พาเหรดสับดอน ทำเกิน‘บทบาท’ เชิญเมียนมาถก

“ดอน” ไม่ปฏิเสธเชิญเมียนมา สมาชิกอาเซียนและนอกอาเซียนหารือปัญหา เผยครั้งนี้เป็นรอบที่ 3 แล้ว รับไทยมีพรมแดนติดต่อยาวเหยียดจึงต้องกระตือรือร้น ส่วนรัฐบาลใหม่จะสานต่อหรือไม่ก็พิจารณาเอง “นันทิวัฒน์” ย้ำหากปล่อยไว้อาจเป็นยูเครน 2 “พท.-ทสท.-เป็นธรรม” พาเหรดจวกไม่ใช่หน้าที่รัฐบาลรักษาการ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 มิ.ย. มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากกระแสข่าวนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ส่งหนังสือเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) รวมถึงรัฐมนตรีต่างประเทศของเมียนมา  ให้เข้าร่วมหารืออย่างไม่เป็นทางการเพื่อหาทางคลี่คลายสถานการณ์ในเมียนมา   หรือ Track 1.5  ระหว่างวันที่ 19 มิ.ย.นี้ ที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี

โดยสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กระทรวงข่าวสารเมียนมาออกแถลงการณ์ว่า นายตาน ฉ่วย รมว.กต.เตรียมเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการหารืออย่างไม่เป็นทางการ เช่นเดียวกับนายปรัก สุคน รมว.กต.กัมพูชา ระบุว่าจะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ขณะที่อินโดนีเซียซึ่งทำหน้าที่ประธานอาเซียนประจำปีนี้กล่าวเพียงว่าไม่ทราบเรื่อง

ส่วนนายวิเวียน บาลากริชนัน รมว.กต.สิงคโปร์ ระบุสั้นๆ ว่ายังไม่ถึงเวลาอันสมควร

ด้านนายบุ่ย แทงห์ เซิน รมว.กต.เวียดนาม ระบุว่า ไม่สามารถเข้าร่วมได้ เนื่องจากติดภารกิจอื่น ในขณะที่ รมว.กต.ลาวและบรูไนยังปฏิเสธให้ความเห็นในเรื่องนี้

ในขณะที่รัฐบาลแห่งชาติ (เอ็นยูจี)  ซึ่งเป็นองค์กรการเมืองของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ออกแถลงการณ์ว่า การเชิญรัฐบาลทหารเมียนมาที่ไม่มีความชอบธรรมเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการคลี่คลายวิกฤตการณ์ในเมียนมา เช่นเดียวกับองค์กรการเมือง 81 แห่งที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับเมียนมา ลงนามร่วมกันในจดหมายเปิดผนึกว่าการหารือลับครั้งนี้ขัดแย้งอย่างโจ่งแจ้งต่อจุดยืนของอาเซียนในการไม่เชิญรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมการประชุมระดับสูง และเรียกร้องรัฐบาลไทยยกเลิกการหารือครั้งนี้

นายดอนกล่าวในเรื่องนี้ว่า การหารือดังกล่าวจะมีขึ้นในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ โดยไม่ได้เป็นการประชุมในนามของอาเซียน  แต่เป็นการเชิญเปิดเผยไปยังประเทศที่มีความสนใจ หรือพร้อมจะรับฟังข้อมูลจากฝ่ายเมียนมา มาร่วมพูดคุยกัน ซึ่งเชิญประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศนอกอาเซียน ส่วนจะมีรัฐมนตรีหรือผู้แทนของประเทศใดมาเข้าร่วมด้วยนั้น ต้องรอดูเมื่อถึงเวลาจริงในวันที่ 19 มิ.ย. โดยไทยไม่ได้จัดการหารือเช่นนี้เป็นครั้งแรก เพราะเคยจัดมาแล้ว 2 ครั้ง  แต่ไม่ได้ออกข่าว เนื่องจากในวงหารือได้ตกลงกันว่าจะไม่มีการออกข่าวใดๆ ส่วนการหารือในวันที่ 19 มิ.ย. ถือเป็นครั้งที่ 3 จะมาพูดคุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาว่าเขาได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง และจะเดินหน้าต่ออย่างไร รวมถึงจะได้นำสิ่งที่พูดคุยกันนี้ไปเสริมกับการทำงานของประธานอาเซียน

นายดอนกล่าวอีกว่า เรื่องการทูตไม่ได้ยึดติดกับแนวทางอย่างใดอย่างหนึ่ง บางครั้งต้องทำแบบเงียบๆ ทำแบบนุ่นนวล ประเทศไทยเป็นเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับเมียนมายาวหลายพันกิโลเมตร จึงทำให้เราต้องใส่ใจและร่วมหาทุกวิถีทางมาช่วยเสริมในการแก้ไขปัญหาของเมียนมา เพราะเราอยากให้สถานการณ์ในเมียนมายุติเร็วที่สุด ถ้าเมียนมาสามารถยุติการสู้รบภายในประเทศเขาได้ ก็จะเกิดประโยชน์กับไทยด้วย และภูมิภาคอาเซียนเกิดสันติสุข

“ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนไม่ได้มีชายแดนติดกับเมียนมา เขาจึงไม่ได้รับรู้ผลเหมือนกับไทยที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากปัญหาในเมียนมา ซึ่งเราจะได้นำสิ่งที่ได้จากการหารือครั้งนี้ไปเตรียมตัวสำหรับการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (เอเอ็มเอ็ม) และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือน ก.ค.นี้ ทั้งหมดนี้เป็นการเสริมแนวทางหลักของอาเซียน และช่วยให้แก้ปัญหาของเมียนมาได้เร็วขึ้น”

เมื่อถามว่า จากการได้หารือลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง ฝ่ายเมียนมามีท่าทีพร้อมทำตามมติของอาเซียนหรือไม่ นายดอนกล่าวว่า เรารับรู้ว่าเมียนมาพยายามดำเนินการอยู่หลายเรื่อง ซึ่งรวมถึงปล่อยตัวนักโทษการเมืองแล้วหลายคน

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีบางฝ่ายวิจารณ์ว่าขณะนี้อยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ จึงควรพักไปก่อน แล้วรอให้รัฐบาลชุดใหม่มาดำเนินการ นายดอนกล่าวว่า การหารือดังกล่าวเป็นสิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันทำมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนรัฐบาลชุดใหม่จะมาทำต่อหรือจะเริ่มทำใหม่ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลใหม่พิจารณาเอง

นายนันทิวัฒน์ สามารถ เลขานุการ รมว.กต. กล่าวในช่องเนชั่นทีวี ตอนหนึ่งว่า จากการประเมินสถานการณ์ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เนื่องจากสถานการณ์การสู้รบในเมียนมากระทบถึงชายแดนไทย ซึ่งมีพรมแดนติดต่อกันยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร ซึ่งการนัดหารือเป็นอำนาจที่รัฐบาลรักษาการจะดำเนินการได้ ในระหว่างที่การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่นั้น ยังไม่ทราบกำหนดเวลาว่าจะสำเร็จเมื่อใด โดยหากได้รัฐบาลใหม่จะตัดสินใจทำอย่างไรถือเป็นสิทธิ

“สถานการณ์ในเมียนมาขณะนี้ ไม่ใช่คนพม่ารบกันเอง เพราะได้รับข้อมูลยืนยันชัดเจนว่ามีชาวตะวันตกชื่อทิมโมธี และทีมงาน เข้าไปฝึกกำลังรบให้กับกองกำลังที่ต่อสู้กับรัฐบาลเมียนมา และยังมีกลุ่มคนที่อ้างว่าเป็นนักรบรับจ้าง เข้าไปเคลื่อนไหวด้วย จึงขอถามคนที่ออกมาวิจารณ์ว่า อยากให้เมียนมาเป็น ยูเครน 2 หรืออย่างไร” นายนันทิวัฒน์ กล่าว

ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ทวีตข้อความว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ควรให้เกียรติรัฐบาลใหม่เป็นผู้ดำเนินการนโยบายการต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องละเอียดอ่อนที่จะกระทบความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านเราทั้งหมด จุดยืนของประเทศไทยควรคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และยืนข้างประชาชนเป็นหลัก ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการกระทำที่เสียมารยาทที่รองนายกฯ พยายามจะทำอยู่

นายจาตุรนต์ ฉายแสง คณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย (พท.) ทวีตว่า เป็นการดำเนินนโยบายทางการต่างประเทศ ที่สร้างความเสียหายให้ภาพลักษณ์ของประเทศ และเป็นสิ่งที่รัฐบาลรักษาการที่มีมารยาทไม่ควรกระทำ เพราะการดำเนินนโยบายต่างประเทศในเรื่องสำคัญมีผลดีหรือร้ายยิ่งกว่าการอนุมัติงบประมาณหรือการแต่งตั้งข้าราชการเสียอีกในยุครัฐบาลรักษาการ

“การดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างที่กำลังทำอยู่นี้ เป็นเรื่องที่ผูกพันไปข้างหน้า เป็นผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย เป็นภาระของคนไทยทั้งประเทศ รัฐบาลรักษาการจึงไม่ควรทำไปอย่างไร้ความรับผิดชอบ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศควรจะรู้ขนบธรรมเนียมในเรื่องนี้ดีกว่าใคร แต่กลับไม่รู้แม้แต่มารยาทเบื้องต้นได้อย่างไร” นายจาตุรนต์ระบุ

น.ส.ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวขัดกับข้อตกลงร่วมกันในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา และมองว่ายังเร็วเกินไปที่จะหารือในระดับผู้นำหรือระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ หากรัฐบาลเมียนมายังไม่ยุติการใช้ความรุนแรง และทำตามฉันทามติ 5 ข้อ (5-point consensus) ซึ่งตรงกับข้อคิดเห็นของอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย

น.ส.ธิดารัตน์กล่าวต่อว่า แม้ไทยจะมีความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาในหลายมิติ แต่ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียน ซึ่งกำลังเข้าสู่การจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง ควรเคารพข้อตกลงของอาเซียนที่เห็นตรงกันให้มุ่งเน้นสันติภาพก่อน และเรียกร้องให้ลดระดับและยุติความรุนแรง ปล่อยตัวผู้ถูกกักขัง และหาทางออกอย่างสันติด้วยการเจรจาระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องผ่านทางความร่วมมือที่ได้ตกลงร่วมกับระดับภูมิภาคที่เคารพและรับฟังซึ่งกันและกัน

“เหตุการณ์ล่าสุดที่มีผู้อพยพจากเมียนมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงเกือบ 3,000 คน ที่ อ. แม่สะเรียง จ. แม่ฮ่องสอน ประเทศไทยควรเร่งช่วยเหลือเชิงมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัยทางการเมืองโดยเร็วที่สุด ตลอดจนผลักดันให้เมียนมาปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ ให้สำเร็จลุล่วง นอกจากนี้ รัฐบาลชุดใหม่ควรเน้นความจริงจังและจริงใจในการแก้ปัญหาเมียนมา ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อพยพหนีภัยสงครามเข้ามาในฝั่งไทยตามหลักสิทธิมนุษยชน เป็นตัวกลางในการเจรจาเพื่อสร้างสันติภาพถาวรในภูมิภาค และยกระดับบทบาทไทยในอาเซียนด้วยการวางตัวทางการเมืองที่เน้นสันติภาพ” น.ส.ธิดารัตน์ระบุ

นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม กล่าวว่า ขอตั้งคำถามว่าการทำหน้าที่รัฐบาลรักษาการ ที่ต้องการแสดงบทบาทการเป็นผู้นำในอาเซียนเรื่องการแก้ไขปัญหาในเมียนมาตอนนี้เพื่ออะไร ทำไมรัฐบาลรักษาการจึงอยากจะมามีบทบาทในช่วงนี้เพื่อ ทั้งๆ ที่ผ่านมาไม่เคยแสดงบทบาทผู้นำ ที่ไทยต้องทำคือการเปิดประตูมนุษยธรรมต่อสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมา ให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับผู้หนีภัยการสู้รบชายแดนเมียนมา-ไทย ที่ยังคงถูกประหัตประหารจากรัฐบาลเมียนมา ซึ่งล่าสุดอพยพมายังไทยและได้รับการช่วยเหลือกว่า 3,000 คน และสถานการณ์ยังไม่มีแนวโน้มจะยุติลง เหมาะสมแล้วหรือไม่ที่รัฐบาลรักษาการจะทำแบบนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!

"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย