สภารอ ป.ป.ช.ส่งสำนวนคดีฟัน "สุวิจักขณ์" โกงซื้อนาฬิกา 15 ล้าน แฉอดีตเลขาธิการสภาฯ โดน ส.ส. ร้องจัดซื้ออีกเพียบ "สรรพสามิต" พักงาน-เชือดวินัยร้ายแรง "ผอ.ปราบปราม" ต่อสายเคลียร์ปล่อยรถน้ำมันเถื่อน ลุยขอข้อมูลตำรวจทางหลวงล่าตัว "ยุทธ"
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย อดีตเลขาธิการสภาฯ และพวกทุจริตโครงการการจัดซื้อนาฬิกาติดโดยรอบอาคารรัฐสภา มูลค่า 15,422,845 บาท ว่าขณะนี้ทางสำนักงานเลขาธิการสภาฯ รอให้ ป.ป.ช.ส่งสำนวนการพิจารณามาให้กับทางสำนักงาน เพื่อตรวจสอบและรับทราบ หากเป็นการดำเนินคดีอาญา ป.ป.ช.จะส่งให้สำนักงานอัยการดำเนินการตามกฎหมาย แต่หากมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวินัยข้าราชการรัฐสภา ทางสำนักงานจะดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้าราชการรัฐสภาและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับตำแหน่งสุดท้ายของนายสุวิจักขณ์ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ ถูกย้ายไปประจำที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ป.ป.ช.จะต้องส่งสำนวนการวินิจฉัยไปทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีด้วย
ด้าน ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาฯ ฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของนายสุวิจักขณ์ที่ต้องดำเนินการแก้ต่างกับ ป.ป.ช. ขณะเดียวกันยังไม่ทราบว่าจะมีข้าราชการของรัฐสภาคนใดที่จะต้องเข้าไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับอัยการอีกหรือไม่ หาก ป.ป.ช.ส่งฟ้อง เพราะในคำร้องที่ ป.ป.ช.ไต่สวนระบุว่ามีนายสุวิจักขณ์และพวก ส่วนเรื่องร้องเรียนอื่นๆ ของนายสุวิจักขณ์นั้น เท่าที่ทราบมีอยู่หลายเรื่องที่ ส.ส.ในขณะนั้น ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนตัวจึงไม่ทราบรายละเอียด
วันเดียวกัน นายเกรียงไกร พัฒนาภรณ์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยความคืบหน้ากรณีมีข่าวผู้บริหารระดับสูงของกรม ขอเคลียร์กับกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) เพื่อไม่ให้ดำเนินคดีรถขนน้ำมันดีเซลเถื่อนที่จับได้ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าเรื่องดังกล่าวมีมูล โดยที่มีการกล่าวอ้างว่ามีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมสรรพสามิต โทร.มาเจรจาเพื่อไม่ให้ดำเนินคดี ซึ่งจากการสืบสวนข้อเท็จจริงคือ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบป้องกันและปราบปราม กรมสรรพสามิต (ระดับชำนาญการพิเศษ) เป็นผู้ที่ติดต่อไป โดยมีการสั่งพักราชการ ตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย.2566 และเตรียมดำเนินการเอาผิดทางวินัยร้ายแรงต่อไป
นอกจากนี้ ได้ทำหนังสือไปถึงตำรวจทางหลวงเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อมาขยายผลเอาผิดกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงกรณีนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ระบุว่าได้รับหลักฐานเป็นบันทึกเสียงสนทนาเรื่องน้ำมันเถื่อนคดีนี้ที่เชื่อมโยงไปถึงข้าราชการระดับสูงในกรมสรรพสามิตคนหนึ่ง ชื่อเล่นว่า "ยุทธ" ถ้ามีหลักฐานเอาผิดได้ กรมจะดำเนินการทั้งหมด โดยอธิบดีได้สั่งการชัดเจน ไม่มีละเว้น และให้ดำเนินการโดยเร็วที่สุด
นายเกรียงไกรกล่าวว่า แนวทางดำเนินการกับเรื่องนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรม คือการสั่งพักงาน และดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ระดับผู้อำนวยการ ขณะที่หากพบว่ามีหลักฐานพยานชัดเจนว่ามีเจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น ระดับรองอธิบดีสรรพสามิต ต้องมีการเสนอไปที่กระทรวงการคลัง เพื่อเอาผิดตามระเบียบราชการต่อไป สำหรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำมันดีเซล 15,000 ลิตร จากการตรวจสอบพบว่าเป็นรถที่มีการบรรทุกน้ำมันเถื่อนจริง ในส่วนของกรมได้ดำเนินการจับ เรียกเทียบปรับกับผู้ต้องหาตามที่ปรากฏในข่าวเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ที่สโมสรตำรวจ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง เปิดเผยว่า ตำรวจร่วมกับกรมศุลกากรและกรมประมง จับกุมดำเนินคดีผู้ต้องหาที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริตการขายปันส่วนปลาแช่แข็งที่ตรวจยึดจากเรือทำประมงผิด ซึ่งมีพฤติการณ์ชักธง 2 สัญชาติ นำเอาปลาเบญจพรรณ ซึ่งเป็นน้ำลึกคุณภาพดี จำนวน 7 ตู้คอนเทนเนอร์ รวม 147 ตัน มาลงยังด่านศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ จำนวน 6 ตู้ และด่านศุลกากรพระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ 1 ตู้ รวมมูลค่าประมาณ 300-400 ล้านบาท แต่ไม่สามารถแสดงเอกสารใบอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำจากกรมประมงได้
ทั้งนี้ พบว่าไม่มีการขายปันส่วนจริง เพราะมีการนำรายชื่อบุคคลจำนวน 96 รายชื่อมาสวม และจำหน่ายปลาให้กับบุคคลคนเดียว และเงินบางส่วนไม่เข้ารัฐ จากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบว่ามีเจ้าหน้าที่ศุลกากรและพลเรือนที่เกี่ยวข้อง 7 ราย รวมถึงผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ และหัวหน้าฝ่ายของกลางที่ทำหน้าที่หัวหน้าการขายปันส่วนสัตว์น้ำ โดยแจ้งข้อกล่าวหากระทำความผิดตามมาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, มาตรา 147 เป็นเจ้าพนักงาน เบียดบังทรัพย์โดยทุจริต และมาตรา 86 ฐานเป็นผู้สนับสนุนผู้อื่นให้กระทำความผิดฯ และได้ส่งสำนวนฟ้องแล้วทั้งหมด
ด้านนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า กรมศุลกากรได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้ง 7 รายแล้ว จึงได้นำข้อมูลดังกล่าวเสนอไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาบทลงโทษเพิ่มเติมตามขั้นตอนต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ