สะพัด!สภาสูง90%งดออกเสียง

“วันนอร์” ชี้ให้ที่ประชุมเคาะแคนดิเดตนายกฯ ต้องโชว์วิสัยทัศน์หรือไม่ พร้อมจัดที่รองรับกลุ่มเชียร์ “พิธา” ให้อยู่ฝั่งตรงข้ามถนนทหาร ฝ่ายความมั่นคงประเมินมาแน่ 14 กลุ่มเจ้าเดิม ทั้งแก๊งสามกีบ-ก้าวหน้า พร้อมกำชับดูแลเข้มสถานที่สำคัญทั่วกรุงและศาลากลางทั่วประเทศ “ประเสริฐ” ยันไม่มีแผนสำรอง แต่รอดูผลวันที่ 13 ก.ค.ก่อน “อนุทิน” ย้ำชัดไม่ผสมพันธุ์พรรคแตะต้อง 112 แน่ ชี้ควรโหวตชื่อเดิมแค่ครั้งเดียว สะพัด! สภาสูง 90% งดออกเสียง เสร็จก้าวไกลอีกดอก แบ่งงานรองประธาน “ปดิพัทธ์” คุมเรื่องกฎหมายทุกชนิด

เมื่อวันจันทร์ที่ 10 กรกฎาคม 2566 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในวันพฤหัสบดีที่ 13 ก.ค.ว่า จะยึดรัฐธรรมนูญและข้อบังคับของการประชุมรัฐสภา และคงไม่ต้องซักซ้อม แต่เพื่อให้เวลาการประชุมกระชับขึ้น ในวันที่ 11 ก.ค.จะเชิญคณะกรรมการประสานงานวุฒิสภา (วิป ส.ว.) และตัวแทนพรรคการเมืองมาประชุมร่วมกันเพื่อสร้างความเข้าใจในระดับหนึ่ง

 “แคนดิเดตนายกฯ จะแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่นั้นในข้อบังคับไม่ได้กำหนดไว้ ไม่เหมือนการเลือกประธานสภาฯ ที่ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องแสดงวิสัยทัศน์ แต่หากสมาชิกในที่ประชุมเสนอขึ้นมาเป็นญัตติ ก็ต้องถามที่ประชุมว่าจะให้แสดงวิสัยทัศน์หรือไม่ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุม” นายวันมูหะมัดนอร์ระบุ

เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ระบุว่าได้เสียง ส.ว.ครบแล้ว ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่จะโหวตจบในครั้งเดียวได้หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ตอบว่า ไม่สามารถรับทราบกรณีความเห็นใดๆ เพราะประธานสภาฯ ต้องวางตัวเป็นกลาง ก็เป็นเรื่องของสมาชิก ส.ว.และเป็นเรื่องของพรรคการเมืองในสภาฯ

ถามถึงข้อเสนอของ ส.ว.ที่บอกว่า หากไม่สามารถโหวตนายกฯ ได้ในรอบแรกได้ก็ขอให้ปัดตกชื่อ ได้มีการคุยกับประธานวุฒิสภาแล้วหรือยัง นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่ายังไม่ได้คุย

ถามถึงมาตรการรักษาความปลอดภัย ในกรณีประชาชนจะมารอฟังการโหวตเลือกนายกฯ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ได้คุยกับผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบไปแล้วทั้งของสภาฯ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยได้วางแผนให้รอบคอบที่สุด ซึ่งเรายินดีและจะเปิดพื้นที่บางส่วนบริเวณตรงข้ามถนนทหาร ซึ่งเป็นสถานที่ของ กทม. เนื่องจากบริเวณหน้ารัฐสภามีการก่อสร้างอยู่เกรงว่าจะเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งสามารถบรรจุคนได้เกือบหมื่นคน โดย กทม. ก็ยินดีให้ใช้ และเราพร้อมบริการอำนวยความสะดวกในเรื่องของห้องน้ำ เต็นท์เนื่องจากเป็นหน้าฝน และคิดว่าหากอยู่ตรงนั้นอาจเพียงพอ ส่วนบริเวณอื่นๆ เจ้าหน้าที่จะจัดการเพื่อให้เกิดความปลอดภัย โดยอาจใช้ประกาศ ชุมนุมในที่สาธารณะเป็นหลัก ซึ่งเราจะพยายามไม่ให้มีความรู้สึกระหว่างประชาชนกับสภาฯ เป็นอย่างอื่น

 “เขาไม่ต้องกังวลว่าต้องรีบเข้ามาและออก เพราะจะเกิดความไม่ปลอดภัย เราห้ามไม่ได้ ฉะนั้นบรรยากาศที่ผมในฐานะประธานสภาฯ ต้องทราบ เพื่อไม่ให้สมาชิกเกิดความวิตกกังวล เพื่อให้สามารถประชุมและลงมติได้อย่างเต็มที่และอิสระ รวมถึงอำนวยความสะดวกให้สมาชิก ประชาชนที่มา ทั้งนี้คงต้องขอความร่วมมือเพราะเป็นการประชุมที่สำคัญ และรัฐสภาแห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญของบ้านเมือง แต่เราก็พยายามให้คนที่อยากจะมา ซึ่งหากท่านไม่มาก็ติดตามการถ่ายทอดสดได้ในหลายช่องทางอยู่แล้ว”นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว

ขณะที่นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ซึ่งได้รับผิดชอบเรื่องความปลอดภัย ระบุว่า ได้ประสานกับตำรวจไว้พร้อมแล้ว ซึ่งไม่ได้หนักใจอะไร ส่วนเรื่องการอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการกางเต็นท์ให้ผู้ชุมนุมนั้น จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 12 ก.ค. โดย กทม.จะเข้ามาดำเนินการ

คาด 14 กลุ่มชุมนุมเชียร์ทิม

แหล่งข่าวด้านความมั่นคงรายงานถึงการเตรียมความพร้อมรับมือโหวตเลือกนายกฯ ในวันที่ 13 ก.ค.ว่า พบความเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนที่คาดว่าจะรวมตัวเพื่อมาแสดงเจตจำนงบริเวณลานหน้ารัฐสภา เพื่อสนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ขึ้นเป็นนายกฯ โดยมีทั้งสิ้น 14 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มแฟนคลับพรรคก้าวไกล (ด้อมส้ม) 2.กลุ่มทะลุฟ้า 3.กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 4.กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย 5.กลุ่มเครือข่ายแรงงาน 6.คณะก้าวหน้า 7.กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย 8.กลุ่ม iLaw 9.กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก 10.กลุ่มทะลุวัง 11.กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ 12.กลุ่มการ์ด We Volunteer 13.กลุ่มเพื่อนกัญปฏิวัติ และ 14.กลุ่มล่องนภาประมาณ

ขณะที่ พล.ต.ต.โชคชัย งามวงศ์ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล ในฐานะกำกับดูแลงานฝ่ายความมั่นคง ได้สั่งให้กองบังคับการตำรวจนครบาล 1-9 (บก.น.1-9) กำหนดจุดเสี่ยง พื้นที่เฝ้าระวัง จุดระดมพล เพื่อเตรียมแผนรองรับกรณีเกิดความวุ่นวาย ทำลายสถานที่ราชการ สถานที่สำคัญ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทั้งพ่นสี ก่อกวน และก่อความวุ่นวาย เช่นที่ทำเนียบรัฐบาล, เขตพระราชฐาน, วัดพระแก้ว, กระทรวงกลาโหม, สนามหลวง, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, ลานคนเมือง, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, แยกดินแดน หน้า ร.1 รอ., รัฐสภา, สนามบินดอนเมือง, ศูนย์ราชการ, กกต., ศาลรัฐธรรมนูญ, หมอชิต, สถานีกลางบางซื่อ, ห้าแยกลาดพร้าว, หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง, ใต้สถานีบีทีเอสอุดมสุข, หน้าหอศิลป์ sky walk, เซ็นทรัลเวิลด์, แยกศาลาแดง, ศาลพระพรหม, ศาลาแดง, ธรรมศาลา และศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศ เป็นต้น ขณะที่ 3 เหล่าทัพได้เตรียมกำลังทหารไว้สนับสนุนอยู่ในที่ตั้ง โดยเบื้องต้นให้เป็นหน้าที่ของตำรวจ

สำหรับความเคลื่อนไหวของนักการเมืองและ ส.ว.ในเรื่องการโหวตนายกฯ นั้น นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการประชุม 8 พรรคในวันที่ 11 ก.ค.ว่า จะพูดคุยเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในการโหวตเลือกนายกฯ เป็นหลัก ซึ่ง 8 พรรคยังยืนยันชัดเจนและมีแนวทางเดียวกันคือ โหวตนายพิธาเป็นนายกฯ ซึ่งเสียงเป็นเอกภาพ และ 8 พรรคยืนยันว่าข้อตกลงเป็นไปตาม MOU ที่จะสนับสนุนนายพิธาอย่างเต็มที่

“เท่าที่สอบถามแกนนำพรรคก้าวไกล ยังยืนยันว่า สามารถรวบรวมเสียง ส.ว.ได้เพียงพอ ซึ่งเรื่องนี้เข้าใจพรรคก้าวไกลดีที่ไม่อยากเปิดเผยรายละเอียดเรื่องเสียงโหวตของ ส.ว.มากเท่าไหร่นัก เพราะการโหวตครั้งนี้มีความสำคัญมาก” นายประเสริฐกล่าว

ถามถึงกรณี 8 พรรคจะต้องมีการยืนยันเสียงว่าพอหรือไม่พอ เพื่อวางแผนสำรองหากขั้วรัฐบาลเดิมจะส่งชื่อชิงแคนดิเดตนายกฯ หรือไม่ นายประเสริฐกล่าวว่า อาจมีการนำเรื่องนี้เข้ามาพูดคุยในวันที่ 11 ก.ค. แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะได้รายละเอียดมากน้อยขนาดไหน เพราะพรรค ก.ก.ยืนยันว่าได้เสียงครบมาโดยตลอด หากนำเรื่องนี้ไปสอบถามบ่อยๆ ก็ดูไม่เหมาะสม ต้องให้เกียรติในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและยังเป็นพรรคหลักในการรวบรวมเสียงของ ส.ว. 

เมื่อถามว่า ในมุมของพรรค พท.หากนายพิธาได้คะแนนเสียงไม่เพียงพอในครั้งแรก จะต้องโหวตกันกี่ครั้ง นายประเสริฐกล่าวว่า เรื่องนี้นายวันมูหะมัดนอร์ต้องนำมาหารือกับแกนนำจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 8 พรรค หากครั้งแรกไม่ผ่านจะมีแนวทางอย่างไรในครั้งต่อไป ต้องพูดคุย ยังไม่อยากสรุปไปก่อนว่าจะออกมาทิศทางใด ซึ่งยืนยันพรรคยังไม่มองไปไกลและไม่มีแผนสำรอง เพราะวันนี้จะต้องให้เกียรติพรรค ก.ก.ก่อน พรรคเพื่อไทยยังไม่สมควรพูดเรื่องนี้ ให้ดูกันวันที่ 13 ก.ค.ก่อนค่อยมาพูดคุยกันอีกครั้ง

เสี่ยหนูย้ำชัดไม่เอาพรรคแก้ 112

เมื่อถามว่า ประเด็นและเงื่อนไขหลักที่ ส.ว.จะไม่ยกมือให้นายพิธาคือเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 แล้วจุดยืนของพรรค พท.เป็นอย่างไร นายประเสริฐกล่าวว่า วันที่พรรค พท.และ ก.ก.แถลงข่าวในวันที่ 2 ก.ค. เราได้พูดคุยเรื่องข้อตกลง MOU กันแล้วว่า พรรค พท.ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข และขอสงวนความเห็นหากจะหยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณา ดังนั้นจุดยืนของพรรคเพื่อไทยชัดเจนอยู่แล้ว

ที่ทำเนียบฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย  (ภท.) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมของ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยในวันที่ 11 ก.ค.นี้ว่า ถือเป็นการประชุมครั้งแรกหลังมีพิธีเปิดประชุมรัฐสภา และการโหวตจะเป็นประเด็นหนึ่งที่จะนำมาหารือในที่ประชุมด้วย จะเป็นการรับฟังความเห็นของ ส.ส.พรรคทุกคน และหารือถึงสถานการณ์การเมืองเรื่องต่างๆว่าจะมีทิศทางอย่างไรในการลงมติ

 “พรรคได้มีแถลงการณ์ในนามพรรคภูมิใจไทยชัดเจนแล้ว โดยที่ไม่ได้ระบุชื่อบุคคลใด เพราะทุกคนที่เป็น ส.ส.ประชาชนเลือกเข้ามา จึงต้องดูเรื่องประสบการณ์และแนวทางของพรรคการเมือง ว่าหากเป็นแบบนี้แบบนั้นแล้วเราจะไปด้วยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด เราก็ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ซึ่งจุดยืนตามแถลงการณ์คือ ไม่เอาการแก้ไขมาตรา 112 และไม่เอารัฐบาลเสียงข้างน้อย ก็ชัดเจนในตัวเอง พรรคภูมิใจไทยพูดแล้วทํา” นายอนุทินกล่าว

เมื่อถามว่า ถ้าหากพรรค พท.ได้จัดตั้งรัฐบาล และแคนดิเดตนายกฯ เป็นของพรรค พท. พรรคภูมิใจไทยจะรับได้หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ต้องดูว่าพรรค พท.จะร่วมกับใคร พรรค ภท.ไม่ได้บอกว่าจะรับหรือไม่รับตัวบุคคล เราพูดถึงแนวทางและนโยบายของพรรคการเมือง ว่าพรรคไหนร่วมงานกันได้ หรือพรรคไหนที่เรามีความลำบากใจในการทํางานร่วมกัน รอให้ถึงวันนั้นก่อน

ถามว่า คิดว่าการโหวตเลือกนายกฯ ควรมีกี่ครั้งจึงเหมาะสม และทำให้การเมืองเดินหน้าต่อไปได้ นายอนุทินกล่าวว่า ควรโหวตครั้งเดียว และเมื่อได้ผู้นำรัฐบาลตามหลักประชาธิปไตย ถ้าใครได้รับเสียงข้างมากตามรัฐธรรมนูญคือ 376 เสียง เราก็ต้องยอมรับ และหากตรงนั้นไม่มีพรรค ภท.อยู่ เราก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน เราเคารพกติกาทุกอย่าง

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า "ได้แจ้งเลขาธิการพรรคให้เสนอที่ประชุมพรรคในวันที่ 11 ก.ค.ให้พิจารณามีมติ 1.ไม่เสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเราทั้ง 2 คน เพราะไม่เห็นด้วยกับแนวทางรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่จะทำให้เกิดผลเสียต่อบ้านเมือง และ 2.เราไม่โหวตให้แคนดิเดตนายกฯ ที่มีนโยบายหรือแนวทางการทำงานที่ขัดรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 การแบ่งแยกการปกครอง การล้มล้างสถาบันครอบครัว ระบบการศึกษา วัฒนธรรมประเพณีที่ดี และสถาบันหลักทั้งสามของชาติ"

สภาสูง 90% งดออกเสียง

นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค ชทพ.ได้เชิญประชุมกรรมการบริหารพรรคในวันที่ 11 ก.ค.นี้ เวลา 13.00 น.ซึ่งอาจมีการพูดคุยเรื่องการโหวตนายกฯ แต่ยังตัดสินใจไม่ได้ ต้องไปดูกันหน้างานเช้าวันโหวตเพราะทุกอย่างยังไม่นิ่ง

ส่วนนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวว่า วันที่ 13 ก.ค.ที่มีการนัดให้กำลังใจนายพิธาหน้ารัฐสภา สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะที่ไม่รับผิดชอบ ซึ่ง ส.ว.ไม่กังวล เพราะทำถูกต้องตามกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ หากเราหวาดหวั่นต่อสิ่งผิด แสดงว่าเราเป็นคนใช้ไม่ได้ ไม่รับผิดชอบที่กลัวม็อบกลัวแรงกดดัน ทำให้ทำลายหลักการสำคัญของของบ้านเมือง ซึ่งเชื่อว่าคนทั้งประเทศไม่ต้องการให้เป็นคนแบบนั้น โดยกลุ่มเราชัดเจนว่าจะไม่เลือกคนและพรรคที่ทำเรื่องซึ่งกระทบสถาบัน และกระทบมาตรา 112 เช็กเสียงตอนนี้ยังโหวตไม่ถึง 5 คน หรืออาจบวกลบนิดหน่อย ส่วนตัวเชื่อว่าเป็นแบบนั้น

รายงานข่าวความเคลื่อนไหวของ ส.ว.ในการโหวตนายกฯ วันที่ 13 ก.ค. พบว่าส่วนใหญ่ 90% จะลงมติงดออกเสียง มีเพียง 5-10 คนที่ยืนยันโหวตนายพิธา ขณะเดียวกันจะมี ส.ว.ไม่กี่คนที่ลงมติไม่สนับสนุนนายพิธาเช่นกัน ส่วนการโหวตนายกฯ รอบสองในวันที่ 19 ก.ค.นั้น ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรีเป็นประธาน กมธ.มีความเห็นว่าตามข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อ 41 ระบุว่าญัตติใดที่เสนอที่ประชุมรัฐสภา หากไม่ได้รับความเห็นชอบถือว่าตกไป และห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต เมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น กมธ.จึงมองว่ากรณีที่รอบแรกนายพิธาไม่ได้รับเลือกจากรัฐสภา จะไม่สามารถเสนอชื่อได้อีกในการโหวตครั้งที่ 2 แต่หากนายวันมูหะมัดนอร์ยังยืนยันให้เสนอชื่อนายพิธาได้ ต้องรับผิดชอบหากมีกรณีมีผู้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41     

รายงานข่าวระบุอีกว่า วันที่ 19 ก.ค.ซึ่งนัดโหวตนายกฯ รอบสองนั้น ขอให้จับตาว่าอาจมีผู้เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคการเมืองอื่นแข่งขันกับนายพิธาด้วย

‘ปดิพัทธ์’ กวาดคุมกฎหมาย

วันเดียวกัน มีการประชุมแบ่งงานระหว่างประธานสภาฯ และรองประธานทั้ง 2 คน โดยนายวันมูหะมัดนอร์ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า จะเพิ่มวันประชุมจากเดิมสัปดาห์ละ 2 วัน คือวันพุธและพฤหัสบดี เป็น 3 วัน อาจเพิ่มวันอังคารหรือวันศุกร์เพื่อเป็นการประชุมสภาฯ ส่วนอีก 2 วันจะเป็นงานของ กมธ.

 ขณะที่นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ได้รับมอบหมายให้ดูด้านการพิจารณากฎหมายทั้งหมด และระเบียบวาระการประชุม รวมทั้งงานด้านการต่างประเทศ งานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการประชาสัมพันธ์

เมื่อถามว่า การได้รับมอบหมายให้ดูด้านกฎหมายจะทำให้การผลักดันกฎหมายที่พรรค ก.ก.เสนอสะดวกขึ้นหรือไม่ นายปดิพัทธ์กล่าวว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตามระเบียบ ไม่ใช่ต้องมาทำให้พรรคไหนสะดวกขึ้น และถ้าเวลาการพิจารณากฎหมายมีมากเพียงพอก็ไม่เสียเวลา ซึ่งคราวที่แล้วสภาเสียเวลาไปกับการพิจารณาหลายเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ตนจะมาตัดตอนให้มันดี ในส่วนที่เกี่ยวกับระบบและการเสนอกฎหมายของสมาชิก ไม่ใช่จะมาอำนวยความสะดวกให้เฉพาะพรรค ก.ก.เท่านั้น

เมื่อถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แสดงว่าพรรค ก.ก.จะได้รับความเป็นธรรมมากขึ้นหรือไม่ เพราะบางเรื่องน่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ได้ นายปดิพัทธ์กล่าวว่า ใช่ บางเรื่องก็นำไปวินิจฉัยในสภาฯ ไม่ต้องมาอยู่ที่ประธานสภาฯ อย่างเดียว

นายพิเชษฐ์กล่าวว่า ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องการกลั่นกรองกระทู้ถามและญัตติ เรื่องที่ประธานสภาฯ แจ้งต่อที่ประชุม การรับรองรายงานการประชุม และเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด รวมทั้งการพิจารณาการลาการประชุมของสมาชิก การพิจารณาส่งข้อหารือของสมาชิกให้รัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องรับทราบ นอกจากนี้ยังได้ดูเรื่องกำกับงานบริหารของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ เกี่ยวกับงานด้านงบประมาณ ด้านวิชาการ ด้านกฎหมาย ด้านกรรมาธิการ และด้านความปลอดภัย

วันเดียวกัน ในช่วงค่ำที่ถนนลำลูกกา 1 จ.ปทุมธานี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ กล่าวถึงการเลือกลงพื้นที่จังหวัดปทุมธานีว่า เพราะเป็นพื้นที่ที่ยังไม่เคยลงมาขอบคุณประชาชน หลังพรรคก้าวไกลชนะ 6 เขต และพรรคเพื่อไทยได้ที่นั่งไป 1 เขต ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลฝั่งประชาธิปไตย วันนี้จึงถือโอกาสมาขอบคุณ ขณะที่เหลือเวลาอีกแค่ 3 วันจะถึงวันโหวตนายกรัฐมนตรี มีหลายเรื่องที่ต้องบริหารจัดการ ซึ่งก็ไม่ได้เกินความคาดหมาย ก็ทำไปแต่ละเรื่อง

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่กรณีที่ ส.ว.อาจจะเสนอให้เลื่อนโหวตนายกฯ ออกไปก่อน นายพิธาบอกว่า เห็นจากข่าวแต่ยังไม่ได้อ่านรายละเอียด แต่คิดว่าเป็นหน้าที่ของประธานสภาฯ ที่จะวินิจฉัย จะบริหารจัดการอย่างไร ในวันที่ 11 ก.ค. วิปสามฝ่ายก็จะประชุมหารือกันเกี่ยวกับขั้นตอนในการโหวตนายกฯ แต่จะราบรื่นหรือไม่ในวันโหวต ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถเท่าที่วิปจะทำได้ ในวันที่ 13 ที่จะโหวตนายกฯ นั้น ไม่ใช่เรื่องของโชคชะตาฟ้าดิน แต่เป็นเรื่องสำคัญของประชาชน เพราะการมีผู้นำประเทศในช่วงที่ปัญหากำลังถาโถมเข้ามาให้เร็วคือสิ่งสำคัญ แต่แน่นอนว่าเราก็ต้องสู้กับฟ้ากับฝนมากกว่าพึ่งฟ้าพึ่งฝน

 นายพิธากล่าวว่า การที่ลงพื้นที่ถี่และแน่นเพราะได้เสียง ส.ว.ไม่ครบไม่เป็นความจริง เพราะมีทั้งสื่อมวลชนและนักวิชาการบอกว่าอิงหลังประชาชน ให้ประชาชนมาปกป้อง แต่ในทางกลับกันตนก็มีหน้าที่ที่จะมาขอบคุณประชาชน และปกป้องเสียงกว่า 25 ล้านเสียงที่ให้พรรคร่วมรัฐบาลเสียงข้างมากทั้ง 8 พรรคการเมือง

 นายพิธาเชื่อว่า การนัดชุมนุมของกลุ่มสนับสนุนพรรคก้าวไกลวันที่ 13 นี้จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีเรื่องที่ต้องกังวล เชื่อมั่นในการบริหารของประธานสภาฯ จะทำให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยความราบรื่น

 ภายหลังการให้สัมภาษณ์ นายพิธาได้พบปะกับแฟนคลับที่มารอ ก่อนขึ้นรถแห่ขอบคุณทุกคะแนนเสียงของชาวจังหวัดปทุมธานี เริ่มต้นจากถนนลำลูกกาข้างสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ ไปตามเส้นทางผ่านหน้าสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสคูคต บิ๊กซีคลองสี่ ก่อนสิ้นสุดที่ตลาดกลางลาดสวาย

ขณะที่นายสนธิญา สวัสดี ได้เข้ายื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด เพื่อร้องสอบข้อเท็จจริงกรณีการลงคะแนนเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานทั้ง 2 ท่าน เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุด เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้กระบวนการเลือกดังกล่าวเป็นโมฆะและยุติการปฏิบัติหน้าที่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ล่า ‘หมอบุญ’ เมียแค้นเอาคืน

ออกหมายจับ "หมอบุญ" พร้อมพวก 9 คน ร่วมหลอกลวงประชาชนร่วมลงทุนธุรกิจ รพ.ขนาดใหญ่หลายโครงการ เสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท