ฟรีโหวตบีบก้าวไกล พท.ทุบโต๊ะ10ล้านเสียงไม่ยกเก้าอี้‘ปธ.สภา’/บิ๊กตู่เก็บของ

ผ่าน 2 วัน ส.ส.ใหม่รับหนังสือรับรองเลือกตั้งจาก กกต. 259 คน  เข้ารายงานตัวสภา 87 คน "เพื่อไทย-รทสช." ได้ฤกษ์มา 22 มิ.ย. "ก้าวไกล" ติวเข้ม "ส.ส.ใหม่" ทำงานในสภา ย้ำห้ามทุจริต-ห้ามกร่าง มั่นใจ "พิธา" หายโควิดทันแสดงตัว ส.ส. 27 มิ.ย. "อุ๊งอิ๊ง" ไม่รอดโควิดรอบสอง วงสัมมนา "พท." เดือด! ส.ส.ส่วนใหญ่ค้านประเคน "ประธานสภาฯ" ให้พรรค ก.ก. บอกผู้บริหารแคร์แฟนคลับ 10 ล้านเสียงบ้าง "ภูมิธรรม" แจงยังไม่ได้เคาะเก้าอี้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ "อดิศร" ทุบโต๊ะ ถ้าเกิดความขัดแย้งก็โหวตกันในสภา "เศรษฐา" ลั่นเลอะเทอะพรรคอื่นชงชื่อ "สุชาติ" โหวต ปธ.สภาฯ "บิ๊กตู่" พร้อมรองนายกฯ เริ่มทยอยเก็บของออกจากทำเนียบฯ

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันที่ 21 มิ.ย. บรรยากาศการรับหนังสือรับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งระบบแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ วันที่สอง ยังคงคึกคักตลอดทั้งวัน มี ส.ส.มารับหนังสือรับรองแล้ว 167 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 34 คน และ ส.ส.แบบแบ่งเขต 133 คน หากรวมกับเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. มี ส.ส.รับหนังสือรับรองไปแล้วรวมทั้งสิ้น 259 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทั้งสิ้น 48 คน ยังขาดอีก 52 คน ส่วน ส.ส.แบบแบ่งเขตมีทั้งสิ้น 211 คน ยังขาดอีก 189 คน อย่างไรก็ตาม ส.ส.สามารถเดินทางมารับหนังสือรับรองที่ กกต.ในเวลาราชการได้จนถึงวันที่ 24 มิ.ย.นี้

ส่วนที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานภาพรวมการรายงานตัว ส.ส.ชุดที่ 26 เป็นวันที่สอง บริเวณห้องสัมมนาชั้น บี 1  ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ยังคงมี ส.ส.ทยอยเดินทางมารายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการสภาฯ อย่างต่อเนื่อง บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก โดยซีก 8 พรรคร่วมรัฐบาลมารายงานตัว อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชาติ ที่นำ ส.ส.ของพรรคทั้งอีก 8 คน มารายงานตัว รวมถึงพรรคไทยสร้างไทย ที่นำมาโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย พร้อมด้วย ส.ส.ในสังกัดอีก 5 คน

 ขณะที่ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลเดิม อาทิ นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย, นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์,  นายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพรรคเล็กอย่างพรรคเพื่อไทรวมพลัง (นายสมศักดิ์ บุญประชม ส.ส.อุบลราชธานี), พรรคพลังสังคมใหม่ (นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ ส.ส.บัญชีรายชื่อ) ที่เป็น 2 พรรคเล็กใน 8 ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงพรรคประชาธิปไตยใหม่ (นายสุรทิน พิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ) และพรรคครูไทยเพื่อประชาชน (นายปรีดา บุญเพลิง ส.ส.บัญชีรายชื่อ) มารายงานตัวอีกด้วย

 โดย ส.ส.คนที่มารายงานตัวคนสุดท้ายคือ นายเสมอกัน เที่ยงธรรม ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา สรุปยอด ส.ส.มารายงานตัวในวันที่ 2 รวมทั้งสิ้น 56 คน แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 9 คน,  พรรคพลังประชารัฐ 13 คน, พรรคภูมิใจไทย 2 คน, พรรคประชาธิปัตย์ 11 คน,  พรรคประชาชาติ 9 คน, พรรคไทยสร้างไทย 6 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน, พรรคเพื่อไทรวมพลัง 1 คน, พรรคพลังสังคมใหม่ 1 คน, พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 คน และพรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 คน ทั้งนี้ รวม 2 วัน (20-21มิ.ย.) มี ส.ส.มารายงานตัวรวมทั้งสิ้น 87 คน จากทั้งหมด 500 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเปิดรับรายงานตัว ส.ส.ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 22 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันที่ 3 ทางพรรคเพื่อไทยจะนำ ส.ส.ที่เหลือทั้งหมดเดินทางมารายงานตัวในช่วงเช้า เช่นเดียวกับพรรครวมไทยสร้างชาติ  ก็จะนำ ส.ส.ทั้ง 36 คน มารายงานตัวด้วย

'ก้าวไกล' ติวเข้ม ส.ส.ใหม่

ที่สนามกอล์ฟพัฒนาสปอร์ต รีสอร์ท อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ส.พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ เข้าร่วมการสัมมนาเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดประชุมสภาในช่วงระหว่างวันที่ 21-23 มิ.ย.66

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ก.ก. กล่าวเปิดการสัมมนาตอนหนึ่งว่า  การจัดงานครั้งนี้เพื่อให้ ส.ส.พรรคทั้ง 151 คน มีความพร้อมในการทำงานมากที่สุด ทันทีที่เปิดประชุมสภา เพราะครั้งนี้มี ส.ส. ใหม่กว่า 100 คน จำเป็นต้องได้รับการชี้แจงขั้นตอนการทำงานในสภา รวมถึงระเบียบข้อบังคับต่างๆ และที่สำคัญที่สุดคือพรรค ก.ก.ได้เตรียมเสนอร่างกฎหมายทันทีที่สภาเปิดมากกว่า 40 ฉบับ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ ส.ส.จะได้รับทราบ ทำความเข้าใจเนื้อหาร่างกฎหมายแต่ละฉบับ เพื่อให้ทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ในการเสวนาดังกล่าว นายชัยธวัชเน้นย้ำ ส.ส.ของพรรคยึดนโยบาย zero tolerance หรือไม่ทนต่อการทุจริตคอร์รัปชัน การมีผลประโยชน์ทับซ้อนทุกชนิด ไม่ว่าในทางตรงหรือทางอ้อม และ ส.ส.ต้องไม่ทำตัวอยู่เหนือประชาชน ต้องตระหนักอยู่เสมอว่าได้เข้าสู่สภาด้วยแรงสนับสนุนจากประชาชน ได้รับเงินเดือนจากภาษีประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสัมมนามีการเชิญนายธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม มาให้ความรู้กับ ส.ส. เกี่ยวกับกระบวนการนิติบัญญัติ และเล่าประสบการณ์การทำงานในแวดวงการเมืองด้วย

อย่างไรก็ดี ในการเสวนาครั้งนี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ไม่ได้เดินทางมาด้วย เนื่องจากติดเชื้อโควิด-19 ต้องของดภารกิจและเลื่อนการประชุม 8 แกนนำพรรคการเมืองร่วมจัดตั้งรัฐบาล

"อาการป่วยโควิดล่าสุดไม่มีอะไรรุนแรง มีไข้เพียงเล็กน้อย แต่ยังมีอาการไอ คาดว่าน่าจะหายทันในวันที่ 27 มิ.ย. เป็นวันที่ ส.ส.พรรคก้าวไกลรวมตัวกันไปรายงานตัวต่อสภาพร้อมกัน" แหล่งข่าวระบุ

ด้าน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย (พท.) โพสต์อินสตาแกรมรูปภาพการตรวจ ATK ติดโควิด ระบุว่า “เอ๊าแม่!!! ไม่ต้องตามกระแสก็ได้นะคะ!!! ลูกยังเล็กกกกก #เกมส์ชะงั้น  เจ็บคอตั้งแต่วันอาทิตย์ จิ้มทุกวันไม่เจอ  เจอเช้านี้ งงเลยอะไรก็ได้ ขอให้ 2 จิ๋วที่บ้าน ไม่ติดพออออ”

ทั้งนี้ น.ส.แพทองธารติดโควิดครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 อย่างไรก็ตาม เย็นวันที่ 21 มิ.ย. น.ส.แพทองธารมีกำหนดขึ้นบรรยายในการสัมมนา ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ที่โรงแรมเอสซีปาร์ค แต่ต้องงดภารกิจเนื่องจากตรวจพบโควิดก่อน

พท.รุมค้านยก 'ปธ.สภา' ก.ก.

ที่โรงแรมเอสซีปาร์ค กรุงเทพฯ พรรค พท.จัดงานสัมมนา ส.ส.จำนวน 141 คน ทั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อและ ส.ส.เขต เพื่อไปเข้าทำหน้าที่ในสภา รวมทั้งการมอบนโยบายการทำหน้าที่ ส.ส.ของประชาชนในการประสานงานในสภา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการสัมมนา นายอดิศร เพียงเกษ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์แสดงความไม่พอใจแกนนำพรรค ที่ออกมาระบุจะยึดหลักการให้พรรคอันดับหนึ่งได้ตำแหน่งประธานสภาฯ และพรรคอันดับสองได้ตำแหน่งรองประธานสภาฯ สองเก้าอี้ ได้ทักทายกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค พท. พร้อมจับมือพูดคุยกัน และบอกกับนักข่าวที่ยืนอยู่ว่า สนิทกันดีเคยทำงานกระทรวงเดียวกัน ตอนอยู่ป่าก็อยู่ด้วยกัน โดยนายอดิศรระบุว่า สิ่งที่แสดงความคิดเห็นไปเพื่อพรรคทั้งนั้น ขณะที่นายภูมิธรรมระบุว่ามีอะไรก็ขอให้พูดคุยกัน วันนี้ก็เบาๆ หน่อยนะ

จากนั้น เวลา 10.00 น. พรรคเพื่อไทยเปิดโอกาสให้ ส.ส.ได้แสดงความคิดเห็น ภายใต้หัวข้อ “เพื่อไทยเปิดใจ เพื่ออนาคตไทย” โดยนายภูมิธรรมได้กล่าวเปิดใจถึงกระบวนการทำงานในการเป็นตัวแทนพรรคไปทำหน้าที่เจรจาในการร่วมจัดตั้งรัฐบาลว่า ที่ผ่านมาพวกตนได้ดำเนินการตามที่คณะกรรมการบริหารพรรคมอบหมาย การพูดคุยกับพรรคก้าวไกลได้เสนอไปว่า แต่ละพรรคได้ ส.ส.ใกล้เคียงกันก็ควรได้ตำแหน่งรัฐมนตรีพรรคละ 14 คน พรรคก้าวไกลได้ ส.ส.มาที่หนึ่ง ก็ควรได้ประมุขฝ่ายบริหาร พรรคเพื่อไทยควรได้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ยังรอคำตอบจากทางพรรคก้าวไกล แต่การให้ข่าวของตนและเลขาธิการพรรค อาจจะทำให้สมาชิกพรรคเกิดความไม่สบายใจหรือความไม่พอใจ เรื่องการยึดหลักการเรื่องการยึดหลักพรรคอันดับหนึ่ง วันนี้จึงเปิดโอกาสให้ ส.ส.ได้แสดงความเห็นได้เต็มที่

จากนั้นนายอดิศรเป็นคนแรกที่แสดงความคิดเห็นว่า เรื่องประธานสภาฯ ตนไม่เห็นด้วยที่เรา 141 เสียง เขา 151 เสียง แต่เราไปยอมเขาทุกเรื่องราว พรรคก้าวไกลเขาควรได้เป็นฝ่ายบริหาร แต่จะหาวเอาเดือนเอาดาว เอาประธานสภาฯ ไปด้วย มันจะง่ายเกินไปหน่อย ไม่เห็นเพื่อนฝูงอยู่ในสายตา ตนตรงไปตรงมา สู้ให้พรรคเพื่อไทยยิ่งใหญ่ ไม่ใช่ลูกน้องของพรรคการเมืองใด เห็นใจในการเจรจา ไม่ทราบว่าเจรจาอย่างไร ถ้าเขาได้นายกฯ เราได้ประธานสภาฯ มันจะสง่างาม และจะได้ถ่วงดุลการทำงานด้วยกัน ถึงอย่างไรเราก็ไม่สามารถให้ประธานสภาฯ กับพรรคก้าวไกลได้

"เมื่อเกิดความขัดแย้งก็โหวตกันในสภา ผมยืนยันว่าศักยภาพของเรา เรามีบุคลากรที่เหมาะสม ผมไม่อยากเห็นพระบวชใหม่มาเป็นเจ้าอาวาส เรามีบุคลากรเยอะ อย่าไปยอมให้เขาง่าย เราอย่าไปห่วงความรู้สึกเขา คุณจะเป็นพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทย เรื่องประธานสภาฯ ถึงอย่างไรผมคิดว่าต้องเป็นของพรรคเพื่อไทย เพื่อให้รัฐบาลผสมเดินทางไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม” นายอดิศรกล่าว

จากนั้นมี ส.ส.ลุกขึ้นแสดงความเห็นกว่า 10 ราย โดยมีเนื้อหาอภิปรายในหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นตำแหน่งประธานสภาฯ ที่เสียงส่วนใหญ่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของ ส.ส. 141 คนของพรรคต่างมีความเห็นว่าตำแหน่งดังกล่าวควรอยู่ที่พรรคเพื่อไทย และไม่ควรยกให้พรรคก้าวไกล เนื่องจากเราได้ ส.ส.น้อยกว่าพรรคก้าวไกลเพียง 10 เสียง ฉะนั้นควรแบ่งตำแหน่งประมุขให้ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อการถ่วงดุลในการทำงาน

"แม้จะมีกล่าวอ้างกระแสสังคม โดยเฉพาะแฟนคลับพรรคก้าวไกล แต่ต้องไม่ลืมความรู้สึกของแฟนคลับพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีกว่า 10 ล้านเสียงเช่นกัน เมื่อเขาเลือกเรามา ก็หวังให้เราได้ทำงาน และมองว่าการที่ไปเจรจาอะไรมา ก่อนจะให้ข่าวก็ควรมาแจ้ง ส.ส.รับทราบก่อน" แหล่งข่าวระบุ

ทั้งนี้ การเปิดเวทีให้ ส.ส.ได้แสดงความคิดเห็นในวันนี้ ไม่มีข้อสรุปออกมา โดยเฉพาะประเด็นตำแหน่งประธานสภาฯ เพียงแค่เปิดพื้นที่ให้แสดงความคิดเห็น

ปัดวุ่นพรรคอื่นหนุนสุชาติ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการสัมมนาครั้งนี้ นายสุชาติ ตันเจริญ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีกระแสข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐจะเสนอชื่อเป็นประธานสภาฯ ไม่ได้มาร่วมงาน ทั้งที่มีรายชื่อเป็นผู้บรรยายกิจกรรมในช่วงบ่าย ที่แบ่ง ส.ส.กันไปสัมมนาเป็นรายกลุ่ม ซึ่งคนใกล้ชิดให้เหตุผลว่า เพิ่งไปผ่าฟันคุด

อย่างไรก็ตาม ก่อนเริ่มสัมมนา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค พท. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ส.ส.ในพรรคไม่พอใจหากยกตำแหน่งประธานสภาฯ ให้พรรคก้าวไกลว่า เราเป็นองค์กรทางการเมือง ซึ่งมีคนหลากหลาย ฉะนั้นเรื่องความเห็นต่างเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญ และเรายอมรับ ส่วนจะเป็นการตีความว่าไม่พอใจหรือไม่ ขึ้นอยู่กับอารมณ์แต่ละคน ทางพรรคถือเป็นความสวยงามในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเราเป็นฝ่ายบริหาร มีหน้าที่ต้องฟังและพูดคุย เพื่อนำความเห็นต่างมาเป็นความเห็นร่วมของพรรคให้ได้

ถามว่า มองอย่างไรกับกระแสข่าวที่พรรค พปชร.เตรียมเสนอชื่อนายสุชาติ ตันเจริญ แกนนำพรรค พท. เป็นประธานสภาฯ นพ.ชลน่านกล่าวว่า “ผมมองยังไง ผมก็มองไม่เห็น” และกล่าวต่อว่า จริงอยู่ว่าการทำหน้าที่สมาชิกสภาเป็นเอกสิทธิ์ ซึ่งเป็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่เราอยู่ในฐานะที่เป็นองค์กรทางการเมือง เป็นสถาบันทางการเมือง เป็นพรรคการเมืองย่อมมีความคิดเห็น โดยมีหลักสำคัญคือ หลักเสียงข้างมากแต่เคารพเสียงข้างน้อย ซึ่งเป็นหลักที่เราใช้ขับเคลื่อนบริหารพรรคมาโดยตลอด

 “ยกตัวอย่างง่ายๆ ผมพูดตรงนี้ไว้เลยว่า หากมีการเสนอชื่อผม โดยที่ผมไม่รู้  และมติพรรคเราชัดเจนว่าเราจะต้องสนับสนุนตามหลักการที่เราแถลงไว้ หากมีคนใดคนหนึ่งลุกขึ้นมาเสนอชื่อผม แข่งประธานสภาฯ ผมก็จะลุกขึ้นบอกว่า ผมขอถอนตัว” นพ.ชลน่านกล่าว

ซักว่า การโหวตเรื่องนี้จะเป็นมติของพรรคชัดเจนใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราต้องมีเสียงข้างมากของพรรคเป็นมติไป และต้องยอมรับความเห็นต่าง หากปล่อยให้ความเห็นต่างที่ไม่มีความเห็นร่วมไปแบบนั้น มันคือความขัดแย้ง

นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรค พท. และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวคนจากพรรคอื่นจะเสนอคนของพรรค พท.นั่งประธานสภาฯ ว่า “ส่วนตัวผมว่าเลอะเทอะ"

ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ กล่าวว่า การเลือกประธานสภาฯ ปกติหากมีคู่แข่งต้องลงมติลับ แต่หากมีชื่อคนเดียวไม่เป็นปัญหา และเราจะปฏิบัติตามข้อตกลงในการจัดตั้งรัฐบาลว่าจะให้พรรคใด ได้ตำแหน่งประธานสภาฯ และพรรคประชาชาติจะลงมติตามมติพรรค และข้อตกลงของพรรคร่วมรัฐบาล

"ที่มีข้อสังเกตว่าหากมีปัญหาจะปล่อยให้ ส.ส.ฟรีโหวต ผมมองว่าปกติไม่เป็นแบบนั้น เพราะจะทำให้เกิดปัญหาตามมา” นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว

ถามถึงการเสนอชื่อประธานสภาฯ แข่งขันของพรรคตรงข้าม หัวหน้าพรรคประชาชาติกล่าวว่า ฝ่ายตรงข้ามเสนอแข่งตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่กรณีที่ฝ่ายตรงข้ามเสนอชื่อบุคคลในพรรคที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามแข่งนั้น ตนไม่ค่อยเห็น อย่างไรก็ดี การออกเสียงเพื่อเลือกประธานและรองประธานสภาฯ ของพรรคประชาชาติ จะเป็นไปตามมติของพรรคและมติพรรคร่วมรัฐบาล

ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) กล่าวถึงกระแสข่าวไม่ขอรับตำแหน่งใดว่า ในการประชุมยุทธศาสตร์ของพรรคเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้แจ้งต่อที่ประชุมถึงความประสงค์ไม่ขอรับตำแหน่งใดๆ แต่มีเสียงคัดค้านว่าสถานการณ์การเมืองขณะนี้ไม่นิ่ง คณะผู้บริหารพรรคและ ส.ส.ขอให้มีการพูดคุยกันก่อน โดยให้ดูจากห้วงเวลาที่เหมาะสมควรช่วยกันประคับประคองให้มีรัฐบาลประชาธิปไตย โดยใช้ประสบการณ์ของตนช่วย ดังนั้นจึงต้องมารายงานตัวเป็น ส.ส. แล้วจึงคอยมาคุยอีกครั้ง ตอนนี้ยังต้องเป็น ส.ส.ไปก่อน แต่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นนานเท่าไหร่ ขอยืนยันว่าไม่ยึดติดตำแหน่ง ยังไม่ทราบว่าจะลาออกเมื่อไหร่

'บิ๊กตู่' เริ่มทยอยเก็บของ

วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เดินทางเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ที่ห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เวลา 10.00 น.

มีรายงานว่า คณะทำงานได้ทยอยเก็บของใช้ส่วนตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ไปบ้างแล้ว โดยในส่วนของพระพุทธรูปที่ พล.อ.ประยุทธ์อัญเชิญมาบูชาที่ห้องทำงาน ได้ทยอยอัญเชิญกลับไปยังบ้านพักบ้างบางส่วน สำหรับเอกสารสำคัญต่างๆ ในส่วนที่ไม่จำเป็นต้องใช้ได้ทยอยทำลาย และบางส่วนได้เก็บกลับไป เพื่อเตรียมส่งคืนห้องทำงานให้กับนายกรัฐมนตรีคนใหม่

เช่นเดียวกับห้องทำงานของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านี้ได้มีการทยอยเก็บของใช้ส่วนตัวออกบ้างแล้ว และสำหรับห้องทำงานของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่มีการนำปลามังกรมาเลี้ยงไว้ มีรายงานว่าปลามังกรยังคงอยู่เช่นเดิม

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ถึงกระแสข่าวนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เตรียมยื่นใบลาออกจากตำแหน่งก่อนเข้ารายงานตัวเป็น ส.ส.ในวันที่ 22 มิ.ย.ว่า นายพีระพันธุ์ยังไม่จำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีก็สามารถเข้ารายงานตัวต่อสภาได้ ควบคู่กับการทำงานในหน้าที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรี จนกว่าจะปฏิญาณตนต่อที่ประชุมสภาเพื่อทำหน้าที่ ส.ส. ซึ่งหลังจากลาออกแล้ว มีรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอีกหลายคนอยู่ทำหน้าที่ช่วงระหว่างรอรัฐบาลใหม่ได้

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า ตอนนี้ก็ต้องไปรับเอกสารกับ กกต. มีแผนจะเข้าสภาวันจันทร์หน้า ส่วนวัน 25 มิ.ย.จะมีการปฐมนิเทศ ส.ส.ก่อน

ถามถึงแนวโน้มในการโหวตประธานสภาฯ นายอนุทินกล่าวว่า ต้องพูดคุยกันวันอาทิตย์นี้ ทุกคนมีเอกสิทธิ์ แต่ก่อนไปลงมติ ต้องหารือกันก่อนว่าจะไปทางไหน จุดแข็งของเราคือความเป็นเอกภาพ ก็ต้องรักษาไว้ต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง