"บิ๊กตู่" เผยฝ่ายความมั่นคงจับตาพวกจ้องตั้งรัฐปาตานีเป็นเอกราช หวั่นสถานการณ์กลับไปรุนแรงเหมือนเดิม ยันกระบวนการพูดคุยสันติสุขไม่ใช่เจรจาสันติภาพเพราะไม่ได้รบกัน "มทภ.4" กำชับดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ทำผิดยึดหลักยุติธรรม คาด 2 สัปดาห์เชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องได้ ครม.ขยายระยะเวลาฉุกเฉินอีก 3 เดือน
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 13 มิถุนายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีแนวคิดนักศึกษาที่ทำประชามติเพื่อขอแยกให้จังหวัดปัตตานีเป็นรัฐเอกราชว่า เป็นเรื่องของฝ่ายกฎหมายดำเนินการ เขาตรวจสอบอยู่แล้ว พร้อมกับย้อนถามสื่อว่า "ในความคิดของเรามันถูกไหมล่ะ มันทำได้ไหม"
ผู้สื่อข่าวจึงตอบว่า ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ที่ระบุว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรเป็นอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ และจะตัดไฟต้นลมได้อย่างไร เพราะมีนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง นายกฯ กล่าวว่า เดี๋ยวกฎหมายดำเนินการเอง กระบวนการเขามีอยู่ ฝ่ายความมั่นคงเขาดำเนินการอยู่แล้ว ฝ่ายความมั่นคงติดตามเรื่องนี้อยู่แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดไม่อยากให้สถานการณ์กลับไปที่เดิม คือความรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ ความมุ่งหมายของเราคือต้องรักษาสถานการณ์ไว้ไห้ได้ เช่น การพูดคุยสันติสุขเราก็มีคณะพูดคุยอยู่แล้วภายใต้กรอบประเทศเราและประเทศเพื่อนบ้าน ตอนนี้ที่มีปัญหาคือการจัดตั้งรัฐบาลให้สมบูรณ์แล้ว สุดแล้วแต่ว่าใครจะเป็น
"ที่เราทำมาหลายปีก็ทำให้ทุกอย่างไปสู่ความสงบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องการพัฒนาและรักษาความปลอดในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นหลัก ฉะนั้นการพูดคุยเป็นการพูดคุยสันติสุข ไม่ใช่การเจรจาสันติภาพ เพราะเราไม่ได้รบกัน ใช้คำให้มันถูกต้อง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติรับทราบตามมติของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งที่ 2/2566 เห็นชอบแผนปฏิบัติการปรับลดพื้นที่การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ห้วงปี 2566-2570 (ฉบับแก้ไข) ของ กอ.รมน. และให้ความเห็นชอบการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยกเว้นอำเภอศรีสาคร อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้ง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส อำเภอยะหริ่ง อำเภอมายอ อำเภอไม้แก่น และอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี และอำเภอเบตง อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา) ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2566 และสิ้นสุดในวันที่ 19 กันยายน 2566 เป็นครั้งที่ 72 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เป็นการป้องกัน ระงับ ยับยั้งเหตุการณ์ในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อการดูแลรักษาความสงบ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่อไปด้วย
ที่ห้องประชุม 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ผอ.รมน.ภาค 4 สน.) ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ผอ.รมน.ภาค 4 เป็นประธานการประชุมพิจารณาดำเนินคดีต่อการจัดกิจกรรมเปิดตัวขบวนนักศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พร้อมด้วย พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ รองแม่ทัพภาคที่ 4/รอง ผอ.รมน.ภาค 4 สน., พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4/รอง ผอ.รมน.ภาค 4 สน., พล.ต.ฐาปนันท์ อรุณโชติ ที่ปรึกษาแม่ทัพภาคที่ 4, รองเลขาธิการกอ.รมน.ภาค 4 สน., อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9, ผู้แทนกองกำลังตำรวจ จังหวัดชายแดนภาคใต้
ภายหลังการประชุม พล.ท.ศานติ เปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตรวจสอบทั้งหมดตั้งแต่เริ่มเปิดประชุมสัมมนาฯ และเชื่อมโยงถึงใครแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งสอบถามเจ้าหน้าที่ทางกฎหมายทุกส่วนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในวันนี้มีความคิดเห็นตรงกันว่ามีแนวโน้มจะหมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดกฎหมาย พร้อมกำชับและมอบหมายให้ส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการหาพยานหลักฐานที่ชัดเจน เพื่อดำเนินคดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างรัดกุม รอบคอบ และตรงไปตรงมา
"กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมให้ความเป็นธรรมภายใต้หลักของความยุติธรรม ขอให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่และในประเทศไทยได้รับทราบว่าส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมยึดกฎกติกาของบ้านเมืองเป็นสำคัญ ยืนยัน พร้อมดำเนินการตามกฎหมายอย่างรัดกุมที่สุด" พล.ท.ศานติกล่าว
ด้าน พล.ต.ปราโมทย์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการจัดตั้งคณะทำงานในการสืบสวนสอบสวน หาหลักฐานเพิ่มเติม รวบรวมจากทั้งเหตุการณ์ในวันที่จัดกิจกรรมเมื่อวันพุธที่ 7 มิ.ย. และจากเหตุการณ์อื่นๆ ที่อาจมีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน โดยเห็นว่าการจัดกิจกรรมในครั้งนี้น่าจะมีส่วนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง พร้อมชี้แจงข้อเรียกร้องในเรื่องสิทธิการกำหนดชะตากรรมตนเอง หรือ RIGHT TO SELF DETERMINATION เป็นตามข้อมติสหประชาชาติที่ 1514 ออกในปี ค.ศ.1960 ไม่ใช่เรื่องการเรียกร้องเอกราชอย่างที่มีการเคลื่อนไหว ซึ่งพยานหลักฐานที่จะมีการหาเพิ่มเติมจะเป็นส่วนประกอบเสริมเติมให้เห็นว่ามีการเคลื่อนไหวที่เป็นกระบวนการไปสู่เป้าหมายสุดท้ายในเรื่องเอกราชปัตตานี
"ยังไม่มีข้อสรุปถึงตัวบุคคลที่จะมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย ขึ้นกับพยานหลักฐานที่จะได้เพิ่มเติมจากการสืบสวนสอบสวนของคณะทำงานที่ตั้งขึ้น โดยมีกรอบเวลาทำงาน 2 สัปดาห์ คาดรายชื่อของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่จะเป็นผู้ร่วมกิจกรรมที่จัดโดยกลุ่ม นศ.มุสลิม จชต. และอาจโยงถึงอาจารย์ใน ม.อ.ปัตตานี ที่ให้ใช้สถานที่จัดงาน ในส่วนของพรรคการเมืองจะเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ จะมีการหาหลักฐานประกอบเพิ่มเติมในช่วงที่มีการหาเสียงของนักกฎหมายช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา ที่ต้องมาใช้ประกอบในคำร้องเพื่อให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวที่เป็นกระบวนการเรียกร้องสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง ที่มีเป้าหมายสุดท้ายในเรื่องของการแบ่งแยกดินแดน" พล.ต.ปราโมทย์กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
นายกฯ สั่งเกาะติด 7จังหวัดภาคใต้ที่เจอฝนถล่มหนัก
นายกฯ กำชับทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงจากฝนตกหนักในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้