‘พิธา’ยันปธ.สภาฯของก.ก./พรรคอันดับสองปล่อยข่าว

ไทยโพสต์ ๐ "พิธา" ขึงขังปิดเกม! ย้ำเสนอชื่อแคนดิเดตประธานสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว เชื่อ 8 พรรคมีเอกภาพ  เพื่อไทยลับลวงพราง ปล่อยข่าวให้งงเล่น กลุ่ม ส.ส.อยากได้เก้าอี้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติไว้เอง แต่ กก.บห.ยกให้ก้าวไกล จับตาที่ประชุมว่าที่้พรรคร่วมรัฐบาลไม่ถกยกเก้าอี้ให้ใคร วัดดวงเช้า 4 ก.ค. ขณะที่ "ธรรมนัส" ยันพลังประชารัฐไม่เสนอชื่อ รอฟัง "บิ๊กป้อม" สั่ง

     เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ที่โรงแรมรามา​การ์เด้นส์​ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการเจรจาของคณะเจรจาพรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล และ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ในวันที่ 2 ก.ค. ว่าจะได้ข้อยุติที่ดี ขณะเดียวกันก็ต้องรอความชัดเจนจากพรรคเพื่อไทยตัดสินใจอย่างเป็นทางการ และยังคงเชื่อใจพรรคเพื่อไทย แม้จะมีการประชุมกรรมการบริหารและ ส.ส.ในวันที่ 3 ก.ค. มองว่าไม่ได้เป็นการลากเกม  และจนถึงจุดนี้พรรคก้าวไกลได้เสนอแคนดิเดตประธานสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว และยืนยันในหลักการ

     ทั้งนี้ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการแสดงความเห็นที่หลากหลายต่อตำแหน่งประธานสภาฯ โดยเฉพาะมาจากคำว่าแหล่งข่าว โดยที่ไม่มีชื่อบุคคลอ้างอิง อาจทำให้ประชาชนสับสน และย้ำว่าจนถึงตอนนี้ต้องรอคำตอบจากพรรคเพื่อไทยอย่างเป็นทางการ

     นายพิธายังกล่าวถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าการลงคะแนนลับจะเกิดความพลิกผันทางการเมืองว่า ยังไม่ถึงวันโหวต รอให้ถึงวันนั้นก่อนน่าจะได้เห็นภาพ และเชื่อว่าความเป็นเอกภาพของพรรคร่วมทั้ง 8 พรรคยังมีอยู่ และจะต้องมีการคุยกันในพรรคและระหว่างพรรคที่อาจจะต้องใช้เวลา แต่ไม่ได้มองคิดไปถึงผลการโหวตว่าอาจไม่ใช่บุคคลที่มีการตกลงกัน แต่ตอนนี้พยายามใช้สมาธิ ใช้เวลา ให้ผลเป็นอย่างที่คาดหวังไว้

     หัวหน้าพรรคก้าวไกลยังปฏิเสธแสดงความเห็นกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศลดบทบาททางการเมือง เนื่องจากยังไม่เห็นในรายละเอียดของข่าว แต่หยิบยกว่าพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลมีคณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ซึ่งจะมีแผนเรื่องกระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งจะมาพูดคุยกับผู้ประกอบการในวันนี้หลังตัวเลขการท่องเที่ยวหายไป 40%

     ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย และประธานที่ปรึกษาครอบครัวเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายพิธาเดินทางไปขอบคุณชาวพิษณุโลก พร้อมเปิดตัวนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก  ชัดเจนว่าเป็นแคนดิเดตประธานสภาฯ  ว่า ถ้าเกิดตกลงได้ว่าเป็นของพรรคก้าวไกล ก็เป็นสิทธิของนายพิธาและพรรคก้าวไกลที่จะเสนอใครก็ได้ และเข้าใจว่านายพิธาเดินทางไปจังหวัดพิษณุโลกพอดี ส่วนเหมาะสมหรือไม่ที่มีการเปิดตัวขณะที่ยังพูดคุยกันระหว่าง 2 พรรคยังไม่ชัดเจนนั้น ก็ถือเป็นสิทธิของก้าวไกลที่จะให้สาธารณชนรับรู้ว่าจะให้นายปดิพัทธ์เป็นประธานสภาฯ แต่สำหรับพรรคเพื่อไทย ไม่มีสิทธิ์คิดเปิดตัวแคนดิเดตประธานสภาฯ ในลักษณะแบบเดียวกัน เพราะคิดว่าการตกลงกันภายในเงียบๆ น่าจะดีกว่า

     ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคเพื่อไทยเปิดตัวแคนดิเดตชิงตำแหน่งประธานสภาฯ กลับโดนทัวร์ลง ในระหว่างที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา นายเศรษฐาตอบว่า ไม่รู้ว่าทัวร์ลงคืออะไร แล้วแต่จะคิด เราควรเน้นที่จุดมุ่งหมายมากกว่า เพราะเดี๋ยวตำแหน่งประธานสภาฯ ก็จะชัดเจนแล้ว  และเดินหน้าต่อไปในการโหวตเลือกนายกฯ

     เมื่อถามย้ำว่า ทั้ง 2 พรรคการเมืองควรหยุดออกมาให้สัมภาษณ์เพื่อลดความขัดแย้งและไม่ให้บานปลายได้หรือไม่ แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทยตอบว่า เราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย ก็มีสิทธิเสรีภาพในการพูด แต่เชื่อว่าหลายคนจะทราบว่าเวลาไหนควรพูด เวลาไหนไม่ควรพูด 

ถือว่าเหมาะสม

     ถามว่า ถึงในวันโหวตนายกฯ หากนายพิธาไม่สามารถได้เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่การโหวตในครั้งแรก จะมีทางออกอย่างไรนั้น นายเศรษฐาชี้ว่า คงมีสิทธิ์เสนอได้อีก แต่ส่วนตัวไม่แน่ใจนัก และไม่ทราบกระบวนการทางรัฐสภาว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือน ก.ค.หรือไม่ ซึ่งอยากขอให้เป็นไปทีละขั้น และเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่ายเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลจากฝ่ายประชาธิปไตยได้โดยเร็ว เนื่องจากมีเรื่องงบประมาณปี 67 ที่ต้องคำนึงถึงด้วย

     ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะลดบทบาททางการเมืองลง เนื่องจากเป็นรัฐบาลรักษาการนั้น  นายเศรษฐากล่าวว่า ถือว่าเหมาะสม เพราะประชาชนก็อยากเห็นแบบนั้น เนื่องจากเป็นรัฐบาลรักษาการ ก็ขอให้เปลี่ยนผ่านไปด้วยดี ไม่มีผิดใจกันหรือมีประเด็นอะไรเกิดขึ้น ซึ่งหาก พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจลดบทบาททางการเมืองลงจริง ก็จะช่วยลดความเผ็ดร้อนและความรุนแรงลงได้

     ถามถึงกรณีที่มีกระแสข่าวจากพลังประชารัฐบอกว่านายกฯ คนที่ 30 คือพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เหมาะสมหรือไม่นายเศรษฐาบอกว่า เป็นสิทธิของเขา เพราะแต่ละพรรคก็มีแคนดิเดตนายกฯ แต่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยอยู่ฝั่งประชาธิปไตย ดังนั้นจะเรียกพรรคพลังประชารัฐว่าอะไรก็เรียกไป การออกมาพูดแบบนี้ก็ต้องมาดูที่คะแนนเสียงด้วย คงเป็นเรื่องของการเมือง และตอนนี้ขอโฟกัสที่เรื่องของการจัดตั้งรัฐบาล

     ส่วนมีความเป็นไปได้หรือไม่นั้นที่พล.อ.ประวิตรจะเป็นนายกฯ คนที่ 30 แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทยตอบเย้ยหยันว่า "ลองนับเลขดู เพราะเลขไม่ได้เป็นหลักล้าน ใช้แค่มือนับก็ได้แล้ว"

     ซักว่ามีกระแสข่าวสูตรในการจัดตั้งรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ นายเศรษฐากล่าวว่า “เลอะเทอะ ถามกี่ครั้งก็จะตอบว่าเลอะเทอะ”

     ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคเพื่อไทยว่า ประเด็นตำแหน่งประธานสภาฯ ระหว่างพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทย ที่ยังไม่มีความชัดเจนอย่างเป็นทางการออกมา ทำให้บรรดา ส.ส.เพื่อไทยได้หารือกันว่าที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยยอมพรรคก้าวไกลทุกอย่าง เรื่องนายกฯ ที่ส่วนใหญ่พรรคอันดับสองจะตั้งรัฐบาลแข่ง พรรคเพื่อไทยก็ไม่คิดแข่ง แต่พยายามทำให้ก้าวไกลได้ตำแหน่งดังกล่าว แต่เรื่องประธานสภาฯ ที่จะเลือกกันแล้ว จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน

ประเคนให้ก้าวไกล

     แต่ถึงอย่างไร ส.ส.เพื่อไทยก็จะยังรอคำตอบจากคณะเจรจาต่อไป ถ้าไม่มีคำตอบที่ดีพอ ส.ส.ส่วนใหญ่อาจเลือกโหวตคนของพรรคเพื่อไทย เพราะเรายอมให้ฝ่ายบริหารกับพรรคก้าวไกลไปแล้ว แต่พรรคก้าวไกลก็เหมือนมีเงื่อนไขใหม่ๆ มาตลอด ก็ไม่เข้าใจว่าเจตนาคืออะไร และการประชุม ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยวันที่ 3 ก.ค. จะหยิบยกเรื่องนี้มาคุยกัน ถ้าให้เลือกคนของเพื่อไทยเป็นประธานสภาฯ เสียงไปทิศทางเดียวกันแน่นอน

     อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยแจ้งว่า ในการประชุมหัวหน้า 8 พรรคร่วมรัฐบาลในวันที่ 2 ก.ค.ที่พรรคก้าวไกลนั้น จะไม่มีวาระการพูดคุยกันเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ ระหว่างพรรค ก.ก.และพรรค พท.อย่างแน่นอน แม้ว่าจะมีความพยายามของแกนนำพรรค ก.ก.ที่ประสานกับแกนนำพรรคพท.อย่างต่อเนื่อง เพื่อขอหารือในเรื่องนี้ก่อนถึงวันโหวตเลือกประธานสภาฯ ในวันที่ 4 ก.ค. แต่พรรค พท.คงไม่หารือร่วมกับทางพรรค ก.ก.อีกแล้ว เพราะที่ผ่านมาเวลาที่พรรค ก.ก.นัดพรรค พท.หารือ สุดท้ายก็จะเป็นฝ่ายยกเลิกนัด และอยากจะเจรจาเฉพาะเวลาที่พรรคก.ก.ต้องการเท่านั้น

     ดังนั้นพรรค พท.จะประชุมและตัดสินใจเป็นการภายในกันเอง โดยคณะเจรจาของพรรค พท.จะได้รวบรวมผลการหารือที่ยังคุยค้างไว้กับพรรค ก.ก. รวมทั้งความคิดเห็นของสมาชิกพรรคและพี่น้องประชาชนต่อเรื่องดังกล่าวมารายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค พท. ในเวลา 09.00 น. วันที่ 3 ก.ค. เพื่อให้กรรมการบริหารพรรค พท.พิจารณาและตัดสินใจบนพื้นฐานความคิดเห็นของพรรคเอง  ไม่ขึ้นกับความคิดเห็นของพรรค ก.ก.

     รายงานข่าวแจ้งอีกว่า โดยแนวโน้มของกรรมการบริหารพรรคน่าจะยังคงยึดหลักการเดิม คือให้ตำแหน่งประธานสภาฯ กับพรรค ก.ก. ส่วนพรรค พท.ได้รองประธานสภาฯ สองตำแหน่ง ซึ่งกรรมการบริหารพรรคจะได้นำมติที่ประชุมเสนอต่อที่ประชุม ส.ส.ของพรรคพท. เพื่อพิจารณาในเวลา 10.00 น. ซึ่งพรรค พท.คงเปิดให้ ส.ส.แสดงความคิดเห็นรอบสุดท้าย แต่เชื่อว่า ส.ส.จะเคารพในมติของกรรมการบริหารพรรค และจะไม่มีการฟรีโหวตในเรื่องนี้

พปชร.ไม่เสนอชื่อชิง

     ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงแนวทางพรรคพลังประชารัฐในการโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค ส.ส.บัญชีรายชื่อและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ ให้ ส.ส.พรรคดูหน้างานในวันโหวตเลือกประธานสภาฯ ในวันที่ 4 ก.ค. และยืนยันว่าพรรคพลังประชารัฐไม่มีการเสนอชื่อใครชิงประธานสภาฯ มีแต่ข่าวลือ แต่เราจะดูว่าพรรคอื่นที่มีการเสนอชื่อประธานสภาฯ มีบุคคลใดที่เหมาะสม แล้วฟังสัญญาณจากหัวหน้าพรรค โดยส.ส.ทั้ง 40 คนโหวตไปในทิศทางเดียวกันตามนโยบายที่หัวหน้าพรรคได้ให้ไว้  โดยเป็นฉันทามติ โดยการปฐมนิเทศส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ในวันที่ 2 ก.ค.จะมีการพูดคุยเรื่องการโหวตประธานสภาฯ ด้วย

     เมื่อถามว่า กับพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันได้มีการพูดคุยการโหวตเลือกประธานสภาฯ หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส ปฏิเสธว่าไม่ได้มีการพูดคุยกัน

     ถามว่า เบื้องต้นจะบอกเลยไหมจะไม่โหวตให้ชื่อประธานสภาฯ ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ร.อ.ธรรมนัสบอกว่า ขอดูสถานการณ์วันที่ 4 ก.ค.ก่อน

     ซักว่า ขณะที่มีกระแสข่าว พล.อ.ประวิตรมีโอกาสที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยถึงจุดนั้น คุยเพียงว่าวันที่ 4 ก.ค.เลือกประธานสภาฯ จะอย่างไร แต่ทั้งนี้การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีก็จะเป็นนโยบายของพรรคเลยว่าจะเลือกใคร

     ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ว่า ไทม์ไลน์ทางการเมืองในการเปิดประชุมสภาเพื่อเลือกประธานสภาฯ ก่อนจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงกลางเดือนนี้ ถือว่าเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย ส่วนตัวและพรรครวมไทยสร้างชาติมีความชัดเจนแล้วว่า การเลือกตัวประธานสภา รวมถึงนายกรัฐมนตรีนั้น เราจะไม่สนับสนุน ไม่เลือกบุคคลที่มีวาระมุ่งแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างแน่นอน เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวถือเป็นความมั่นคงของรัฐ เป็นกฎหมายสำคัญเพื่อปกป้องประมุขของประเทศ จึงจะไม่โหวตให้ทั้งบุคคลและพรรคการเมืองใดที่มีวาระการแก้ไขกฎหมายนี้

ไม่ยกมือให้พรรคแก้ ม.112

     ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคที่ได้อันดับ 1 คือพรรคก้าวไกล ต้องการได้เก้าอี้ประธานสภาฯ มีความมุ่งหมายเพื่อเสนอวาระแก้ไขมาตรา 112 ชัดเจนนั้น   นายธนกรระบุว่า พรรคก้าวไกลมีความชัดเจนตั้งแต่แรก เมื่อตอนหาเสียงกับประชาชนไว้อยู่แล้วว่าจะเข้าสภาเพื่อแก้กฎหมายดังกล่าว และทุกการปราศรัย รวมถึงทุกเวทีดีเบตของทั้งหัวหน้าพรรคและผู้บริหารพรรค ก็ชูธงในเรื่องนี้ ทุกคนต่างทราบดี จึงคิดว่าเป็นเหตุผลสำคัญที่พรรคก้าวไกลและผู้สนับสนุน ไม่ยอมถอยหรือยกเก้าอี้ประธานสภาฯ  ให้กับเพื่อไทย

     เมื่อถามว่า ประธานสภาฯ ก็ไม่ได้มีอำนาจมากมาย แต่เหตุใดพรรคก้าวไกลจึงไม่ยอมถอย นายธนกรตอบว่า การที่พรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยยังคุยกันไม่ลงตัวเรื่องประธานสภาฯ นั้น ส่วนตัวมองว่าพรรคก้าวไกลมีเป้าหมายชัดเจนเรื่องการแก้กฎหมายนี้ รวมไปถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบสภา ตามที่แคนดิเดตประธานสภาฯ คือนายปดิพัทธ์  สันติภาดา ได้ออกมาแสดงวิสัยทัศน์ไว้แล้วว่าต้องการเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบสภา เพราะถ้าหากประธานสภาฯ เป็นของพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกลอาจจะไม่แน่ใจว่าจะมีเสนอวาระแก้ไขกฎหมายนี้หรือไม่

     “ในสมัยประชุมสภาครั้งที่แล้ว ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น มองว่าเป็นกฎหมายสำคัญ มีไว้เพื่อคุ้มครองประมุขของประเทศ หากมีการเสนอแก้ไข ลดทอนให้กฎหมายเบาลง อาจเป็นความสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงของรัฐ จึงขอเรียกร้องไปยังพรรคก้าวไกลว่า อย่าอ้างเสียงประชาชนที่เลือกมา 14 ล้าน เพราะไม่ใช่ว่า 14 ล้านคนที่เลือกพรรคก้าวไกลมาจะเห็นด้วยกับการแก้กฎหมายทั้งหมด ขออย่าใช้สภาเปลี่ยนแปลงอะไรตามอำเภอใจของคนแค่บางกลุ่ม เพราะคนไทยที่เหลืออีกกว่า 40-50 ล้าน คนที่รักสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งประเทศ รวมถึงตัวผมด้วยนั้น จุดยืนชัดเจน ไม่ยอมให้แก้กฎหมายนี้อย่างแน่นอน” นายธนกรย้ำ

     ส่วนนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การกำหนดแนวทางการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรของพรรค ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยลงลึกในรายละเอียด เพราะยังไม่มีความชัดเจนเรื่องตัวบุคคลที่จะเสนอชื่อให้ ส.ส.เลือก ซึ่งในการประชุม ส.ส.นัดแรก อาจมีการหารือเบื้องต้นด้วย ซึ่งตนไม่สามารถยืนยันได้ เช่นเดียวกับการจะเข้าร่วมรัฐบาล เพราะต้องใช้มติของที่ประชุมร่วมกันระหว่างกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.พรรค แต่การเลือกประธานสภาฯ จะฟังเสียง ส.ส. 25 คนของพรรคเป็นหลัก คาดว่าน่าจะมีความชัดเจนในเช้าวันที่ 4 ก.ค.

ปชป.ไม่มีดีลลับ

     “พรรคไม่ได้มีการดีลลับในการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองใด แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติที่จะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนสถานการณ์ทางการเมืองกับนักการเมืองต่างพรรค จึงขอให้รอฟังมติที่ประชุมร่วมกันระหว่างกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.ของพรรคก่อน” นายราเมศกล่าว

     นายราเมศกล่าวต่อว่า ส่วนการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2566 ของพรรคเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่และหัวหน้าพรรคคนใหม่ในวันที่ 9 ก.ค.นี้ ก็มีความพร้อมแล้วในทุกด้าน  ขณะนี้มีนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค ที่ประกาศเสนอตัวลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ส่วนคนอื่นยังไม่มีการประกาศตัวอย่างเป็นทางการ รวมถึงกรณีที่มีชื่อนายเดชอิศม์ ขาวทอง หรือนายกชาย รองหัวหน้าพรรค ตนจึงไม่ทราบว่าสุดท้ายจะมีใครเสนอตัวบ้าง  ส่วนกระแสข่าวว่าจะมีการแข่งขันระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรค กับนายเดชอิศม์นั้น ตนยืนยันว่ายังไม่ทราบถึงตัวบุคคลว่าสุดท้ายใครจะลงแข่งขัน

     เมื่อถามว่า หาก น.ส.วทันยา บุนนาค หรือมาดามเดียร์ จะลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ต้องขอมติยกเว้นข้อบังคับพรรคหรือไม่ นายราเมศกล่าวว่า ข้อบังคับพรรคเขียนไว้ค่อนข้างชัด ว่าต้องเคยเป็น ส.ส.หรือสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 5 ปี และใช้เสียงรับรองขององค์ประชุม 3 ใน 4 รับรอง ซึ่งตนยังไม่ทราบว่ามาดามเดียร์จะลงสมัครด้วยหรือไม่

     ถามว่า การเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่จะมีผลต่อการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคใช่หรือไม่ นายราเมศกล่าวว่า การจะเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ ต้องเป็นไปตามมติของกรรมการบริหารพรรคและส.ส.พรรค ซึ่งในการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ มีกระบวนการขั้นตอนตามระเบียบข้อบังคับพรรค โดยเฉพาะข้อที่ 31 (6) ที่ระบุว่า หากเป็นสมาชิกพรรคไม่ครบ 5 ปี จะต้องใช้มติรับรอง 3 ใน 4 ขององค์ประชุม หรือคิดเป็น 282 จากองค์ประชุม 374 คน ส่วนการเลือกหัวหน้าพรรค ถ้าคุณสมบัติเป็นสมาชิกไม่ครบ 5 ปี ก็จะต้องขอมติที่ประชุมรับรองโดยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 187 เสียงจาก 374 เสียง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง