ข่าวดี! กบน.ตรึงราคาก๊าซหุงต้มถัง 15 กก.ให้อยู่ที่ 423 บาทจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม บอกราคาตลาดโลกยังผันผวน แบงก์ชาติปรับปรุงข้อมูลใหม่ ชี้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนเพิ่มเป็น 16 ล้านล้านบาท หรือ 90.6% ต่อจีดีพี
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2566 นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ว่า ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในตลาดโลกยังมีความผันผวน ส่งผลให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG สำหรับถัง 15 กิโลกรัมของไทยยังวิกฤตเกินกว่าระดับราคาที่เหมาะสม โดยมากกว่า 363 บาท เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบให้ภาคประชาชน ที่ประชุม กบน.ล่าสุด จึงมีมติให้รักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีสภาพคล่องดีขึ้นช่วยสนับสนุน ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ทำให้ราคาขายปลีก LPG สำหรับถัง 15 กิโลกรัม ยังเป็นไปตามกรอบเป้าหมายราคาขายปลีกที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) กำหนด โดยยังคงราคาขายปลีกต่อถัง 15 กก.ต่อไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-31 ส.ค.2566
“กบน.จะบริหารจัดการด้านเสถียรภาพราคาให้อยู่ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ไปจนถึงวันที่ 31 ส.ค.2566 ทั้งนี้ แม้ราคา LPG Cargo จะปรับลดลง แต่สถานการณ์ราคา LPG Cargo ในตลาดโลกยังคงสูง และมีความผันผวน แต่ไม่มากนัก ในช่วงวันที่ 12-23 มิ.ย.2566 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 416.05 ดอลลาร์ต่อตัน ลดลง 21.17 ดอลลาร์ในช่วงวันที่ 29 พ.ค.-9 มิ.ย.2566” นายวิศักดิ์กล่าว และว่า ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบัน ภาพรวมมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น โดยประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ณ วันที่ 25 มิ.ย.2566 ติดลบอยู่ที่ 57,884 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชี LPG ติดลบ 45,975 ล้านบาท และบัญชีน้ำมันติดลบ 11,909 ล้านบาท
ขณะที่ นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวถึงสถานการณ์พลังงานในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 ว่ามีการใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้น 3.8% จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายเพิ่มขึ้น 0.4% โดยเพิ่มขึ้นมาจากการใช้น้ำมันสำเร็จรูป 3.8% จากการเดินทางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้น้ำมันเครื่องบินที่เพิ่มถึง 89.1% และน้ำมันเบนซิน 6.2% ในขณะที่พลังงานอื่นๆ มีการใช้ลดลง โดยการใช้ลิกไนต์/ถ่านหินในภาคอุตสาหกรรมลดลง 8.9%
นายวัฒนพงษ์กล่าวอีกว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา พบว่าราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบอยู่ในระดับ 77.45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล, ราคาน้ำมันเบนซิน อยู่ในระดับ 93.64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซล อยู่ในระดับ 94.17 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ คาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันช่วงครึ่งปีหลัง 2566 ว่า ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบจะอยู่ระหว่าง 81-87 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล, ราคาน้ำมันเบนซินจะอยู่ระหว่าง 96-105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลจะอยู่ระหว่าง 91-98 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
“สนพ.อยู่ระหว่างศึกษาโครงการทบทวนโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อรองรับน้ำมันที่มีคุณภาพตามมาตรฐานยูโร 5 ซึ่งคาดว่าการทบทวนโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงฯ จะทำให้เกิดโครงสร้างราคาที่เหมาะสมตามต้นทุนและสถานการณ์ที่เป็นจริงของตลาด เกิดราคาที่เป็นธรรมแก่ผู้ใช้น้ำมัน เกิดการขับเคลื่อนภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทย และภาครัฐสามารถกำกับดูแลระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังติดตามและบริหารนโยบายพลังงานในช่วงวิกฤตราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด เพื่อหาแนวทางและมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤตพลังงานในอนาคตต่อไป”
วันเดียวกัน นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้ปรับปรุงความครอบคลุมของสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนให้ครบถ้วนมากขึ้น โดยประเมินจากข้อมูลใหม่ คือความน่าเชื่อถือของการเก็บข้อมูลและประมวลผล ความมีคุณภาพ อธิบายการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจได้ ความถี่ของการจัดเก็บข้อมูล การเปิดเผยข้อมูล และไม่ล่าช้าเกินไป โดยพบว่าหนี้ครัวเรือนไตรมาส 1/2566 ปรับเพิ่มขึ้น 4.5% ต่อจีดีพี โดยหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 7.66 แสนล้านบาท ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อจีดีพี จากเดิม 15.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 86.3% ต่อจีดีพี
นายสักกะภพระบุว่า หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเป็นการขยายความครอบคลุมผู้ให้กู้เพิ่ม 4 กลุ่ม ซึ่งเป็นหนี้เดิมที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่การก่อหนี้ใหม่ เป็นการปรับข้อมูลย้อนหลังถึงไตรมาส 1/2555 ประกอบด้วยหนี้ของกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 4.83 แสนล้านบาท หนี้สหกรณ์อื่นๆ ที่ไม่รวมสหกรณ์ออมทรัพย์ 2.65 แสนล้านบาท หนี้พิโกไฟแนนซ์ 6 พันล้านบาท และหนี้การเคหะแห่งชาติ 1.1 หมื่นล้านบาท
“หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมาจากการปรับปรุงข้อมูลส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นหนี้ที่มีประสงค์เพื่อการศึกษา โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 1 เป็น 4% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด และถ้าถามว่า ธปท.กังวลกับหนี้ครัวเรือนหรือไม่ เรื่องนี้ก็มีการสื่อสารมานานว่ากังวล แต่ไม่ได้กังวลเพิ่ม การปรับข้อมูลใหม่เป็นหนี้ที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่หนี้เพิ่งเกิดใหม่ ก็เป็นการติดตามตัวเลขในภาพรวม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นข้อมูลในการประเมินภาพรวมแนวทางการแก้ไข และไม่ได้เห็นตัวเลขหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด” นายสักกะภพระบุ
นายสักกะภพยังกล่าวถึงเศรษฐกิจและการเงินในเดือน พ.ค.2566 พบว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางการฟื้นตัว โดยการใช้จ่ายภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นทั้งการบริโภคและการลงทุน ขณะที่รายจ่ายภาครัฐขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน ส่วนมูลค่าการส่งออกปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับภาคผลิตอุตสาหกรรม ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวยังฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากราคาพลังงาน ตามค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานโดยรวมฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลเล็กน้อย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตั้งกก.สอบผกก.บางซื่อ ทนายปาเกียวเล็งทิ้งตั้ม
“ดีเอสไอ” เตรียมสรุปสำนวนคดี 18 บอสดิไอคอนเสนออัยการคดีพิเศษภายใน 20 ธ.ค.นี้
นิกรหักเพื่อไทย เตือนส่อผิดกม. ให้กมธ.ตีความ
“นิกร” หักข้อเสนอ “ชูศักดิ์” เลยช่วงเวลาแปลงร่างประชามติเป็นกฎหมายการเงินแล้ว
‘สนธิ’ลั่นการเมืองใกล้สุกงอม!
“อุ๊งอิ๊ง” เมินปม กกต.สอบครอบงำต่อ เด็ก พท.ยันเป็นการดำเนินการตามปกติ
จ่อส่งคดีหมอบุญให้DSI
ตร.สอบปากคำอดีตภรรยา-ลูกสาว “หมอบุญ” เพิ่มเติม
ทักษิณรอดคลุมปี๊บ! ส้มเหลวปักธงอุดรธานี ‘คนคอน’ตบหน้า‘ปชป.’
เลือกตั้ง อบจ. 3 จังหวัด “เพชรบุรี-อุดรธานี-นครศรีธรรมราช” ราบรื่น
‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ
“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป