ปัดระเบียบกักกันเอื้อ‘แม้ว’ ขออภัยโทษต้องติดคุกก่อน

“วิษณุ” แจงระเบียบปฏิบัติต่อผู้กักกันราชทัณฑ์ไม่ได้เอื้อ   “ทักษิณ” ระบุถ้าศาลสั่งจำคุก ใช้การกักกันไม่ได้ ยันขออภัยโทษต้องติดคุกก่อน 

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 ที่โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ แพลทินัม ประตูน้ำ  นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  ในฐานะกำกับดูแลและรักษาการ รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน พ.ศ.2566 ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าเอื้อให้กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ว่าการกักกันไม่ใช่โทษตามกฎหมายไทย เพราะโทษตามกฎหมายไทยมีอยู่ 5 อย่างคือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน ซึ่งกักกันไม่ได้อยู่ใน 5 อย่างดังกล่าว แต่เป็นสิ่งที่เรียกว่าวิธีการเพื่อความปลอดภัย

ดังนั้นปัญหาคือการกักกันจะทำที่ไหน อย่างไร ทางกรมราชทัณฑ์จึงต้องออกระเบียบว่า ถ้าคนที่จะต้องถูกกักกันจะต้องถูกกักกันที่ไหน เช่นที่บ้าน หรือที่ไหนอย่างไรก็ได้ เป็นคนละอย่างกับเรื่องโทษ หากศาลสั่งจำคุกจะไปเปลี่ยนเป็นกักกันไม่ได้ สมมุติว่าเด็กและเยาวชนทำผิด ศาลบอกให้กักกันก็ส่งไปอยู่กับบ้าน กับผู้ปกครองได้ 

 “แต่คนบางส่วนเข้าใจว่าการกักกันสามารถรวมกับโทษได้ แล้วไปคิดถึงเคสนักโทษกลับมาเข้ามามอบตัวและไปกักกันที่บ้าน อย่างนั้นก็ไม่ใช่ จะใช้ในเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะคุณต้องโดนโทษไม่ได้โดนกักกัน” นายวิษณุกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ระเบียบดังกล่าวออกมาในช่วงเวลานี้ทำให้หลายคนวิเคราะห์กันไป นายวิษณุกล่าวว่า มันมีอะไรหลายอย่างที่ควรจะออกมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ติดขัดอยู่ จึงเพิ่งจะออกมาได้ อย่างเช่นกรณีที่มีการไปลงข่าวกันเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติว่ามีอำนาจใหญ่โต สามารถปลดนายกรัฐมนตรีได้ โดยมีตน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ร่วมเป็นกรรมการ มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ทั้งที่คณะกรรมการชุดนี้ตั้งมานานแล้ว แต่เพิ่งออกมา และไม่ได้มีอำนาจไปปลดใครอย่างที่เป็นข่าวหรือวิพากษ์วิจารณ์กัน และข้อสำคัญนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

ซักว่าขณะนี้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน พ.ศ.2566 ถูกนำไปโยงเรื่องการกลับมาประเทศไทยของนายทักษิณ รองนายกฯแจงว่า คงไม่โยง เพราะให้สัมภาษณ์ไปก่อนหน้านี้นานแล้วว่านโยบายของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีต รมว.ยุติธรรม ที่บอกว่าหากมีโทษและให้ไปรับโทษ โดยไปกักตัวไว้ที่บ้านได้นั้น มันยังไม่ออกมา ขณะนี้ที่ออกมาแล้วคือกฎกระทรวงปี 2552 สมัยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็น รมว.ยุติธรรม ซึ่งออกมาว่าสำหรับคนที่จะต้องถูกขัง 3 ประเภท ให้เปลี่ยนเป็นไปขังที่บ้านได้

คือ 1.คนที่อยู่ระหว่างการสอบสวน เช่น แบม ตะวัน 2.คนที่ศาลสั่งให้ลงโทษจำคุก และรับโทษจำคุกมาแล้ว 1 ใน 3 และ 3.หญิงมีครรภ์ที่ถูกศาลสั่งประหารชีวิต แต่ยังไม่คลอด บุคคลเหล่านี้จะต้องนำไปขังไว้ก่อน เช่น ที่บ้านหรือที่โรงพยาบาล มีแค่ 3 ข้อนี้เท่านั้น ไม่มีข้อที่ 4 ซึ่งระเบียบดังกล่าวเป็นคนละเรื่องกัน และควรจะออกมาตั้งแต่ 2-3 เดือนที่แล้ว แต่เพิ่งตรวจกันเสร็จและเพิ่งออกมาตอนนี้

ถามถึงกรณีนักโทษทางการเมือง มีความเป็นไปได้ที่จะขออภัยโทษหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า จะเป็นนักโทษทางการเมืองหรือไม่ใช่นักโทษทางการเมืองก็ตาม ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันทั้งหมด คือ ขอเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ปัญหาคือเมื่อขอไปแล้ว ถ้าหากถูกยก ถ้าจะขออีกต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปี

"อันนี้หมายถึงการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการส่วนตัว แต่ถ้าเป็นการขอพระราชทานอภัยโทษแบบครอบจักรวาลคือ การออกมาพระราชกฤษฎีกามาเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ ใครอยู่ในเกณฑ์เหล่านั้นให้ว่ากันไป แต่ในขณะนี้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกานั้น แต่อาจจะมีในปีหน้า ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"

ผู้สื่อข่าวถามว่า แม้ว่าจะไม่ได้มารับโทษก็อยู่ในเกณฑ์ที่จะขอพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่า ถึงอย่างไรก็ต้องรับโทษก่อนถึงจะขอพระราชทานอภัยโทษได้ ส่วนการขอนั้นจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ก็แล้วแต่กระบวนการ

เมื่อถามว่า การจะขอพระราชทานอภัยโทษจะต้องรับโทษไปแล้วกี่ปี นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มี เพราะการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นพระมหากรุณาธิคุณ เป็นพระราชอำนาจ ไม่มีกำหนดในเรื่องดังกล่าว แต่ถ้าการอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกมาสำหรับคราวหนึ่งเพื่อคน 30,000 คน ก็มีเกณฑ์ของเขาอยู่ว่าจะต้องรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 หรือจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 8 ปี โดยขณะนี้กฎหมายนี้ยังไม่มี มีไปคราวล่าสุดก็ออกไปแล้ว ปล่อยออกมาจากคุกไปแล้ว 30,000 คน. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง