ส.ส.ใหม่เริ่มเงียบ วันที่สี่เข้ารับหนังสือรับรองเพียง 14 คน ยอดรวม 4 วัน 458 คน ขาดอีก 42 คน "เลขาฯ กกต." แย้มมีเรื่องร้องเรียน ส.ส.เพิ่มจาก 82 คน อุบตอบรายละเอียด "เพื่อไทย" เริ่มพลิ้ว! "ประเสริฐ" อ้างวงสัมมนา ส.ส.ค้านประเคนเก้าอี้ "ปธ.สภาฯ" ให้ก้าวไกล ขอชง กก.บห.ตัดสิน ก่อนถกข้อสรุป 2 พรรค 28 มิ.ย. เมินตอบปม ส.ว.ปูดฝ่ายเลือกตั้งจะแพ้คะแนนโหวต โยน "ก.ก." ไปทำการบ้านตั้ง รบ.เอง "ชวน" แนะคนรุ่นเก่า-รุ่นใหม่ร่วมมือกันให้สภาเดินหน้า "ภท.-รทสช." ปัดเสนอชื่อแข่ง "เสรี" ปูด ส.ว.บางคนเคยหนุน "พิธา" เริ่มถอย
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. บรรยากาศการรับหนังสือรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพื่อนำไปรายงานที่รัฐสภา เป็นวันที่สี่ ไม่ได้คึกคักเหมือน 3 วันแรก เนื่องจากมี ส.ส.มารับหนังสือไปแล้วจำนวนมาก โดยวันนี้มี น.ส.จิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น เขต 4 พรรคภูมิใจไทย, นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ เขต 3 พรรคภูมิใจไทย และนายโชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.สิงห์บุรี เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ ขณะที่บางส่วนมอบหมายให้ตัวแทนมารับ เช่นตัวแทนนายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นต้น
สำหรับยอดรวมวันที่สี่ มี ส.ส.มารับหนังสือรับรองแล้ว 14 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 5 คน และ ส.ส.แบบแบ่งเขต 9 คน หากรวมทั้ง 4 วัน มี ส.ส. รับหนังสือรับรองไปแล้วทั้งสิ้น 458 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทั้งสิ้น 97 คน ยังขาดอีก 3 คน ส่วน ส.ส.แบบแบ่งเขตมีทั้งสิ้น 358 คน ยังขาดอีก 42 คน ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย 38 คน, พรรคเพื่อไทย 1 คน, พรรครวมไทยสร้างชาติ 2 คน และพรรคพลังประชารัฐ 1 คน
มีรายงานว่า ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเปิดให้ ส.ส.เข้ามารับหนังสือรับรอง นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และ ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทย จะเดินทางมารับหนังสือรับรองจาก กกต.ในเวลา 10.00 น. และนายสุรเกียรติ เทียนทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จะเดินทางเข้ารับหนังสือรับรองด้วย
นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า ภาพรวมการรับหนังสือรับรองผลการเลือกตั้งทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งหาก ส.ส.คนไหนที่ไม่ได้มารับรองหนังสืออย่างเป็นทางการภายในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ ก็ยังสามารถมารับรองในภายหลังได้ ที่ชั้น 5 สำนักงาน กกต.
"ในส่วนของการพิจารณาเรื่องร้องเรียนคัดค้านผลการเลือกตั้งนั้น อยู่ที่สำนักงานหรือคณะกรรมการสืบสวนว่าทำการสืบสวนและทำความเห็นมาได้มากน้อยแค่ไหน และทยอยส่งเรื่องเข้ามา โดยหลังประกาศรับรอง ส.ส.นั้น ก็มีคนร้องเรียนมาเพิ่มจาก 82 คน แต่ว่ายังไม่ได้เปิดดูในรายละเอียดเพิ่มเติม" เลขาธิการ กกต.กล่าว
ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรค พท. และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลว่า หากมีการล่าช้าไป ตนคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะทำให้การลงทุนชะลอ นโยบายหลักๆ ที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจก็ถูกพักไป ซึ่งคิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ อยากให้รีบจัดตั้งรัฐบาลตนได้คุยกับพรรคพวกที่คุยในวงเศรษฐกิจ ทราบว่ายอดขายหลายยอดร่วง ตนตกใจมาก เพราะไม่คิดว่าจะตกไปเยอะ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยที่น่าเห็นใจ
"ช่วงบ่ายนี้เราจะมีการพูดคุยกันว่าหากได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลจริงๆ อะไรบ้างที่เราพร้อมที่จะเดินหน้าเลย เช่น การขึ้นค่าแรง คิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเป็นรายได้พื้นฐานของประชาชนทุกคน แต่จะขึ้นเท่าไหร่อย่างไร เชื่อว่าคณะทำงานทั้ง 2 พรรคก็คงเป็นคนกำหนด โดยพรรคเพื่อไทยเราต้องเตรียมการเรื่องนี้ให้ดี แต่คณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลนั้นตนไม่ทราบรายละเอียด ทั้งนี้เป็นห่วงพี่น้องประชาชนเรื่องปากท้องเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องการเมืองเป็นเรื่องรอง แต่ทุกวันนี้มีแต่เรื่องการเมืองทั้งนั้น จึงขอเรียกกร้องให้มีการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว" นายเศรษฐากล่าว
ถกเก้าอี้ 'ปธ.สภาฯ' 28 มิ.ย.
ถามว่า มีความเห็นอย่างไรกรณีที่ ส.ว. บางคนออกมาระบุขณะนี้มีคนพยายามที่จะทำให้ฝ่ายที่แพ้กลับมาชนะ นายเศรษฐานิ่งสักครู่ก่อนกล่าวด้วยน้ำเสียงดุดันว่า สั้นๆ นะครับ ผมชอบ ส.เสือ ที่สร้าง ไม่ชอบ ส.เสือ ที่เสี้ยม
"วันนี้จุดยืนของผมชัดเจน อยากให้มีการเลือกประธานสภาฯ และนายกฯ โดยเร็ว เพื่อบ้านเมืองเดินไปข้างหน้าได้ วันนี้เศรษฐกิจบอบช้ำเยอะมาก คิดว่าต้องพักเรื่องการเมืองไปก่อน เอาเรื่องประชาชนดีกว่า" นายเศรษฐาระบุ
ขณะที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรค พท. กล่าวถึงกรณีวงสัมมนาของพรรค ส.ส.ส่วนใหญ่ต้องการได้ตำแหน่งประธานสภาฯ ว่า เรื่องนี้อยากแยกประเด็นก่อน คือก่อนหน้าที่จะมีการสัมมนา ส.ส. พรรคมีจุดยืนคือให้พรรคที่มีเสียงข้างมากทำหน้าที่ประธานสภาฯ ส่วนพรรคที่ได้อันดับสองได้รองประธานสภาฯ ทั้ง 2 คน ฉะนั้นเรื่องนี้หลังจากที่พรรคประกาศจุดยืนไปแล้ว จึงได้มีความเห็นว่าในวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปิดให้สมาชิกได้แสดงความคิดเห็น พรรคได้รับเรื่องที่ส.ส.แสดงความคิดเห็นแล้ว และขณะนี้คณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) จะนำเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยจะมีการประชุม กก.บห.ในวันที่ 27 มิ.ย.นี้
"ได้คุยกับนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) แล้ว โดยได้นัดหมายพูดคุยกันวันที่ 28 มิ.ย. ระหว่างพรรค ก.ก.กับพรรค พท. เวลา 10.00 น. ที่พรรค พท. เพราะตั้งแต่ที่มีการคุยกันเรื่องจุดยืนของพรรค พท. ทางพรรค ก.ก.ยังไม่ได้มีการตอบรับหรือปฏิเสธเรื่องนี้แต่อย่างใด ซึ่งคิดว่าระยะเวลาในการเลือกประธานสภาฯ ใกล้เข้ามาแล้ว จึงควรต้องมีการพูดคุยกัน เพื่อทำความเข้าใจและทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว" นายประเสริฐกล่าว
ย้ำว่าเสียงส่วนใหญ่ของ ส.ส.ต้องการให้ได้ตำแหน่งประธานสภาฯ จะต้องยึดมตินี้ไปคุยกับพรรค ก.ก. ในวันที่ 28 มิ.ย.นี้หรือไม่ นายประเสริฐกล่าวว่า วันที่ 27 มิ.ย. เวลา 15.00 น. จะมีการประชุมพรรค หลังจากการประชุม กก.บห. เพื่อรับฟังความคิดเห็นของ ส.ส.ใหม่อีกครั้ง และเรารับฟังความเห็นของ ส.ส. รวมถึงสิ่งที่ กก.บห.ได้ประชุมมาก็จะได้มีการนำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อหาข้อสรุป ก่อนจะนำไปคุยกับทางพรรค ก.ก.
"แม้การโหวตเสียงในสภาจะเป็นเอกสิทธิ์ แต่พรรคมีข้อบังคับ แม้มีความเห็นต่างกัน แต่เรามีการประชุมเพื่อหาข้อยุติก่อนไปโหวตจริง ที่ต้องมีเอกภาพว่าเสียงจะเป็นไปในทิศทางใด ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพยายามทำอยู่" นายประเสริฐกล่าว
ถามว่า พท.จะยึดมติพรรคในการพูดคุยกับ ส.ส.และ กก.บห. หรือยึดหลักการในการไปคุยกับพรรค ก.ก. นายประเสริฐ กล่าวว่า เรายึดหลักการที่แถลงไปก่อนหน้านี้ ซึ่งหากมีคนเห็นค้าน ก็เป็นหน้าที่ที่พรรคต้องทำความเข้าใจ อย่างไรก็ตาม ขอให้ได้ข้อยุติก่อน จริงๆ แล้วข้อท้วงติงของ ส.ส.หลายข้อเราก็รับฟัง เช่น กรณีที่มีการบอกว่าทำอะไรไม่ปรึกษาเขาก่อน ซึ่งเรื่องนี้เราก็ผิดเช่นกัน เพราะเราต้องปรึกษาเขาก่อน แต่บางครั้งสถานการณ์การเมืองเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจในบางเรื่อง ทั้งนี้ เรายังถือว่ากระบวนการยังไม่จบ เพราะเป็นจุดยืนของพรรค ที่เรายังไม่ได้คุยกับพรรค ก.ก.อย่างเป็นทางการ
ซักถึงกรณี ส.ว.ระบุมีการพยายามทำให้ฝ่ายที่แพ้กลับมาชนะ นายประเสริฐ กล่าวว่า ไม่ทราบ และคงไม่ไปก้าวล่วง เป็นเรื่องที่พรรค ก.ก.ต้องไปทำการบ้านและทราบว่าเขาทำการบ้านอย่างหนักอยู่ ฉะนั้นตอนนี้เรามี 312 เสียง จะขาดอยู่ 64 เสียง จึงจะได้ 376 เสียง ซึ่งในวันที่ 29 มิ.ย.นี้ เราได้นัดทางพรรค ก.ก.และ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ในการสรุปและประเมินผลสถานการณ์ทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งทางพรรค ก.ก.คงจะมีข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้นในการมาบอกพรรคร่วม โดยในวันดังกล่าวเราจะใช้สถานที่ที่พรรค ก.ก.เป็นสถานที่ประชุมในเวลา 10.00 น.
ปัดพรรค รบ.เดิมชงชื่อแข่ง
ที่รัฐสภา นางประวีณ์นุช เลิศจิตติสุทธิ์ (อินทปัญญา) ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. อดีตภรรยา พล.อ.นพดล อินทปัญญา ส.ว. ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เดินทางมารายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นคนแรกของวันนี้
โดยนางประวีณ์นุชได้ยื่นเอกสารการเปลี่ยนนามสกุลต่อเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่รับรายงานตัว เพื่อขอแก้ไขนามสกุล จากเดิมที่ใช้ อินทปัญญา เป็น เลิศจิตติสุทธิ์ และหลังจากรายงานตัวเสร็จแล้ว นางประวีณ์นุชปฏิเสธที่จะตอบคำถามกับสื่อมวลชน บอกเพียงว่า จะไม่ขอให้สัมภาษณ์ใดๆ พร้อมกับเดินเร็วขึ้นเพื่อเลี่ยงการตอบคำถาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนางประวีณ์นุช มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 108 (8) ในส่วนของลักษณะต้องห้าม บุพการีคู่สมรสหรือบุตรดำรงตำแหน่ง ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น เป็นสมาชิกวุฒิสภาในคราวเดียวกัน
อย่างไรก็ดี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค พท. ยืนยันว่า ตอนที่ น.ส.ประวีณ์นุชเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เราได้ตรวจสอบคุณสมบัติแล้วพบว่าไม่ผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุณสมบัติเรื่องที่มาของ ส.ส.มาตรา 98 ซึ่งถือว่ามีคุณสมบัติครบ หลังจากนั้น กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติอีกครั้งแล้วพบว่ามีคุณสมบัติครบและการดำรงตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ถือว่าสมบูรณ์
ด้านนายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตประธานสภาฯ กล่าวถึงปัญหาการเลือกประธานสภาฯ ขณะนี้ว่า คงไม่น่ามีปัญหา เพราะอาจเป็นประสบการณ์ที่บางฝ่ายอาจจะไม่เคย โดยทั่วไปแล้วพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากมักจะได้ตำแหน่งประธานสภาฯ และนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมาพรรคที่มีเสียงมากกับเสียงรองลงมาจะเป็นคนละฝ่ายกัน จึงไม่ค่อยมีปัญหากัน แต่ครั้งนี้พรรคที่มีคะแนนลำดับ 1 และลำดับ 2 ได้จัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน ทำให้เกิดปัญหาที่ต่างฝ่ายต่างต้องการที่จะเป็นประธานสภาฯ
"ความวิตกกังวลว่าใครมาเป็นประธานสภาฯ แล้วจะได้เปรียบในการเสนอกฎหมายหรือญัตติมันไม่มีผล เพราะประธานสภาฯ ต้องเป็นกลาง กฎหมายรัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้เช่นนั้น" นายชวนกล่าว
ถามว่า ขณะนี้สังคมถกเถียงกันว่าประธานสภาฯ ควรเป็นคนรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์การทำงาน นายชวนกล่าวว่า ใครก็ตามที่เข้ามาต้องช่วยกัน สมาชิกต้องให้ความร่วมมือกับประธานให้สามารถทำงานไปได้ เพราะเหนือสิ่งอื่นใดคือการรักษาระบบของฝ่ายนิติบัญญัติให้เข้มแข็ง ดำเนินงานไปได้ ฉะนั้นไม่ว่าเป็นคนรุ่นใหม่หรือรุ่นเก่า ตนคิดว่าทุกฝ่ายคงจะให้ความร่วมมือ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงจุดยืนพรรคในการโหวตประธานสภาฯ ว่า ในวันที่ 24 มิ.ย. ตนได้นัดสมาชิกพรรค ภท.ที่ได้รับเลือกตั้งไปรับหนังสือที่ กกต. จากนั้นวันที่ 25 มิ.ย. จะมีการประชุมเพื่อปฐมนิเทศ ส.ส.ใหม่ที่พรรคภูมิใจไทย และจะไปรายงานตัวต่อสภา ในวันที่ 26 มิ.ย.
ถามถึงข่าวการโหวตประธานสภาฯ ซีกรัฐบาลเดิมอาจจะเสนอชื่อขึ้นมาแข่ง นายอนุทินย้อนถามมีด้วยหรือ ตนไม่ได้รับการประสานอะไรทั้งสิ้น และในส่วนของพรรค ภท.ยังเหมือนเดิม ให้เป็นไปตามกติกาประชาธิปไตย
"หากมีการเสนอชื่อสองคนค่อยว่ากัน อย่าเพิ่งคิดไปก่อน การเมืองทุกอย่างอะไรก็ตามเป็นประโยชน์กับประเทศและเป็นประโยชน์กับประชาชน นั่นคือทิศทางที่พรรคจะพิจารณาให้ไปในแนวทางนั้น เราทำอย่างนี้มาโดยตลอด ไม่ใช่เรื่องใหม่" นายอนุทินกล่าว
ถามว่า หากมีการเชิญพรรค ภท.ร่วมรัฐบาล นายอนุทินกล่าวว่า มันยังไม่มี เมื่อถามย้ำว่าและถ้าหากมีเพื่อให้ไปเติมเสียง จะได้ไม่ต้องใช้เสียง ส.ว. นายอนุทิน กล่าวว่า มันจะมีได้อย่างไร ซึ่งหลังจากการเลือกตั้งผู้สื่อข่าวก็ได้ไปถามหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งท่านก็บอกว่าขณะนี้ไม่จำเป็น และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้พรรคภูมิใจไทย มันก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากนั้น
ซักถึงกรณีข่าวมีคนไปคุยกับนายเนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด นายอนุทินกล่าวว่า ต้องไปถามคนที่พูด
นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงแนวทางการโหวตประธานสภาฯ ว่า เรารอดูความชัดเจนว่าพรรคไหนจะเสนอประธานท่านไหน ซึ่งพรรค รทสช.มีความสามัคคีต้องหารือกันภายในพรรค เพื่อเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากเป็นจุดสตาร์ทในการเริ่มประชุมสภา
ถามว่า มีข่าวการร่วมมือกันของพรรคอีกฝ่ายเพื่อผลักดัน พล.อ.ประวิตรเป็นนายกฯ นายสุชาติกล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าการตั้งรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ ใครที่รวมเสียงได้มากกว่าเป็นรัฐบาล ส่วนใครจะรวมใครตนไม่ได้อยู่ในวง ซึ่งหลายสูตรเป็นสมการได้หมด เราอยู่ในรัฐธรรมนูญเดียวกัน ต้องยึดมั่นกฎหมายมากกว่า
เมื่อถามว่า พรรค รทสช.จะเสนอชื่อประธานสภาฯ แข่งด้วยหรือไม่ นายสุชาติ กล่าวว่า พรรคคงมีมารยาทพอ คงไม่ถึงขนาดนั้น เมื่อถามว่านายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย มีความเหมาะสมเป็นประธานสภาฯ หรือไม่ นายสุชาติกล่าวว่า ส่วนตัวรู้จักกัน จังหวัดติดกัน ท่านมีคุณวุฒิวัยวุฒิสูง เป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ตนพูดในนามส่วนตัว ก็ต้องยอมรับท่าน เพราะตนเข้ามาเป็นผู้แทนฯ หลังท่าน
แย้ม ส.ว.หนุนพิธาเริ่มถอย
วันเดียวกัน นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมือง วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีพรรค ก.ก.ระบุมีทิศทางที่ดีที่ ส.ว.จะสนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ ว่า เป็นการปั่นราคาทางการเมือง หรือปั่นหุ้นทางการเมือง เพราะจากที่ตนรับทราบ ส.ว.ที่มีชื่อว่าสนับสนุนนายกฯ ของเสียงข้างมากประมาณ 20 คน ส่วนใหญ่ไม่เคยเอ่ยชื่อของนายพิธา และบางคนไม่เคยออกตัวหรือยืนยันว่าสนับสนุน และบางคนเริ่มถอย เพราะไม่มั่นใจในคุณสมบัติของนายพิธา รวมทั้งยังมีกรณีที่พรรคก้าวไกลยืนยันจะผลักดันเรื่องการแก้ไขมาตรา112 ด้วย
“ใน กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ยังมีประเด็นที่ตรวจสอบเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายพิธา ซึ่งผมยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด เนื่องจากมีคนร้องมา เพราะขณะนี้ยังเป็นขั้นตอนที่เจ้าหน้าที่ส่งหนังสือไปยังหน่วยงานเพื่อขอข้อมูล โดยเป็นประเด็นเกี่ยวกับหนี้สินและทรัพย์สินที่สอดคล้องกับปมคุณสมบัติ” นายเสรีกล่าว
ส่วนนายวันชัย สอนศิริ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ฝ่าย 312 ชนะเลือกตั้งขาดลอย แต่แพ้คะแนนโหวตอีกฝ่าย 188 แพ้เลือกตั้งราบคาบ แต่ชนะคะแนนโหวตต่างฝ่ายต่างแพ้ ต่างฝ่ายต่างชนะ จะมีใครยอมใครไหม ตอนนี้มีคนกำลังจะทำให้ฝ่ายที่ดูว่าแพ้กลับมาชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด…ตนรู้นะ… แต่อุบไว้ก่อน… ขอนั่งสมาธินิ่งๆ อยู่วัดไก่เตี้ย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้นายวันชัยเคยระบุว่า “รู้แล้วจะหนาว เกมนี้มันหลายชั้นจริงๆ พลิกไปพลิกมา ล็อกถล่มแผ่นดินทลาย คอยดูเถอะ”
ด้านนายพีระศักดิ์ พอจิต ส.ว. กล่าวว่า การเลือกนายกฯ เป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งเชื่อว่าทุกคนมีวิจารณญาณ และส่วนตัวยืนยันชัดเจนจะสนับสนุนผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงอันดับ 1 เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้คือนายพิธา ส่วน ส.ว.คนอื่น มีความเห็นที่หลากหลาย ซึ่งมีความเป็นอิสระในแต่ละบุคคล
ถามถึงข้อกังวลของ ส.ว.บางคนเรื่องคุณสมบัติของนายพิธานั้น นายพีระศักดิ์กล่าวว่า หากเป็นไปตามกฎหมาย ขณะนี้ยังไม่ได้มีคำพิพากษาหรือมีคำตัดสินอะไรออกมา ในกรณีคุณสมบัติของนายพิธาก็ต้องสันนิษฐานว่า ทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์และมีคุณสมบัติครบก่อน
ซักว่า มี ส.ว.บางคนระบุพรรคเสียงข้างมากอาจไม่ได้ตั้งรัฐบาล และเสียงข้างน้อยอาจจะได้เป็นรัฐบาล นายพีระศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาในวันเลือกนายกฯ จึงยังบอกอะไรไม่ได้ แต่เชื่อว่าทุกคนมีอิสระในการตัดสินใจ และใช้ดุลยพินิจที่มีประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม และคำนึงถึงความเป็นประชาธิปไตยให้เดินหน้าต่อไป และเป็นประโยชน์กับประเทศชาติโดยรวม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โค้งสุดท้ายสังเวย393ศพ ศปถ.จ่อถอดบทเรียนอีก
โค้งสุดท้าย 10 วันอันตราย วันที่ 9 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,322 ครั้ง
แจง4คนไทยติดขั้นตอน เย้ยรบ.-ทหารมีไว้ทำไม
กต.แจงลูกเรือประมงไทย 4 คนยังติดขั้นตอนปล่อยตัวจากเมียนมา
ขู่แก้รธน.ก่อนโดนสอยยกสภา
"เพื่อไทย" แทงกั๊กร่วมสังฆกรรมแก้ รธน.กับพรรคส้ม
เอาแน่‘กาสิโน’ขึ้นบนดิน
“ทักษิณ” สวมบทนายกฯ ตัวจริง ลุยหาเสียง อบจ.เชียงราย 3 แห่งรวด
ไม่กล้าเขี่ยพีระพันธ์ แม้วเกทับไฟฟ้าเหลือ3.70 จะทุบทุนผูกขาดทุกชนิด!
"พ่อนายกฯ" โชว์เหนือ จะทุบค่าไฟฟ้าเหลือ 3.70 ต่อหน่วย เ
‘อ้วน’ ยันปล่อย 4 คนไทยเร็วๆนี้
ครบรอบวันชาติเมียนมา 4 ลูกเรือประมงไทยรอเก้อ ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว แต่อภัยโทษ 151 คนไทยถูกหลอกทำงานคอลเซ็นเตอร์