ปธ.สภาแลกนายกฯ พท.ปิดดีลก้าวไกล‘ชลน่าน’พ้อคลุมถุงชน/นัดโหวต4ก.ค.

"พรพิศ" ส่งหนังสือเชิญ  ส.ส.ร่วมประชุมสภาโหวตเลือก "ประธานสภาฯ" 4 ก.ค. "ศิริกัญญา-อุ๊งอิ๊ง" พร้อมใจโชว์ภาพทีม ศก. 2 พรรคร่วมโต๊ะถกจัดสรรงบฯ ปี 67 นัดแรก สะพัด! "เพื่อไทย"  ยอมถอย ยกเก้าอี้ประมุขนิติบัญญัติให้ "ก้าวไกล" ตั้งเงื่อนไขถ้า "พิธา" สะดุด ส.ว.พลาดนายกฯ "พท." เสียบตั้งรัฐบาลแทน  "ชลน่าน" ปัดยื้อแย่งเก้าอี้หักหลัง ปชช.  บอก "พท.-ก.ก." ถูกมัดติดกันด้วย 25   ล้านเสียง เปรียบถูกคลุมถุงชนแม้อยากออกก็ออกไม่ได้ "บิ๊กตู่" ห่วงตั้ง รบ.ใหม่ล่าช้าส่งผลเสียประเทศ ลั่นไม่มีเสนอชื่อแข่งชิงนายกฯ

ที่รัฐสภา วันที่ 29 มิ.ย. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเปิดให้ ส.ส.มารายงานตัวเป็นวันที่ 10 โดยในเวลา 11.45 น. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์   และ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เข้ารายงานตัว โดยทั้ง 2 คนแอบเข้ามารายงานตัว ทั้งที่เดิมได้แจ้งต่อสำนักงานว่าจะเข้ารายงานตัวในเวลา 11.00 น. แต่เมื่อถึงเวลากลับยกเลิกเข้ารายงานตัว  และไม่แจ้งนัดหมายใหม่ ดังนั้นจึงเหลือเพียงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรค รทสช. ที่ยังไม่เข้ารายงานตัว และไม่ได้แจ้งนัดหมายกับสำนักงานว่าจะเดินทางเข้ารายงานตัวเมื่อใด

ทั้งนี้ นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงนามในหนังสือแจ้งสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ขอเชิญเข้าร่วมพิธีเปิดประชุมรัฐสภา วันที่ 3 ก.ค. เวลา 17.00 น. ณ ห้องโถงพิธีชั้น 11 อาคารรัฐสภา ซึ่งตามหมายกำหนดการ   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดประชุมรัฐสภา และจะมีนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะทูต ทูตานุทูตประเทศต่างๆ ประธานศาลฎีกา และประธานองค์กรอิสระ เข้าร่วม กว่า 1,000 คน โดยได้แนบคำแนะนำสำหรับสมาชิกรัฐสภาในพิธีเปิดประชุม  ทั้งขั้นตอนต่างๆ และเครื่องแบบการแต่งกายด้วย

นอกจากนี้ เลขาธิการสภาฯ ยังได้ออกหนังสือเชิญ ส.ส.เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 วันที่ 4 ก.ค.66 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีระเบียบวาระการประชุม เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร 

ด้านความคืบหน้าปัญหาตำแหน่งประธานสภาฯ ที่ยังไม่ได้ข้อยุติระหว่างพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และพรรคเพื่อไทย (พท.) นั้น ที่พรรคก้าวไกล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้จะมีรถยนต์ส่วนตัวของ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ขับเข้ามาจอดอยู่บริเวณลานจอดรถ แต่ทางแกนนำพรรคส่วนใหญ่หลบเข้าไปทางด้านหลังของตึก จึงเป็นที่น่าจับตาว่าในวันนี้พรรคก้าวไกลจะมีการประชุมลับ เพื่อหาข้อสรุปสำหรับตำแหน่งเก้าอี้ประธานสภาฯ กับพรรคเพื่อไทยหรือไม่  เนื่องจากการหารือดังกล่าวถูกยกเลิกไปก่อนหน้า

ส่วนนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า ได้เดินทางเข้ามายังที่ทำการพรรคด้วย ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค เดินทางมาในเวลาประมาณ 10.00 น. แต่ไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน พร้อมกับปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่าวันนี้มีการประชุมอะไรหรือไม่ เพียงตอบสั้นๆ ว่า มาทำงานเท่านั้น ก่อนจะเดินเข้าไปด้านในอาคาร

มีรายงานว่า ในวันที่ 30 มิ.ย. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เตรียมลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นพื้นที่ของนายปดิพัทธ์ สันติภาดา กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคเหนือและแคนดิเดตประธานสภาฯ ซึ่งพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง 2 เขต จาก 4 เขต จากนั้นวันเสาร์ที่ 1 ก.ค. นายพิธาจะขึ้นรถแห่ขอบคุณประชาชนด้วยกันที่จังหวัดขอนแก่น

พท.ถอย 'ก.ก.' นั่ง ปธ.สภา

พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการต่อรองเก้าอี้ ครม. สูตรพรรคก้าว 15+1 กับพรรคเพื่อ 13+1 เพื่อแลกกับเก้าอี้ประธานสภาฯ ว่า  เป็นสูตรที่พูดกัน เท่าที่ตนทราบ ส่วนตัวเรามุ่งมั่นเรื่องการดำเนินนโยบายให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนเป็นส่วนใหญ่ เรื่องตำแหน่งแห่งหนเราพร้อมที่จะผลักดันประเด็นที่เราต้องการสู่ประชาชนให้มากที่สุด ถึงแม้เราอาจจะได้โควตาน้อยกว่าก้าวไกล ก็พร้อมที่จะเดินทางไปด้วยกัน

ถามว่า ยืนยันว่าต้องได้ตำแหน่งประธานสภาฯ ก่อนใช่หรือไม่ พล.ต.ต.สุพิศาลกล่าวว่า ใช่ ตำแหน่งประธานสภาฯ เราเปิดตัว และเราพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงสภาให้ดูดี และเปิดเผยตามที่นายปดิพัทธ์ได้พูดไว้ เราเตรียมงานนี้มานานแล้ว ไม่ใช่เราเพิ่งมาเตรียม ส่วนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะเสนอนายพิธาอยู่แล้ว เพราะเราต้องฝ่าระบบของกฎหมายพ่วงของรัฐธรรมนูญที่ให้ ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกฯ เราต้องฝ่าฟันให้ได้ เชื่อว่าการประสานงานและทีมงานต่างๆ ช่วยกันทำงาน ทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ที่จะโหวต เราไม่ได้ต้องการเสียง ส.ว.ทั้งหมด แต่เราต้องการความแตกต่างจากการเลือกตั้งนายกฯ ครั้งที่แล้ว

ถามว่า มีกระแสข่าวว่าถ้าก้าวไกลได้ตำแหน่งประธานสภาฯ หากโหวตเลือกนายพิธาไม่ได้ ก็จะโหวตต่อไปจน ส.ว.หมดวาระในเดือน พ.ค.ปี 2567 เรื่องนี้เป็นไปได้หรือไม่ พล.ต.ต.สุพิศาลกล่าวว่า ก็เป็นไปตามข้อบังคับ อยู่ที่ข้อบังคับ เพราะว่าการเป็นประธานสภาฯ นั้นคือการจัดวาระและเรียกประชุมบรรดาสมาชิกรัฐสภาในแต่ละวงรอบ และเป็นการควบคุมการทำหน้าที่อย่างเป็นกลางให้กับรัฐสภาทั้ง 2 ฝ่าย เชื่อว่าคนที่เราส่งไปเป็นประธานสภาฯ จะทำหน้าที่เป็นกลางอย่างดีที่สุด เพื่อทำให้เกิดการผลัดเปลี่ยนของการเข้าสู่หลักประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบแน่นอน

กระทั่งเวลา 16.20 น. น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว "Sirikanya Tansakun - ศิริกัญญา ตันสกุล" พร้อมภาพการพูดคุยกับแกนนำพรรคก้าวไกล นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย และคณะ ระบุข้อความ "หารือร่วมกันกับเพื่อไทย เพื่อวางแผนงานบริหาร ทำงานต่อไม่รอแล้วนะ"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับภาพการนั่งโต๊ะพูดคุยกันครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยมี น.ส.แพทองธาร, นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี, นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช แกนนำพรรคเพื่อไทย, นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์ ผู้อำนวยการโครงการคิดเพื่อไทย ส่วนพรรคก้าวไกล มี น.ส.ศิริกัญญา, นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค และทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล เป็นต้น

ต่อมา น.ส.แพทองธารได้โพสต์สตอรีอินสตาแกรมส่วนตัว เป็นคลิปการประชุมร่วมกันระหว่างพรรค พท.และพรรค ก.ก. ซึ่งเป็นภาพเดียวกับที่ น.ส.ศิริกัญญาโพสต์เอาไว้เช่นเดียวกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงบ่ายวันที่ 29 มิ.ย. มีการนัดหมายที่โรงแรมโรสวูด  กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโรงแรมของ น.ส.แพทองธาร และเป็นการหารือร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่ายครั้งแรก เพื่อพิจารณาถึงการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ  67

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) มีรายงานถึงปัญหาความขัดแย้งเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ ระหว่างพรรค พท.กับพรรค ก.ก.ว่า ได้ข้อยุติแล้ว โดยพรรค ก.ก.จะได้ตำแหน่งประธานสภาฯ ส่วนพรรค พท.ได้ตำแหน่งรองประธานสภาฯ สองที่นั่ง บนเงื่อนไขที่ว่า ทั้ง 8 พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมจะชูนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถ้านายพิธาไม่สามารถฝ่าด่าน ส.ว.ได้ พรรค  พท.จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยพรรค ก.ก.จะอยู่ช่วยพรรค พท.ในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่แยกตัวออกไปไหน

"แนวทางนี้เมื่อ ส.ส.รับทราบ ก็มีบางส่วนยอมรับว่าขัดความรู้สึกบ้าง แต่เมื่อได้รับฟังการชี้แจงถึงเป้าหมายในการจัดตั้งรัฐบาลที่พรรค ก.ก.จะยืนข้างพรรค พท. ไม่แยกตัวไปไหนกรณีที่ พท.เป็นแกนนำ ทำให้ ส.ส.รับฟังเหตุผลดังกล่าว" แหล่งข่าวจากพรรค พท.ระบุ

นอกจากนี้ มีรายงานว่าในประเด็นประธานสภาฯ ทางพรรค ก.ก.และพรรค พท.ยังได้มีความเห็นร่วมกันว่าจะไม่ให้สมาชิกของทั้งสองพรรคออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวอีก เพราะเกรงจะกระทบต่อการหารือแกนนำ 8 พรรคร่วมในวันที่ 2 ก.ค.นี้

'ชลน่าน' บอกถูกมัดด้วย ปชช.

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงตำแหน่งประธานสภาฯ ว่า สิ่งที่เรามีความชัดเจน คือการหารือร่วมกันภายใน พบปะพูดคุยกับคณะเจรจา และมั่นใจว่าจะคุยกันจนได้ข้อสรุปที่ดี ทั้งนี้ เราเข้าใจตัวเองดีว่าเราเป็นพรรคอันดับสอง เราเคารพพรรคอันดับหนึ่งตลอดเวลา ข้อเสนอที่เราเสนอไปคือให้พรรคอันดับหนึ่งพิจารณา เราเคารพสิทธิตลอดเวลา เราร้องขอไปว่าท่านจะพิจารณาให้หรือไม่ ไม่ใช่การยื้อแย่งตำแหน่ง ไม่ใช่การบีบบังคับกัน ในวงเจรจาเรารู้ถึงสิทธิของตัวเองดี แต่ตอนนี้เราขอประธานสภาฯ เพื่อดุลยภาพในการทำงาน ไม่ใช่การยื้อแย่ง และไม่ได้หักหลังประชาชน จะให้หรือไม่ เราขอตำแหน่งเป็นทางการตามหลักการเท่านั้นเอง

"การเจรจาที่เอาหลักพื้นฐานเดียวกันคือเอาพี่น้องประชาชนจากทั้ง 25 ล้านเสียงที่เลือกทั้งสองพรรค เป็นหลักการเจรจาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลจากฝ่ายประชาธิปไตย หากยึดสิ่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นจะมีข้อสรุปที่ดีแน่นอน สิทธิของพรรคอันดับหนึ่ง หากขอแล้วไม่ให้ เราก็ต้องมาพิจารณาต่อว่าจะเอาอย่างไร ยืนยันว่าหลักการคือการเป็นรัฐบาลของฝั่งประชาธิปไตย" หัวหน้าพรรค พท.ระบุ

ถามว่า จะพิจารณาทบทวนออกจากพรรคร่วมหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราถูกมัดด้วยอาณัติของประชาชน แม้เราอยากออกไป แต่เราออกไปไม่ได้ เน้นนะครับ เราออกไปไม่ได้ แม้เป็นสิทธิของเราในการออกไปด้วย แต่ถูกพี่น้องประชาชน 25 ล้านเสียงมัดเรากับก้าวไกลให้ติดกัน เปรียบเสมือนพ่อแม่จับเราที่เป็นลูกคลุมถุงชนให้มาแต่งงานกัน เราไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธ ฉะนั้นเสียงของประชาชน 25 ล้านคนสำคัญที่สุด เราคำนึงถึงจุดนี้เป็นหลักในการเจรจาพูดคุย และการนำเสนอทุกเรื่อง

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค พท. กล่าวถึงสูตรที่มีการเสนอขึ้นมาใหม่ คือ 15+1 และ 13+1 ว่า ยังไม่เคยได้ยินสูตรนี้เลย ขอยืนยันในสูตร 14+1 เป็นจุดเริ่มต้นในการพูดคุยกัน เราเสนอไปแบบนั้น และยังไม่เคยได้รับคำตอบที่เป็นทางการชัดเจนกลับมา จึงต้องหารือกันก่อน

นายวสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง กล่าวถึงการประชุม 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาลวันที่ 2 ก.ค.ว่า วาระสำคัญจะหนักไปที่เรื่องประธานสภาฯ ซึ่งส่วนตัวไม่อยากให้ตำแหน่งประธานสภาฯ ตำแหน่งเดียวเป็นตัวฉุดรั้งในการที่จะจัดตั้งรัฐบาล และมองว่าควรถอยคนละก้าวเพื่อประชาชน ส่วนตัวมองว่าน่าจะพูดคุยกันได้ ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลอะไร และให้กำลังใจทั้ง 2 พี่ใหญ่ ซึ่งตนมองว่าพี่น้องให้ความคาดหวังกับเรามาแล้ว และเราจะไม่ไปทำลายความหวังของพี่น้อง เพราะไม่อยากให้พี่น้องประชาชนผิดหวัง

ถามว่า กำหนดการในการประชุมพรรคร่วมถูกเลื่อนออกไป จะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปหรือไม่ นายวสวรรธน์กล่าวว่า มองว่าทุกพรรคมีทีมงานที่จะต้องไปสื่อสารกัน อาจจะต้องใช้เวลา ซึ่งมีหลายส่วน ทั้งกรรมการบริหารพรรค หรือบุคลากรในพรรค ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ อาจจะต้องมีการพูดคุยกันหลายฝ่าย

"การเลื่อนกำหนดการออกไป มองว่าไม่เป็นไร เพราะยังมีเวลาอยู่ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดอยากให้ความเชื่อมั่นกับพี่น้อง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องว่าเราจะมีรัฐบาลได้เร็ววัน โดยที่ตำแหน่งประธานสภาฯ จะไม่เป็นตัวปัญหา" หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลังกล่าว 

บิ๊กตู่ไม่แข่งชิงนายกฯ

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงความคาดหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมาเร็วหรือไม่ว่า คาดหวังไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของกระบวนการทางการเมือง อย่างวันนี้ที่เดินมาได้แล้วตนก็ทำหน้าที่ของตนจนกระทั่งถึงวันที่ 3 ก.ค. ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสมัยประชุมรัฐสภา จากนั้นเป็นการหารือร่วมกันในการคัดเลือกประธานสภาฯ ภายในกี่วันตามที่มีกฎหมายและมีกรอบอยู่แล้ว

"ผมก็ยินดีกับทุกคนทุกพรรคนั่นแหละ  ก็ขอช่วยกันทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยและปลอดภัยแล้วกัน ขอให้ยึดมั่นในหลักการของเราคือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เพราะเราคือประเทศไทย ซึ่งมีหลายอย่างที่แตกต่างจากต่างประเทศเขาอยู่เหมือนกัน ฉะนั้นต้องทบทวนกันเอาเองแล้วกัน ผมไม่อยากให้เกิดปัญหา และไม่อยากให้ล่าช้าจนนานเกินไป เพราะมันก็มีผลเสีย เรากำลังมีโอกาสก็จะทำให้เกิดวิกฤต ซึ่งก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งสิ้น ดังนั้นขอให้ปรึกษาหารือกันให้ดี และให้ได้รัฐบาลที่ดีมา" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ถามว่า หลังพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภาวันที่ 3 ก.ค. นายกฯ จะไม่เข้าทำเนียบฯ แล้วหรือ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า พูดไปหลายครั้งแล้วว่าตนรักษาการ จะต้องทำงานไปถึงเมื่อไหร่ ถึงวันที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณฯ โน้น  เดือนหน้าโน้นแหละ เขามีกำหนดอยู่แล้ว ถ้าอะไรๆ มันเลื่อนไปเรื่อยๆ ตนก็ยังคงรักษาการอยู่ เข้าใจหรือไม่

"ในระหว่างนี้ถ้ามันเรียบร้อยผมก็ไปตามโน้น มันมีกำหนดอยู่แล้วว่าจะไปเมื่อไหร่ จะคิดเอาเองได้อย่างไร แล้วใครจะรักษาการ ใครจะรับผิดชอบ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เมื่อถามต่อว่า นายกฯ มองว่าในส่วนของพรรครัฐบาลเดิม หรือในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จะเสนอชื่อประธานสภาฯ ได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “ไม่มองๆๆ ก็แล้วแต่พรรคเขา”

ซักว่า ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลได้มีการพูดคุยถึงทิศทางการโหวตประธานสภาฯ หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “ก็เห็นยังไม่ได้คุยกันมั้ง ไม่รู้ ยังไม่ได้รับรายงาน ผมก็บอกแล้วว่าให้เป็นเรื่องของการเมือง ก็ว่ากันไปนะจ๊ะ โอเค”

ถามด้วยว่า หากมีการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ และ ส.ว.ก็สนับสนุนด้วย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “ไม่มี ไม่มีหรอกมั้ง มีที่ไหนเล่า”

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรอบเวลาการเลือกประธานสภาฯ ว่า การเลือกประธานสภาฯ ต้องประชุมให้มีการเลือกให้ได้ภายใน 10 วัน นับแต่วันเสด็จฯ ทรงเปิดรัฐสภา ในวันที่ 3 ก.ค. หรือไม่เกินวันที่ 12 ก.ค. และไม่มีเหตุที่จะเลือกกันไม่ได้ เพราะไม่เหมือนการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ต้องใช้คะแนนเสียงเกิน 376 ของ 2 สภา แต่การเลือกประธานสภาฯ ใช้สภาเดียว และใช้เสียงข้างมากของ ส.ส. ก็สามารถทำได้

ถามว่า การเสนอชื่อประธานสภาฯ สามารถเสนอชื่อแข่งขันมากกว่า 2 คนได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า จะเสนอแข่ง 5 คนก็ได้ และใช้เสียงข้างมากของ ส.ส.ในการตัดสิน ตนจึงขอย้ำว่า โอกาสที่จะเลือกไม่ได้ จึงไม่น่าจะเกิดขึ้น หาก 2 พรรคคะแนนเสียงต่างกัน ใครชนะก็ได้

เมื่อถามว่า หากพรรคอันดับหนึ่งและอันดับสองเสนอชื่อแข่งกัน และหากมีกลุ่มพรรคขั้วที่สามที่มี 188 เสียงเสนอแข่ง มีโอกาสส้มหล่นได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่เห็นเหตุที่จะเกิดขึ้น เพราะตอนนั้นต้องเสนอไปพร้อมกัน พรรคหนึ่งก็เสนอ พรรคสองก็เสนอ และกลุ่มพรรคขั้วที่สามอยากจะเสนอก็เสนอไป 3 คนแล้วก็โหวตแข่งกัน เพราะอาจต้องมีการแสดงวิสัยทัศน์ หรือไม่ต้องก็ได้ขึ้นอยู่กับมติสภา แต่หากมีแล้วฟังไม่หมดก็เลื่อนไปโหวตต่อในวันถัดไปก็ได้

ซักว่า ตามหลักการประธานสภาฯ ในฐานะประธานรัฐสภา เป็นผู้มีอำนาจควบคุมการเลือกนายกฯ หรือเป็นเรื่องของมติที่ประชุมรัฐสภา นายวิษณุกล่าวว่า ประธานสภาฯ มีหน้าที่กำหนดวันโหวต นายกฯ ถึงเวลาจะเลือกกันอย่างไร มีกี่ชื่อก็เป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา หากการโหวตนายกฯ ไม่ถึง 376 เสียง ก็เป็นเรื่องของประธานสภาฯ ที่ต้องดำเนินการ และไม่มีกรอบเวลาจะวันรุ่งขึ้น หรือ 7 วัน หรือ 15 วันก็ได้ โดยให้สมาชิกกลับไปคิด

ถามว่า หากเกิดเหตุการณ์เลือกนายกฯ ไม่ได้ ประธานสภาฯ สามารถเป็นผู้กำหนดพลิกเกมไปเลือกแคนดิเดตคนอื่นได้หรือไม่ หรือเป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภา นายวิษณุพยักหน้าพร้อมระบุว่า ตอนนั้น ส.ส.ปฏิญาณตนเสร็จแล้ว จึงมีฐานะในการประชุมสภาปกติ ใครเสนอมาถ้าอีกฝ่ายไม่เห็นด้วยก็เสนอมาแข่ง  ประธานสภาฯ ก็จะให้โหวตกันว่าจะเลือกแบบไหน

เมื่อถามว่า สุดท้ายแล้วอำนาจของประธานสภาฯ แค่กำหนดวันในการเลือกนายกฯ ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า สำหรับตอนช่วงเลือกนายกฯ แต่เขาไม่ได้แย่งตำแหน่งกันเกี่ยวกับการเรื่องนายกฯ หรอก เขาต้องการเอาตำแหน่งประธานสภาฯ เพื่อทำหน้าที่อื่นๆ ต่อไปด้วย ทั้งเรื่องกฎหมาย กระบวนการต่างๆ การนัดวันประชุม เพราะจบเรื่องการเลือกนายกฯแล้ว ได้นายกฯ แล้วประธานก็ยังไม่อำนาจ แต่ไม่ได้มีอำนาจยิ่งใหญ่ไพศาล  อย่างที่นายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภาพูด ชี้เป็นชี้ตายอะไรไม่ได้ เพราะบางอย่างประธานสภาฯ ตัดสินใจเองได้ บางอย่างก็ต้องอยู่ภายใต้เสียงข้างมาก และอำนาจอีกอย่างของประธานสภาฯ คือเปิดและปิดประชุม

ถามต่อว่า จึงเป็นเหตุที่พรรคก้าวไกลอยากได้ตำแหน่งประธานสภาฯ ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ ตนไม่ทราบว่าเขาอยากได้เพราะอะไร แต่แน่นอนถ้าใครได้ก็ดีทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วหากได้ตัวประธานสภาฯ แล้ว พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่ขณะเดียวกันหากได้นายกฯ คนใหม่ ประธานสภาฯ ต้องเป็นผู้รับสนองฯ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เสด็จฯพระราชพิธีสมมงคล

"ในหลวง" เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี