ไหมโวเสียงส.ว.ครบ มั่นใจโหวตพิธารอบเดียวจบ/เศรษฐาเชื่อมีพลังเงียบหนุน

"ในหลวง" มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานและรองประธานสภาฯ "วันนอร์" ส่งหนังสือนัดประชุมร่วมรัฐสภาครั้งที่ 1 โหวตเลือกนายกฯ 13 ก.ค.นี้ ยันหากยังไม่ได้ 19 ก.ค.โหวตอีกรอบ "ชัยธวัช" เมิน ส.ว.บอกไม่เอา "พิธา" บอกแค่ความเห็นบางราย ฟุ้งสิ่งที่เป็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เห็น ปัดลดเพดาน ม.112 เล็งชง "ปธ.สภาฯ" เปิดช่อง "ส.ส.-ส.ว." ซักคุณสมบัติแคนดิเดตนายกฯ ก่อนโหวต "ประเสริฐ" ยันดีล ส.ว.โหวตนายกฯ หน้าที่ "ก.ก." เพื่อไทยแค่สนับสนุน ลั่นไม่มีแผนสำรองหาก "พิธา" ไม่ผ่านครั้งแรก "ภูมิธรรม" แนะ 8 พรรคร่วมควรนัดคุยกันก่อนวันโหวต "บิ๊กตู่" ขออย่าลากตนไปขัดแย้ง "ราเมศ" ชี้ ปชป.โหวตตามมติพรรค

เมื่อวันที่ 7 ก.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่า  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเมื่อวันที่  4 กรกฎาคม   พ.ศ.2566 เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้ 1.นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร 2.นายปดิพัทธ์ สันติภาดา เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง 3.นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง 

จึงแต่งตั้งให้ผู้มีนามดังกล่าวเป็นประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามความในมาตรา 116 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 5 กรกฎาคม พุทธศักราช 2566 เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

จากนั้นเวลา 10.00 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา พร้อมด้วยนายปดิพัทธ์และนายพิเชษฐ์เข้าพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ห้องประชุม 604 ชั้น 6  อาคารรัฐสภา เกียกกาย

โดยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้อำนวยการกองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เป็นผู้เชิญพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานและรองประธาน ตามลำดับ ซึ่งมีข้าราชการประจำสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และผู้แทนจากพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชาติ  แต่งเครื่องแบบข้าราชการชุดขาวเต็มยศ เข้าร่วมพิธีอย่างสมเกียรติ จากนั้นทั้งหมดได้ถ่ายภาพเพื่อเป็นที่ระลึกหน้าพระบรมฉายาลักษณ์

นายวันมูหะมัดนอร์พร้อมด้วยนายปดิพัทธ์และนายพิเชษฐ์ แถลงภายหลังเข้าร่วมพิธีฯ โดยนายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พวกเราทั้ง 3 คน ดำรงตำแหน่งประธานผู้แทนราษฎรและรองประธานผู้แทนราษฎร ซึ่งพวกเราจะขอน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานให้กับสมาชิกรัฐสภาเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ในพิธีเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 26 ที่ผ่านมา เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติต่อไป

ถามถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี   นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า เรื่องนี้เราต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2560 และข้อบังคับของการประชุมรัฐสภาปี 2563 ส่วนกรอบเวลาของการประชุม ตลอดจนเรื่องจะโหวตอย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่เราต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ตนคิดว่าถ้าเราพูดก่อนล่วงหน้าอาจจะไม่ตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 13 ก.ค. และหวังว่าจะดำเนินการด้วยความเรียบร้อย แต่หากไม่เสร็จสิ้นในวันที่ 13 ก.ค. เราก็ได้หารือกับประธานวุฒิสภาแล้วว่าเราอาจจะต้องมาประชุมกันในวันที่ 19 ก.ค. เพราะดูแล้วว่าน่าจะเป็นวันที่เหมาะสมที่สุด เว้นไป 1 สัปดาห์ เพื่อให้เลขาธิการสภาฯ ได้ทำหนังสือเชิญมาประชุมอีกครั้งในเวลาเช่นเดิม

แจ้งนัดโหวตนายกฯ 13 ก.ค.

"การประชุมในวันที่ 19 ก.ค. จะเสร็จสิ้นเรียบร้อยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับที่ประชุม  หน้าที่ของรัฐสภามีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อไปบริหารประเทศต่อไป โดยเราต้องทำหน้าที่นี้เพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรี ไม่เช่นนั้นประเทศจะไม่มีนายกรัฐมนตรี เพราะปัญหาที่ประชาชนและปัญหาของประเทศชาติกำลังรอคอยรัฐบาลใหม่อยู่มากข้างหน้า ดังนั้นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติคือต้องสนับสนุนให้การบริหารประเทศต่อไปได้ในเวลาที่เหมาะสม" นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว

ประธานสภาฯ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นประธานรัฐสภา ต้องขอความสนับสนุนความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ เพราะต้องการความสมัครสมานสามัคคีจากทุกฝ่าย เพราะเรามาทำงานตรงนี้เพื่อประเทศชาติกันทุกคนรวมทั้งประชาชนด้วย ขอให้ท่านสนับสนุนให้มีนายกฯ คือผู้นำของประเทศอย่างเรียบร้อยในเวลาที่ท่านรอคอยและจะทำให้ดีที่สุด ซึ่งผมคิดว่าต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ทั้งสภา พรรคการเมือง และประชาชน เพื่องานที่เราจะมีในวันที่ 13 ก.ค. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ส่วนนายปดิพัทธ์กล่าวถึงความห่วงใยเกี่ยวกับเรื่องการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นบริเวณรัฐสภาว่า ในเรื่องนี้ไม่มีความกังวลใดๆ ในวันที่ 10 ก.ค. ประธานสภาฯ จะมีการแบ่งงานให้กับรองประธานทั้ง 2 คน ในส่วนของการชุมนุม การรักษาความปลอดภัยกับการให้บริการประชาชนในพื้นที่สภา ซึ่งประชาชนมีสิทธิชุมนุมแน่นอนตามรัฐธรรมนูญ ถ้าอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่และ พ.ร.บ.การชุมนุม

มีรายงานว่า นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการรัฐสภา ได้ออกหนังสือด่วนมาก ที่ สผ 0014/ร1 ถึง ส.ส.และ ส.ว. เรื่องการประชุมร่วมรัฐสภา ระบุว่า เนื่องด้วยประธานรัฐสภา ได้มีคำสั่งให้นัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ในวันที่ 13 ก.ค.2566 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน แขวงนครไชยศรี เขตดุสิต กทม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ขณะที่นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงกรณี ส.ว.เริ่มชัดเจนไม่สนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะเงื่อนไขการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า ยังเป็นแค่ความเห็นของ ส.ว.เพียงบางราย ส.ว.ส่วนใหญ่ยังไม่ได้แสดงออกอะไร คิดว่าจะแสดงออกทีเดียวในวันโหวตนายกฯ 13 ก.ค.นี้

"อย่าเพิ่งประเมินสถานการณ์จากที่เห็น สิ่งที่เป็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เห็นก็ได้ ยังมั่นใจว่าจะผ่านไปได้ด้วยดี และมั่นใจในวิจารณาญาณของ ส.ว.ว่าอยากจะเห็นประเทศชาติเดินหน้าอย่างไร ผมยังเชื่อมั่นใน ส.ว.จำนวนมากว่าจะให้โอกาสนี้กับประเทศไทย" นายชัยธวัชกล่าว

ถามว่า แสดงว่าอีกกว่า 60 เสียงที่เหลือจะมาจาก ส.ว.ทั้งหมด หรือจะมีการเจรจากับฝ่าย ส.ส.ด้วย เลขาธิการพรรค ก.ก.กล่าวว่า ทาง ส.ส. โดยเฉพาะพรรคที่เราไม่ได้ชวนมาร่วมรัฐบาล ก็คงเป็นสิทธิของแต่ละคน แต่เชื่อว่าจะมี ส.ส.หลายๆ คนใช้จุดยืนตัวเอง หรือใช้สถานะความเป็น ส.ส.ปกป้องรักษาระบบไว้ให้ได้ในสถานการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ

ซักว่า จะมีการถอยบางเรื่องเพื่อให้ส.ว.เห็นใจมาสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ หรือไม่ เลขธิการพรรค ก.ก.กล่าวว่า คงเป็นการเน้นพูดคุยทำความเข้าใจมากกว่า ส.ว.ส่วนใหญ่อาจรับรู้ข้อมูลจากสื่อมวลชน ซึ่งบางครั้งอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

ก.ก.ยันไม่ลดเพดาน ม.112

เมื่อถามว่า แสดงว่าจะไม่ลดเพดานมาตรา 112 ตามที่ ส.ว.ให้คำแนะนำมาใช่หรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าลดเพดานหมายถึงอะไร ที่ผ่านมาเราพยายามอธิบายว่าเจตนารมณ์ของเราเป็นอย่างไร เรามองเห็นปัญหาอย่างไร เราคิดว่าแนวทางแบบนี้ดีต่อระบอบประชาธิปไตยและสถาบันพระมหากษัตริย์มากกว่า

ย้ำว่า ยังยืนยันที่จะแก้ไขมาตรา 112 แม้จะมีคำทักท้วงจาก ส.ว. นายชัยธวัช กล่าวว่า ยังมั่นใจว่าถ้าได้อธิบายเหตุผลจะมีความเข้าใจมากขึ้น เราต้องอธิบายเหตุผลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในเวลาที่เหลือ เวทีสำหรับสื่อมวลชนในสัปดาห์หน้าจะมีความสำคัญกับประชาชน และสังคมในการสะท้อนไปยัง ส.ว. ซึ่งจะมีการหารือกับนายวันมูหะมัดนอร์เกี่ยวกับกระบวนการแสดงวิสัยทัศน์ของแคนดิเดตนายกฯ ที่ถูกเสนอก่อนโหวต จะมีเวลาแสดงวิสัยทัศน์อย่างไร เป็นไปได้หรือไม่นอกจากการแสดงวิสัยทัศน์แล้ว จะมีการเปิดให้ ส.ส., ส.ว. อภิปรายซักถามแคนดิเดตนายกฯ ที่ถูกเสนอชื่ออย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนที่สุดก่อนลงมติ แต่คงรอต้องหารือกับประธานสภาฯ ก่อนว่าจะได้ข้อสรุปอย่างไร

เมื่อถามว่า หากพรรค ก.ก.ยอมถอยเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ส.ว.น่าจะมีข้ออ้างอื่นที่จะไม่สนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ หรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า แน่นอน คนไม่เลือกก็ไม่เลือกอยู่แล้ว ถามย้ำว่า ส.ว.มีธงในการโหวตอยู่แล้วใช่หรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า มี ส.ว.บางคนเท่านั้นที่มีธงอยู่แล้ว

ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวในประเด็นนี้ ว่า เราจำเป็นต้องหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ให้ได้มากเกินกว่าที่จำเป็นในกรณีที่ ส.ว.อาจมีการเปลี่ยนใจ ซึ่งถือเป็นเรื่องได้เตรียมพร้อมไว้แล้ว ส่วนกระแสข่าวว่า ส.ว.จะสนับสนุนไม่ถึง 10 คนนั้น ยืนยันว่าในฐานะข้อมูลของพรรคไม่ได้เป็นไปแบบนั้น และยังคงมั่นใจว่าในวันที่ 13 ก.ค.นี้ จะได้เสียง ส.ว.ยกมือสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ ครบถ้วนในครั้งแรก

เมื่อถามว่า หากการโหวตนายกฯ  ครั้งแรกไม่ผ่านจะทำอย่างไร น.ส.ศิริกัญญาระบุว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะทำอย่างไร เมื่อถามว่าเสียง ส.ว.ต้องได้มากกว่า 64เสียงนั้น คิดว่าตอนนี้ครบหรือยัง น.ส.ศิริกัญญาย้ำว่า ขณะนี้เสียงได้ครบแล้ว แต่ยังคงต้องทำงานต่อเนื่อง เผื่อมีกรณีที่บางท่านอาจเปลี่ยนใจจะได้มีสำรองเอาไว้ เพราะเราไม่มีทางทราบได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหน้างาน

ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีมี ส.ว.บางส่วนเรียกร้องให้พรรค ก.ก.ลดเงื่อนไขมาตรา 112 เพื่อผลักดันนายพิธาเป็นนายกฯ ว่า เป็นเรื่องที่ทางพรรค ก.ก.ซึ่งเป็นพรรคหลักต้องพิจารณาเรื่องนี้ ส่วนในนามพรรคร่วม 8 พรรค เคยมีการพูดคุยเรื่องนี้กันมาก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้นเรื่องนี้จึงมีความชัดเจนระหว่าง 8 พรรคร่วม ส่วนกรณีนายกฯ เป็นเรื่องที่พรรคก้าวไกลต้องไปปรับกลยุทธ์เพื่อประโยชน์ในการเลือกนายกฯ

"หากฟังจากแกนนำพรรค ก.ก.จะเห็นชัดเจนว่าเขามั่นใจว่าจะผ่าน พรรค ก.ก.ให้ความมั่นใจมาโดยตลอดว่า ส.ว.จะสนับสนุน ก็ขอให้ดูการโหวตก่อน" นายประเสริฐกล่าว

ถามว่า พรรค พท.ได้เดินสายขอความร่วมมือกับ ส.ว.ด้วยหรือไม่ เลขาธิการพรรค พท.กล่าวว่า พรรคช่วยเป็นบางส่วน แต่ตัวหลักเป็นของพรรค ก.ก.เอง ฉะนั้นแกนนำทั้ง 8 พรรค หากใครรู้จัก ส.ว.ท่านใด ก็พยายามทำความเข้าใจอยู่ แต่ส่วนใหญ่คือพรรค ก.ก.ต้องเดินเป็นหลัก

ซักว่า พท.ขยับช่วยในเรื่องนี้เยอะหรือไม่ เลขาธิการพรรค พท.กล่าวว่า ก็เยอะอยู่ ในช่วง 2-3 วันนี้ต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพราะเหลือเวลาไม่ถึงสัปดาห์ก็จะเลือกนายกฯ แล้ว ซึ่งพรรคไม่มีอะไรแนะนำ เพราะพรรค ก.ก.มีความสามารถอยู่แล้ว แต่อยากแนะนำให้ทุกฝ่ายสร้างบรรยากาศในการเลือกนายกฯ ไม่ว่าจะฝั่ง ส.ส.หรือ ส.ว. หรือแม้แต่ประชาชน ขอให้คำนึงถึงผลประโยชน์ที่ประเทศชาติและประชาชนจะได้รับเป็นหลักในการพิจารณา

เพื่อไทยย้ำไม่มีแผนสำรอง

ถามถึง 8 พรรคร่วมมีแผนสำรองหรือไม่ หากการโหวตรอบแรกนายพิธาไม่ได้รับเลือก หรือกรณีที่มีการเสนอชื่อแข่งแล้วทาง ส.ว.ไปสนับสนุน นายประเสริฐ กล่าวว่า เราไม่มีแผนสำรอง หากในรอบแรกไม่ผ่าน คงต้องมีการกลับมาคุยกันอีกครั้ง ส่วนการเสนอคนแข่งนั้น ฟังจากการให้สัมภาษณ์ของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) จะเห็นชัดเจนว่าไม่สนับสนุนรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งเรื่องนี้ก็เบาใจได้ระดับหนึ่ง แต่การเมืองก็เกิดอะไรขึ้นได้ จึงเป็นเรื่องที่แกนนำทั้ง 8 พรรคร่วมต้องประเมินสถานการณ์ให้ดี

"เรื่องกระแสงูเห่าผมยังไม่ทราบ แต่ขอยืนยันว่าในส่วนของพรรค พท.ไม่มี เพราะเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าในอดีตที่ผ่านมาใครเป็นงูเห่า เลือกตั้งแต่ละครั้งสอบตกหมด จึงเชื่อว่างูเห่าจะไม่กล้า หากใครทำเท่ากับฆ่าตัวเอง" นายประเสริฐกล่าว

ซักว่า หากโหวตเลือกนายกฯ 2-3 ครั้งแล้วนายพิธายังไม่ผ่าน จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หรือจะสนับสนุนนายพิธาไปเรื่อยๆ เลขาธิการพรรค พท.กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ 8 พรรคต้องกลับมาคุยกันเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ ตนคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็น ไหนๆ ก็เดินทางมาด้วยกันแล้ว ไม่ว่าจะโหวตกี่ครั้งก็ต้องกลับมาคุยกันก่อน

ส่วนนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค พท. ยืนยันถึงการโหวตนายกฯ ว่า เราได้เตรียมความพร้อมมาตั้งแต่ต้นว่าเรามีทิศทางอย่างไร สิ่งที่ออกมาตั้งแต่การโหวตเลือกประธานสภา ก็ทำให้เรารู้ว่ามีแนวทางอย่างไร ชัดเจนเป็นไปตามความมุ่งหวังของเรา  ซึ่งเรามีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนว่า 8 พรรคจะทำรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยให้สำเร็จ เสียงของพรรค พท.ทั้งหมดจะไปตามทิศทางที่คุยกันไว้ตั้งแต่ต้น ซึ่งหลังจากนี้จะยังต้องมีการเตรียมความพร้อมไปในทางเดียวกันอีกครั้ง โดยจะมีการจัดสัมมนา ส.ส.ก่อนวันโหวตเลือกนายกฯ ซัก 2-3 ครั้ง คาดว่าจะเป็นวันที่ 10-12 ก.ค. อาจจะเป็นที่ทำการพรรคหรือพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งทั้งหมดเป็นการเตรียมการทำงานให้กับ ส.ส.ที่จะเข้าไปทำงานในสภา และเตรียมเรื่องการประสานงานทั้งหมด

ถามว่า 8 พรรคร่วมจะต้องมีการพูดคุยก่อนวันลงมติโหวตเลือกนายกฯ หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่พรรค พท.เราได้ประสานงานกันไปเบื้องต้นแล้วว่าทิศทางที่ชัดเจนแน่วแน่เราจะจับมือเดินไปด้วยกัน ดังนั้นเราจะต้องมีเวลาประเมินสถานการณ์ร่วมกันก่อนวันโหวตว่าจะมีทิศทางอย่างไร จะต้องปรับปรุงเพิ่มเติมในส่วนใด

"ตอนนี้เลขาฯ พรรค พท.ได้ประสานไปยังเลขาฯ พรรค ก.ก.ว่าจะมีความจำเป็นว่าจะต้องมีหรือไม่ ถ้ารู้สึกว่าไม่มีอะไรน่ากังวล ก็อาจจะไม่ต้องประชุมหารือร่วมกัน แต่ความเห็นส่วนตัวได้พูดคุยกันซักหน่อยก็คงจะดี เผื่อจะได้เห็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เป็นเหมือนการทำความเข้าใจสถานการณ์ และจะได้ไปทำความเข้าใจกับ ส.ส.ในพรรคของตัวเองให้เข้าใจสถานการณ์ร่วมกัน 8 พรรคร่วมจะได้เดินไปในทิศทางเดียวกัน" นายภูมิธรรมกล่าว

รองหัวหน้าพรรค พท.ยืนยันว่า 8 พรรคจะแสดงความมั่นใจให้กับประชาชนทราบว่าเราจะร่วมมือกันที่จะผลักดันให้เกิดรัฐบาลประชาธิปไตย ที่มีพรรค ก.ก.เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และผลักดันให้นายพิธาเป็นนายกฯ ซึ่งเป็นเจตจำนงที่มุ่งมั่นชัดเจน ให้ประชาชนมั่นใจในการร่วมมือของ 8 พรรคร่วม

ถามว่า หากการโหวตครั้งแรกไม่ผ่าน ครั้งต่อไปควรจะเป็นบุคคลเดิม หรือเพียงครั้งแรกก็น่าจะพอทราบผลแล้วว่าได้หรือไม่ได้ นายภูมิธรรมกล่าวว่า วันนี้เราชัดเจนคือร่วมมือกันผลักดันให้นายพิธาประสบความสำเร็จ เป็นนายกฯ จึงไม่อยากคิดคำว่า ถ้า เพราะคิดว่าเราก็มั่นใจ และนายพิธาก็แสดงความมั่นใจว่าได้มีการพูดคุยกับ ส.ว.หลายๆ คนแล้ว ก็ยังเชื่อมั่นว่า ส.ว.จะเข้าใจในปัญหาบางอย่างที่อาจจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน หรือมีอะไรที่ติดค้าง ได้พูดคุยกันไปหมดแล้ว พรรค พท.ก็เชื่อมั่น ขณะนี้จึงไม่มีความคลางแคลงใจ พร้อมผลักดันเต็มที่

เศรษฐาเชื่อมีพลังเงียบ ส.ว.

นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรค พท. และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กล่าวถึงการโหวตนายกฯ ว่า หากครั้งแรกไม่ได้ ก็ควรให้โอกาสในการโหวตครั้งที่สอง  ส่วนจะผ่านไปได้ด้วยดีหรือไม่ตามที่ได้คุยกับพรรค ก.ก. รวมถึงการให้สัมภาษณ์ของนายพิธา ก็คาดว่าจะได้ 376 เสียง และยืนยันพรรค พท.ไม่แตกแถว สนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ คนที่ 30

ถามถึงกรณีที่พรรค ก.ก.มั่นใจจะได้เสียงจาก ส.ว. แต่ขณะที่ ส.ว.ส่วนใหญ่บอกจะไม่สนับสนุน จนมีกระแสข่าวว่ามีการซื้อเสียงแลกโหวตให้นายพิธานั้น  นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่ทราบ แต่เรื่องการซื้อเสียงเราไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว ควรใช้เหตุผลในการคุยกันมากกว่า และเรื่องนี้สำคัญ เป็นเรื่องของประเทศชาติ ประชาชนได้พูดแล้วว่าอยากได้ฝ่ายไหนมาจัดตั้งรัฐบาล

"ส.ว.หลายคนก็ออกมาแสดงความคิดเห็น แต่เชื่อว่าไม่เกิน 10 คน ซึ่ง ส.ว. มีถึง 250 คน อาจมีพลังเงียบที่เห็นกับการจัดตั้งรัฐบาลของพรรค ก.ก.และพรรค พท. โดยหวังว่าจะร่วมกันได้ด้วยดี" นายเศรษฐากล่าว

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวว่า วันนี้ทราบตั้งแต่เช้าแล้ว ได้มีการรับสนองพระบรมราชโองการในการแต่งตั้งประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ ทั้ง 2 คน ซึ่งในฐานะรัฐบาล ได้ทำตามขั้นตอนทุกประการไปด้วยความเรียบร้อยจนถึงวันนี้ ต่อไปคงเป็นเรื่องของสภา เรื่องของ ส.ส.ที่จะดำเนินการกันต่อไป

"ก็สุดแล้วแต่ว่าจะอะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นเรื่องของมติต่างๆ ผมไม่มีคำตอบอะไรทั้งสิ้น ผมไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวอะไรทั้งสิ้นเลย ผมบอกไปตั้งนานแล้ว ฉะนั้นอย่าเอาผมไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งใดๆ ทั้งสิ้น เท่านั้นเอง บ้านเมืองมันไปไม่ได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ถามว่า พรรคร่วมรัฐบาลเดิมได้มีการพูดคุยอะไรกันหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่มี ไม่ได้พูดคุย

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้เดินออกจากโพเดียม ผู้สื่อข่าวถึงถามว่าพรรค  รทสช.จะเสนอชื่อนายกฯ หรือไม่ และยืนยันหรือไม่จะไม่มีการเสนอชื่อคนในพรรคและชื่อคนในพรรคร่วมรัฐบาล  พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็เขาพูดไปแล้ว พูดไปแล้วไงเล่า

ปชป.ยันโหวตตามมติพรรค

นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรค รทสช. กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ไม่ตอบประเด็นคำถามทางการเมืองช่วงนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องการเปิดให้เป็นช่วงที่พรรคการเมืองเตรียมจัดตั้งรัฐบาลดำเนินการตามขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎร และเพื่อลดอุณหภูมิความขัดแย้งทางการเมือง ทำหน้าที่รัฐบาลรักษาการให้ดีที่สุด และเตรียมส่งมอบตำแหน่งให้รัฐบาลชุดใหม่

ถามถึงการโหวตเลือกนายกฯ ที่วางกันไว้ถึง 3 ครั้งนั้น นายธนกรกล่าวว่า การโหวตครั้งเดียวก็พอที่จะเห็นทิศทางการเมืองแล้วว่าจะเป็นอย่างไร หากคะแนนของทั้ง 2 สภาโหวตให้นายพิธาไม่ถึง 376 เสียง ครั้งที่ 2 ควรจะให้ที่เป็นลำดับที่ 2 เสนอชื่อต่อไป ไม่ใช่เสนอชื่อคนเดิม 2-3 ครั้ง มันไม่ใช่เลือกหัวหน้าชั้นเรียน เพราะขนาดเลือกหัวหน้าชั้นเรียนยังเลือกแค่ครั้ง ยกเว้นคะแนนเท่ากัน หากจะเสนอชื่อนายพิธาอีกเป็นครั้งที่ 2 ก็ต้องมีองค์ประกอบหรือมีเงื่อนไขใหม่เพิ่มให้สภาพิจารณา หากไม่มีอะไรใหม่ คิดว่าให้โอกาสครั้งเดียวก็พอ เพื่อไม่ให้เสียเวลาสภา

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค ปชป. กล่าวถึงทิศทางการโหวตเลือกนายกฯว่า หลังพรรคได้ กก.บห.ชุดใหม่ในวันที่ 9 ก.ค.แล้ว จะมีการพิจารณาร่วมกันระหว่าง กก.บห.และ ส.ส. 25 คนว่าจะมีทิศทางในการเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างไร

"ยืนยันว่าพรรค ปชป.ไม่มีฟรีโหวต ต้องเป็นไปตามมติพรรค และเชื่อว่าจะต้องรีบประชุมเพื่อให้ทันตามกำหนดที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรระบุว่าจะเลือกนายกฯ ในวันที่ 13 ก.ค.” นายราเมศกล่าว และว่า หากจะบอกว่าเสียงข้างมากชนะเลือกตั้งแล้วจะมาบังคับว่า ปชป.ต้องเลือกคุณพิธาเป็นนายกฯ เราจะตั้งพรรคการเมืองไปทำไม ยุบไปรวมกับพรรคก้าวไกลดีไหม ซึ่งไม่ใช่ ถึงบอกว่าประชาธิปไตยต้องรับฟังเสียงข้างน้อย ไม่ใช่เสียงข้างมากบอกได้มา 14 ล้านเสียง แล้วพรรคนี้ไม่ยกมือให้เขาเป็นนายกฯ แล้วใช้สังคมประชาชนมากดดันว่าคุณไม่ยกมือให้เขาไม่ได้

วันเดียวกัน นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีมีผู้เสนอไม่ควรนำประเด็นการแก้ไข ม.112 หรือคุณสมบัตินายพิธามาตั้งแง่ในการโหวตเลือกนายกฯ ว่า ไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญกำหนดหน้าที่ให้สมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ไม่ใช่แค่เลือกหรือไม่เลือก ดังนั้นกรณีจะให้ความเห็นชอบต้องพิจารณารายละเอียดที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน

"ที่บางฝ่ายอ้างว่า ส.ว.สามารถใช้อำนาจยับยั้งการแก้ไขมาตรา 112 ตอนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ของวุฒิสภา ผมมองว่าไม่สามารถรอให้ถึงตอนนั้นได้ เพราะ ส.ว.ต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม เนื่องจากทราบเจตนาของผู้เสนอแก้ไข ว่าต้องการใช้เป็นเวทีเพื่อเปิดช่องวิพากษ์วิจารณ์สถาบันเบื้องสูง" นายเสรีกล่าว

ถามถึงกรณีที่ ส.ว.มีความเห็นว่าให้ปัดตกชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่โหวตไม่ผ่านในรอบแรก นายเสรีกล่าวว่า ตามกติกาไม่มีสิ่งใดห้าม แต่อยู่ที่ความเหมาะความควร หากคนที่รัฐสภาไม่เห็นชอบในรอบแรก จะเสนอกลับมาอีกเพื่ออะไร หากทำเช่นนั้น อาจจะทำให้เกิดภาพได้ว่ามีการล็อบบี้กันเกิดขึ้นหรือไม่ ทั้งที่คะแนนรอบแรกปรากฏชัดเจนอยู่แล้ว หากรอบแรกไม่ได้ รอบต่อไปต้องเปลี่ยนคน

 “หากรอบสองพรรคการเมืองยังเสนอชื่อคนเดิม ส.ว.ไม่จำเป็นต้องประท้วงหรือวอล์กเอาต์ แค่นั่งบนเก้าอี้และงดออกเสียงก็เพียงพอและมีค่าเท่ากัน”  นายเสรีกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง