สภาซักพิธา6ชม. หน่อยไขก๊อกส.ส.

กกต.ยันมีอำนาจยื่นศาลรธน.วินิจฉัย "พิธา" ถือหุ้นสื่อ นัดสรุปครั้งสุดท้าย 12 ก.ค.นี้ "วันนอร์" ถกวิป 3 ฝ่าย เคาะเริ่มโหวตนายกฯ 5 โมงเย็น 13 ก.ค. แบ่งเวลาอภิปราย "ส.ส." 4 ชม. "ส.ว." 2 ชม. ขอพรรคการเมืองดึงสติมวลชนอย่าวุ่นวาย "ชัยธวัช" โวยมีคนส่งข้อความขู่ ส.ว.หนุนก้าวไกลพร้อมเสนอผลประโยชน์  "พิธา" พ้อไม่ควรต้องมาลุ้น ส่งสารถึง "ส.ส.-ส.ว." ขอโอกาสประเทศเดินหน้า "8 พรรค" หารือมอบ "พท." ชงชื่อนายกฯ พิธา "ชลน่าน" เผย "ก.ก." ไม่แจงได้เสียง ส.ว.เท่าไหร่ บอกแค่พยายาม "หญิงหน่อย" ไขก๊อก ส.ส. "พรรค รบ.เดิม" ประสานเสียงไม่เอาพวกแก้ 112 ย้ำชัดไม่ส่งใครชิงนายกฯ

ที่ศูนย์​ราชการ​ฯ อาคารบี แจ้งวัฒนะ​ วันที่ 11 ก.ค. ช่วงเช้า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล (ก.ก.) พร้อมสมาชิกพรรค ก.ก. เดินทางเข้าพบผู้บริหารสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เมื่อนายพิธาเดินผ่านสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งตั้งอยู่ภายในศูนย์ราชการฯ อาคารบีเช่นกัน ผู้สื่อข่าวได้พยายามสอบถามถึงเรื่องที่  กกต.กำลังมีการประชุมพิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติตนเอง แต่นายพิธาปฏิเสธที่จะตอบ โดยระบุเพียงว่า  "วันนี้ได้รับเชิญจากทาง GISTDA ให้มาพูดคุย"

ส่วน กกต. เวลา 10.00 น. ได้เริ่มประชุมกรณีนายพิธาถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ต่อจากวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกไปแล้ว โดย กกต.ยังไม่ได้ลงมติว่าจะส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพียงแต่เป็นการติดตามความคืบหน้าของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบ ดังนั้น กกต.จึงได้นัดประชุมในวันนี้

ต่อมา นายอิทธิพร บุญประคอง  ประธาน​ กกต. แถลงผลประชุมว่า ในการประชุม กกต.วันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาหนังสือของนายพิธาที่ขอให้ กกต.ปฏิบัติตามระเบียบสืบสวนฯ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า กกต.ได้ปฏิบัติโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว   เนื่องจากกรณีนี้เป็นการดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 มิใช่การดำเนินการสืบสวนไต่สวนการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ซึ่งจะต้องเป็นไปตามระเบียบสืบสวนฯ ที่ต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาก่อน

โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 82 กำหนดว่า ในกรณีที่ กกต.เห็นว่าสมาชิกภาพของ ส.ส.คนใดมีเหตุสิ้นสุดลง ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้ สอดคล้องกับแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยให้ไว้ในการพิจารณายื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ซึ่งสำนักงาน กกต. จะได้มีหนังสือตอบผลการพิจารณาของที่ประชุมให้นายพิธาทราบต่อไป

"ที่ประชุมยังได้รับรายงานจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนายพิธาเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้เสนอต่อที่ประชุมในวันนี้ โดยที่ประชุมรับทราบและเห็นว่าเพื่อความละเอียดรอบคอบ ที่ประชุมจะพิจารณารายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไปในวันพรุ่งนี้ (12 ก.ค.)" ประธาน กกต.ระบุ

ที่รัฐสภา เวลา 11.00 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุมวิป 3 ฝ่าย เพื่อเตรียมความพร้อมในการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 ก.ค.นี้ มีตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และส.ว.ร่วมประชุม ใช้เวลากว่า 3 ชม.

เคาะโหวตนายกฯ 5 โมงเย็น

นายวันมูหะมัดนอร์แถลงว่า การประชุมระหว่างวิปของ ส.ว.และพรรคการเมือง ได้หารือประเด็นการโหวตเลือกนายกฯ เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย ซึ่งจะมีการอภิปรายและจะมีการโหวตกันได้ในเวลา 17.00 น. โดย ส.ว.ได้เวลา 2 ชม.และ ส.ส.จากทุกพรรคการเมืองได้เวลา 4 ชม. ส่วนตัวเชื่อว่าการประชุมมีข้อบังคับอยู่ คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาหรือความวุ่นวายเกิดขึ้น

ถามถึงมาตรการดูแลความปลอดภัยสมาชิกที่เข้ามาร่วมประชุม นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า จะนัดคุยกับตำรวจสภาในเวลา 15.00 น. เพื่อหารือถึงเรื่องดังกล่าว โดยจะให้เป็นไปตามประกาศชุมนุมในที่สาธารณะ ขณะที่ประชาชนรวมทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนที่จะเดินทางมาให้กำลังใจ จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และพรรคการเมืองก็ควรไปชี้แจง เพราะเชื่อว่าคนที่มาส่วนหนึ่งเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง

"ผมเชื่อในเจตนาดีของประชาชนที่อยากเห็นบ้านเมืองได้นายกฯ และเห็นความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง หากได้นายกฯ ล่าช้า บ้านเมืองก็จะเกิดความเสียหาย ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุน จึงขอให้คิดให้หนักว่าจะทำอย่างไรให้ได้นายกฯ ด้วยความเรียบร้อย ซึ่งสภาไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยสมาชิกเท่านั้น แต่ประชาชนที่มาสังเกตการณ์เราก็จะจัดสถานที่ให้ด้วย" นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว

เมื่อถามว่า หากโหวตนายพิธาไม่ผ่านในรอบแรก จะสามารถโหวตรอบสองได้หรือไม่ เนื่องจากมี ส.ว.บางส่วนออกมาท้วงติงว่าสามารถเสนอชื่อได้เพียงครั้งเดียว ประธานสภาฯ กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่นายพิธาสามารถแสดงวิสัยทัศน์ก่อนได้ เรายังไม่รู้ว่านายพิธาจะได้รับเสียงโหวตหรือไม่ผ่าน แต่ถ้าไม่ผ่านก็ต้องมาพิจารณา โดยยึดตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ และมติที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยมาแล้ว แม้จะไม่เกี่ยวกับกรณีนี้โดยตรง และความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาว่าจะสามารถทำได้อย่างไร

"ขอให้การพิจารณารอบแรกเสร็จสิ้นเสียก่อน ถ้าไม่ได้นายกฯ ถึงอย่างไรสภา ก็ต้องดำเนินการให้ได้นายกฯ เพราะเป็นหน้าที่โดยตรง แต่จะเสนออย่างไร กี่ครั้งและคนเดิมได้หรือไม่ ขอให้จบรอบแรกไปก่อน" ประธานสภาฯ กล่าว

ส่วนนายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรค ก.ก. กล่าวว่า วิป 3 ฝ่ายตกลงกันเรื่องระยะเวลาว่าจะเริ่มประชุมในเวลา 09.30 น. หลังจากที่มีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ประธานรัฐสภาเสนอว่าจะเปิดให้สมาชิกทั้ง 2 สภา ได้อภิปรายซักถามกันอย่างเต็มที่ก่อนที่จะมีการโหวต โดยคาดการณ์ว่าได้เริ่มโหวตช่วงเวลาประมาณ 16.00-17.00 น.

นายชัยธวัชกล่าวถึงเสียง ส.ว.สนับสนุนนายพิธาว่า ยอมรับมีกระแสกดดันใน ส.ว.ค่อนข้างมาก ดังนั้น ส.ว.ตอนนี้ส่วนใหญ่จึงมีท่าทีที่ไม่แสดงออกชัดเจน คงต้องวันที่ 13 ก.ค.ทีเดียว และยังมีโอกาสที่เราจะได้เสียง ส.ว.เพียงพอ ตอนนี้มันมีความไม่แน่นอน

"มีสัญญาณบวกแน่นอน แต่ต้องยอมรับว่าหลายวันนี้ได้รับกระแสข่าวว่ามีการกดดัน ส.ว.แต่ละคนที่ถูกคาดหมายว่าจะโหวตสนับสนุนนายพิธาอย่างมาก ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรไม่ทราบ แต่กระแสข่าวมาเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นส่งข้อความ ส่งคนไปพูดคุยกดดัน หรือบางกระแสข่าวว่ากันว่ามีความพยายามจะแบล็กเมล์ด้วยซ้ำ หรือเสนอผลประโยชน์ให้ต่างๆ นานา ซึ่งหวังว่าจะไม่เกิดขึ้นจริงๆ อย่างไรก็ดี เราไม่มีหลักฐาน เป็นเพียงกระแสข่าว

" นายชัยธวัชกล่าว

ถามว่าคุณสมบัติของนายพิธาอาจทำให้ ส.ส.ไม่กล้าโหวตสนับสนุน เลขาฯ พรรค ก.ก.กล่าวว่า สมาชิกรัฐสภาน่าจะแยกออก สิ่งที่กังวลมากกว่าคือความพยายามที่จะชูเรื่องความจงรักภักดีมาเป็นหลักเกณฑ์ในการให้โหวตหรือไม่ให้โหวตแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมในการที่จะทำแบบนั้น เพราะถือเป็นการหมิ่นเหม่ที่จะนำสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาปะทะกับผลการเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าไม่ส่งผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย

'พิธา' พ้อไม่ควรต้องมาลุ้น

ซักว่า มีกระแสข่าว กกต.อาจมีมติส่งเรื่องนายพิธาถือหุ้นสื่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย เลขาธิการพรรค ก.ก.กล่าวว่า อยากให้ กกต.แจ้งข้อเท็จจริง พฤติการณ์ ข้อกฎหมายที่มีการกล่าวหา ว่ากระทำผิดกฎหมายต่างๆ อย่างไร เพื่อเปิดโอกาสให้นายพิธาชี้แจง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ควรจะเป็น

เมื่อถามว่าหาก กกต.จะพิจารณาเสร็จในวันที่ 12 ก.ค. จะส่งผลกระทบต่อการโหวตให้นายพิธาเป็นนายกฯ หรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า ไม่ส่งผลกระทบ ถึงอย่างไรสถานะการเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของนายพิธายังคงอยู่        

ขณะที่นายพิธาให้สัมภาษณ์กรณี ส.ว.เตรียมใช้ข้ออ้างในการเลื่อนการโหวตนายกฯ หาก กกต.ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธาในคดีหุ้นสื่อว่า การที่จะเลื่อนการโหวตเลือกผู้นำของประเทศในช่วงสภาวะวิกฤตแบบนี้ จะทำให้ประชาชนเสียผลประโยชน์ ซึ่งเป็นการตัดสินใจของประธานสภาฯ และสมาชิกรัฐสภาร่วมกัน

ถามว่า เสียง ส.ว.ที่พรรค ก.ก.บอกเพียงพอแล้วต่อการโหวตนายกฯ ส่วนใหญ่เป็น ส.ว.สายพลเรือนหรือสายทหาร นายพิธากล่าวว่า เราคงไม่ได้ดูว่าเป็น ส.ว.มาจากสายไหน แต่เป็นเรื่องของหลักการที่ ส.ว.ยังหนักแน่น ในการที่บอกว่าถ้ารัฐบาลได้เสียงข้างมาก เหมือนกรณี พล.อ.ประยุทธ์ คิดว่าคงจะต้องโหวตตามหลักการนี้ และไม่โหวตสวนมติของประชาชน

ซักว่ามั่นใจหรือไม่ว่าจะได้เสียง ส.ว.เพียงพอต่อการโหวตเป็นนายกฯ นายพิธา กล่าวว่า ยังมั่นใจอยู่ ส่วนจำนวนที่ชัดเจนจะต้องรอดู เพราะถ้าพูดออกไปตอนนี้อาจจะมีแรงกระทบต่อการตัดสินใจในอีก 2 วันนี้

"เป็นที่น่าเสียดายที่ประชาชนเลือกผมมาแล้วก็ไม่ควรมาลุ้นอีก ซึ่งขณะนี้ควรจะประชุมเพื่อผลักดันกฎหมายได้แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่จะต้องมาลุ้นกันต่อ แต่เชื่อว่านายวันมูหะมัดนอร์จะบริหารจัดการสถานการณ์ได้อย่างดี" นายพิธากล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิธาได้เผยแพร่คลิปผ่านโซเชียล​มีเดีย​ทุกช่องทางการสื่อสาร ความยาว 4.33 นาที พร้อมระบุแคปชัน จากพิธาถึงทุกคน ก่อนวันโหวตนายกรัฐมนตรี 13 ก.ค.นี้ ให้โอกาสประเทศไทยได้มีรัฐบาลเสียงข้างมากตามเจตจำนงของประชาชน เดินหน้าตามครรลองประชาธิปไตย คืนความปกติสู่การเมือง ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการบอกถึงจำนวนเสียงที่พรรค ก.ก.ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนมาเป็นลำดับ 1 รวมทั้งการรวมอีก 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาล

นายพิธากล่าวตอนหนึ่งว่า รัฐสภาทุกคนสามารถร่วมกันใช้เสียงของตัวเองสานต่อเจตนารมณ์ที่ประชาชนแสดงออกผ่านการเลือกตั้งให้ลุล่วง จัดตั้งรัฐบาลที่เป็นตัวแทนเสียงข้างมากให้สำเร็จ ภารกิจนี้คือภารกิจร่วมกันของเราทุกคนในฐานะสมาชิกรัฐสภา ผู้ถืออำนาจแทนประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

"ในโอกาสนี้ ผมขอสื่อสารไปยัง ส.ส.และ ส.ว.ทุกท่าน ท่านอาจไม่ชอบแนวทางการเมืองของพวกเราในระบอบการเมืองปกติ แต่พวกท่านตรวจสอบผมได้ โจมตีผมได้ โหวตผมออกจากตำแหน่งก็ยังทำได้ แต่การโหวตให้รัฐบาลเสียงข้างมากคือการให้โอกาสประเทศไทยเดินหน้าในแบบที่ควรจะเป็น" นายพิธาระบุ

วันเดียวกัน ที่รัฐสภา แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรคร่วมประชุมความคืบหน้าจัดตั้งรัฐบาล นำโดยนายชัยธวัช เลขาธิการพรรค ก.ก., นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค ก.ก., นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.), นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรค พท., นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค พท., น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรักษาการโฆษกพรรค พท., พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.), น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.), นายวสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง, นายวิรัตน์ วรศสิริน ตัวแทนพรรคเสรีรวมไทย (สร.), นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคเป็นธรรม (ปธ.) และตัวแทนจากพรรคพลังสังคมใหม่

ก.ก.ไม่แจงเสียง ส.ว.หนุน

นพ.ชลน่านให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุมว่า ในวันที่ 13 ก.ค. ที่ประชุมมอบหมายให้พรรค พท.เป็นผู้เสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ โดยที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะเปิดให้สมาชิกที่มีข้อซักถามสามารถซักถามคนที่มีชื่อเป็นนายกฯ ได้

ถามว่า ที่ประชุมมีการสอบถามเรื่องเสียง ส.ว.ที่จะสนับสนุนนายพิธาหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า มีการสอบถามกัน ซึ่งทางนายชัยธวัชตอบในมุมที่อยู่บนพื้นฐานความพยายามที่จะประสานและหาเสียงสนับสนุนให้ได้มากที่สุด แต่ไม่ได้ระบุว่ามีจำนวนเท่าใด

ซักว่า แสดงว่ายังได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ไม่ครบเท่าจำนวนที่ต้องการใช่หรือไม่  นพ.ชลน่านกล่าวว่า ไม่ได้รับคำตอบจากนายชัยธวัช ซึ่งเราได้ถามในที่ประชุมไป นายชัยธวัชก็บอกว่าพยายาม ส่วนจะครบหรือไม่ครบนั้น นายชัยธวัชไม่ได้ยืนยันเป็นตัวเลข

เมื่อถามว่า ได้คุยถึงการรับมือกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่จะมาติดตามสถานการณ์หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เรื่องนี้ในที่ประชุมไม่ได้หยิบยกขึ้นมาพูดคุย เพียงแต่มีเรื่องแจ้งให้ทราบว่าในวันดังกล่าว ทางรัฐสภาจะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาร่วมฟังการประชุมโดยการจัดสถานที่ให้ ซึ่งจะใช้ฝั่งวัดแก้วฟ้าจุฬามณีเป็นหลัก หากมีความจำเป็นอาจจะขออนุญาตปิดถนนทหาร ให้เป็นที่อยู่ของประชาชน โดยยึดตรงนั้นเป็นหลัก ไม่อยากให้เข้ามาบริเวณอาคารรัฐสภา เพราะมีหลายกลุ่ม ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากทุกอย่างอยู่ภายใต้กฎหมาย

ถามว่า หากโหวตครั้งแรกนายพิธาไม่ผ่าน จะมีการปรับแผนหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้มีการหารือกัน เอาข้อเท็จจริงให้ปรากฏก่อน เอาเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 13 ก.ค.เป็นตัวหลักก่อน

วันเดียวกัน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แจ้งลาออกจากการเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรค ทสท.แล้ว

คุณหญิงสุดารัตน์ระบุตอนท้ายโพสต์ว่า ขอยืนยันถึงจุดยืนของพรรค ทสท. ที่จะโหวตให้พรรคที่มีเสียงเป็นอันดับหนึ่ง ตามครรลองประชาธิปไตย นายพิธา เป็นนายกฯ คนที่ 30 และจัดตั้งรัฐบาลของประชาชนให้สำเร็จ พร้อมกันนี้ ยังขอเรียกร้องไปยัง ส.ว.ทั้ง 250 ท่าน ให้ยึดหลักการประชาธิปไตย ไม่ฝืนเจตจำนงของประชาชน ซึ่งมีแต่จะนำพาประเทศไปสู่หล่มความขัดแย้งครั้งใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับถัดไปของพรรค ทสท. ที่จะมาแทนคุณหญิงสุดารัตน์คือ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 2

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.)กล่าวว่า วันนี้ (11 ก.ค.) ภท.จัดประชุม ส.ส.ของพรรค เพื่อหารือในวันที่ 13 ก.ค.จะมีการโหวตเลือกนายกฯ อย่างไร ซึ่งให้ ส.ส.ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น แต่พรรคมีจุดยืนและเจตนารมณ์ตามที่ได้เคยแถลงการณ์แล้ว

ซักว่า ขณะนี้มีพรรคร่วมรัฐบาลเดิมได้มาหารือเรื่องการโหวตนายกฯ หรือไม่  นายอนุทินกล่าวว่า ไม่มี ยังไม่มีการคุยไปถึงจุดนั้น และคิดว่าทุกพรรคทำตามกติกาและมารยาททางการเมือง ไม่มีใครคิดจะไปแย่งจัดตั้งรัฐบาลจนความจำเป็นจะเกิดขึ้น

พรรค รบ.เดิมไม่ส่งชิงนายกฯ

ต่อมาหลังการประชุม ส.ส.พรรค ภท. นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง และโฆษกพรรค ภท. แถลงว่า พรรคมีมติเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับหัวหน้าพรรคที่ได้พูดมาตลอดคือ จุดยืนที่เราไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย และจะไม่ร่วมมือกับพรรคการเมืองหรือกลุ่มบุคคลใดก็ตามที่มีแนวคิดแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นทิศทางในการลงมติวันที่ 13 ก.ค.นี้

"การโหวตนายกฯ พรรคจะงดออกเสียงหรือไม่เห็นด้วยต้องดูที่หน้างาน ขึ้นอยู่กับคำถามของประธานในที่ประชุมว่าจะนำเสนอการลงมติอย่างไร” โฆษกพรรค ภท.ระบุ

ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวแนวทางการโหวตนายกฯ ว่า การลงมติของพรรค ปชป.เลือกนายกฯ ในวันที่ 12 ก.ค.ที่รัฐสภา โดยจะเป็นการพูดคุยในที่ประชุม ส.ส.พรรคว่าจะมีความเห็นอย่างไร แต่ทั้งหมดก็จะต้องเป็นเอกสิทธิ์ของผู้ลงคะแนน

ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. เป็นประธานประชุมพรรค โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และประธานยุทธศาสตร์ภาคเหนือ พรรค พปชร. แถลงผลประชุมว่า พปชร.มีจุดยืนชัดเจนจะไม่เสนอผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ โดยใช้เสียงข้างน้อยอย่างเด็ดขาด และเราจะไม่โหวตให้กับผู้ที่จะมาดำรงนายกฯ ที่มีนโยบายในการแก้ไขมาตรา 112 อย่างเด็ดขาด

มีรายงานว่า ในที่ประชุม พปชร. พล.อ.ประวิตรกล่าวกับที่ประชุมช่วงหนึ่งว่า “พรรคเราต้องเป็นเอกภาพ เราจะไม่เอาคนที่ไม่เอามาตรา 112 วันที่ 13 ก.ค.อาจจะโหวตงดออกเสียง” ขณะที่ ส.ส.อาวุโสรายหนึ่งได้แสดงความเห็นว่า การงดออกเสียงก็เหมือนกับไม่เห็นชอบแล้ว ขณะนี้กระแสสังคมค่อนข้างแรง ถ้าโหวตไม่เห็นชอบเลยอาจจะมีผลกระทบต่อ ส.ส.ในพื้นที่ ส่วน ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า เห็น ส.ว.หลายคนออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะลงมติโดยการงดออกเสียง ทำให้ พล.อ.ประวิตรระบุว่า ค่อยว่ากันอีกทีในวันโหวต

ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ โฆษกพรรค รทสช. แถลงผลการประชุม ส.ส.ของพรรคว่า ที่ประชุมมีมติไม่ส่งบุคคลลงชิงตำแหน่งนายกฯ แต่จะส่งนายศาสตรา ศรีปาน ส.ส.สงขลา เป็นผู้อภิปรายในสภา ถึงเหตุผลที่พรรคไม่สนับสนุนนายพิธา ส่วนในการโหวตนายกฯ จะให้มากกว่า 1 ครั้งหรือไม่ พรรคมีมติว่าสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ จึงแต่งตั้งให้นายวิทยา แก้วภราดัย รองหัวหน้าพรรค, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค และนายอนุชา นาคาศัย รองหัวหน้าพรรค  เป็นผู้ตัดสินใจในการลงมติว่าจะให้โหวต 1 ครั้ง หรือมากกว่า 1 ครั้ง ในโหวตนายกรัฐมนตรี
ที่พรรคชาติไทยพัฒนา นายนิกร จำนง  ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา แถลงว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค โดยด้วยเวลาที่เร่งรัดและสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เพื่อความคล่องตัวที่ประชุม กก.บห.จึงมีมติมอบอำนาจให้หัวหน้าพรรคเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจทางการเมืองใดๆ

ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวถึงทิศทางการโหวตนายกฯ ว่า เชื่อว่า ส.ว.มีดุลยพินิจอยู่แล้ว เราต้องฟังข้อมูลรอบด้าน ทั้งการแสดงวิสัยทัศน์จากผู้สมัครที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ  ข้อมูลการอภิปรายจากสมาชิกรัฐสภา ข้อมูลทางคดีที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ เชื่อว่า ส.ว.จะใช้ดุลยพินิจได้อย่างดี แต่ผลโหวตจะออกมาอย่างไร รอดูวันที่ 13 ก.ค.

ถามถึงข้อกังวลของ ส.ว.ไม่ให้นำชื่อนายพิธามาโหวตในรอบสอง หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาในการโหวตครั้งแรกวันที่ 13 ก.ค.นั้น นายสมชายกล่าวว่า แม้รัฐธรรมนูญจะไม่มีข้อห้ามเรื่องการเสนอชื่อโหวตซ้ำรอบสอง แต่ส.ว.ก็กังวลใจ หากจะให้โหวตไปเรื่อยๆ ได้ จึงหยิบเรื่องนี้มาหารือกัน แต่ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน แต่มองว่าเป็นเรื่องที่มีประเด็น หากโหวตครั้งแรกไม่ได้ แต่มาได้เสียงเห็นชอบตอนโหวตครั้งที่ 2 แต่มีคนไปยื่นตีความว่าการเสนอชื่อโหวตซ้ำ 2 รอบทำไม่ได้ หากปล่อยให้ทำหน้าที่ไปสัก 3 เดือน แล้วศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กระทำไม่ได้ จะทำให้การประชุม ครม.ที่ผ่านมาเป็นโมฆะหรือไม่ จะยิ่งยุ่งไปกันใหญ่  

ส่วน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช หรือเสธ.อู้ ส.ว. ปฏิเสธถึงกระแสข่าวที่ตนเองเป็นผู้รวบรวมเสียงของ ส.ว.สายทหาร เพื่อสนับสนุนให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี  โดยระบุว่า รู้สึกตกใจกับกระแสข่าวดังกล่าว เพราะตนยึดถือมาตลอดว่าจะไม่ก้าวก่าย ส.ว.คนอื่นในการลงมติ

ถามว่า เลขาธิการพรรค ก.ก.ระบุมีกระแสกดดันและมีการแบล็กเมล์ ส.ว. เพื่อไม่ให้ลงมติเลือกนายพิธา พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า รับทราบกระแสข่าวดังกล่าว แต่ยืนยันไม่กดดัน และวุฒิสภาก็ไม่มีการกดดันกัน ยืนยันไม่มี ส.ว.คนใดรับผลประโยชน์ใดๆ แน่นอน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประธาน กกต. ไม่ฟังธง 'ทักษิณ' ช่วยหาเสียงชูนโยบายรัฐบาลเกินอำนาจ อบจ. ผิดหรือไม่

"อิทธิพร" เผยบัตรเลือกตั้งอบจ. เตรียมส่งถึงทั่วประเทศ เตือนผู้สมัคร หลีกเลี่ยงให้เงินแตะเอีย-สิ่งของในช่วงตรุษจีน