‘เหลิม’หักหน้า‘พิธา’ เชียร์คนของพท.นั่งนายกฯ ลั่นปธ.สภาฯต้องเป็นกลาง

ยอด ส.ส.ใหม่รายงานตัวที่สภาแล้ว 243 คน จากทั้งหมด 500 คน "เพื่อไทย" ทำเก๋ขน ส.ส.นั่งรถเมล์ EV มารัฐสภา "ชลน่าน" ชี้เก้าอี้ "ประธานสภาฯ" จบก่อน 3 ก.ค.แน่ "อดิศร" ย้ำ ส.ส.พรรคเกือบ 100% ค้านก้าวไกลเหมาประมุขนิติบัญญัติ สะกิดทีมเจรจาผลหารือต้องแจ้งที่ประชุมพรรคห้ามมุบมิบกันเอง "สุทิน" แนะเจรจา "ก.ก." ลดเงื่อนไข เชื่อมีทางออก ไม่ถึงขั้นต้องใช้แนวทางสุดโต่งเปิดฟรีโหวต "เหลิม" หวนคืนสภา เตือนคนหนุ่มอย่าใจร้อน เปิดใจเชียร์คนเพื่อไทยนั่งนายกฯ ไม่กลัวด้อมพิธานำทัวร์ลง "พีระพันธุ์" ลั่นอยู่ข้าง "ลุงตู่" จนนาทีสุดท้าย "บิ๊กตู่" ขออย่าโยงไปดีลการเมือง ระบุเคารพกติกา "ผบ.ตร." กางแผนพร้อมรับมือม็อบบุกรัฐสภา

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันที่ 22 มิ.ย. วันที่สามในการเดินทางมารับหนังสือรับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขต มี ส.ส.จากพรรคการเมืองต่างๆ ทยอยเดินทางมาตลอดทั้งวัน

โดยพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ส่งทีมกฎหมายพรรค 3 คน เดินทางมารับใบรับรอง ส.ส.จำนวน 151 คน ซึ่งได้นำกล่องส้มเปล่าจำนวน 4 ใบ มาใส่ใบรับรองเดินทางไปยังสนามกอล์ฟพัฒนาสปอร์ตคลับ จังหวัดชลบุรี เนื่องจาก ส.ส.ทั้งหมดของพรรคนำทีมโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะนัดกันไปรายงานตัวต่อสภาผู้แทนราษฎรด้วยกันทั้งพรรค เวลา 09.00 น. วันที่ 27 มิ.ย.นี้

นอกจากนี้ยังมีนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ, ตัวแทนรับมอบอำนาจจากนายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ และนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย และ ส.ส.พรรคอื่นๆ ทยอยเดินทางมารับใบรับรองด้วย

สำหรับยอดรวม วันที่ 3 มี ส.ส.มารับหนังสือรับรองแล้ว 182 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 44 คน และ ส.ส.แบบแบ่งเขต 138 คน หากรวมทั้ง 3 วัน มี ส.ส.รับหนังสือรับรองไปแล้วทั้งสิ้น 441 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทั้งสิ้น 92 คน ยังขาดอีก 8 คน ส่วน ส.ส.แบบแบ่งเขตมีทั้งสิ้น 349 คน ยังขาดอีก 51 คน อย่างไรก็ตาม ยังเหลืออีก 2 วัน ถึงวันที่ 24 มิ.ย. ที่ ส.ส.สามารถเดินทางมารับหนังสือรับรองที่ กกต.ได้ในเวลาราชการ

ส่วนที่รัฐสภา ภาพรวมการรายงานตัว ส.ส.ชุดที่ 26 เป็นวันที่สาม บริเวณห้องสัมมนาชั้นบี 1 ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. มี ส.ส.ทยอยเดินทางมารายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการสภาฯ อย่างต่อเนื่อง บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีไฮไลต์ที่น่าสนใจอย่าง พรรคเพื่อไทย (พท.) นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรค พท. นำคณะ ส.ส.ของพรรคขึ้นรถเมล์ EV จากที่ทำการพรรคมายังรัฐสภาเพื่อรายงานตัว ส.ส. ซึ่งก่อนการรายงานตัว คณะพรรคเพื่อไทยได้สักการะพระสยามเทวาธิราช และศาลตายาย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำรัฐสภาก่อนด้วย

เช่นเดียวกับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นำ ส.ส. อาทิ นายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นำ ส.ส.ของพรรคบางส่วนมารายงานตัวด้วย และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา ก็มารายงานตัว ช่วงบ่าย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้เดินทางมารายงานตัว

ทั้งนี้ สรุปยอด ส.ส.มารายงานตัวในวันที่ 3 รวมทั้งสิ้น 156 คน แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 113 คน พรรคภูมิใจไทย 2 คน พรรคพลังประชารัฐ 2 คน พรรครวมไทยสร้างชาติ 22 คน พรรคประชาธิปัตย์ 11 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน พรรคเพื่อไทรวมพลัง 1 คน พรรคชาติพัฒนากล้า 2 คน พรรคท้องที่ไทย 1 คน และพรรคเสรีรวมไทย 1 คน ยอดรวม 3 วัน (20-21-22 มิ.ย.) มี ส.ส.มารายงานตัวแล้วรวมทั้งสิ้น 243 คน จากทั้งหมด 500 คน

ปม 'ปธ.สภา' จบก่อน 3 ก.ค.

นพ.ชลน่านให้สัมภาษณ์ถึงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า ขั้นตอนการเจรจาพูดคุยที่เราวางแนวไว้ คือเป็นการเจรจาระหว่าง 2 พรรค ซึ่งเราได้มอบหมายหน้าที่ไว้เรียบร้อย ส่วนที่พรรคมีข่าวออกมาก็เป็นกระบวนการพิจารณาภายในของพรรค เพื่อนำข้อเจรจานี้ไปพูดคุยกับพรรค ก.ก. ฉะนั้นข้อสรุปสุดท้ายก็อยู่ที่การเจรจาของ 2 พรรคใหญ่

ถามถึงกรณีสมาชิกพรรค พท.มีความกังวลว่าจะบานปลาย นพ.ชลน่านกล่าวว่า พรรคให้ความสำคัญและระมัดระวังเรื่องนี้อย่างยิ่ง แต่ในขั้นตอนของการพูดคุยนั้นเราต้องเปิดตรงกลาง เมื่อมีตัวแทนของฝ่ายบริหารที่เรามอบให้เป็นคณะเจรจาไปกำหนดแนวทางเจรจาไว้ ก็ต้องนำหลักการนี้มาขอความเห็นจากสมาชิกพรรค โดยเฉพาะคนที่เป็น ส.ส. ซึ่งเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ก็เป็นขั้นตอนนั้น แม้ว่าจะมีเสียงเล็ดลอดออกไปทางสื่อก็จะเป็นเพียงแค่ข้อคิดเห็น ซึ่งการที่เราจัดให้มีการสัมมนาก็เปิดโอกาสให้มีการแสดงความเห็นตรงนี้ด้วย โดยคนที่แสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่ เห็นว่าพรรค พท.น่าจะเสนอขอตำแหน่งประธานสภาฯ แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นความเห็นของ ส.ส.ทั้ง 141 คน เพราะมีเพียง 10 กว่าท่านเท่านั้นที่ลุกขึ้นแสดงความคิดเห็น

ซักว่า นายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ยืนยันพรรค พท.ต้องแคร์ความรู้สึกของสมาชิกพรรคเป็นหลัก นพ.ชลน่านกล่าวว่า พรรคมีหลักการในการทำงาน เราแคร์ความรู้สึกทุกฝ่าย ซึ่งทุกฝ่ายหมายถึงพรรคร่วมที่เราไปทำสัญญาร่วมกัน แต่ความรู้สึกที่เราต้องแคร์มากที่สุดคือความรู้สึกของพี่น้องประชาชนที่เรายึดถือเป็นอันดับ 1 อันดับ 2 คือการแคร์ความรู้สึกสมาชิกพรรค โดยเฉพาะคนที่เป็น ส.ส.ฉะนั้นเราต้องมองทุกมิติให้ครอบคลุม

ซักถึงมีบางคนจะขอฟรีโหวต หัวหน้าพรรค พท.กล่าวว่า ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ส.ส.ทำหน้าที่ตามความคุ้มครองภายใต้รัฐธรรมนูญ มีเอกสิทธิ์ในการออกเสียงแสดงความคิดเห็นในการลงมติ แต่ในระบบพรรคการเมือง เราต้องมีการพูดคุยกัน โดยเฉพาะระบบพรรคการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และระบบรัฐสภา ซึ่งยึดถือเสียงข้างมากเป็นหลัก เคารพเสียงข้างน้อย ก็ต้องมีข้อสรุปในระบบของพรรค ฉะนั้นพรรค พท.เมื่อมีความเห็นต่างเช่นนี้ก็ต้องหาความเห็นร่วมให้ได้ ก่อนที่จะไปพูดคุยเจรจา ฉะนั้นประเด็นข้อกังวลที่จะมีการฟรีโหวตนั้นเมื่อพรรคมีมติอย่างไร เชื่อว่า ส.ส.พรรคจะมีวินัย

เมื่อถามว่า หากมีการเสนอชื่อนายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ทางพรรคเพื่อไทยจะต้องวางตัวอย่างไรกับพรรคก้าวไกลบ้าง นพ.ชลน่านกล่าวว่า คำว่าถ้าตรงนี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าเรามีการพูดคุยภายในพรรคให้จบกระบวนการทั้งหมด

ถามกรณีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ พูดถึงการแชร์ตำแหน่งรองประธานสภาฯ ให้กับพรรคอันดับ 3 จะมีการพิจารณาอย่างไรหรือไม่ หัวหน้าพรรค พท.กล่าวว่า เรามีข้อเสนอในมุมของพรรค พท.ว่าพรรคอันดับ 1 ได้ 151 เสียง, พรรคอันดับ 2 ได้ 141 เสียง และพรรคอันดับ 3 ได้ 9 เสียง ในลักษณะเช่นนี้ต้องยึดถือประเพณีปฏิบัติที่เป็นมาหรือไม่ ที่จะต้องแบ่งตำแหน่งรองประธานสภาฯ เกลี่ยไปยังพรรคอันดับ 1-3 ซึ่งก็มีการพูดคุยกันในที่ประชุมของพรรคเพื่อไทย คณะเจรจาที่ได้รับมอบหมาย ฝ่ายผู้บริหารก็พิจารณาแล้ว ก็มีข้อเสนอว่าพรรคอันดับ 1 และ 2 คะแนนห่างกันไม่มาก แต่ห่างจากพรรคอันดับ 3 มาก จึงเสนอให้พรรคอันดับ 2 ได้ตำแหน่งรองประธานสภาฯ ทั้งสองท่าน ซึ่งนี่เป็นหลักการที่เขาจะเสนอ ส่วนพรรคก้าวไกลจะรับหรือไม่ และจะไปคุยกับนายวันมูหะมัดนอร์อย่างไร ก็เป็นเรื่องของพรรคก้าวไกล

"พรรค พท.ในฐานะที่มีส่วนได้เสียโดยตรงเป็นคู่เจรจา เรามั่นใจว่าสิ่งที่คนหวั่นไหว และคาดการณ์จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งจะต้องได้ข้อยุติภายในพรรคก่อนที่จะไปพูดคุย และก่อนวันที่ 3 ก.ค.นี้แน่นอน" หัวหน้าพรรค พท.ระบุ

เล็งคุยก้าวไกลลดเงื่อนไข

ขณะที่นายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. กล่าวถึงตำแหน่งประธานสภาฯ ว่า เรื่องนี้ข้อมูลอาจจะไม่ตรงกัน ส.ส.ทั้ง 141 คนของพรรค ตอนแรกบอกว่ารัฐมนตรี 14 + 1 ก้าวไกลได้นายกฯ เพื่อไทย 14 + 1 ได้ประธานสภา ถ้าเป็นไปตามนี้พวกเราก็มีความสุข แต่อยู่ๆ ก็ไปยกตำแหน่งประธานสภาฯ ให้กับพรรคอันดับ 1 โดยไม่สอบถาม ส.ส. หรือที่ประชุมพรรค จึงมีปัญหาทำให้ถกเถียงกันอาจจะรุนแรงไปหน่อย แต่ความรุนแรงเป็นภาษาของประชาธิปไตย ภาษาดอกไม้ของเพื่อไทย ดังนั้นหากพาดพิงไปถึงพรรคอื่น ก็กราบขอโทษด้วย

ถามว่า แนวโน้มเรื่องนี้จะลงเอยอย่างไร นายอดิศรกล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งคนที่มีหน้าที่ไปเจรจากับพรรค ก.ก.และพรรคร่วมก็ต้องคำนึงถึงความรู้สึก ส.ส.เกือบจะ 100% ของพรรคที่มีความคิดเห็นลักษณะเช่นนี้ แล้วไปพูดกับก้าวไกลว่าเขาจะมีท่าทีอย่างไร

"ผมไม่อยากให้ประธานสภาฯ มาขัดขวางการเจริญเติบโตของรัฐบาลผสมที่ใกล้เข้ามาแล้ว ขอภาวนาให้เจรจาจบลงเร็วๆ และในพรรคมีความเห็นแบบนี้เกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะคะแนนเราอาจจะห่างกันไม่มาก” นายอดิศรกล่าว

ซักว่า ถ้าตกลงกันไม่ได้จะมีการโหวตแข่งกันหรือไม่ นายอดิศรกล่าวว่า ถ้ามีปัญหาถกเถียงกันก็ต้องใช้ที่ประชุมตัดสิน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของสภา เพราะที่นี่ไม่ใช่สภาของพรรคใดพรรคหนึ่ง เนื่องจากไม่มีพรรคใดได้เสียงเกินครึ่งสักพรรคเดียว อย่างไรก็ตาม อยากให้เจรจากันให้จบโดยเร็ว ถ้าตกลงกันอย่างไรก็ให้มีการเสนอในที่ประชุมพรรค และตนจะร่วมแสดงความคิดเห็นอีกครั้ง ส่วนที่ถ้ามติพรรคออกมาว่ามอบตำแหน่งประธานสภาฯ ให้พรรคก้าวไกล ก็ต้องมีเหตุผลประกอบ

"ถ้ามีมติพรรคออกมา ผมเป็นคนที่มีระเบียบวินัย แต่วินัยนั้นต้องผ่านการถกเถียงกันในพรรคอย่างสมเหตุสมผล ผู้บริหารพรรคหรือตัวแทนพรรคไม่ใช่เจ้าของพรรค ต้องมาถาม ส.ส.และให้เกียรติซึ่งกันและกัน จะทำให้เส้นทางประชาธิปไตยไปได้ด้วยดี" นายอดิศรกล่าว

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค พท. กล่าวว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ เท่าที่ดูคงไม่ถึงขั้นต้องเปิดฟรีโหวต แนวทางสุดโต่งเช่นนี้คงไม่เกิดขึ้น ดังนั้นต้องหาวิธียืดหยุ่นเข้าหากัน อาจจะต้องไปพูดคุยด้วยหลายเหตุผลกับพรรคก้าวไกล อาจต้องโยกหรือปรับเงื่อนไขที่เคยคุยกันไว้เล็กน้อย ยังไม่รู้จะปรับอย่างไร เป็นเรี่องที่คณะเจรจาจะไปพูดคุยกัน อะไรที่มันตึงมาก อาจต้องขยับนิดหน่อยก็ลงตัวได้

ถามว่า จะถึงขั้นให้พรรคก้าวไกลยอมสละตำแหน่งประธานสภาฯ หรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับพรรคก้าวไกล ถ้าเขายืนยันหลักการเดิม แล้วเราเห็นว่าจะไปไม่ได้ ก็ต้องมาพูดคุยจะปรับลดอะไรลงได้หรือไม่ ชุดเจรจาบอกว่ามีทางลงตัวได้ ทุกอย่างจะลงตัวก่อนๆ วันโหวตประธานสภาฯ แน่นอน ในวันโหวตทุกอย่างจะลงตัวด้วยดี

"พรรคเคารพเอกสิทธิ์สมาชิก แต่เราต้องทำความเข้าใจให้ทุกคนใช้เอกสิทธิ์ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ประชาชน และพรรค แม้จะเป็นการลงมติลับ แต่ผลโหวตที่ออกมาต้องเป็นประโยชน์" นายสุทินกล่าว

ซักถึงกรณีหากมีพรรคอื่นเสนอชื่อนายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แข่งชิงประธานสภากับพรรคก้าวไกลจะทำอย่างไร นายสุทินกล่าวว่า เชื่อว่าคงไม่เกิดขึ้น คนที่ถูกเสนอชื่อเป็นผู้ใหญ่ คงมีวิธีแก้ปัญหา การจะเสนอชื่อใครเป็นประธานสภาฯ ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าตัวที่ต้องอยู่ในที่ประชุม ทุกอย่างต้องยึดแนวทางพรรค เชื่อว่าพรรคจะมีแนวทางออกที่ดี ไม่ให้เกิดความเสียหายต่อพรรคและพรรคร่วมรัฐบาล ที่จะกระทบการตั้งรัฐบาล

เหลิมเชียร์นายกฯ คน พท.

ด้านร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. กล่าวว่า อยู่สภามา 40 ปี ตั้งแต่ปี 26 เข้าสภาตื่นเต้นทุกครั้ง ตนรักสภา ชอบสภา ชอบอภิปราย แต่การเมืองวันนี้มันแปลกๆ บางคนบอกคนรุ่นเก่าเหมือนยาหมดอายุ ต้องเป็นคนรุ่นใหม่  ถามว่าถ้าคนรุ่นเก่ามีสติปัญญาความรู้ดีกว่าคนรุ่นใหม่ วันนี้ก็ต้องผสมผสาน อย่าดูแคลนกัน ทุกคนมีจิตสำนึก รักบ้านรักเมืองเหมือนกัน ไม่ใช่ใครไปแตะอะไรทัวร์ลงๆ นี่ไม่ใช้ลักษณะการเมือง เพราะการเมืองเป็นเรื่องวิสัยทัศน์ การอภิปรายในสภา

"ขอยกตัวอย่างกรณีพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล มีตัวแทน 8 พรรคหารือกันจะเลือกใครเป็นประธานสภาฯ เพื่อไทยก็มีตัวแทนไป แต่ไม่มีสิทธิตัดสินใจ ต้องกลับมาถามผู้แทนของพรรค ไม่ใช่ไปกัน 7-8 คน แล้วไปตกลง เพราะประธานสภาฯ ต้องเป็นกลาง ต้องเป็นประธานของทุกพรรคการเมืองในสภา และกรณีที่กำลังมีการวิพากษ์วิจารณ์ ผมขอยืนยันจะขอให้ทั้ง 8 คน จาก 8 พรรคกลับไปที่พรรคตัวเองก่อนแล้วค่อยวิจารณ์" ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว

ถามว่า หากประธานสภาฯ เป็นของพรรคก้าวไกล มองอย่างไร ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ตนต้องทำตามมติพรรค ถ้าเพื่อไทยมีมติไม่เห็นด้วยตนก็ไม่เห็นด้วย หากเห็นด้วยก็ขัดมติพรรคไม่ได้ อย่างไรก็ตาม  ไม่มีรัฐบาลไหนตั้งง่ายยากทั้งนั้น ไปร้องเพลงดีดสีตีเป่ามันไม่ใช่ ยังรายงานตัวส.ส.กันยังไม่ครบเลย นี่เพิ่งเริ่มต้นจะมีรัฐบาล มีตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้ ขอให้ใจเย็น คนหนุ่มใจร้อน แต่คนแก่ก็คิดเป็น

เมื่อถามว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ตนจะเห็นพรรคอื่นเป็นนายกฯ ได้อย่างไร ต้องเป็นคนเพื่อไทย และเล่นการเมืองต้องเล่นให้เป็น ถ้าตนเห็นนายพิธาดีกว่าคนเพื่อไทยก็ไม่ใช่เฉลิม ที่ตนพูดไม่กลัวทัวร์ลง นอกจากนี้ตนเห็นว่าครั้งนี้เป็นการตั้งรัฐบาลครั้งแรกที่มีเอ็มโอยู คนรุ่นใหม่จะใหม่อะไรหนักหนา คนรุ่นเก่ามันจะเก่าอะไรหนักหนา มันอยู่ที่ความรู้

 “ผมไม่ขัดแย้งกับใคร ถึงขัดแย้งก็ไม่ใส่ใจ ผมก็เป็น ส.ส.แล้ว นี่ผมพูดในหลักการ ผมจะพกความโง่มาให้สัมภาษณ์ได้อย่างไร เสียชื่อ ส.ส. 40 ปีหมด ผมจะกลับมาอภิปรายด้วยเนื้อหาสาระ มีความรู้ ความสามารถ ไม่เลอะเทอะ ไม่ประท้วง ไม่เหงาแน่นอน และไม่กลับมาทวงบัลลังก์ดาวสภา เรากำหนดตัวเองไม่ได้ ถ้ามาแล้วถูกตาต้องใจจะยกตำแหน่งให้ก็อย่าช้า รีบยกให้มา ก็ชอบเหมือนกัน” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

วันเดียวกัน หลังมีกระแสข่าวว่านายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เตรียมยื่นใบลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกฯ ก่อนเข้ารายงานตัวเป็น ส.ส.ต่อสภาผู้แทนราษฎรนั้น

ล่าสุด นายพีระพันธุ์ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวตอนหนึ่งระบุ "ขออนุญาตเรียนให้ทราบกันครับว่าคนอย่างผมไม่มีวันที่จะทิ้งคนดีๆ อย่างท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเด็ดขาด วันนี้ผมยังอยู่กับท่าน และยังคงทำงานให้ท่านในตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีตามปกติทุกวัน...ขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกันนะครับว่าผมเลือกที่จะอยู่กับท่านจนวินาทีสุดท้ายของท่านในการทำงานและการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของคนไทยและประเทศไทย"

ตร.พร้อมรับมือหากมีม็อบ

ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังร่วมประชุมสภากลาโหม ถึงทิศทางการโหวตตำแหน่งประธานสภาฯ ว่า "อย่าเอาผมไปเกี่ยวข้อง ผมยืนยันไม่เกี่ยวข้องอะไรทั้งสิ้น ไม่ได้เจรจาอะไรกับใคร ไม่ได้ดีลกับใคร อยู่รวมไทยสร้างชาติในเวลานี้ยังไม่ได้ไปไหน เรื่องนี้เราต้องเคารพซึ่งกันและกันในเรื่องของกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ ขบวนการทางการเมือง รวมพรรครวมกลุ่ม รวมฝ่ายอะไรก็แล้วแต่ ผมไม่ยุ่งตรงนี้"

ถามเรื่องการเก็บของออกจากทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ย้อนถามว่า อ้าว ทำไม ไม่เก็บไม่ได้เหรอ สนใจแต่เรื่องเก็บ-ไม่เก็บ ก่อนจะยอมรับว่าทยอยเก็บของไปบ้างแล้ว เพราะต้องทำตามระยะเวลาที่ควรจะทำ ห้องเรามันก็รกเพราะเอกสารเยอะมาก อยากจะรื้อตั้งนานแล้ว เดินยังสะดุด เอกสารก็เยอะเพราะอยู่มาหลายปี

ซักว่า กองทัพแสดงความเป็นห่วงหรือไม่ถ้าพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐบาลหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ย้อนถามว่า ห่วงเรื่องอะไร เมื่อผู้สื่อข่าวบอกว่าห่วงจะมีการลงถนน พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า เป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคงเขาจะดำเนินการ มีกระบวนการอยู่แล้ว ถ้าชุมนุมโดยสงบก็ว่าไป แต่ถ้าใช้ความรุนแรงเกิดขึ้น หรือเข้าไปในเขตที่หวงห้าม ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย  อย่าให้เกิดเลย

พอถามถึงมีข่าว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ผมไม่ทราบ เห็นในข่าววันนี้ แล้วเอาผมไปเกี่ยวพันด้วย ผมไม่เกี่ยวข้อง"

มีรายงานว่า ในที่ประชุมสภากลาโหม พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.ได้รายงานแผนรักษาความสงบเรียบร้อยอาคารรัฐสภา และพื้นที่โดยรอบช่วงการประชุมรัฐสภา เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยคาดว่าน่าจะมีกลุ่มมวลชนมาชุมนุมเพื่อกดดันให้สมาชิกวุฒิสภาเลือกแคนดิเดตนายกฯ ที่ตัวเองสนับสนุน โดยจะมีการจัดพื้นที่ไว้รองรับ ซึ่งเป็นแผนเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่จะมีการปรับเปลี่ยนไปตามข้อมูลการข่าวสารในขณะนั้นด้วย เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถรับมือได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง