"ก้าวไกล" ฟิตจัด เวิร์กช็อปอุ่นเครื่อง ส.ส. ยื่นกฎหมายกว่า 40 ฉบับ เข้าสภา "ไอติม" ชูเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน สนองความคาดหวังประชาชน จับตา "กลุ่มล้านนาใหม่" ดึง "เพนกวิน-บิ๊กคณะก้าวหน้า" เสวนากระจายอำนาจ "นิพนธ์" ยันกระจายอำนาจสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองภาค ปชช.ได้ดีที่สุด แนะถ่ายโอนภารกิจและงบประมาณให้ท้องถิ่นโดยเร็ว "อนุดิษฐ์" เชื่อต้องไปไกลกว่ารูปแบบ กทม.
ที่สนามกอล์ฟพัฒนาสปอร์ตรีสอร์ท อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี วันที่ 22 มิถุนายน ในการสัมมนา ส.ส.พรรคก้าวไกล วันที่สอง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ช่วงเช้าเริ่มด้วยการประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กช็อป) ระดมความคิดเกี่ยวกับการเสนอร่างกฎหมายก้าวไกลจำนวนกว่า 40 ฉบับ ที่จะยื่นทันทีเมื่อสภาเปิด
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พูดถึงความสำคัญของเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันประเทศไทยเสมือนอยู่ในเกมชักเย่อ ในทางหนึ่งเรามีระบบที่ล้าหลัง ที่ไม่อนุญาตให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ขยายอำนาจของสถาบันและกลไกทางการเมืองที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน แต่อีกทางหนึ่งเราก็มีสังคมที่ก้าวหน้า ประชาชนมีความคาดหวังการเปลี่ยนแปลงสูง สะท้อนอย่างชัดเจนผ่านผลการเลือกตั้งที่พรรคจากขั้วฝ่ายค้านเดิมได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้น จนทำให้พรรคการเมืองอันดับ 1 และอันดับ 2 มาจากซีกฝ่ายเดียวกันในสภาชุดที่แล้ว ซึ่งมักไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
นายพริษฐ์กล่าวว่า เพื่อตอบรับต่อความคาดหวังของประชาชนที่ขึ้นสูงมาก พรรคก้าวไกลต้องมีบทบาทเป็นเหมือน กังหันลม ที่แปรสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงให้เป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า โดยภารกิจหลักในสภาของพรรคคือการผลักดันกฎหมายเพื่อขับเคลื่อนนโยบายและสร้างความเปลี่ยนแปลงใน 3 ด้าน หรือ 3 เปลี่ยน ได้แก่
1.การเปลี่ยนกฎหมาย คือการทำให้กฎหมายที่ก้าวหน้าผ่านสภา โดยจำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมและร่วมกันผลักดันกับภาคประชาชน 2.การเปลี่ยนความคิด โดยอาศัยกลไกและเวทีสภา ในการรณรงค์และสื่อสารสาระสำคัญของกฎหมายกับประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจในสังคม และคลายข้อกังวลของผู้เห็นต่าง 3.การเปลี่ยนวัฒนธรรมการเมือง โดยทำให้เห็นถึงประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ จากการมีรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับงานสภา ทั้งในการขับเคลื่อนนโยบายและการให้ความร่วมมือกับกลไกตรวจสอบถ่วงดุล
จากนั้นมีการแบ่งกลุ่ม โดยให้ ส.ส.แต่ละคนเลือกประเด็นร่างกฎหมายที่สนใจ เช่น ปฏิรูประบบราชการ กระจายอำนาจ การศึกษา สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ที่ดิน แรงงาน พร้อมวางแผนงานสำหรับการขับเคลื่อนกฎหมายให้ผ่านสภา ซึ่ง ส.ส. พรรคก้าวไกลได้แสดงความเห็นอย่างหลากหลาย พิจารณาทั้งด้านความสำคัญและความเห็นที่แตกต่างต่อประเด็นต่างๆ ในร่างกฎหมายนั้น เพื่อกำหนดแนวทางการทำงานและสื่อสารต่อประชาชน
โดยนายพริษฐ์ย้ำว่า การผลักดันกฎหมายกว่า 40 ฉบับนี้ เป็นเพียงชุดแรกที่จะถูกเสนอโดยผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกลในสมัยนี้ และจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการสร้างประเทศที่ดีกว่าเดิม
เพจเฟซบุ๊กคณะก่อการล้านนาใหม่-NEO LANNA โพสต์ข้อความว่า งานเสวนาวาระรัฐธรรมนูญ-กระจายอำนาจ "แห่ไม้ก้ำประชาธิปไตย ปักหมุดหมายกระจายอำนาจ" วันที่ 23 มิถุนายน เวลา 12.30-17.00 น. สถานที่โรงแรมไอบิส ชั้น 8 งานเริ่มเวลา 12.30 น. อ่านกวี ฮวกชวด-สุดสะแนน ปาฐกถาภาพรวมการกระจายอำนาจ โดยอาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า การต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ล้านนากับอำนาจส่วนกลาง โดยประสิทธิ์ ครุธาโรจน์, พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ผู้ต้องหาคดี ม.112 และภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ขบวนการเคลื่อนไหวจังหวัดจัดการตนเอง โดยณัฐกร วิทิตานนท์, ชัชวาล ทองดีเลิศ, สุรีรัตน์ ตรีมรรคา, ชำนาญ จันทร์เรือง
เพจดังกล่าวแจ้งอีกว่า ด่วน!! ทางทีมงานได้รับการแจ้งเปลี่ยนผู้ปาฐกถาและสถานที่ในการจัดงานเสวนา ข้อสรุปเบื้องต้นในกรณีแรกคือ สถานที่ในการจัด ทางทีมงานได้รับการแจ้งจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยให้ทีมงานเปลี่ยนสถานที่ เพราะทางอธิการบดีได้มีข้อกังวลในการใช้สถานที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องจากกลัวว่า "จะเกิดการขัดแย้ง" ในการจัดงานเสวนาในครั้งนี้
ในกรณีที่สอง คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่สามารถเข้าร่วมเวทีเสวนา มี 3 ประเด็นดังนี้ 1.เพราะมีหมายนัดศาลกะทันหัน กรณีคดีวิจารณ์วัคซีนพระราชทาน (มาตรา 112) จึงมีการปรับกำหนดการ โดยการเชิญอาจารย์ชำนาญมาเป็นคนมากล่าวปาฐกถาแทนคุณธนาธร 2.มีการเปลี่ยนแปลง กำหนดช่วงเวทีหัวข้อ ภาพรวมการกระจายอำนาจ มาเป็นอาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง 3.เนื่องด้วยงานแห่ไม้ค้ำประชาธิปไตยมีการจับตามองจากฝ่ายอนุรักษนิยม ที่มองว่ากิจกรรมเวทีดังกล่าวจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนและปลุกปั่นประเด็นเพื่อสร้างความขัดแย้งต่อสังคม ดังนั้นยืนยันเป้าหมายและหลักการในการมุ่งเน้นวาระการปักหมุดการกระจายอำนาจ-แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และสร้างรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
วันเดียวกัน ในการประชุมและการสัมมนาทางวิชาการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2566 ประจำปี พ.ศ.2566 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อาคาร 2 อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี มีการเสวนา การติดตามนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นของพรรคการเมืองหลังการเลือกตั้ง หัวข้อ "ท้องถิ่นมั่งคั่ง ประเทศมั่นคง" โดยมีผู้แทนจาก พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคก้าวไกล พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยสมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก
นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตอนหนึ่งว่า การทำงานของถิ่นในบางภารกิจยังมีอุปสรรคในการบริหาร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้การสนับสนุนและแก้ไขอุปสรรคในการดำเนินการภายใต้กติกาที่กำหนดไว้ เพื่อให้งานเดินต่อไปได้ และไม่เกิดปัญหาภายหลัง สำหรับเรื่องจัดเก็บภาษีนั้น ก็ควรมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี พร้อมทั้งพิจารณาจัดเก็บฐานภาษีอื่นๆ เพิ่มเติม ที่ทำให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มมากขึ้น สามารถนำมาพัฒนาพื้นที่รับผิดชอบ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน
"ในส่วนความคืบหน้าเรื่องกระจายอำนาจ ในขณะนี้อยู่ในแผนที่ 3 แต่ขณะเดียวกัน แผนที่ 1 และ 2 ก็ยังถ่ายโอนไม่หมด ซึ่งควรพิจารณาว่าภารกิจใดที่ท้องถิ่นทำได้ ก็ให้เร่งรัดถ่ายโอนภารกิจและงบประมาณพร้อมบุคลากรให้ท้องถิ่นได้ดำเนินการ เพราะการถ่ายโอนภารกิจใดไปและดำเนินการไม่ได้อาจจะถูกดึงภารกิจกลับ และไม่ควรนำเรื่องทุจริตมาปิดกั้นการกระจายอำนาจ เพราะการกระจายอำนาจคือการสร้างการมีส่วนร่วมการเมืองภาคประชาชนได้ดีที่สุด และเชื่อมั่นว่าเมื่อท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศไทยก็เข้มแข็ง" นายนิพนธ์กล่าว
ขณะที่ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า สิ่งที่พรรคไทยสร้างไทยได้เสนอไว้ก่อนหน้านี้นั้น จะเดินหน้าทำต่อไป โดยเรื่องหลักคือ การลดความเหลื่อมล้ำระหว่างหัวเมืองกับภูมิภาค ที่ไม่ใช่เพียงการกระจายอำนาจทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงอำนาจทางเศรษฐกิจด้วย ปัจจุบัน GDP มากองอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรม ถ้ากระจายรายได้ออกจากตรงนี้ไม่ได้ ก็จะทำให้ท้องถิ่นไม่มีรายได้ไปพัฒนาพื้นที่ตัวเอง ดังนั้นต้องมีคลัสเตอร์ทางเศรษฐกิจกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ให้ครบถ้วน และต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมโยงให้ถึงกันด้วย
น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า สิ่งที่พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรคเห็นตรงกันคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นฉบับประชาชน โดย ส.ส.ร. ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูประบบราชการใหม่ทั้งหมด รวมถึงการปกครองส่วนท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ การปฏิรูประบบการปกครองที่ใหญ่ขนาดนี้นั้น เป็นสิ่งที่ทุกคนฝันที่จะเห็น ตัวอย่างของ กทม.นั้นยังเป็นการกระจายอำนาจที่ยังจำกัดด้วยซ้ำ เชื่อว่าในท้ายที่สุดแล้วการกระจายอำนาจจะต้องไปให้ไกลกว่ารูปแบบของ กทม. อยากให้ทุกคนเชื่อมั่นในประชาชน เชื่อในคนที่ประชาชนเลือกมา ทุกท้องถิ่นในไทยมีของดีมีอัตลักษณ์ที่แตกต่าง ตอนนี้อำนาจที่อยู่ที่ศูนย์กลางต้องถูกคืนไปให้กับประชาชนได้แล้ว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
'ไอติม-กมธ.การเมือง' รุดขอความชัดเจนศาลธรน. หวังได้คำตอบปมทำประชามติ 2 ครั้ง
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน ในฐานะประธานกรรมาธิการการเมืองการมีส่วนร่วม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า อย่างที่เราทราบกันดีว่าการ