เร่งแก้หนี้ครัวเรือนพุ่ง90.6%

“ธปท.” พร้อมถกทีมเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่เพิ่มจำนวนแบงก์ หลังมีข้อเสนอหวังกดดอกเบี้ยต่ำ พร้อมเร่งออกแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน หลังไตรมาส 1 เพิ่มเป็น 90.6% ผวา “แบงก์รัฐ-non bank" แบกหนี้เน่า 3 แสนล้านบาท

เมื่อวันจันทร์ นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลเสนอให้มีการเพิ่มจำนวนธนาคารเพื่อให้เกิดการแข่งขัน และเป็นประโยชน์กับลูกหนี้ในเรื่องดอกเบี้ยว่า การเพิ่มจำนวนธนาคารจะเห็นความชัดเจนหลังจากที่มีการจัดตั้งทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่เรียบร้อยแล้ว ธปท.จะเข้าไปหารือกับรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งทั้งหมดต้องเอาข้อมูลมาพิจารณา โดยแนวนโยบายการเพิ่มจำนวนธนาคารที่ผ่านมา ธปท.ได้ดำเนินการเรื่องธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) โดยเปิดรับฟังความเห็นแล้วในรอบสอง ซึ่งเรื่องนี้ต้องค่อย ๆ ทำ

สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปัจจุบัน หลังปรับข้อมูลใหม่ในไตรมาส 1/2566 เพิ่มเป็น 90.6% ของจีดีพี ในจำนวนนี้ 73% อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. โดยแบ่งเป็นสินเชื่อบ้าน 34% สินเชื่อรถยนต์ 11% สินเชื่อบัตรเครดิตและส่วนบุคคล 27% และอื่นๆ เช่น กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 28%

อย่างไรก็ดี ในส่วนของหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน จากผลกระทบของโควิด-19 (ลูกหนี้รหัส 21) นับจากวันที่ 1 ม.ค.63 โดยเริ่มปรับลดลงจากจุดสูงสุดในเดือน ต.ค.65 จาก 4.7 ล้านบัญชี เหลือ 4.4 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 4.1 แสนล้านบาท เหลือ 3.1 แสนล้านบาท โดยหนี้เสียดังกล่าวเป็นของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 60%, Non-Bank 30% และธนาคารพาณิชย์ 10%

"ลูกหนี้ของธนาคารรัฐมีความเปราะบางมากกว่าธนาคารพาณิชย์ การออกหลักเกณฑ์ในการดูแลต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง ซึ่งบางมาตรการทำได้เช่นพักหนี้ ก็ทำเฉพาะจุดบางสถานการณ์เช่นน้ำท่วม แต่ถ้าพักหนี้ยกพอร์ตก็อาจจะเป็นการบวมหนี้ขึ้นมาในอนาคต ที่ผ่านมา ธปท.ก็ได้มีการส่งทีมเข้าไปช่วยแยกกลุ่มลูกหนี้ โดยหนี้ค้างชำระที่ลดลงก็มาจากการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารรัฐ" นางสาวสุวรรณีกล่าว

นางสาวสุวรรณีกล่าวอีกว่า ในระยะต่อไปแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อาจทยอยปรับขึ้นบ้าง จากกลุ่มเปราะบางที่รายได้น้อยหรือกลุ่มที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัว แต่จะไม่เห็น NPL Cliff และเป็นระดับที่สถาบันการเงินบริหารจัดการได้ โดยปัจจุบัน Rating Agencies ต่อภาคธนาคารไทยยังมั่นคง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงต่อเนื่อง

โดยสัดส่วน NPL ล่าสุดอยู่ที่ 7.2% จาก 6.9% และสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) อยู่ที่ 3.2% เพิ่มขึ้นจาก 3.1% โดย NPL ของสินเชื่อที่อยู่อาศัย ในส่วนของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 3.2% ธนาคารรัฐอยู่ที่ 3.9%, NPL ของสินเชื่อรถยนต์ทรงตัว โดยในส่วนของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 1.9% แต่ SM อยู่ที่ 13.8% และ Non-Bank อยู่ที่ 2.1% และ SM อยู่ที่ 11.4% ขณะที่หนี้บัตรเครดิตอยู่ที่ 3.1% เป็นต้น

 “ได้กำชับเจ้าหนี้ ลูกหนี้ ให้เร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว นอกจากนี้ลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน และเป็นหนี้เสียค้างชำระเกินกว่า 120 วัน สามารถเข้าร่วมคลินิกแก้หนี้ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้ภาระรายเดือนอยู่ในระดับที่สามารถชำระคืนได้” นางสาวสุวรรณีกล่าว

นางสาวสุวรรณีกล่าวอีกว่า ธปท.จะเร่งออกแนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องทำครบวงจร ถูกหลักและร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยแนวทางดังกล่าวจะครอบคลุมตลอดวงจรหนี้ คือตั้งแต่ก่อหนี้ใหม่ที่มีคุณภาพ การดูแลหนี้เดิมโดยเฉพาะ NPL และหนี้เรื้อรัง รวมถึงช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อในระบบ

ทั้งนี้ ธปท.ติดตามสถานการณ์หนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิด และผลักดันการดำเนินการตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาวกับเจ้าหนี้อย่างต่อเนื่องทุกเดือน เพื่อให้เจ้าหนี้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ให้กลับมาฟื้นตัวได้ สำหรับหนี้ที่ต้องเร่งแก้ไขประกอบด้วย 4 ด้าน คือ 1.หนี้เสียที่มีอยู่ในปัจจุบัน 2.หนี้ที่เป็นปัญหาเรื้อรัง ยังไม่เป็นหนี้เสียแต่ปิดจบไม่ได้ 3.หนี้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นเร็วและอาจเป็นหนี้เสีย หรือ เรื้อรังในอนาคต และ 4.หนี้นอกระบบ

สำหรับแนวทางหลังจากนี้ที่ ธปท.จะดำเนินการ คือ 1.เกณฑ์ Responsible Lending (RL) ที่กำหนดให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ หนี้ที่มีปัญหาจนถึงการขายหนี้ เป็นต้น 2.กลไก Risk-Based Pricing (RBP) เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ และช่วยให้ลูกหนี้จ่ายอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงและได้รับผลปฏิบัติอย่างเป็นธรรม และ 3.มาตรการ Macroprudential Policy (MaPP) ให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่อสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และลูกหนี้มีเงินเหลือพอดำรงชีพ ไม่นำไปสู่การก่อหนี้สินเกินตัว

อย่างไรก็ดี ในส่วนของแผน RL และการแก้หนี้เรื้อรังจะบังคับใช้ก่อนเป็นลำดับแรก ตามมาด้วย RBP สำหรับเรื่อง MaPP การนำมาใช้จะต้องพิจารณาให้เหมาะกับบริบทของเศรษฐกิจ โดย ธปท.จะชี้แจงรายละเอียดในปลายเดือน ก.ค.นี้ต่อไป สำหรับเกณฑ์ดังกล่าว ธปท.จะเปิดรับฟังความเห็นเป็นการทั่วไปในเร็วๆ นี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง