ศาลรัฐธรรมนูญสั่งผู้เกี่ยวข้องคดี "ศักดิ์สยาม" ถือหุ้นบุรีเจริญ ส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม แต่ไม่ได้กำหนดเส้นตาย ป.ป.ช.ฟัน "สุวิจักขณ์" อดีตเลขาธิการสภาฯ กับพวก ผิดวินัย-อาญา ฐานทุจริตจัดซื้อนาฬิกาหรู 15 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ศาลรัฐธรรมนูญออกเอกสารข่าวเผยแพร่ผลประชุมปรึกษาคดี ในคดีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 54 คน ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้น และเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้นายศักดิ์สยามเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วน เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 มาตรา 4 (1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่ ประธานสภาฯ จึงส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 และศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว มีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยนั้น
โดยศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนําไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้บุคคลที่เกี่ยวข้องจัดส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเอกสารข่าวของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีการระบุว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ให้มีการชี้แจงเพิ่มเติมนั้นคือบุคคลใด และให้ชี้แจงภายในเมื่อใด
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ได้พิจารณากรณีไต่สวนเรื่องโครงการการจัดซื้อนาฬิกาติดโดยรอบอาคารรัฐสภา จำนวน 240 เรือน มูลค่ารวม 15,422,845 บาท เมื่อครั้งนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 56 โดยมีนายสุวิจักขณ์กับพวกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าร่วมกับบริษัทเอกชนในการกำหนดสเปก รายละเอียด ราคากลาง โดยมีเจ้าหน้าที่ของทางสภาเข้าไปร่วมในการดำเนินการ เพื่อกำหนดล็อกสเปกนาฬิกายี่ห้อ BODET ของบริษัท อีควิพเม้นท์ จำกัด ให้เป็นผู้ชนะและเป็นผู้มีสิทธิ์ทำสัญญากับทางรัฐสภา ทั้งที่วัตถุประสงค์ของการจดจัดตั้งบริษัทไม่ได้มีเรื่องจำหน่ายและติดตั้งระบบนาฬิกาแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ยังมีการปลอมหนังสือรับรองผลงานและสัญญาจ้างที่ใช้ประกอบการเสนอราคา จนกระทั่งมีการอนุมัติลงนามในสัญญา อีกทั้งในขั้นตอนการส่งมอบงานให้กับรัฐสภานั้น ทางบริษัท อีควิพเม้นท์ จำกัด ไม่ได้สั่งนาฬิกาเข้ามาจากผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายโดยตรง แต่สั่งจากบริษัท พรีเซียสไทม์ เทรดดิ้ง ซึ่งเป็นผู้แข่งขันอีกราย ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วจึงมีมติชี้มูลความผิดนายสุวิจักขณ์ กับพวก มีโทษทั้งวินัยและอาญา อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนายสุวิจักขณ์ได้พ้นจากการดำรงตำแหน่งแล้ว จึงพ้นโทษวินัย ส่วนโทษทางอาญานั้น ป.ป.ช.จะส่งสำนวนไปยังอัยการเพื่อส่งฟ้องศาลอาญาทุจริตต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บิ๊กอ้วนตอกยํ้า แจก‘เงินดิจิทัล’ ‘อนุสรณ์’เตือน
“ภูมิธรรม” ยันรัฐบาลเร่งแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ
อิ๊งค์หาเสียงฟุ้งพท.มาคนจนรวยแน่
"หัวหน้าอิ๊งค์” ลุยนครพนม ช่วย “อนุชิต” ผู้สมัครนายก อบจ.เพื่อไทยหาเสียง
รพ.ตำรวจอึมครึม เวชระเบียนชั้น14
เส้นตายพุธนี้! แพทยสภาสอบหมอช่วย "ทักษิณ" อึมครึม "แพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ" ปัดตอบส่งเอกสารหรือยัง
‘จ่าเอ็ม’เครียด อุบ‘ผู้มีบุญคุณ’ ตร.หิ้วฝากขัง!
ตำรวจเค้นสอบ “จ่าเอ็ม” ตลอดคืน ยังให้การไม่เป็นประโยชน์คดียิงอดีต
จับตา!เคาะ‘กาสิโน’ คลังชงเข้าครม.ไฟเขียว/นักวิชาการชี้ผลประโยชน์ทับซ้อน
จับตา “คลัง” เล็งชงเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์เข้า ครม.จันทร์นี้หรือไม่ หลัง
‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!
"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย