ยื้อจนหยดสุดท้าย! โวเที่ยง3ก.ค.เก้าอี้ปธ.สภาชัด/ประวิตรปัดดีลพท.

ถก 8 พรรคร่วม "ปธ.สภาฯ" ยังจบไม่ลง "พิธา" วอนอย่าเปิดประเด็นใหม่ทำสังคมสับสน ให้เกียรติเพื่อไทยกลับไปคุยภายใน "ชลน่าน" ยันเที่ยง 3 ก.ค.ได้ข้อสรุปแน่ เจอด้อมส้มตะโกนใส่เก้าอี้ก้าวไกล "บิ๊กป้อม" ปัดดีล พท. ให้พรรคเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล "ธรรมนัส" ย้ำ 40 เสียง พปชร. โหวตทิศทางเดียวกัน ลั่นมีมารยาทไม่เสนอชื่อใครแข่ง รทสช. ประกาศไม่หนุนพรรคแก้ 112 ปชช.ชี้ประธานต้องเป็นกลาง

ที่ที่ทำการพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 2  กรกฎาคม นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้นัดประชุมหัวหน้าพรรคและแกนนำ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจะมีการหารือเรื่องความชัดเจนตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยยังหาข้อยุติไม่ได้

โดยเวลา 09.20 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เดินทางมาเป็นคนแรก พร้อมกล่าวว่า เรื่องประธานสภาฯ ต้องปล่อยให้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยคุยกันอีกสักนิดคิดว่าน่าจะจบ เพราะประชาชนเป็นห่วง อยากให้ทุกอย่างลงตัวอย่างที่ประชาชนคาดหวังไว้ และเชื่อว่าในวันที่ 4 ก.ค. ซึ่งเป็นการประชุมสภานัดแรก จะไม่มีการฟรีโหวตเรื่องประธานสภาฯ

ต่อมา นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เดินทางมาถึง ส่วนแกนนำพรรคคนอื่นๆ ทยอยเดินทางมา ได้แก่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส  พรรคเสรีรวมไทย, นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม, น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ, นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย, นายวสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง และนายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ หัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่

ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล มาถึงพรรคในเวลาไล่เลี่ยกันกับแกนนำพรรคเพื่อไทย อย่าง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย,  นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ นพ.ชลน่านและแกนนำพรรคเพื่อไทยเดินเข้าไปในอาคาร ได้มีประชาชนที่อยู่บนระเบียงชั้นสองประมาณ 6-7 คน ใส่เสื้อสีส้มตะโกนลงมาว่า “นายกฯ ต้องเป็นพิธา ประธานสภาฯ ต้องเป็นของก้าวไกล เพื่อไทยต้องเคารพมติประชาชน” ขณะที่ นพ.ชลน่านมีสีหน้าเคร่งเครียด ได้มองไปที่มวลชน พร้อมเดินเข้าอาคาร โดยที่ไม่ได้กล่าวอะไร

จากนั้นเวลา 12.00 น. นายพิธา พร้อมแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายพิธากล่าวว่า ที่ประชุม 8 พรรคมีการพูดคุยกันบ้างเล็กน้อย ซึ่งทุกอย่างเป็นไปด้วยดี และมีความคืบหน้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ต้องให้เกียรติพรรคที่ยังต้องมีการพูดคุยกันอยู่

เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลรับได้หรือไม่หากจะต้องรอข้อสรุปจากพรรคเพื่อไทยไปเรื่อยๆ นายพิธากล่าวว่า ไม่ได้รอเรื่อยๆ เราให้เกียรติพรรคเพื่อไทย ยังพอมีเวลาอยู่ โดยปกติแล้วทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป และเป็นขั้นเป็นตอน เราไม่ควรเปิดประเด็นใหม่ เพราะจะกระทบกับการเจรจา ควรโฟกัสประเด็นที่มีอยู่ และหากทำให้ประชาชนสับสนต้องขออภัย เรามีความปรารถนาดีตั้งใจจริงในการจัดตั้งรัฐบาลและแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน

ส่วนกรณีมีการเสนอชื่อบุคคลอื่นเป็นประธานสภาฯ ต่างจากที่ตกลงกันไว้นั้น นายพิธากล่าวว่า อย่าเปิดประเด็นใหม่ การคาดการณ์ประเด็นใหม่อาจกระทบกับการจัดตั้งรัฐบาลและสร้างความสับสนให้ประชาชน รวมถึงความมั่นใจในสังคม เช่น เรื่องตลาดหุ้นด้วย

เมื่อถามย้ำว่า หากข้อสรุปที่ได้ไม่ตรงกันจะทำอย่างไร นายพิธากล่าวว่า ไม่อยากให้เปิดประเด็นใหม่ ทุกอย่างมีกระบวนการอยู่

พท.ยัน 3 ก.ค.ได้ข้อสรุป

ด้าน นพ.ชลน่านกล่าวว่า คณะเจรจา 2 ฝ่ายได้แจ้งความคืบหน้าในการหารือกันอย่างไม่เป็นทางการให้ที่ประชุมรับทราบ แต่เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีกระบวนการทำงานหลากหลายของคนที่มาทำงานร่วมกันมากมาย และมีความเห็นต่างมากกับการทำงานภายในพรรคที่ต้องอาศัยข้อบังคับพรรค ซึ่งเป็นกระบวนการภายใน และเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องฟังความเห็นของสมาชิกพรรค เราจึงแจ้งต่อที่ประชุมว่า จะต้องมีการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของพรรคเพื่อไทยเป็นการภายในในวันที่ 3 ก.ค.นี้ 

"จะต้องมีการยึดเจตจำนงการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยให้ได้ ซึ่งเรายังยึดมั่นแนวทางนี้อยู่ ยืนยันว่าเราจะร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาล ยึดหลักทุกฝ่ายทุกภาคไม่ใช่เฉพาะพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ถือเป็นทางร่วมที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน และหากข้อสรุปไม่เป็นไปตามที่ประชาชนคาดหวัง ก็จะกระทบต่อพรรคร่วมและการจัดตั้งรัฐบาล มั่นใจว่าวันที่ 3 ก.ค. เวลา 12.00 น. จะได้ข้อสรุปที่ดีแน่นอน และเป็นประโยชน์ต่อการจัดตั้งรัฐบาล" หัวหน้าพรรคเพื่อไทยระบุ

เมื่อถามว่า จะมีการเสนอชื่อประธานสภาฯ คนอื่น โดยให้พรรคการเมืองขั้วตรงข้ามเป็นผู้เสนอชื่อแทนพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ตอบยาก แต่มั่นใจว่าทุกอย่างจะได้ข้อสรุปที่ดีก่อนวันที่ 4 ก.ค. สำหรับกระบวนการขอความเห็นร่วมของพรรคเพื่อไทยเป็นไปตามข้อบังคับ แม้จะมีความเห็นต่าง แต่ต้องมีข้อสรุปร่วมกันออกมา มั่นใจว่าความเห็นร่วมกันจะเป็นไปตามแนวทางที่เคยทำบันทึกความเข้าใจกันไว้ 

ส่วนจะมีการฟรีโหวตเกิดขึ้นหรือไม่นั้น หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ถือเป็นมุมมองที่มีความหลากหลาย แต่ความเป็นพรรคมีความสำคัญที่สุด ถือว่ามีความสำคัญที่สุด

นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวถึงกรณีพรรคประชาชาติยังอยากได้ตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่สอง ในฐานะพรรคอันดับสามหรือไม่ว่า พรรคประชาชาติต้องการตั้งรัฐบาลเพื่อประชาชน ถ้าสามารถจัดตั้งรัฐบาลเพื่อประชาชนได้ก็ยินดีเสียสละในเรื่องต่างๆ ได้ ขณะนี้ 8 พรรคมอบให้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ใช้เวลาที่เหลืออยู่ 40 กว่าชั่วโมงให้เป็นเวลาแห่งชัยชนะของประชาชน ไม่เช่นนั้นฝ่ายที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยพร้อมจะแทรกเข้ามา และหากเกิดข้อผิดพลาดอะไรขึ้นมาประชาชนอาจไม่ให้อภัยพวกเราอีก ฉะนั้นเวลาที่เหลืออยู่น้อยในขณะนี้เราต้องทำให้ได้ เวลาไม่ใช่เงื่อนไข แต่หัวใจความเสียสละเพื่อประชาชนสำคัญยิ่งกว่า

ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรค ให้สัมภาษณ์ภายหลังการปฐมนิเทศ ส.ส.ใหม่ ถึงการโหวตเลือกประธานสภาฯ ว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันถึงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรเลย ต้องคุยกันในวันที่ 4 ก.ค. 

ส่วนกระแสข่าวการจับขั้วใหม่ทางการเมืองระหว่างพรรคเพื่อไทยและ พปชร.นั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่มี ไม่มีพูดคุยกับพรรคการเมืองใดหรือกับกลุ่มไหนในเรื่องดังกล่าว ข่าวก็คือข่าว ต้องไปถามคนปล่อยข่าว "ผมบอกแล้วไงว่าพรรคพลังประชารัฐเป็นของผม”

เมื่อถามว่า ในขั้วการเมืองเดิมยังพูดคุยกันและยังคงจับมือกันเหมือนเดิมใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ใครได้เสียงข้างมาก ในทางการเมืองก็ดำเนินการตามขั้นตอนกันไป

เมื่อถามย้ำว่า แต่เสียงข้างน้อยยังคงจับมือกันเหมือนเดิมใช่หรือไม่ พล.อ. ประวิตรกล่าวว่า ไม่รู้ 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้พูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดการแนวทางและยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติบ้างหรือยัง พล.อ.ประวิตรไม่ตอบคำถามดังกล่าว

เมื่อถามว่า จะมีการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยแข่งหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่รู้  ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้าต่างขั้วทางการเมืองจะสามารถจับมือกันได้หรือไม่ โดย พล.อ.ประวิตรไม่ตอบคำถาม พร้อมกับส่ายหน้า

พปชร.โหวตทางเดียวกัน

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรค พปชร. กล่าวถึงทิศทางการโหวตประธานสภาฯ ของพรรค พปชร. ว่า พล.อ.ประวิตรได้ให้หลักการไว้ว่า ส.ส.ของพรรคทั้ง 40 คนจะโหวตไปในทิศทางเดียวกัน หมายความว่าเราจะดูหน้างานในวันที่ 4 ก.ค. ก่อนการประชุมจะเริ่มว่าพรรคไหนเสนอชื่อใครบ้าง และเราจะรู้ว่าใครเหมาะสมเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ จะคุยกันและมีฉันทามติให้โหวตไปทิศทางเดียวกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข่าวว่าพรรค พปชร.จะเสนอชื่อแข่งประธานสภาฯ  ร.อ.ธรรมนัสยืนยันว่า เรามีหลักการและมารยาท พรรค พปชร.จะไม่เสนอใครแข่งอย่างเด็ดขาด ส่วนกรณีพรรคร่วมรัฐบาลเดิมเสนอชื่อชิงประธานสภาฯ จะโหวตให้หรือไม่นั้น ถือเป็นเรื่องเอกสิทธิ์ของแต่ละพรรค เมื่อเขาเสนอเราก็จะรู้ว่าคนที่จะมาเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติมีความเหมาะสมหรือไม่ จะโหวตไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเสนอกี่คนก็ตาม 

เมื่อถามว่า ขณะนี้กระแสข่าวเปลี่ยนขั้วยังมีอยู่ มีการคุยกันหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า จากที่คุยกันในคณะกรรมการบริหารพรรค หลักการยังยืนยันเหมือนเดิมว่าเราขอยืนอยู่ในที่ตั้งนิ่งๆ ดูสถานการณ์วันเลือกประธานสภาฯ ในวันที่ 4 ก.ค.นี้ หลังจากนั้นยังมีเวลาที่จะนั่งคุยกัน 

ส่วนความเป็นไปได้ของการจับมือระหว่างพรรคเพื่อไทยและ พปชร.นั้น ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ณ เวลานี้ยังไม่มีการพูดคุยหรือมีดีลลับอะไรอย่างที่เป็นข่าว ตามที่ พล.อ.ประวิตรพูด ข่าวก็เป็นข่าว ยังไม่มีข้อเท็จจริงอะไร นึกเสียว่าเราดูซีรีส์เกาหลี อย่าไปคิดมาก

เมื่อถามว่า หากพรรคเพื่อไทยเสนอชื่อประธานสภาฯ พรรค พปชร.จะยกมือให้หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ต้องดูว่าเขาเสนอใคร การเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อควบคุมการประชุมสภา ให้เรียบร้อยไม่ใช่เรื่องง่ายๆ 

เมื่อถามย้ำว่า หากเป็นนายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย มีความเหมาะสมใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า เราอย่าไปเน้นกับตัวบุคคล จนกว่าจะเห็นว่าพรรคไหนเสนอใครบ้าง แล้วเราจะคุยกัน สุดท้าย พล.อ.ประวิตรจะคุยกับกรรมการบริหารพรรค แล้วออกมาเป็นฉันทามติ ส่วนแนวโน้มระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลจะเป็นอย่างไรนั้น อย่าให้ตนพูดเลย เพราะถ้าพูดไปจะเป็นประเด็น เอาเป็นว่า พปชร.มีความสามัคคีกัน 40 เสียงโหวตไปในทิศทางเดียวกันแน่นอน

สำหรับกรณีพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ และพรรคเพื่อไทยเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล จะทําให้ พปชร.เป็นตัวแปรสำคัญหรือไม่นั้น ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า จะชี้แจงต่อ ส.ส.ในการประชุมถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ว่าเป็นอย่างไร เรื่องของสภาผู้แทนราษฎรเป็นอย่างไร รัฐสภาเป็นอย่างไร เพราะยังมีนักการเมืองหลายคนหลงประเด็นอยู่ 

ส่วนที่มีคนมองว่างูเห่าเหมือนสถานเสาวภาแตกนั้น ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า “ยืนยันไม่มีหรอก อย่าลืมว่าต้นฉบับลิงกินกล้วยคือผม”

รายงานข่าวจากพรรค พปชร.แจ้งว่า พปชร.ยังไม่ได้มีมติออกมาว่าจะโหวตให้กับใคร เพราะต้องรอดูความชัดเจนระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลว่าจะเสนอบุคคลใด แล้วค่อยมากำหนดว่าพรรคจะโหวตให้ใคร โดย ส.ส.ของพรรคทั้งหมด 40 คน จะโหวตในทิศทางเดียวกันทั้งหมด โดยก่อนการโหวตประธานสภาฯ ในวันที่ 4 ก.ค. จะมีการประชุม ส.ส.ของพรรคที่รัฐสภา เพื่อแจ้งให้ ส.ส.ทราบ แล้วจะเข้าประชุมสภาต่อทันทีเพื่อลงมติเลือกประธานสภาฯ

รทสช.ไม่หนุนพรรคแก้ 112

นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 3 ก.ค.นี้ พรรคเตรียมนัด ส.ส.ทั้งบัญชีรายชื่อและ ส.ส.แบบแบ่งเขต 36 คนของพรรค รวมตัวรับประทานอาหารเที่ยงกัน ณ ที่ทำการพรรครวมไทยสร้างชาติ ก่อนเดินทางไปร่วมงานรัฐพิธีเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรในช่วงเย็น ซึ่งคาดว่าจะมีการหารือถึงทิศทางการโหวตประธานสภาฯ  ของพรรคให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นายธนกรยังกล่าวถึงกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมนัดรวมตัวหน้าอาคารรัฐสภาในวันที่ 4 ก.ค.นี้ ติดตามการประชุม ส.ส.ในการเลือกประธานสภาฯ ว่า การชุมนุมเป็นสิทธิ์ของประชาชนตามหลักประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญ แต่ต้องชุมนุมด้วยความสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ และหากผลการประชุมออกมาตรงข้ามกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ก็ไม่ควรมีการปิดล้อมสภา เพราะจะทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่เหมาะสมต่อประเทศ เนื่องจากว่าเราผ่านการเลือกตั้งมอบอำนาจให้กับ ส.ส.เป็นผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ในสภามาแล้ว ควรจะให้ ส.ส.ขับเคลื่อนการทำงานผ่านระบบสภาจะดีกว่า จึงขอฝากถึงผู้ชุมนุมจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวในความสงบ ไม่ก่อเหตุวุ่นวายรุนแรง ไม่นำพาประเทศกลับสู่วังวนความขัดแย้งอีก

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี และโฆษกพรรค รทสช. กล่าวว่า รทสช.มีจุดยืนชัดเจนว่าจะให้การสนับสนุนบุคคลที่ถูกเสนอชื่อมาจากพรรคการเมืองที่ไม่มีนโยบายในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และจะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ รู้ข้อบังคับและประเพณีปฏิบัติของสภาเป็นอย่างดี เพราะจะเป็นส่วนสำคัญในการทำให้การประชุมสภาราบรื่นและถูกต้อง รวมถึงบุคคลที่จะมาเป็นประธานสภาฯ ยังจะต้องเป็นคนที่มีความประนีประนอม เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสมาชิก รวมถึงเมื่อดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ แล้ว ต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่เอาวาระของพรรคใดพรรคหนึ่งมาเลือกปฏิบัติ

นายปรีดา บุญเพลิง ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน กล่าวว่า ขณะนี้ยังรอดูว่าพรรคอันดับหนึ่งและพรรคอันดับสองที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะมีข้อสรุปหรือข้อตกลงกันได้หรือไม่ในเรื่องประธานสภาฯ หากทั้ง 2 พรรคตกลงกันไม่ได้ ถือว่าไม่ชอบธรรมที่ตนจะเลือก เพราะที่ผ่านมาให้โอกาสในการพูดคุยแล้ว หากยังไม่สามารถตกลงกันได้ ต่างคนต่างเสนอ ตนจะใช้ดุลยพินิจว่าจะเลือกใคร โดยเป็นการตัดสินใจโดยอิสระ ต้องดูความเหมาะสม คุณสมบัติต่างๆ รวมถึงพิจารณาบุคคลที่สังคมยอมรับ และทำให้สภา เดินได้ ซึ่งจะลงคะแนนให้กับคนที่ตนมองว่าเหมาะสมที่สุด

"สังคมตอนนี้จับตาว่าสภาจะเป็นแบบอย่างที่ดีได้หรือไม่ แม้ประธานสภาฯ จะเป็นคนของพรรคใด ต้องวางตัวเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใด ต้องยึดหลักความถูกต้อง และทำประโยชน์เพื่อประเทศ" นายปรีดากล่าว

เมื่อถามถึงการตัดสินใจเลือกแคนดิเดตนายกฯ นายปรีดากล่าวว่า ต้องรอให้การเลือกประธานสภาฯ เสร็จสิ้นก่อน เพราะหากเลือกไม่ได้ จะวุ่นวายเดินต่อไม่ได้ อย่างไรก็ดี ตนมองว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของประชาชน แต่เป็นเรื่องของนักการเมืองที่จะยอมกันหรือไม่

ส่วนการดีลกันของพรรคเล็ก 1 เสียงนั้น นายปรีดากล่าวว่า ไม่มีการดีลกัน ที่ผ่านมายังไม่ได้หารือกับใคร มีแค่เจอกันวันรายงานตัวต่อสภาเท่านั้น ตนพร้อมทำงานร่วมกันได้กับทุกพรรค เพื่อให้การทำงานในสภาเป็นแบบอย่างกับสังคมและทำประโยชน์ให้ประเทศ

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร 2566” ระหว่างวันที่ 27-29 มิ.ย.2566 จากประชาชนจำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับลักษณะของผู้ที่จะเป็นประธานสภาฯ พบว่า ร้อยละ 76.72 ระบุว่า  ต้องสามารถทำงานให้กับทุกพรรคการเมืองด้วยความเป็นกลางได้ รองลงมา ร้อยละ 28.63 มีประสบการณ์ทำงานในฐานะ ส.ส.หลายสมัย ร้อยละ 26.34 ต้องจบกฎหมาย ร้อยละ 24.89 ระบุว่า ต้องเป็นที่ยอมรับของ ส.ส.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

30วันเลือกนายกปทุม

"พิเชษฐ์" แจ้งสภา 143 สส.สังกัดพรรคประชาชนแล้ว ด้าน "ณัฐวุฒิ" เผยใช้อักษรย่อ "ปชน."

เคาะ‘กริพเพน’ แทนขับไล่F16 ออปชันจัดเต็ม

ทอ.เคาะเลือก "JAS 39 Gripen   E/F"  บินขับไล่โจมตีฝูงใหม่ หลัง “สวีเดน” จัดเต็มทั้งให้ลิขสิทธิ์ลิงก์-จรวดนำวิถีตัวเก่ง-offset policy ถึงแม้สหรัฐเสนอ Link 16 ฟรีให้ไทย