สภาผู้แทนฯ ถกญัตติด่วนกรณีสะพานยกระดับลาดกระบังถล่ม แนะ 4 เรื่อง ขณะที่สภา กทม.ตั้ง กมธ.วิสามัญตรวจสอบบิ๊กโปรเจกต์ วสท. คาดไม่เกิน 7 วันรู้สาเหตุแน่ คปภ. เร่งบริษัทประกันเยียวยา
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา กรณีสะพานยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบังถล่ม ว่ามีความกังวลใจ จึงอยากให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันทำงาน เข้ามาระดมความคิดเห็นเพื่อหาสาเหตุและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าดูที่หน้างานเท่านั้น แต่ต้องดูเชิงลึกด้วยเพื่อที่จะได้แก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง และขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปเยียวยาอย่างสมเหตุสมผล
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอเสนอแนะ 4 ข้อคือ 1.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเก็บข้อมูลและหลักฐาน อย่างเช่น ตัวอย่างปูนที่พังถล่มลงมาก่อนที่จะมีการทำความสะอาดใหญ่ เพราะจะทำให้ทราบว่าความผิดพลาดนั้นเกิดจากสิ่งใดกันแน่ แต่หากไม่เก็บข้อมูลหลักฐานไว้ ก็จะทำให้การพิสูจน์ทราบยากลำบากยิ่งขึ้น 2.ต้องตรวจสอบผู้รับเหมาที่ทำงานนี้ว่ามีคุณสมบัติตรงตามสัญญาหรือไม่ หากเราได้ผู้รับเหมาที่ไม่ตรงปก แสดงว่าได้คนที่มีคุณสมบัติที่ไม่เพียงพอมาทำงาน 3.กทม.จะต้องชี้แจงว่าเปลี่ยนแบบการก่อสร้างทำไม จากสัญญาเดิมที่ให้หล่อในพื้นที่ก่อสร้างเป็นหล่อจากโรงงาน และ 4.กทม.ต้องชี้แจงถึงความเข้มงวดในการคุมงานด้วย
หลังเปิดให้สมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวางแล้ว ที่ประชุมสภาฯ มีมติส่งเรื่องไปให้รัฐบาลรับทราบ
ขณะที่นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความคืบหน้าการรื้อถอนโครงสร้างโครงการก่อสร้างทางยกระดับดังกล่าว ว่า ได้นำอุปกรณ์โครงเหล็กสำหรับยกคอนกรีตประกอบโครงสร้างสะพานออกแล้ว 7 ชิ้น และยังต้องเก็บชิ้นส่วนที่เหลืออีก 7 ชิ้น คาดว่าวันที่ 14 ก.ค. จะเปิดการจราจรได้ หลังจากนี้จะตรวจสอบสาเหตุต่อไป ภายใต้ข้อสมมุติฐาน คือ จุดที่เทคอนกรีตปิดช่องเพื่อเชื่อมรอยต่อระหว่างคอนกรีตแต่ละชิ้นที่ยกมาประกอบกันเป็นโครงสร้างสะพาน โดยคอนกรีตในจุดปิดเชื่อมช่องดังกล่าวอาจมีกำลังไม่เพียงพอในการรับน้ำหนักระหว่างดึงเหล็ก เนื่องจากพบคอนกรีตระเบิดตำแหน่งดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ต้องเก็บตัวอย่างปูนและคอนกรีตในพื้นที่เพื่อตรวจสอบ เช่น รับกำลังได้มากน้อยเท่าใด รวมถึงหาผลทดสอบระหว่างการเทคอนกรีต และทดสอบกำลังรับแรงอัดของคอนกรีต ทั้งนี้ ข้อสมมุติฐานดังกล่าว สิ่งสำคัญคือการดึงลวดสลิง หากคอนกรีตรับแรงได้ถือว่าผ่าน หากรับแรงไม่ได้จะทำให้คอนกรีตแตกระเบิด ทำให้คอนกรีตที่เหลือพากันรั้งน้ำหนัก ทำให้เสาที่ 84 ขาด เพราะเสาไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการรั้งน้ำหนักจากด้านข้าง อย่างไรก็ตาม ต้องหาหลักฐานเพิ่มเพื่อหาสาเหตุต่อไป
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบัน กทม.มีโครงการขนาดใหญ่ 2 โครงการ คือ โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย และโครงการก่อสร้างปรับปรุงสะพานข้ามแยกบางกะปิ จึงกำชับให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน รวมถึงใช้กล้อง AI เข้ามาช่วยตรวจสอบมาตรฐานการทำงาน
“เรายังมีบทเรียนของโครงการอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน ที่ทำให้ถนนทรุดตัว มีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย ซึ่งผู้รับเหมาต้องรับผิดชอบ กทม.ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล ต้องเข้าไปติดตามตรวจสอบโครงการอื่นๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานด้วย ส่วนการขึ้นแบล็กลิสต์ กทม.ทำตามอำเภอใจไม่ได้ ต้องทำตามกรอบของกฎหมาย เป็นอำนาจของกรมบัญชีกลาง” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 2) ประจำปี 2566 ที่ศาลาว่าการ กทม. (ดินแดง) โดยนายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง ได้ยื่นเสนอญัตติด่วนเรื่องตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษา ตรวจสอบโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในความรับผิดชอบของ กทม. เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งนายชัชชาติกล่าวว่ายินดีรับข้อสังเกตของ ส.ก.ไปพิจารณาให้ถี่ถ้วนด้วย และการตั้งคณะกรรมการวิสามัญจะช่วยให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ที่ประชุมสภา กทม.มีมติเห็นชอบญัตตินี้ และให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญจำนวน 17 คน กำหนดระยะเวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จ 90 วัน
วันเดียวกัน นายวัชรินทร์ กาสลัก นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) พร้อมวิศวกรจาก วสท. เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ โดยนายวัชรินทร์กล่าวว่า วันนี้ได้เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ ซึ่งเราได้ประโยชน์มากจากภาพถ่ายหรือคลิปที่ประชาชน ส่งมาให้ทางทีมงาน หรือถ้าใครมีคลิปในวันเกิดเหตุ โดยเฉพาะกล้องหน้ารถ ก็จะช่วยให้วินิจฉัยได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันได้ไปขอรายละเอียดต่างๆ จากกรุงเทพมหานคร ทั้งแบบก่อสร้างเรื่องของบันทึกรายงานประจำวัน ซึ่งต้องเอารายละเอียดทั้งหมดมาวิเคราะห์รวมกัน อย่างช้าไม่เกิน 1 สัปดาห์ คาดว่าจะทราบสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้
ทางด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบความเสียหายทั้งต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินจากการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ พบว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 2 รายเป็นพนักงานของโครงการดังกล่าว ส่วนผู้บาดเจ็บ 12 ราย เป็นพนักงานก่อสร้าง 5 ราย และประชาชนที่ใช้เส้นทางสัญจรในบริเวณนั้น 7 ราย เบื้องต้นพบว่าโครงการทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง ได้ทำประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาไว้กับบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นความคุ้มครองวันที่ 9 มิ.ย.2566 ถึงวันที่ 24 พ.ย.2568 คุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกวงเงิน 50 ล้านบาท ในสัดส่วนร้อยละ 60 และบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วนร้อยละ 40
สำหรับการติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ สำนักงาน คปภ. เขตบางนา ได้ประสานบริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุในครั้งนี้ เพื่อชดเชยสินไหมทดแทนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บอย่างเต็มที่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฉายาสภาเหลี่ยม(จน)ชิน
ถึงคิวสื่อสภา ตั้งฉายา สส. "เหลี่ยม (จน) ชิน" จากการพลิกขั้วรัฐบาลเขี่ย
ตอกฝาโลงกิตติรัตน์ ‘กฤษฎีกา’ชี้ขาดคุณสมบัติ เหตุมีส่วนกำหนดนโยบาย
"กฤษฎีกา" ชี้ชัดสมัย "นายกฯ เศรษฐา" ตั้ง "กิตติรัตน์" เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ
‘เท้งเต้ง’ไม่ทน! ชงแก้ข้อบังคับ รมต.ตอบกระทู้
ทนไม่ไหว! “หัวหน้าเท้ง” หารือประธานสภาฯ ขอให้แก้ข้อบังคับการประชุม
แม้วพบอันวาร์กลางทะเล เตือนเสือกทุกเรื่องทำพัง!
ปชน.จี้ถามรัฐบาล “ทักษิณ” มีอำนาจจริงปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่
ให้กำลังใจจนท.ดูแลปีใหม่ เข้มงวด‘ความปลอดภัย’
นายกฯ ให้กำลังใจตำรวจ-กรมทางหลวง ทำงานหนักช่วงปีใหม่
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"