DSIค้น15จุดยึดทรัพย์STARK

ดีเอสไอแจงเร่งตามยึดรถหรู 4 คัน อดีตซีอีโอ STARK เผ่นหนีหมายจับออกนอกประเทศ ส่วนผลตรวจค้น 15 เป้าหมาย ยึดหลักฐานขยายผลเอาผิดบุคคลเกี่ยวข้อง ขณะที่ ก.ล.ต.ย้ำไม่นิ่งนอนใจเรื่องเอาผิดผู้เกี่ยวข้องปลอมงบหลอกนักลงทุน "วนรัชต์" วอนเห็นใจพนง.-ผู้เสียหาย เพราะอยู่ระหว่างที่บริษัทเร่งหาตัวผู้กระทำความผิด และเคลียร์หนี้ชดใช้คืนผู้เสียหาย แต่ชะงักลงหลังถูกอายัดทรัพย์สินจนเกลี้ยง

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 น.ส.พิทยาภรณ์ ชูรัตน์ รองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงผลการตรวจค้นเป้าหมาย 15 จุด คดีทุจริตหุ้น STARK หรือบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร้องทุกข์กล่าวโทษ 10 ราย อดีตผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และความผิดอาญาอื่นที่อาจเกี่ยวข้องกัน ในคดีพิเศษที่ 57/2566

น.ส.พิทยาภรณ์กล่าวว่า ดีเอสไอรับคดีการทุจริตในบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นคดีพิเศษที่ 57/2566 เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.66 พร้อมดำเนินการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน โดยการออกหมายเรียกพยานที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ ได้แก่ บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด, บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ที่ปรึกษา จำกัด ซึ่งเป็นผู้สอบบัญชี และพนักงานภายในบริษัท รวมถึงเมื่อวันที่ 3 ก.ค. มีการออกหมายเรียก นายชนินทร์ เย็นสุดใจ มาชี้แจง แต่ไม่เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน จึงตรวจสอบประสาน ตม. ปรากฏว่าออกนอกประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา เบื้องต้นปลายทางเป็นประเทศสิงคโปร์ มีเหตุอันควรเชื่อว่าได้หลบหนี จึงขอออกหมายจับนายชนินทร์ในวันที่ 5 ก.ค.

ขณะนี้ดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สินบางส่วน และอายัดทะเบียนรถยนต์หรู 4 คันของนายชนินทร์ คือ BMW 630i Gran Turismo RHD ทะเบียน 1กญ-0289 กรุงเทพมหานคร,  MINI COOPER S Cabrio RHD สีน้ำเงิน ทะเบียน 1 ขศ-0042 กรุงเทพมหานคร,  MERCEDES BENZ AMG GLA 35 4MATIC สีเทา ทะเบียน 2 ขร-1162 กรุงเทพมหานคร และ ROLLS-ROYCE DAWN สีดำ ทะเบียน 8 กร-0011 กรุงเทพมหานคร ซึ่งกำลังเร่งติดตาม หากบุคคลใดครอบครองขอให้ส่งมอบมายังดีเอสไอ เพราะอาจถูกแจ้งข้อหาร่วมกันฟอกเงิน หรือสามารถแจ้งเบาะแสมาได้ ทั้งการแจ้งผ่านเว็บไซต์กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือแจ้งผ่านสายด่วนของดีเอสไอ เบอร์ 1202 นอกจากนี้ มีการออกหมายเรียกนายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อให้มารับทราบข้อกล่าวหา

ต่อมา วันที่ 6 ก.ค. คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ยื่นคำร้องขอหมายค้นต่อศาลอาญา รวมจำนวน 15 จุด  เพื่อค้นหาพยานหลักฐานประกอบการสอบสวน รวมถึงเพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยผิดกฎหมาย โดยเป็นการเข้าตรวจค้นบริษัทจำนวน 5 จุด ได้แก่ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ทีมเอ โฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่พบการทำธุรกรรมในทางบัญชีและการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก และเข้าตรวจค้นบ้านซึ่งเป็นที่พักอาศัยและที่มีชื่อของผู้ต้องสงสัยและผู้ที่มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ครอบครอง รวมจำนวน 10 จุด

น.ส.พิทยาภรณ์กล่าวต่อว่า ผลการตรวจค้น คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้พบและยึดสิ่งของที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในการสอบสวน ทั้งเอกสารการทำธุรกรรมต่างๆ ในบริษัท สตาร์คฯ และบริษัทในเครือ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดเก็บไว้ในรูปแบบไฟล์คอมพิวเตอร์ และเอกสารหลักฐานพยานวัตถุอื่นๆ ซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่จะประกอบการสอบสวนและพิสูจน์ถึงพฤติการณ์อันมีลักษณะทุจริต รวมถึงขยายผลไปถึงบุคคลอื่นที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด อีกทั้งได้พบและยึดเงินสด อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดไว้เพื่อทำการตรวจสอบ

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า คณะพนักงานสอบสวน กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการสรุปสำนวนคดีมหากาพย์โกงหุ้นสตาร์ค ภายในเวลา 3 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จนำส่งพนักงานอัยการสั่งฟ้องได้ในช่วงเดือน ก.ย.นี้

ด้านนายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ และรักษาการเลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ขณะนี้ ก.ล.ต.ทำงานร่วมมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (ปอศ.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตรวจสอบกรณีของ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) STARK ในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลเป็นเท็จ มีใครนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างราคา อินไซด์ข้อมูลหรือไม่  รวมถึงกรณีการซื้อขายบิ๊กล็อตของผู้บริหารในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น โดยหลักการทำได้ แต่ต้องไม่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลเท็จไปใช้ประโยชน์ในการซื้อขายหุ้น

สำหรับที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมถึงไม่ดำเนินการใดๆ นายธวัชชัยกล่าวว่า        ที่ผ่านมาไม่สามารถอธิบายเรื่องดังกล่าวได้มากนัก เพราะเรื่องยังอยู่ในกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งทำให้เกิดความไม่มั่นใจในสังคม แต่ขอย้ำว่า ทาง ก.ล.ต.พยายามทำตามบทบาทอำนาจหน้าที่ โดยขั้นตอนการทำงานมีหลายส่วน อะไรที่ทำได้ก่อนก็จะเร่งรัดทำกันอย่างเต็มที่ ส่วนการดำเนินคดีทำไมถึงไม่มีข้อนั้นข้อนี้ ขอให้เข้าใจว่า ทุกอย่างต้องค่อยๆ ทยอยออกมา การดำเนินการต่อไปยังมีอยู่ เช่น ดีเอสไอ,  ปปง., ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทุกอย่างยังดำเนินการต่อไป

"ขณะนี้ได้กล่าวโทษผู้กระทำผิด 10 รายไปแล้ว และอยู่ระหว่างขยายผลผู้กระทำความผิดอื่นๆ เพิ่มเติม ทั้งการสร้างราคา อินไซด์ ซึ่งได้ประสานข้อมูลกับตลาดหลักทรัพย์ในฐานะด่านแรกของการตรวจสอบข้อมูลการซื้อขาย  หากพบผู้กระทำผิดเพิ่มเติมจะดำเนินการกล่าวโทษ มั่นใจว่า ก.ล.ต.มีหลักฐานเพียงพอในการกล่าวโทษจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด” นายธวัชชัยกล่าว

สำหรับการอายัดทรัพย์สิน 180 วัน และห้ามผู้ถูกกล่าวโทษเดินทางออกนอกประเทศ 15 วัน สามารถยื่นขอศาลอาญาขยายระยะเวลาได้ ส่วนที่มีกรณีข่าวว่าผู้ถูกกล่าวโทษบางรายได้หนีออกประเทศไปแล้วนั้น เป็นหน้าที่ของพนักงานสืบสวนจะไปติดตามตัวผู้กระทำผิด

ส่วนกรณีสั่งอายัดเฟ้ลปส์ดอดจ์ฯ นั้น เป็นการอายัดทรัพย์สิน ไม่ได้กระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ยังคงสามารถทำได้ปกติ รวมถึงยังสามารถจ่ายเงินเดือนพนักงานได้ตามปกติ

สำหรับการกล่าวโทษก่อนหน้านี้ มีลักษณะสำคัญคือ "การเปิดเผยข้อมูล" โดยเฉพาะงบการเงินที่ถูกนำไปแสดงเพื่อขายตราสารหนี้ เป็นข้อมูลปลอม ซึ่ง ก.ล.ต.มองเห็นเรื่องการตกแต่งบัญชีจึงดำเนินการก่อน แต่คำถามที่หลายคนสงสัยว่าทำไมโทษเบาเกินไป หรือเหตุใดไม่มีคำสั่งอายัดทรัพย์สิน มาตรา 267 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ในข้อเท็จจริงยังมีแนวทาง กระบวนการใช้มาตราอยู่  หากต้องสงสัยอย่างเดียวแล้วไปกล่าวหาจะยังไม่เพียงพอ หากอะไรที่เข้าเกณฑ์ก็จะดำเนินการอย่างแน่นอน บางครั้งต้องใช้เวลาในขั้นตอนต่างๆ ว่ามีคนมาทักท้วงหรือไม่ รวมถึงพยานหลักฐานถ้าไปถึงเรื่องการซื้อขาย

รักษาการแทนเลขาธิการ ก.ล.ต.  กล่าวต่อว่า คำถามที่มีการปั่นราคาหุ้นหรือไม่ ก.ล.ต.ก็มีหน้าที่ต้องติดตามเช่นกัน หรือกรณีผู้สอบบัญชี ก็ยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบด้วย หากมีความผิดก็จะดำเนินการเพิกถอนสิทธิต่อไป  ซึ่งหลักฐานในชั้นนี้ยังไม่พบความผิดใด ๆ กระทั่งการปั่นราคาก็มีหลายส่วน เช่น การแพร่ข่าวเท็จ การสร้างราคา หรือการใช้ข้อมูลภายในที่คนอื่นไม่รู้ ก็ยังต้องใช้เวลาการตรวจสอบด้วย

ส่วนนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ อดีตรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า หลัง ก.ล.ต.มีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดที่ถูกกล่าวโทษ 10 ราย เป็นเวลา 180 วัน และห้ามมิให้ผู้กระทำผิดออกนอกราชอาณาจักรไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวมีกำหนด 15 วัน ถือเป็นการทำตามหน้าที่ แต่การอายัดทรัพย์สินบริษัทที่ยังประกอบธุรกิจอยู่ ตั้งแต่ตัว บมจ.สตาร์คฯ, บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์ฯ, บริษัท อดิศรสงขลาฯ และบริษัท ไทยเคเบิ้ลฯ ทำให้เกิดคำถามตามมาทันที ว่าบริษัทพวกนี้จะไปยังไงต่อ จะจ่ายเงินเดือนพนักงาน จ่ายเงินซัพพลายเออร์ได้ไหม ถ้าไม่ได้ต้องหยุดโรงงานไป 180 วัน แล้วจะผิดสัญญาส่งมอบสินค้าไหม

“คนกลุ่มแรกที่เดือดร้อนโดยตรงคือ พนักงานบริษัทที่ต้องถูกลอยแพ และบรรดาคู่ค้าที่วางบิลไปแล้ว หรือผลิตของส่งของให้แต่ยังไม่ได้เงิน คนพวกนี้จะได้รับเงินเดือนสิ้นเดือนนี้ไหม พนักงานคงเตรียมหางานใหม่ คู่ค้าก็เลิกคบ ถัดมาที่เดือดร้อนคือแบงก์ที่ปล่อยกู้เฟ้ลปส์ ดอด์จฯ ตรง ก่อนหน้านี้กำลังเจรจากับผู้ถือหุ้นใหญ่ นายวนรัชต์ซึ่งค้ำประกันหนี้ไว้ 20,000 ล้านบาท โดยมีแผนจะเอาเฟ้ลปส์ ดอด์จฯ เข้าฟื้นฟูกิจการ เพื่อที่แบงก์จะได้ปล่อยสินเชื่อให้ต่อลมหายใจ แต่เมื่อโดนอายัดแบบนี้  แปลว่าจะไม่สามารถเอาเข้าฟื้นฟูกิจการได้ จะให้กู้เอาเงินมารันโรงงานก็ไม่ได้เพราะถ้ารอ 180 วันครบเวลาอายัด บริษัทพวกนี้ก็กลายเป็นซากกิจการ”นายวนรัชต์ระบุ

นายวนรัชต์ระบุอีกว่า ผลงานของ ก.ล.ต.ทำให้ลืมแผนนี้ได้ เพราะแบงก์รอฟ้องล้มละลาย เอาซากโรงงาน ที่ดินมาขายทอดตลาด มูลค่าจากร้อยอาจจะเหลือยี่สิบ แต่แบงก์ตั้งสำรองหนี้สูญไปแล้ว เหลือแต่ผู้ถือหุ้น และผู้ถือหุ้นกู้สตาร์ค ที่รอเงินที่จะเหลือจากการขายทรัพย์สินพวกนี้ ยิ่งนานวันแทนที่จะขายแบบกิจการที่รันได้ปรกติ ต้องมารอขายเป็นซาก เจ็บหนักกว่าแบงก์ก็ผู้ถือหุ้นกู้ และผู้ถือหุ้น ส่วนคนเดียวที่น่าจะยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ คือพวกกลุ่มทุนในกิจการเคเบิลที่มาจีบแบงก์ขอซื้อกิจการทั้งในไทยและเวียดนาม ที่รออีกหน่อย ราคาตกลงเรื่อยๆ รอจ่ายแค่ 20% ของมูลค่ากิจการก่อนวันโดนอายัดก็ได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง