ครม.ไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีอุ้มดีเซล หลังสิ้นสุด 20 ก.ค. ไฟเขียวกองทุนน้ำมันฯ ดูแลแทน กบน.จ่อถกสัปดาห์หน้า หาแนวทางตรึงราคาไม่ให้กระทบค่าครองชีพ ปชช. ศาลอาญาคดีทุจริต "พลังงาน-กกพ.-กฟผ." เเจงยิบ 11 ข้อ ใน 30 วัน คดีไทยสร้างไทยฟ้องค่าไฟเเพง
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.รับทราบแนวทางการดำเนินมาตรการภาษีสรรพสามิตเพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาดีเซล หลังรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ก.พ. 2565 ด้วยการออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตรวมทั้งสิ้น 7 ฉบับ ประเมินสูญเสียรายได้ภาษีประมาณ 156,000 ล้านบาท และโดยกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 34) พ.ศ.2566 ปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตร จะสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.ค.2566 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราภาษีจะกลับสู่ภาวะปกตินั้น
กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานได้หารือและมีความเห็นร่วมกันว่า การใช้มาตรการทางภาษีเพื่อปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล หลังจากมาตรการการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลจะสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.ค.นี้ จะเป็นการดำเนินการที่ก่อให้เกิดผลผูกพันรัฐบาลในอนาคต ซึ่ง ครม.ที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงที่มีการยุบสภา ไม่อาจกระทำการอันมีผลต่อการอนุมัติงานหรือโครงการหรือมีผลต่อการสร้างความผูกพันต่อ ครม.ชุดต่อไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169 (1) ประกอบ มติ ครม. เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2566 เรื่องแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภา รวมทั้งปัจจุบันสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซล ณ โรงกลั่นในประเทศลดลงตามไปด้วย ดังนั้น ในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดีเซลอยู่ในวิสัยที่กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถดำเนินการได้ เห็นสมควรให้ใช้มาตรการของกองทุนน้ำมันฯ ที่มีฐานะการเงินดีขึ้นโดยลำดับ ทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันดีเซล โดยกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานจะติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิดต่อไป
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบผลการศึกษาการดำเนินโครงการโซลาร์ภาคประชาชน กรณีที่ให้ประชาชนส่งไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้เข้าระบบเพื่อหักลบจากหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนใช้ไฟฟ้าในเดือนถัดไป ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากมีข้อขัดข้องในด้านระเบียบข้อกฎหมาย ด้านเทคนิคและวิธีการที่เกี่ยวข้อง ด้านผลกระทบต่อประเทศและประชาชนโดยรวม ได้แก่ ความมั่นคงของระบบไฟฟ้า วิธีการนำปริมาณไฟฟ้าที่จ่ายเข้าระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า และต้นทุนของหน่วยไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย จึงยังคงมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) แบบเดิม คือให้ประชาชนสามารถนำกระแสไฟฟ้าที่เหลือดังกล่าวขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายในอัตรารับซื้อ 2.20 บาท
ทั้งนี้ หากในอนาคตมีการติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองภายในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น จะมีการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนแฝง เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เกิดขึ้นด้วย พร้อมจะศึกษาถึงความเหมาะสมในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนดำเนินการติดตั้ง Solar Rooftop เพิ่มเติม
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า คาดว่าสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) โดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) คงจะนำเสนอแผนการดำเนินงานต่างๆ ในการดูแลราคาดีเซล ซึ่งพยายามจะตรึงราคาไว้ให้มากที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพประชาชน
“ขณะนี้ราคาดีเซลอยู่ที่ 31.94 บาทต่อลิตร ซึ่งหากดูจากเงินที่เก็บเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของดีเซลเฉลี่ยจะอยู่ที่ราว 4 บาทกว่าต่อลิตร ดังนั้นหากใกล้สิ้นสุดมาตรการลดภาษีฯ ดีเซล 20 ก.ค. ต้องดูว่าราคาดีเซลตลาดโลกจะเป็นอย่างไร หากลดลงก็อาจจะเก็บได้เกิน 5 บาทต่อลิตร ก็สามารถลดเก็บเงินดังกล่าวไปชดเชยภาษีฯ ได้ทันที หรือหากดีเซลโลกขึ้นเล็กน้อย ก็อาจใช้วิธีชดเชยราคาเพิ่มเพื่อตรึงราคาดีเซล ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ที่ กบน.ว่าจะมองในระยะยาวในการบริหารอย่างไรเป็นสำคัญ” แหล่งข่าวระบุ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 9 ก.ค.2566 มีสถานะติดลบ 52,270 ล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตลิ่งชัน ศาลนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 65/2566 ระหว่าง นายปริเยศ อังกูรกิตติ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์ พรรคไทยสร้างไทย เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายเสมอใจ สุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กับพวก ซึ่งเป็นผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวม 4 คน ศาลได้ตรวจคำฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องฉบับใหม่ของโจทก์ ฉบับลงวันที่16 มิ.ย.แล้ว เห็นว่า เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงครบถ้วน ให้มีหนังสือถึงสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ชี้แจงข้อเท็จจริงจำนวน 11 ข้อ อาทิ การจัดทําแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP2018 ) มีกระบวนการและขั้นตอนอย่างไร มีองค์กร หน่วยงาน หรือใครเป็นผู้เกี่ยวข้องในแต่ละขั้นตอน และมีมติที่ประชุมอย่างไรบ้างในแต่ละขั้นตอน, มีวิธีการคิดคำนวณค่าไฟฟ้าและค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) อย่างไร วิธีคิดคํานวณ ถูกต้องและสอดคล้องกับหลักวิชาและสากลหรือไม่อย่างไร อ้างอิงจากอะไร หน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบในการคิดคำนวณ และต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนหรือไม่
ทั้งนี้ ศาลมีคำสั่งให้จัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องมายังศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากโจทก์ประสงค์จะคัดค้าน ให้ยื่นคำร้องขอคัดค้านภายใน 15 วัน นับแต่วันที่หน่วยงานจัดส่งหนังสือมายังศาล หากไม่ยื่นถือว่าไม่ติดใจ ให้เลื่อนไปนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา ในวันที่ 12 ก.ย. เวลา 09.30 น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
รัฐบาลยันผู้ปลูกมันสำปะหลังไม่ถูกกดราคาแน่
รัฐบาลให้ความเชื่อมั่นผู้ปลูกมันสำปะหลัง เตือนพ่อค้ากดราคา โทษจำคุกสูงสุด 7 ปี จัดสายตรวจเฉพาะกิจ ลงพื้นที่ตรวจสอบการซื้อขายมันฯ ในแหล่งเพาะปลูกทั่วประเทศ รับฤดูเก็บเกี่ยวที่จะเริ่ม ธ.ค.นี้