ตอกย้ำ!สถานะiTV กรมพัฒน์ยันทำธุรกิจอยู่/‘อิทธิพร’ชี้20วันได้ลุ้น

"กรมพัฒนาธุรกิจการค้า"   แจงยิบแบบนำส่งงบการเงิน "ไอทีวี" ยันสถานะบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ มีตัวตนตาม กม. แต่ไม่ได้หมายความว่านิติบุคคลนั้นทำกิจการค้าอยู่หรือไม่ "ปธ.กกต." ระบุสอบหุ้นสื่อพิธาอยู่ระหว่างไต่สวน แย้มขีดเส้น 20 วันรู้เรื่อง "ก.ก." ซัดขบวนการคนถ่อยสกัดแคนดิเดตพรรคนั่งนายกฯ "สนธิญา” ยื่น กกต.สอบ "พิธา" ถือหุ้นสื่อขัดข้อบังคับพรรคอีกรอบ  "ป.ป.ช." เผย "ทิม" ยังไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน  เดดไลน์แค่ 18 มิ.ย. "ทนายอิสระ" ร้องศาล รธน.สั่ง "ก้าวไกล" เลิกทำนโยบายแก้ไข ม.112

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ออกแถลงการณ์ชี้แจงผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับการบันทึกรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566 (รายงานการประชุมฯ) แบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ของบริษัทฯ ปี 2565 ว่า ตามที่ได้ปรากฏข่าวเกี่ยวกับบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ทำให้เกิดข้อสงสัยจากสาธารณชนหลากหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นการนำส่งงบการเงินตามแบบ ส.บช.3 และรายละเอียดด้านอื่นๆ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้รวบรวมประเด็นที่เป็นข้อสงสัยหลักของสาธารณชน 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.การนำส่งงบการเงินตามแบบ ส.บช.3 2.สถานะของ บมจ.ไอทีวี และ 3.รายงานการประชุมของบริษัทฯ

กรมฯ ขอชี้แจงตามประเด็นดังกล่าว ดังนี้ 1.การนำส่งงบการเงินตามแบบ ส.บช.3 การจัดทำและการส่งงบการเงินของนิติบุคคลนั้น เป็นไปตาม พ.ร.บ.การบัญชี พ.ศ.2543 ที่ได้กำหนดผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ตามมาตรา 8 ต้องจัดทำงบการเงินและยื่นงบการเงินดังกล่าวต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งเป็นสำนักงานกลางบัญชี ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยการยื่นงบการเงินเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด

สำหรับวิธีการและหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในการนำส่งงบการเงิน จะอยู่ในประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่องแนวทางปฏิบัติในการยื่นงบการเงินและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น พ.ศ.2565 โดยนิติบุคคลที่มีหน้าที่นำส่งงบการเงินต้องทำการกรอกข้อมูลในแบบนำส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช.3) ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลเพื่อประกอบการนำส่งงบการเงิน เช่น รอบปีงบการเงินที่นำส่ง รายละเอียดของกิจการ ชื่อ ที่ตั้ง ข้อมูลผู้ทำบัญชี ข้อมูลผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (ถ้ามี) ประเภทธุรกิจสินค้า/บริการและรหัส ทั้งนี้ การนำส่งงบการเงินให้กับกรมฯ เป็นการแสดงถึงผลประกอบการและสถานะทางการเงินของนิติบุคคล เพื่อให้สาธารณชนและผู้เกี่ยวข้องได้ใช้ประโยชน์ ไม่ใช่การยื่นจดทะเบียนแต่อย่างใด

2.สถานะของ บมจ.ไอทีวี ปัจจุบันมีสถานะ "ยังดำเนินกิจการอยู่" ไม่ได้มีกฎหมายกำหนดนิยามไว้ แต่เป็นการระบุเพื่อให้ทราบว่า เป็นนิติบุคคลที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมาย (พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535) ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นสถานะอื่นใด เช่น จดทะเบียนเลิก พิทักษ์ทรัพย์ ล้มละลาย หรือถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เป็นต้น ดังนั้น สถานะ “ยังดำเนินกิจการอยู่” จึงเป็นการบอกว่านิติบุคคลได้ถูกจัดตั้งและมีตัวตนอยู่ตามกฎหมาย แต่ไม่ได้หมายความว่านิติบุคคลนั้นมีการทำกิจการหรือประกอบกิจการทางการค้าใดในความเป็นจริงอยู่หรือไม่ ซึ่งหากมีการประกอบกิจการในลักษณะใดจะแสดงข้อมูลผลการดำเนินการและฐานะการเงินในงบการเงินนั้น ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับสถานะของบุคคล ก็เปรียบเสมือนบุคคลที่เกิดและยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งอาจจะทำงานหรือไม่ทำงานก็ได้

กรมพัฒนาฯ แจงงบเงิน iTV

3.รายงานการประชุมของบริษัทฯ การนำส่งสำเนารายงานการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปีของบริษัทมหาชนจำกัดนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบการยื่นแจ้งงบการเงินประจำปีของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีและยื่นงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 ซึ่งจะทำให้ทราบว่างบการเงินฉบับดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นแล้ว ตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 127 ที่ระบุว่า “บริษัทต้องจัดส่งรายงานประจำปี พร้อมกับสำเนางบดุลและบัญชีกำไรขาดทุน ที่ผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบและที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้อนุมัติแล้ว และสำเนารายงานประชุมผู้ถือหุ้นเฉพาะที่เกี่ยวกับการอนุมัติงบดุล การจัดสรรกำไร และแบ่งเงินปันผล” โดยกรมฯ มีหน้าที่รับเอกสารตามที่นิติบุคคลได้ยื่นต่อกรมฯ  

ทั้งนี้ หากพบว่ามีรายงานการประชุมในส่วนของวาระอื่นนอกเหนือจากที่กรมฯได้ระบุ และนอกเหนืออำนาจตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนฯ ที่อาจก่อให้เกิดข้อโต้แย้งใดแก่ผู้ถือหุ้นและบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัทนั้นๆ อาจพิจารณาเป็นการดำเนินการเป็นการภายในของบริษัทที่จะต้องมีการตรวจสอบและชี้แจงต่อไป

 “กรมฯ ขอให้สาธารณชนสบายใจได้ว่าการดำเนินการของกรมฯ เป็นไปตามกรอบอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด” อธิบดีกรมพัฒนาฯ ระบุ

ขณะที่นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  กล่าวถึงกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ถูกร้องเรียนให้ตรวจสอบการถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จะประกาศผลพิจารณารับรองไปก่อนหรือไม่ว่า กรณีดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการ โดย กกต.ได้มีมติตั้งคณะกรรมการไต่สวนขึ้นมาตรวจสอบ ซึ่งจะดำเนินการโดยเป็นไปตามระเบียบการสืบสวนไต่สวน โดยกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินการไว้ชัดเจน

"ขอย้ำว่าต้องให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย และต้องยึดถือกระบวนการตามขั้นตอนต่างๆ อย่างเคร่งครัด ส่วนจะต้องแยกระหว่างการประกาศรับรองผลกับการสืบสวนไต่สวนหรือไม่นั้น ยืนยันไม่เกี่ยวเพราะ กกต.คำนึงถึงสาเหตุสำคัญคือการเลือกตั้งมีความสุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่" นายอิทธิพรกล่าว

ถามว่า แถลงการณ์บริษัท ไอทีวีฯ ล่าสุด และคลิปวิดีโอการประชุมผู้ถือหุ้นที่ถูกเผยแพร่ และเอกสารที่ยื่นให้กับ ป.ป.ช.ในฐานะผู้จัดการมรดก จะมีผลต่อการพิจารณาของ กกต.หรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนตามอำนาจการตรวจสอบของคณะกรรมการการสืบสวนไต่สวน ซึ่งได้ทำหน้าที่ตามขั้นตอนจะมีการเรียกพยานหรือเอกสารได้ โดย กกต.จะไม่ก้าวก่ายหรือแทรกแซงการทำงาน โดยขั้นตอนของคณะกรรมการฯ มีหน้าที่ให้ดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วภายใน 20 วัน หากไม่ทันสามารถขอขยายระยะเวลาได้ครั้งละ 15 วัน ดังนั้นเรื่องนี้จะทำโดยเร็วไม่ได้ เพราะจะขัดต่อกระบวนการของกฎหมายที่กำหนด

ซักว่า มีการเรียกร้องให้ กกต.ดำเนินการตาม รธน.มาตรา 82 เพื่อให้ทันต่อการโหวตนายกฯ ประธาน กกต.กล่าวว่า เรื่องนี้พูดตอนนี้ไม่ได้ เพราะยังไม่ผ่านขั้นตอนการพิจารณา หรือการนำเสนอของใคร ทุกอย่าง กกต.ต้องตัดสินโดยมติในที่ประชุม เมื่อยังไม่มีเรื่องเข้ามา อาจจะไม่เหมาะสมถ้าหากพูดเรื่องนี้ไปก่อน

ก.ก.ซัดขบวนถ่อยสกัดพิธา

ด้านนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลว่า พอกรณีของหุ้นไอทีวีถูกกระชากหน้ากากออกมา ขณะนี้ประชาชนเชื่อว่าขบวนการไอ้โม่งมีอยู่จริง และถูกกระชากหน้ากากออกมาเกือบหมดแล้ว คนที่เป็นนายก็เริ่มถีบหัวส่งลูกสมุน ส่วนลูกสมุนแต่เดิมก็เสียงแข็งเพราะมั่นใจ ซึ่งเสียงแข็งเพราะมั่นใจกับเสียงแข็งเพราะความกลัว มันไม่เหมือนกัน ตนติดตามการให้สัมภาษณ์ช่วงหลังๆ ของลูกสมุน ก็พบว่าไม่ได้มาขู่ฝ่ายตรงข้ามหรือก้าวไกล แต่ขู่ผู้บงการและลูกสมุนด้วยกันเองมากกว่า อย่ามาปูดหรือทิ้งเขา ถ้าทิ้งก็จะมีหลักฐานล่อคืนเหมือนกัน

 “กรณีไอทีวีที่มีคลิปวิดีโอออกมามันชัดเจนเลยว่ามีการวางแผนไว้ก่อน แต่ขบวนการคนถ่อยแบบนี้ มันคิดว่ามันฉลาด แต่มันฉลาดในโลกยุคโบราณ ที่ทุกอย่างมันใช้แต่เอกสารในการโยงกัน ไอ้คนถ่อยเหล่านี้มันเก่งในเรื่องของการโยงเอกสารกับเอกสาร แต่มันลืมว่าโลกใบนี้มันเป็นโลกของดิจิทัล ที่มันมีดิจิทัลฟุตพรินต์แล้ว และไม่สามารถกลับไปแก้ไขดิจิทัลฟุตพรินต์ที่มันเกิดขึ้นจากตัวคุณเองได้ นี่คือความโง่ ความเขลา และความไม่ทันโลกของมัน และความโง่เหล่านี้ ประชาชนเขารู้ทันแล้ว มันหมดมุก หมดท่าไม้ตาย มันจบแล้วครับนาย รัฐบาลเดินหน้าได้ฉลุยแน่นอน” นายวิโรจน์กล่าว

ว่าที่ ส.ส.พรรค ก.ก.รายนี้ระบุว่า การที่ กกต.ปัดตก 3 คำร้องหุ้นไอทีวีของนายพิธา แต่ตั้งเรื่องไต่สวนตามมาตรา 151 แทน ตนคิดว่าเรื่องนี้คือสัญญาณบวก เพราะว่าการสู้ในเรื่องมาตรา 151 คือการรู้อยู่ก่อนว่าไม่มีคุณสมบัติแล้วมาสมัครนั้น หนึ่งคุณต้องชี้ในเมื่อศาลยังไม่ตัดสิน คุณจะไปกล่าวหาว่าเขารู้อยู่ก่อนได้อย่างไร

"แสดงว่าเขาต้องยอมแล้ว แต่เป็นการเอาชนักปักหลังมาตรา 151 แล้วไปซื้อเวลาเอา เผื่อดินฟ้าอากาศเปลี่ยน มันอาจจะสั่งให้มีอภินิหารในการเดินคดีได้ มันก็คิดอย่างนี้ เอาชนักปักหลังแล้วไปต่อรองเอา ถ้าเกิดใช้กลไก ส.ว. ได้วิชามารเหล่านี้ได้มันไม่เกิดหรอก แสดงว่า ส.ว.ผ่านแล้ว ส่วนเรื่องมาตรา 82 ของ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. บางคนบอกจะเอา ส.ว.มาร้อง ซึ่งมันทำไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของแต่ละสภา ร้องข้ามสภากันไม่ได้ มันหมดแล้ว และผมเชื่อว่า ส.ว. ตอนนี้มีวิจารณญาณและเคารพเสียงของประชาชนมาก” นายวิโรจน์กล่าว

เช่นเดียวกับ นายรังสิมันต์ โรม ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรค ก.ก. ได้โพสต์ตั้งข้อสังเกตการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ของนายพิธา ว่าทำไมถึงได้มีอุปสรรคหรือกระบวนการต่างๆ มากมาย ทั้งที่ในความเป็นจริงนายพิธาไม่เคยมีกรณีทุจริตคอร์รัปชันจากการบริหารราชการแผ่นดิน การที่นายพิธากำลังจะได้เป็นนายกฯ ก็มาจากการตัดสินใจของประชาชนจำนวนมาก

นายรังสิมันต์ยังยืนยันว่าเรื่องที่นายพิธาเดินสายพบประชาชนไม่ใช่ต้องการปลุกระดม แต่ได้พูดตั้งแต่หาเสียง ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร ก็จะเดินหน้าพบปะประชาชนอยู่แล้ว ประชาชนเขารู้ว่าการเมืองเป็นอย่างไร ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาปลุกระดมทั้งสิ้น เชื่อว่าประชาชนเขาตัดสินใจอะไรเองได้

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบว่าข้อบังคับพรรค ก.ก. มีการกำหนดเรื่องการถือหุ้นสื่อไว้เป็นลักษณะต้องห้ามของการเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่ และการที่นายพิธาถือหุ้นไอทีวี จะเข้าข่ายขัดข้อบังคับพรรค ก.ก.หรือไม่อีกครั้ง หลังจากที่ กกต.ได้มีการยกคำร้องไป

"ผมตรวจสอบไม่เจอว่าข้อบังคับพรรคก้าวไกลมีการกำหนดลักษณะต้องห้ามเรื่องการถือหุ้นสื่อไว้หรือไม่ แต่หากกำหนดเห็นว่าจะทำให้เป็นเหตุให้ความเป็นสมาชิกพรรคของนายพิธา ซึ่งถือหุ้นไอทีวีสิ้นสุดลง และนายพิธาก็จะเข้าข่ายเป็นบุคคลซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการชี้นำ ครอบงำการดำเนินการของพรรคก้าวไกล ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นเหตุให้ กกต.สามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคก้าวไกลได้ตามมาตรา 92 (3) ของกฎหมายเดียวกัน" นายสนธิญากล่าว

'ทิม' ยังไม่แจ้งทรัพย์สิน ปปช.

ด้านนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีนายพิธายื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนึ่งในนั้นคือการยื่นเอกสารถือครองหุ้นไอทีวีในนามผู้จัดการมรดก ซึ่งมีเอกสารทางราชการคือคำสั่งศาลและหนี้การค้ำประกันว่า จากการตรวจสอบพบเป็นการยื่นก่อนเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ปี 62 ซึ่งเป็นการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามปกติ และได้มีการยื่นเข้ามาเพิ่มเติมเป็นใบหุ้นของไอทีวีที่มีเอกสารระบุชื่อเป็นของนายพิธาจำนวน 42,000 หุ้น มูลค่าประมาณ 42,000 บาท ซึ่งมีหมายเหตุกำกับและเอกสารประกอบคือคำสั่งศาล เมื่อประมาณเดือน มี.ค.ปี 2550 ที่ได้ระบุว่าให้นายพิธาเป็นผู้จัดการมรดก

นายนิวัติไชยกล่าวว่า ในส่วนการโอนหุ้นของนายพิธา ป.ป.ช.ก็จะต้องตรวจสอบด้วยเช่นกันว่ามีการโอนเรียบร้อยเมื่อไหร่ โอนก่อนหรือโอนหลังพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งต้องดูว่าหลังจากพ้นตำแหน่งทรัพย์สินดังกล่าวยังอยู่หรือไม่ ถ้าพ้นแล้วแต่ทรัพย์สินยังอยู่ก็ต้องยื่น แต่ถ้าพ้นแล้วทรัพย์สินไม่อยู่ก็ไม่ต้องยื่นตามกฎหมาย แต่ถ้ามีเหตุสงสัย อาจจะแค่สอบถาม เพราะหุ้นดังกล่าวมีมูลค่าเพียงแค่ 40,000 กว่าบาท ถ้าเทียบกับสัดส่วนที่ยื่นมาซึ่งเป็นทรัพย์สินจากการเป็นผู้จัดการมรดกรายการอื่น ถือว่าเป็นสัดส่วนที่เล็กน้อยมาก

ถามว่า กรณีการเป็นผู้จัดการมรดกนอกจากจะมีคำสั่งศาล มีเอกสารอื่นประกอบด้วยหรือไม่ เลขาฯ ป.ป.ช.กล่าวว่า จะต้องตรวจสอบคำสั่งศาลเพิ่มเติมว่าจะต้องมีหนังสือขอว่าเป็นสำเนาหรือต้นขั้วที่มาจากคำสั่งศาลหรือไม่

"ล่าสุดได้รับแจ้งจากทางศาล พบการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกดังกล่าวไม่มีผู้ใดคัดค้าน ซึ่งจะต้องไปดูว่าในพินัยกรรมมอบทรัพย์สินให้ใครบ้าง เพราะว่านายพิธาอาจจะมีหน้าที่แค่เป็นคนแบ่งทรัพย์สินให้กับทายาท ซึ่งในประเด็นดังกล่าว ป.ป.ช. ไม่ได้ขอเอกสารดังกล่าว เพราะไม่เกี่ยวกับ ป.ป.ช. เนื่องจากบทบาทหน้าที่ของป.ป.ช.มีหน้าที่ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน ณ วันที่เข้าและพ้นจากตำแหน่งเท่านั้น และยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าหุ้นไอทีวี เป็นของนายพิธา 100% เพราะไม่เห็นรายละเอียด" เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าว

ส่วน พ.ต.ต.ชัชนพ ผดุงกาญจน์ รองเลขาธิการ  ป.ป.ช. กล่าวถึงการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนายพิธากรณีพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ว่า เท่าที่ทราบจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ยื่น และอยากขอให้มายื่นตามกรอบเวลา โดยอาจใช้ช่องทางการยื่นทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เพราะไม่อยากให้เป็นปัญหาว่าหากติดเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ ที่ทาง ป.ป.ช.ปิดระบบ จะได้ไม่เป็นปัญหาในภายหลัง

ถามว่า หากนายพิธาจะขอขยายเวลาการยื่นออกไปอีกจากวันที่ 18 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ทำได้หรือไม่ พ.ต.ต.ชัชนพ กล่าวว่า ตามกรอบขยายไม่ได้แล้ว ไม่เป็นไปตามระเบียบ หากเลยวันที่ 18 มิ.ย. ผู้ยื่นจะต้องชี้แจงเหตุผลว่าทำไมยื่นไม่ทันภายในกรอบ เพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาว่าจะให้ขยายหรือไม่

ซักว่า จะถือว่าเป็นความจงใจไม่ยื่นหรือไม่ พ.ต.ต.ชัชนพกล่าวว่า ยังไม่ถึงขนาดนั้น แต่ ป.ป.ช.จะต้องรับฟังเหตุผล และกรรมการ ป.ป.ช.จะต้องพิจารณาเหตุผลนั้น ซึ่งหากผู้ยื่นยื่นทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มาในช่วงวันที่ 17-18 มิ.ย. ซึ่งตรงวันหยุดราชการ อย่างนี้รับฟังได้ ไม่เป็นไร ไม่ได้ซีเรียสหากมีเหตุผล

วันเดียวกัน นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร  ทนายความอิสระ เข้ายื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยสั่งให้นายพิธา ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ให้เลิกทำนโยบายการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และขอให้เลิกการให้สัมภาษณ์ ป้ายโฆษณาโฆษณาใดๆ

นายธีรยุทธกล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 49  หากมีการพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันอาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ใช้สิทธิ์ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด และได้ยื่นคำร้องวันที่ 30 พ.ค.2566 เมื่อครบ 15 วันแล้วอัยการยังไม่ได้สั่งการใด เป็นสิทธิที่จะยื่นร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

"การมายื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายพิธาและพรรคก้าวไกลเลิกการดำเนินการใดๆ หรือการกระทำใดๆ เพื่อยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 รวมไปถึงให้เลิกแสดงความเห็น เลิกพูด เลิกเขียน เลิกพิมพ์ เลิกโฆษณา และสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกหรือแก้ไข  มาตรา 112 ที่กระทำอยู่ในขณะนี้และจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นกับสถาบัน จึงต้องตัดไฟแต่ต้นลม" นายธีรยุทธกล่าว.                             

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เสด็จฯพระราชพิธีสมมงคล

"ในหลวง" เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี