไม่ยืดเยื้อ เน้นสาระมากที่สุดเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ กำหนดวันประชุมเป็น 2 วันต่อสัปดาห์ คือ วันพุธและพฤหัสบดี โดยสามารถเพิ่มวันได้ตามความจำเป็น และให้เริ่มประชุมในเวลา 09.00 น.
จากนั้นที่ประชุมพิจารณาสมัยประชุม ซึ่งกำหนดให้มี 2 สมัยประชุม สมัยประชุมละ 120 วัน โดยสมัยแรกเริ่มตั้งแต่วันที่มีพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุม วันที่ 3 ก.ค. สิ้นสุดวันที่ 30 ต.ค. และสมัยที่ 2 เริ่มวันที่ 12 ธ.ค. จนถึงวันที่ 9 เม.ย.67
เวลา 09.30 น. มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) โดยมีวาระหารือถึงการโหวตนายกรัฐมนตรีต่อที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 13 ก.ค.นี้ โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาเป็นประธานการประชุม ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของการประชุม วิปวุฒิสภาขอเป็นการประชุมลับ โดยให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาออกจากที่ประชุม และตัดสัญญาณการประชุมวิปวุฒิสภาผ่านทางออนไลน์ด้วย ซึ่งใช้เวลาหารือลับประมาณ 40 นาที
ยันโหวตพิธาไม่สะดุด
จากนั้น เวลา 11.30 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ให้สัมภาษณ์ว่า โดยมีการตกลงว่าจะมีการอภิปรายก่อนลงมติเลือก ในส่วนของวุฒิสภาได้รับการจัดสรรเวลา 2 ชม. ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า ส.ว.จะอภิปรายประเด็นใดบ้าง แต่จะเป็นการอภิปรายอย่างเปิดเผยในที่ประชุมร่วมรัฐสภา ซึ่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลจะแสดงวิสัยทัศน์ต่อด้วยการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา จากนั้นแคนดิเดตนายกฯ จะชี้แจงตอบคำถาม
เมื่อถามว่า กรณีล่าสุดที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องคุณสมบัติของนายพิธาให้ศาลรัฐธรรมนูญแล้วนั้น จะส่งผลกระทบต่อการโหวตนายกฯ หรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า ไม่กระทบ ไม่มีเหตุที่จะกระทบ เป็นเพียงความเห็น กกต.ที่ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลอาจรับไว้ในทางธุรการวันนี้ ส่วนท่านจะมีมติรับพิจารณาหรือไม่ ยังไม่มีข้อสรุปจากศาลรัฐธรรมนูญ
“แต่ไม่ว่าอย่างไร สมาชิกภาพของนายพิธายังสมบูรณ์ ท่านอยู่ในที่ประชุมแน่นอน ดังนั้นทุกอย่างคงดำเนินการไปตามปกติ ซึ่งการอภิปรายคงไม่เรียกว่าเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อนเวลาของ ส.ว.แต่อย่างใด แต่ยืนยันว่าเหตุการณ์ในวันพรุ่งนี้จะดำเนินไปตามปกติ แม้ กกต.จะมีมติส่งก็ไม่เปลี่ยนแปลง เว้นแต่ศาลจะมีมติอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ขณะนี้ยังไม่มี ทุกอย่างดำเนินไปตามปกติ” นายคำนูณระบุ
เมื่อถามถึงการพูดถึงข้อสงสัยว่า การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ รอบแรกไม่ผ่าน จะหมดสิทธิ์เสนอในรอบสองหรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า เมื่อผลการโหวตออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องของประธานรัฐสภาจะตัดสินต่อไป แต่ทุกอย่างมีข้อบังคับ และรัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้ว
เพื่อไทยพร้อมยกมือให้
ที่พรรคเพื่อไทย เวลา 14.00 น. มีการประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) โดยมีคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) พร้อมด้วย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ พรรค พท. ร่วมประชุม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรค ระบุว่า มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบให้นายพิธาเป็นนายกฯ ซึ่งทุกคนพร้อมขานชื่อสนับสนุนอย่างเปิดเผย รวมทั้งมอบให้ตนเองเป็นผู้เสนอชื่อ และมีสมาชิกพรรคเป็นผู้อภิปรายให้ความเห็นสนับสนุนผู้สมควรที่จะได้เป็นนายกฯ ซึ่งฝ่ายกฎหมายให้ความเห็นต่อที่ประชุมว่า เรามั่นใจการโหวตนายกฯ พรุ่งนี้ชอบด้วยกฎหมาย ตราบใดที่ยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายพิธาก็ยังมีคุณสมบัติครบถ้วน
ขณะที่ น.ส.แพทองธารระบุว่า ตนเองขอให้กำลังใจนายพิธา คงต้องปล่อยให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการไปตามขั้นตอน เมื่อถามว่าการยื่นคำร้องดังกล่าวจะกระทบต่อการตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยหรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ตอนนี้ยังสามารถเสนอชื่อนายพิธาได้เหมือนเดิม ก็ไม่ได้กระทบอะไร ยืนยันว่าพรรค พท.จะยังสนับสนุนนายพิธาต่อไป และไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ทั้ง 8 พรรคร่วมรัฐบาลคงต้องหารือกัน
ที่ห้อง 409 อาคารรัฐสภา น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ส.ส.ตรัง และรองประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยหลังการประชุม ส.ส. 25 คน ว่า ที่ประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์มีมติตรงกันว่าให้งดออกเสียงในการโหวตเลือกนายกฯ เพราะพรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนชัดเจนว่าไม่สนับสนุนแคนดิเดตของพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า เป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง คือ 1.จบลงตามที่ประธานรัฐสภาระบุ โดยให้เริ่มโหวตในเวลา 17.00 น. และใช้เวลาระยะหนึ่ง เนื่องจากต้องใช้วิธีขานชื่อจนครบ 750 คน และจบลงที่การโหวต หรือ 2.ยังไม่ได้โหวต ให้เลื่อนออกไปก่อน
เมื่อถามด้วยว่า หากเลื่อนการโหวตนายกฯ ออกไป จะส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลและภาคเศรษฐกิจหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ถ้าช้ามากมันก็ไม่ดี แต่ถ้าช้านิดช้าหน่อย ก็พอเป็นไปได้
ตร.ขีดเส้นห้ามล้ำ 50 เมตร
วันเดียวกัน พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ที่ดูแลงานความมั่นคง อำนวยการในภาพรวม และ บช.น. ได้ชี้แจงจัดเตรียมแผนการรักษาความปลอดภัย อำนวยความสะดวกการจราจร และการบริหารจัดการพื้นที่รัฐสภา โดยใช้การขับเคลื่อนการปฏิบัติผ่าน ศปก.ตร.
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความพร้อมในการรักษาความปลอดภัย การอำนวยความสะดวกจราจร และการบริหารจัดการพื้นที่รัฐสภา ร่วมมือกับ กทม. จัดสถานที่รองรับการชุมนุมบริเวณพื้นถนน 1 ช่องจราจร และทางเท้าภายในศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร เกียกกาย (ฝั่งสนามเด็กเล่น) พื้นที่ 710 ตร.ม. รองรับผู้ชุมนุมได้ประมาณ 100-200 คน หากเกินกว่าปริมาณที่จะรับได้ บช.น.จะปรับพื้นที่ตามจำนวนผู้ชุมนุมต่อไป และมีการจัดเตรียมเส้นทางและสภาพการจราจร เตรียมกำลังพลเป็นจำนวนมาก อุปกรณ์ต่างๆ ยานพาหนะ กล้องวงจรปิด ชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่อแก้ไขสถานการณ์ ครอบคลุมพื้นที่รัฐสภาและพื้นที่ต่างๆ ในพื้นที่ กทม.
โดย พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. ได้ลงนามคำสั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่ 315/2566 เรื่องประกาศห้ามชุมนุมสาธารณะในรัศมีไม่เกินห้าสิบเมตร รอบรัฐสภา ตามมาตรา 7 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 โดยประกาศห้ามชุมนุมสาธารณะในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร รอบรัฐสภา รายละเอียดกำหนดพื้นที่ห้ามชุมนุมและพื้นที่ชุมนุมรอบรัฐสภา ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 เวลา 06.00 น. ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2566 เวลา 24.00 น. ซึ่งอาจมีการปิด ปรับเปลี่ยนเส้นทางการจราจร เพื่ออำนวยความสะดวกในการดูแลการชุมนุม
ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า ได้ลงนามประกาศกรุงเทพมหานครเรื่อง จัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ (ฉบับที่ 2) โดยที่เป็นการสมควรกำหนดสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะให้ชัดเจน เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี จึงกำหนดให้บริเวณพื้นที่ถนน 1 ช่องจราจร และทางเท้าภายในศูนย์ราชการ เกียกกาย ฝั่งสนามเด็กเล่น พื้นที่ประมาณ 710 ตารางเมตร แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต รองรับผู้ชุมนุมประมาณ 100-200 คน
ด้านนายอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ระบุว่า เห็นว่ากลุ่มที่สนับสนุนนายพิธาจะเดินทางมาหลายกลุ่ม จึงตัดสินใจที่จะไปเคลื่อนไหวเช่นกัน ยืนยันว่าไม่ได้ไปเผชิญหน้าหรือปะทะกับใคร แต่จะไปยื่นหนังสือต่อสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ในช่วงเวลา 10.00 น. เพื่อเตือนส.ว.ถึงการทำหน้าที่ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ด้วยสำนึกต่อหน้าที่ของ ส.ว.ที่ได้ปฏิญาณตนไว้ ส.ว.ต้องกลั่นกรองบุคคลที่จะมาบริหารประเทศ ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวหรือเข้ามาแก้ไขมาตรา 112
ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงกรณีที่มีความพยายามซื้อเสียง ส.ว. เพื่อแลกกับการสนับสนุนนายพิธาว่า "ผมไม่รู้ว่ามีใครไปโทรศัพท์หา ส.ว.คนนั้นเพื่อแกล้งอำหรือไม่ เท่าที่ผมฟังจากวิทยุเมื่อช่วงเช้า ได้แต่หัวเราะว่าจะเป็นไปได้อย่างไร กับการเสนอประโยชน์เพื่อไม่ให้โหวต ซึ่งคล้ายกับการซื้อเสียงเพื่อไม่ให้เลือกนักการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง ซึ่งตรรกะแล้วไม่ใช่เรื่องจริง แต่หากเป็นเรื่องจริงควรบันทึกเสียงไว้"
บิ๊กกองทัพโดดร่มระนาว
วันเดียวกัน พล.ร.อ.เชิงชาย เชิงชมแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ระบุว่า ในวันที่ 13 ก.ค. มีภารกิจไปร่วมงานพิธีรำลึก รศ.112 ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า โดยจะมีพิธีตั้งแต่ช่วงเช้าถึงเย็น มีการยิงปืนเสือหมอบ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณในการจัดตั้งป้อมพระจุลจอมเกล้า
"ยืนยันว่าภารกิจในวันพรุ่งนี้เรากำหนดล่วงหน้าไว้นานแล้ว และกระทำกันทุกปี ซึ่งปีนี้จัดยิ่งใหญ่พอสมควร ในรอบ 130 ปี ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ ม.112 และไม่ได้ส่งสัญญาณอะไร ถือเป็นงานสำคัญซึ่งผมจะอยู่ในงานตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น และได้มีการยื่นใบลาไปยังประธานวุฒิสภาแล้ว" พล.ร.อ.เชิงชายระบุ
จากนั้นผู้สื่อข่าวสอบถามทีเล่นทีจริง ว่ายิงปืนเสือหมอบสะเทือนถึงรัฐสภาหรือไม่ พล.ร.อ.เชิงชายหัวเราะพร้อมทั้งระบุว่า ไม่ถึงขนาดนั้น
เมื่อถามว่า พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้แนวทางในเรื่องการโหวตเลือกนายกฯ อย่างไรบ้าง พล.ร.อ.เชิงชายกล่าวว่า ท่านไม่ได้ให้นโยบายอะไร ไม่ได้มีการตกลงหรืออะไรทั้งสิ้น
ซักว่า ผบ.เหล่าทัพได้นัดหมายที่จะเข้าประชุมพร้อมกันหรือว่าติดราชการกันทั้งหมด พล.ร.อ.เชิงชายระบุว่า ถือเป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคนที่จะพิจารณาด้วยตัวเอง
พล.ร.อ.เชิงชายระบุว่า สำหรับการดูแลรักษาความปลอดภัยทางน้ำในพื้นที่รัฐสภาที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพเรือนั้น ได้มีการจัดตั้งกองอำนวยการร่วมรัฐสภา และเตรียมการการอพยพ ดูแลความปลอดภัยสมาชิกรัฐสภา เจ้าหน้าที่ประจำสภา หากต้องมีการเคลื่อนย้ายทางน้ำ ซึ่งได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว แต่ก็คาดการณ์ว่าไม่น่าจะมีเหตุการณ์รุนแรงจนถึงขั้นต้องใช้แผนการเคลื่อนย้ายทางน้ำ ซึ่งยังยึดการเคลื่อนย้ายทางบกเป็นหลัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีกำหนดการส่งกองร้อยเฉพาะกิจ เซาท์ซูดาน ที่กองบัญชาการกองทัพไทย และเดินทางไปตรวจหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาที่ จ.พิษณุโลก พลเอกณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ติดภารกิจตรวจชายแดนกองทัพภาคที่ 2 และกองทัพภาคที่ 3 พลอากาศเอกอลงกรณ์ วัณณรถ เดินทางไปราชการที่ประเทศอังกฤษ
ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้เดินทางเข้าปฎิบัติหน้าที่ตามปกติ ที่ห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.22 น. เพื่อติดตามงานและเซ็นแฟ้มเอกสาร โดยไม่มีวาระงานอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้หลังวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศวางมือทางการเมือง
ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) กล่าวว่า ยากฝากคือ การเห็นต่างทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ เมื่อคนหนึ่งยุติบทบาททางการเมืองแล้ว พรรคต่างๆไม่ควรด้อยค่าใช้วาทกรรมที่ไม่เหมาะสม ทุกคนทำเพื่อประเทศชาติทั้งนั้น บางท่านเป็นผู้ใหญ่แล้วไม่ควรออกมาโจมตีพล.อ.ประยุทธ์
เมื่อถามว่าการลาออกของพล.อ.ประยุทธ์เป็นการให้พรรคไปร่วมมือกับการผลักดันบุคคลอื่นเป็นนายกฯ ใช่หรือไม่ นายธนกร กล่าวว่า เป็นไปได้หลายทาง และการลาออกของพล.อ.ประยุทธ์ไม่เกี่ยวกับพรรค เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับมติพรรค และการลาออก ไม่ได้ส่งผล ท่านไม่อยากเป็นคู่ขัดแย้ง เพราะหลายสิ่งหลายอย่างไปกระทบพรรคท่านก็คิดเช่นนั้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บิ๊กต่อแจงบ้านลอนดอน รมว.ดีอีดีดรับพ่อนายกฯ
ป.ป.ช.เปิดขุมทรัพย์ “บิ๊กต่อ” หลังพ้นเก้าอี้ ผบ.ตร. ทรัพย์สิน 209 ล้าน
ภท.เฮรอดคดียุบพรรค! อิ๊งค์ขอเริ่มทำงาน2ม.ค.
“ภท.” เฮ รอดยุบพรรค กกต.ยุติสอบ “วันนอร์” ไม่หวั่นถูกเลื่อยขาเก้าอี้
ธปท.จับตาแจกเงินเฟส2-3
“คลัง” ฟุ้งเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย.โตต่อเนื่อง อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุนเต็มพิกัด
ชวนบี้แก้ปมท้องถิ่นชิงลาออก
“แสวง” ลงพื้นที่ปราจีนบุรี ส่องรับสมัครนายก อบจ.วันสุดท้าย
จี้สอบ6ข้อป่วยทิพย หวั่น‘สมศักดิ์’แทรกแซง/‘แม้ว’ถก‘อันวาร์’เรื่องอาเซียน!
"บิ๊กป้อม" เลี่ยงเผชิญหน้า "ทักษิณ" ยกเลิกร่วมงานอวยพรครบรอบ 75 ปี
ปธ.'รูทีนตีนตุ๊กแก' ลั่นตำแหน่งนี้ สส. เลือกมา นิติบัญญัติ-บริหารต้องแยกกัน
'วันนอร์' ไม่หวั่นฝ่ายการเมืองเลื่อยขาเก้าอี้ประธานสภาฯ ย้ำเป็นอำนาจสมาชิกรัฐสภา ต้องแยกฝ่ายนิติบัญญัติ-บริหาร ชี้ตำแหน่งนี้ สส. เลือกมา ลั่นหากต้องการเปลี่ยนเสนอญัตติมาได้