เอกชนจี้ลดค่าไฟไม่เกิน4.25บาท

ส.อ.ท.จี้ลดค่าไฟงวดปลายปีเหลือหน่วยละ 4.25 บาท เปิด 5 ปัจจัยหนุนค่าไฟถูกลง 10% ข่าวดี! “เอราวัณ”  เพิ่มผลิตก๊าซธรรมชาติ ป้อนผลิตไฟฟ้ามากขึ้น คาดถึง 600 ล้าน ลบ.ฟ./วัน ในเดือน ธ.ค. ยอดใช้น้ำมัน 5 เดือนแรกปี 66 ขยายตัว 3% รับอานิสงส์ท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  เปิดเผยถึงแนวโน้มค่าไฟงวด 3 หรืองวดสุดท้ายของปี 2566 (ก.ย.-ธ.ค.) ว่า ค่าไฟฟ้างวด 3 ของปี ควรลดลงกว่า 10% จากงวด 2 (พ.ค.-ส.ค.) หรือไม่เกิน 4.25 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบัน 4.70 บาทต่อหน่วย ซึ่งได้มีการประเมินสาเหตุที่จะทำให้ค่าไฟงวด 3 ลดลง มาจาก 5 ปัจจัยคือ 1.ปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยสูงขึ้น เนื่องจากหลุมเอราวัณทยอยเพิ่มจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงปลายปี 2.ปริมาณก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) นำเข้าลดลง 3.ราคาแอลเอ็นจีสปอต (ตลาดจร) ลดลงมากกว่า 30% ราคาไม่เกิน 14 เหรียญสหรัฐต่อล้านลูกบาศก์ฟุต จาก 20 เหรียญสหรัฐต่อล้านลูกบาศก์ฟุต 4.ราคาพลังงานโลก มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และ 5.หนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  (กฟผ.) ทั้งงวด 1 ปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) และงวด 2 ปีนี้ ลดลงเร็วกว่าแผน เพราะต้นทุนจริงของแอลเอ็นจีต่ำกว่าที่เรียกเก็บค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที)

ส่วนปัจจัยลบค่าไฟ มีแค่เรื่องค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ซึ่งสิ่งที่เอกชนและประชาชนอยากเห็นในการบริหารค่าไฟฟ้าที่ยึดประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้งด้วยภาระค่าเอฟที เป็นระบบคอสต์พลัส ผลักเป็นภาระผู้บริโภค ดังนั้น ภาครัฐในทุกระดับควรมีแนวทางบริหารจัดการ ดังนี้ 1.ฝั่งนโยบาย ควรให้แนวทางบริหารที่เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ อาทิ การแก้ปัญหาโอเวอร์ซัพพลายโรงไฟฟ้า, ปลดล็อกด้านกฎระเบียบ โดยเฉพาะโซลาร์และการเร่งจัดหาแอลเอ็นจีก่อนหน้าหนาวในยุโรป 2.ฝั่งผู้ควบคุม ควรประสานผู้เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง และเปิดเผยข้อมูล อาทิ สมมุติฐาน ต้นทุนต่างๆ ในการคำนวณเอฟที รวมทั้งพิจารณาการคาดการณ์ต้นทุนที่เร็วกว่ารอตามงวด 4 เดือน และ 3.ฝั่งผู้ปฏิบัติการ ควรมีส่วนร่วมบริหารแบบทีมเดียวกัน เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านพลังงาน ค่าไฟฟ้าของประเทศให้ดีที่สุด รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบตามหลักธรรมาภิบาล

ทางด้านนายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.2566 เป็นต้นไป บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ) ได้ทำการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอัตรา 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟ.)/วัน ภายหลังจากที่ได้เร่งดำเนินงานอย่างทุ่มเทและจริงจัง ตั้งแต่วันที่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อประกอบกิจการปิโตรเลียมภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต (24 เม.ย.2565) จนถึงปัจจุบัน

โดยในช่วงที่ผ่านมา บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้ดำเนินการติดตั้งแท่นหลุมผลิตใหม่ จำนวน 8 แท่น และการจัดหาแท่นขุดเจาะจำนวน 4 ตัว เพื่อใช้สนับสนุนการเจาะหลุมบนแท่นหลุมผลิตใหม่ และแท่นหลุมผลิตเดิม รวมทั้งมีแผนจัดหาแท่นขุดเจาะเพิ่มเติมอีกจำนวน 2 ตัว เพื่อนำมาใช้เร่งการเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติม ซึ่งความคืบหน้า ณ สิ้นเดือน พ.ค.66 ได้มีการเจาะหลุมแล้วเสร็จจำนวน 96 หลุม จากแผนเจาะหลุมตามแผนงานในปี 2566 จำนวนทั้งสิ้น 273 หลุม โดยการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวทำให้บริษัท สามารถรักษาระดับอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติได้ที่อัตรา 210 ล้าน ลบ.ฟ./วัน และสามารถเพิ่มอัตราการผลิตเป็น 400 ล้านลบ.ฟ./วัน ได้ตามแผน

ทั้งนี้ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้กำหนดเป้าหมายในการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของแปลงสำรวจฯ G1/61 ที่อัตรา 600 ล้าน ลบ.ฟ./วัน ตั้งแต่เดือนธ.ค.66 และที่อัตรา 800 ล้าน ลบ.ฟ./วัน ตั้งแต่เดือนเม.ย.2567 เป็นต้นไป โดยจะมีการดำเนินงานสำคัญเพิ่มเติมภายในปีนี้  เพื่อให้สามารถเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติตามเป้าหมาย อาทิ การติดตั้งแท่นหลุมผลิตใหม่ การจัดหาแท่นขุดเจาะเพิ่มเติม และการบริหารจัดการการใช้งานแท่นขุดเจาะเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด  เป็นต้น

 “กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ติดตาม กำกับดูแล พร้อมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานต่างๆ เพื่อให้การก่อสร้างและติดตั้งแท่นหลุมผลิตใหม่ การเจาะหลุมผลิต และงานอื่นๆ เป็นไปอย่างราบรื่นตามกำหนดการและเป้าหมาย เพื่อให้การผลิตปิโตรเลียมจากแปลงสำรวจฯ G1/61 กลับมามีอัตราการผลิตสูงสุดในอ่าวไทยอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นข่าวดีต่อสถานการณ์ด้านพลังงานของประเทศ จะส่งผลให้ช่วยลดการนำเข้า LNG จากต่างประเทศมาผลิตไฟฟ้า ช่วยลดความผันผวนของภาระค่าไฟฟ้า และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เศรษฐกิจ และสังคม ให้แก่ประเทศต่อไป” นายสราวุธระบุ

ขณะที่ น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย ช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ของปี 2566 อยู่ที่ 157.75 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.0% โดยการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้น 5.6% น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น 84.9% และการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (NGV) เพิ่มขึ้น 4.7% ขณะที่น้ำมันกลุ่มดีเซล น้ำมันเตา และก๊าซหุงต้ม (LPG) มีการใช้ลดลง 3.0%, 2.1% และ 3.0% ตามลำดับ

ทั้งนี้ การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน ช่วง 5 เดือน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.91 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.6% การใช้แก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 17.98 ล้านลิตร/วัน และแก๊สโซฮอล์ อี 20 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.90 ล้านลิตร/วัน ขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ อี 85 และเบนซิน ลดลงมาอยู่ที่ 6.89 ล้านลิตร/วัน 0.22 ล้านลิตร/วัน และ 0.48 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ ทั้งนี้ ส่วนต่างราคาแก๊สโซฮอล์ 95 ใกล้เคียงกับแก๊สโซฮอล์ 91 ประกอบกับแก๊สโซฮอล์  อี 20 มีราคาที่ต่ำกว่าแก๊สโซฮอล์ อี 85

ด้านการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลช่วง 5 เดือน เฉลี่ยอยู่ที่ 73.53 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.0% โดยน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 7 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 65.97 ล้านลิตร/วัน ขณะที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาและน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 และน้ำมันดีเซลพื้นฐาน ปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 1.00 ล้านลิตร/วัน 0.16 ล้านลิตร/วัน และ 6.40 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ ด้านขณะที่การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 17.36 ล้านกิโลกรัม (กก.)/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.0% โดยภาคปิโตรเคมีมีการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 7.34 ล้าน กก./วัน, ภาคครัวเรือนลดลงมาอยู่ที่ 5.73 ล้าน กก./วัน และภาคอุตสาหกรรมลดลงมาอยู่ที่ 2.03 ล้าน กก./วัน ขณะที่การใช้ในภาคขนส่งอยู่ที่ 2.26 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้น 10.0%

น.ส.นันธิกากล่าวว่า การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ช่วง 5 เดือน เฉลี่ยอยู่ที่ 13.64 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 84.9% เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลับมาเดินทางทางอากาศยานเพิ่มมากขึ้นภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ขณะที่การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.49 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.7% เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการตามปกติ ประกอบกับมาตรการบรรเทาผลกระทบราคาพลังงานช่วยเหลือประชาชน โดยการคงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.-15 มิ.ย.2566

อย่างไรก็ตาม การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงช่วง 5 เดือน เฉลี่ยอยู่ที่ 1,079,851 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.9% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 97,292 ล้านบาท/เดือน โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 1,003,021 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 7.0% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 91,395 ล้านบาท/เดือน สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) อยู่ที่ 76,830 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 21.1% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 5,897 ล้านบาท/เดือน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง