โพลหนุน‘วันนอร์’นั่งปธ. ผลประโยชน์ทำตั้งรบ.ยื้อ

นิด้าโพลเผยคนส่วนใหญ่ค่อนข้างพอใจได้ “วันนอร์” นั่งประธานสภา 39% มั่นใจ 8 พรรคจะดันก้น “พิธา”  นั่งนายกฯ ส่วนสวนดุสิตโพลเผย 72% อยากเห็นรัฐบาลใหม่โดยเร็ว, 68% มองมุ่งประโยชน์ส่วนตัวมากจนทำให้การจัดตั้งรัฐนาวาอืด

เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เผยผลสำรวจประชาชนเรื่อง ความจริงใจในการร่วมจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค ซึ่งสำรวจประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค  1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความจริงใจในการร่วมจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค โดยเมื่อถามถึงความพึงพอใจของประชาชนต่อการที่สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาฯ  พบว่า 45.50% ค่อนข้างพอใจ, 37.40% พอใจมาก, 9.54% ไม่ค่อยพอใจ, 6.34% ไม่พอใจเลย และ 1.22% ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับพรรคการเมืองที่จะได้รับประโยชน์จากการที่สภาเลือกนายวันมูหะมัดนอร์เป็นประธานสภาฯ พบว่า 58.93% ระบุว่าทั้งสองพรรคได้ประโยชน์พอๆ กัน, 23.13% พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ประโยชน์มากกว่า, 7.94% พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้ประโยชน์มากกว่า, 6.95% ทั้งสองพรรคไม่มีใครได้ประโยชน์เลย และ 3.05% ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับความเชื่อของประชาชนต่อ 8 พรรคที่กำลังร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลว่าจะร่วมมือกันอย่างจริงใจ พบว่า 38.40%ค่อนข้างเชื่อ, 29.54% ไม่ค่อยเชื่อ,  16.87% เชื่อมาก, 14.43% ไม่เชื่อเลย และ 0.76% ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ 

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชนต่อ 8 พรรคที่กำลังร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ว่าจะผลักดันให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเป็นนายกฯ   พบว่า 38.62% ค่อนข้างเชื่อ, 26.18% เชื่อมาก, 23.59% ไม่ค่อยเชื่อ, 10.69% ไม่เชื่อเลย และ 0.92% ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ขณะที่สวนดุสิตโพล ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศทางออนไลน์ กรณีคนไทยกับการเมืองไทยหลังจากได้ประธานสภาฯ จำนวน 1,078 คน โดยเมื่อถามว่าประชาชนมีความเห็นอย่างไรกับการเมืองไทยในช่วงนี้ 71.65% อยากเห็นนายกฯ คนใหม่และรัฐบาลใหม่โดยเร็ว,  69.05% เบื่อความขัดแย้ง เลือกตั้งนานแล้วแต่ยังไม่ได้รัฐบาลใหม่ และ 51.49% การเมืองเป็นเรื่องผลประโยชน์ แก่งแย่งกันไปมา                                  

เมื่อถามว่า ประชาชนคิดว่าปัญหาและอุปสรรคของรัฐบาลใหม่คืออะไร พบว่า 68.32% การจัดสรรตำแหน่งไม่ลงตัว มุ่งประโยชน์ส่วนตัวมากเกินไป, 67.01% มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ซับซ้อน ต้องใช้เวลา และ 65.70% ความคิดเห็นระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลและสมาชิกภายในพรรคไม่ตรงกัน และเมื่อถามว่าประชาชนคิดว่าควรทำอย่างไรการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จึงจะราบรื่น พบว่า 78.52% คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าของพรรคการเมือง, 69.47% เคารพเสียงของประชาชน คำนึงถึงหลักประชาธิปไตย และ 47.90% ควรทำตามกติกามารยาทที่พึงปฏิบัติ              

สอบถามว่า ประชาชนคิดว่าการเลือกนายกฯ จะเป็นไปด้วยความราบรื่นหรือไม่   พบว่า 56.12% ไม่น่าจะราบรื่น และ 43.88% น่าจะราบรื่น และเมื่อถามว่าประชาชนอยากให้รัฐบาลใหม่เร่งแก้ไขปัญหาใดบ้าง 77.35% ปัญหาปากท้อง ค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพ, 72.04% ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ และ 57.50% ความเหลื่อมล้ำของประชาชน               

 “สุดท้ายเมื่อถามความในใจของประชาชนที่อยากบอกรัฐบาลใหม่ พบว่า 43.05% ขอให้ตั้งใจทำงาน ร่วมมือกันพัฒนาประเทศ สร้างผลงานให้เป็นรูปธรรม, 39.66% พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น และ 30.45% บริหารบ้านเมืองด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ซื่อสัตย์ สุจริต”               

น.ส.พรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล ระบุว่า ผลโพลชี้ให้เห็นว่าช่วงนี้ประชาชนติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิด แม้เบื่อหน่ายกับระบบที่กว่าจะได้มาซึ่งนายกฯ และรัฐบาลใหม่ แต่ก็ยังเฝ้ารอและจับตามองว่าแต่ละพรรคการเมืองจะเคลื่อนไหวส่งสัญญาณอย่างไรต่อไป และมองว่าจากการเลือกประธานสภาฯ ยังคงเป็นการเมืองแบบเก่าที่เน้นเล่นเกมการเมือง

 รศ.ดร.ธนภัทร ปัจฉิมม์ คณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง  มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า ผลโพลชี้ให้เห็นทิศทางและแนวโน้มทางการเมืองว่าด้วยเรื่องการยื้อแย่งอำนาจและความพยายามในการเจรจาต่อรอง ในขณะที่ภาคประชาชนนั้นต้องการให้รัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพ สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ควรตระหนักและคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตนและพรรคการเมืองของตนเอง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธปท.จับตาแจกเงินเฟส2-3

“คลัง” ฟุ้งเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย.โตต่อเนื่อง อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุนเต็มพิกัด