‘โอมิครอน’โผล่ไทย นักธุรกิจมะกันติดคนแรก สธ.ยันไม่ต้องตื่นตระหนก

“โอไมครอน” โผล่เมืองไทยแล้ว นักธุรกิจมะกันอายุ 35 ปีที่อาศัยในสเปนเดินทางเข้ามาเมื่อ 1 ธ.ค. ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ 47 ของโลก “หมอศุภกิจ” ชี้จะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ต้องตระหนก “นพ.โอภาส” เผยตรวจสอบผู้สัมผัสใกล้ชิดทั้งพนักงานการบิน-โรงแรม 19 คนไม่พบเชื้อ ระบุแม้แพร่เร็วแต่อาการไม่รุนแรง “บิ๊กตู่” ทราบเรื่องแต่ยังไม่เปลี่ยนแปลงนโยบาย รอถกหน่วยงานเกี่ยวข้องและประชุม ศบค.ก่อน

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 ​นพ.ศุภกิจ​ ศิริ​ลักษณ์​ อธิบดี​กรม​วิทยา​ศาสตร์​การแพทย์​ และ นพ.โอภาส​ การ​ย์​กวิน​พงศ์​ อธิบดี​กรมควบคุม​โรค​ แถลงสถานการ​ณ์การเฝ้าระวังไวรัสโคโรนาสายพันธุ์​โอไมครอน โดย นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ภาพรวมการติดเชื้อโควิดในไทยเกือบ 100% ยังคงเป็นสายพันธุ์เดลตา มีอัลฟาเล็กน้อย ส่วนเบตาอยู่ในพื้นที่วงจำกัด โดยเมื่อสัปดาห์ก่อนมีการสุ่มตรวจหาสายพันธุ์โควิดราว 800 ราย ส่วนใหญ่ยังเป็นเดลตา​มากถึง 99.87% ซึ่งเกณฑ์การสุ่มตรวจสายพันธุ์โควิดจะพิจารณาจากผู้ป่วยมีอาการหนัก เดินทางมาจากต่างประเทศ หรือเกิดคลัสเตอร์แบบไม่ทราบสาเหตุขึ้น ซึ่งโดยปกติจะตรวจ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.RT-PCR ใช้เวลา 1-2 วัน 2.Targeted Sequencing ดูรหัสพันธุกรรมใช้เวลา 3 วัน และ 3.ตรวจจีโนม ตรวจรหัสพันธุกรรมเชื้อโควิดทั้งหมดใช้เวลาราว 7 วัน

นพ.ศุภกิจกล่าวอีกว่า โอไมครอนจะดูการกลายพันธุ์ได้จากรหัสพันธุกรรมไวรัสที่ Del 69-70 และ K417N ซึ่งที่ผ่านมาพบผู้ต้องสงสัยว่าติดสายพันธุ์​โอไมครอน 1 ราย เป็นชายชาวสหรัฐ​อเมริกา เดินทางมาจากประเทศสเปน ในรูปแบบ Test&Go แต่ยังไม่ทราบว่าได้เดินทางไปในพื้นที่แอฟริกาหรือไม่ ซึ่งจากการตรวจหารหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิดพบมีการกลายพันธุ์ 3-4 ตำแหน่ง ได้แก่ Del69-70, K417N, T478K และ N501Y ซึ่งยืนยันได้ว่า 99.92% เป็นโควิดสายพันธุ์โอไมครอน และได้ตรวจจีโนมในวันที่ 3 ธ.ค.เพื่อยืนยันเพิ่มเติมแล้ว

“ขณะนี้ประเทศไทยพบสายพันธุ์โอไมครอนเป็นรายแรกเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะมีรายต่อๆ ไปตามมา แต่ขอประชาชนอย่าเพิ่งตื่นตระหนก ในส่วนของมาตรการต่อจากนี้ไปจะมีการสุ่มตรวจจีโนมมากขึ้น โดยเฉพาะชายแดนมาเลเซียที่พบมีการติดโควิดโอไมครอนเช่นเดียวกัน” นายศุภกิจระบุ

ด้าน นพ.โอภาสกล่าวว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 พบได้ตลอดเวลา โดยต้องเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ที่ทำให้ระบาดมากขึ้น ป่วยรุนแรงมากขึ้น ดื้อยา วัคซีนมีประสิทธิภาพลดน้อยลง ซึ่งพบในสายพันธุ์แกรมมา, อัลฟา, เบตา และเดลตา ล่าสุดคือสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งขณะนี้ยังมีข้อมูลอย่างเป็นทางการไม่มากนัก โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่ายังไม่พบผู้เสียชีวิตจากสายพันธุ์โอไมครอน โดยสายพันธุ์นี้เริ่มต้นระบาดในแอฟริกาใต้ช่วงปลายเดือน พ.ย.64 พบการพุ่งขึ้นของจำนวนผู้ป่วย และขณะนี้สายพันธุ์โอไมครอนพบแล้วใน 46 ประเทศ โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่ 47 ซึ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 15 ประเทศ พบเชื้อในผู้เดินทาง 31 ประเทศ

นพ.โอภาสกล่าวว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์​โอไมครอนรายแรกเป็นชาย อายุ 35 ปี สัญชาติสหรัฐ​อเมริกา​ อาศัยอยู่ในสเปนมา 1 ปี เป็นนักธุรกิจ ไม่มีอาการ โดยในวันที่ 28 พ.ย.ตรวจ RT-PCR ที่สเปนผลไม่พบเชื้อ หลังจากนั้นไปทานข้าวกับเพื่อน ซึ่งเพื่อนก็ไม่มีอาการป่วย โดยเมื่อเดินทางมา​ถึงไท​ยก็ได้มีการตรวจอีกครั้งและพบเชื้อในวันที่ 1 ธ.ค. ซึ่งมีค่าตรวจ Ct ค่อนข้างสูง ก็ได้ตรวจยืนยันที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์​ ทั้งนี้ผู้ป่วยรายนี้ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งซึ่งมีอาการน้อยมาก

นพ.โอภาสกล่าวว่า จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่าผู้ป่วยรายนี้ไม่มีอาการ ปฏิเสธ​โรค​ประ​จำตัว ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ในช่วงแรกรับทุกอย่างปกติดีหมด เอกซเรย์​ปกติและผลเลือดปกติ แต่ตรวจเจอเชื้อ ในส่วนของการตรวจหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงยืนยันว่าไม่มี ส่วนใหญ่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ซึ่งผู้ป่วยรายนี้ใส่หน้ากากตลอดเวลา ตอนนั่งเครื่องบินก็นั่งคนเดียว ไม่ได้นั่งติดกับคนข้างๆ เมื่อมาถึงไทยตอนอยู่โรงแรมเขาก็ได้ทำ Test&Go อย่างไรก็ตามผู้ที่มีประวัติ​เจอ สธ.ก็จะสอบสวนตรวจสอบหาเชื้อทุกคน โดยขณะนี้ทุกคนที่เราตรวจสอบไม่มีใครติดเชื้อเพิ่มเติม แต่ต้องติดตามจนครบระยะฟักตัวของโรค

"สายพันธุ์​โอไมครอนดูเหมือนจะแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์​ที่ผ่านมาประมาณ 2-5 เท่า ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อยคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ แยกยากจากสายพันธุ์​อื่นๆ ที่มีรายงานจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่ไม่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล​ และยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตจากสายพันธุ์​โอไมครอน ตรงกับข้อมูลหลายหน่วยงานว่าความรุนแรงน้อยกว่าเดลตาค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นที่ WHO แนะนำคือฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งเราจะเร่งฉีดให้มากที่สุด" นพ.โอภาสกล่าวและว่า โอไมครอนติดต่อผ่านละอองฝอยน้ำลาย การแพร่ระบาดผ่านอากาศพบได้น้อย เฉพาะพื้นที่อับ โดยวัคซีนยังมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อ 50-80% และป้องกันการเสียชีวิตและลดความรุนแรงของโรค 80-90%

ขณะที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชี้แจงผลสอบสวนเบื้องต้นผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนรายแรกว่า เป็นชายอายุ 35 ปี สัญชาติสหรัฐอเมริกา อาศัยอยู่ที่สเปนเป็นเวลา 1 ปี อาชีพนักธุรกิจ ไม่มีโรคประจำตัว ได้รับวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 1 เข็มจากสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.64 เมื่อติดเชื้อโควิดไม่แสดงอาการ ไม่มีประวัติการตรวจพบเชื้อมาก่อนในอดีต มีผู้สัมผัสทั้งหมดแบ่งเป็นที่โรงแรม 17 คน และพนักงานในสนามบิน 2 คน โดยไทม์ไลน์วันที่ 28 พ.ย.64 ตรวจ RT-PCR ที่สเปนไม่พบเชื้อ หลังจากนั้นไปทานข้าวกับเพื่อน ซึ่งเพื่อนไม่มีอาการป่วยจนถึงปัจจุบัน ต่อมาวันที่ 29 พ.ย.64 บินจากสเปนไปดูไบ เที่ยวบิน EK142 พักที่ดูไบ 9 ชั่วโมง ไม่ได้พูดคุยกับใคร สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา จากนั้นวันที่ 30 พ.ย.64 บินจากดูไบมากรุงเทพฯ เที่ยวบิน EK372 หลังจากลงเครื่องในเวลาเที่ยงคืน ไปเก็บตัวอย่างแบบ Drive thru ที่โรงพยาบาลคู่สัญญา และกลับเข้าโรงแรมในโครงการ Test&Go ต่อมาวันที่ 1 ธ.ค.64 ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลว่าตรวจพบเชื้อโควิด-19 และวันที่ 3 ธ.ค.64 ส่งตัวอย่างเชื้อตรวจยืนยันที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

โดย ศบค.ยังรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ของไทยว่า มีจำนวน 4,000 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,966 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 3,811 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 155 ราย มาจากเรือนจำ 27 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 7 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 6,450 ราย อยู่ระหว่างรักษา 69,010 ราย อาการหนัก 1,259 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 330 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 22 ราย เป็นชาย 13 ราย หญิง 9 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 12 ราย มีโรคเรื้อรัง 8 ราย พบผู้เสียชีวิตมากสุดในชลบุรี 3 ราย ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,145,241 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,055,265 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 20,966 ราย ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.เพิ่มเติม 186,386 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ทั้งสิ้น 95,437,744 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 266,123,730 ราย เสียชีวิตสะสม 5,270,662 ราย

ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบจาก สธ.ถึงการตรวจพบผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 ต้องสงสัยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนรายแรกแล้ว โดย สธ.ยังยืนยันว่าสายพันธุ์ส่วนใหญ่ที่พบขณะนี้ในไทยยังเป็นสายพันธุ์เดลตา 65.97% อัลฟา 32.48% และเบตา 1.54% โดยนายกฯ จะร่วมกับ สธ., คณะแพทย์, ผู้ทรงคุณวุฒิ และที่ปรึกษาเพื่อติดตามพัฒนาการของสถานการณ์โควิด-19 อย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแนวทางหรือนโยบาย ซึ่งทุกอย่างจะต้องมีการนำเข้าสู่ที่ประชุม ศบค.ในครั้งต่อไป

“นายกฯ เชื่อมั่นระบบสาธารณสุขไทย มีกระบวนการเฝ้าระวัง ตรวจสอบและคัดกรองที่มีประสิทธิภาพและเข้มข้นสูง สามารถวินิจฉัยผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งขอให้พี่น้องประชาชนตระหนักแต่อย่าได้ตระหนก” นายธนกรกล่าว

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊กในเรื่องนี้ว่า "อย่าตกใจต้องติดตามข้อมูล เพื่อทำความรู้จักกับโอไมครอนเขาให้ดี ถ้าเขามาแบบไม่มีอะไรใหม่กว่าเดิม เช่นแม้แพร่กระจายได้เร็ว แต่ผู้ติดเชื้ออาการไม่รุนแรงกว่าเดิม ก็ไม่ใช่เรื่องน่าวิตกกังวลจนเกินไป ยกเว้นเมื่อรวบรวมผู้ติดเชื้อโอไมครอนได้มากพอแล้วสรุปได้ว่าเขาแพร่กระจายได้เร็วกว่ามาก ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรงมากกว่า มีผู้เสียชีวิตในกลุ่มหนุ่มสาว แข็งแรง อายุยังไม่มากได้มากกว่าเดลตา อันนี้ต้องคิดหนักและต้องตัดสินใจสกัดกั้นอย่างไรอันนั้นค่อยว่ากัน"

ส่วนนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด ระบุว่า ได้กำชับไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย สงขลา, ยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส และสตูลให้มีความเข้มงวดแล้ว หลังพบสายพันธุ์โอไมครอนรายแรกในมาเลเซีย โดยมี 5 แนวทางปฏิบัติ คือ 1.สร้างการรับรู้และความเข้าใจมาตรการสำคัญของทางราชการอย่างต่อเนื่อง 2.เพิ่มความเข้มข้นการตรวจตราและสอดส่องดูแล ไม่ให้มีการลักลอบหลบหนีเข้าประเทศและการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว 3.ดำเนินมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุก 4.ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และ 5.เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่เข้ารับการฉีดวัคซีน โดยมุ่งเน้นกลุ่ม 608 และประชาชนทั่วไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อวยทักษิณชนะนายกอบจ.

"ภูมิธรรม" โว พท.ชนะนายก อบจ.อุดรฯ เป็นเรื่องธรรมดา เหตุ ปชช.ยังรัก “ทักษิณ” ชอบผลงานที่ทำมา