“พิธา” เปิดปาก รับโอนหุ้นไอทีวีให้ทายาทแล้ว อ้างกลัวอนาคตที่ไม่แน่นอนหากศาลตัดสินให้ทำสื่อต่อได้ นักร้องแห่เข้า กกต.พรึ่บ เรืองไกรย้อนแสบก้าวไกลชูโอเพนดาต้า แต่กลับปิดเงียบเรื่องหุ้นหัวหน้า “นพรุจ” เปิดตัวพยานสำคัญ ชี้เป็นเด็กเก่าอนาคตใหม่ที่รู้เรื่องดี “วิษณุ” เผยส่อเค้าตายน้ำตื้น ไปแก้ข้อบังคับพรรคมัดตัวเอง “บิ๊กตู่” ไม่หวั่นถูกเช็กบิลย้อนหลัง หัวหน้า ก.ก.อ้างเป็นการสร้างวัฒนธรรมความรับผิดชอบ! ครม.เคาะแล้วพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุม รอ กกต.รับรอง ส.ส.ให้ได้ 95%
เมื่อวันอังคารที่ 6 มิ.ย.2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เดินทางมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 7 กรณีการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้มีการให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปในทิศทางต่างๆ ตรงข้อเท็จจริงบ้าง ไม่ตรงบ้าง มีการเบี่ยงเบนข้อกฎหมายบ้าง แต่จากการติดตามพบว่ามีการพูดกันว่าไอทีวีเลิกประกอบกิจการเป็นเด็ดขาดแล้วหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ไอทีวีมีสัญญาเข้าร่วมงานกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) 30 ปี ตั้งแต่ ก.ค.2538 ต่อมาถูกบอกเลิกในปี 2550 ไอทีวีจึงยื่นฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการ โดยในชั้นแรกไอทีวีแพ้ จากนั้นจึงร้องเป็นครั้งที่ 2 และอนุญาโตฯ วินิจฉัยว่าการบอกเลิกสัญญาของ สปน.นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ สปน.ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้บอกเลิกคำชี้ขาดของอนุญาโตฯ ซึ่งศาลปกครองมีคำพิพากษาว่าอนุญาโตฯ ชี้ขาดครั้งที่ 2 ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมา สปน.ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และอยู่ระหว่างการพิจารณา จึงนำข้อมูลมาให้ กกต.ประกอบการพิจารณา
นายเรืองไกรกล่าวต่อว่า ยังมีกระแสข่าวว่านายพิธาได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในงาน Pride month ที่ถามว่ามีการขายหุ้นหรือไม่ แต่นายพิธาไม่ได้ตอบคำถาม จึงต้องเพิ่มคำร้องให้ กกต.ตรวจสอบประเด็นนี้ว่านายพิธาได้ขายหุ้นหรือไม่ เพราะนายพิธาเคยให้สัมภาษณ์ว่ากรณีแย่ที่สุดอาจพ้นจากการเป็น ส.ส. แต่บัญชีนายกฯ ยังอยู่ และเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2566 นายพิธาตอบคำถามสื่อมวลชนในกรณีขายหุ้นนั้นว่าเลขาธิการพรรคได้ให้ข้อมูลไปแล้ว ซึ่งไม่น่าตอบเช่นนั้น ควรบอกให้ชัดเจนว่าขายหรือยังไม่ขาย เพราะสิทธิในการขายหุ้น เมื่อนายพิธามีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวีมา 16 ปี หลักฐานปรากฏชัด เปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้ แล้วถือมาเกินวันสมัครรับเลือกตั้งแน่นอน เพราะรายชื่อผู้ถือหุ้นปรากฏวันที่ 16 เม.ย. 2566 แต่วันที่รับสมัคร ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ คือวันที่ 3-7 เม.ย.
นายเรืองไกรกล่าวอีกว่า ขอให้ กกต.ตรวจสอบการโอนหุ้นที่เกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งก็ไม่ทราบวัตถุประสงค์ เพราะคงไม่ทำให้การสมัคร ส.ส. หรือการยอมรับเป็นบัญชีนายกฯ นั้นเสียไป ที่ไม่เสียไป เพราะเมื่อยื่นไปแล้วมีลักษณะต้องห้าม ถ้าศาลตัดสินว่านายพิธาถือหุ้นสื่อ นายพิธาจะหมดสิทธิ์เป็น ส.ส.และบัญชีนายกฯ ด้วย ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง มาตรา 14 ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ กกต. ที่จะต้องสอบถามถึงกรณีการขายหุ้นของนายพิธา หากมีการซื้อขายก็ต้องส่งสำเนาการโอนหุ้น ตาม พ.ร.บ.บริษัทจำกัดมหาชน 2535 หมวด 5 ซึ่งเรื่องผู้ถือหุ้นระบุชัดเจนว่าการโอนหุ้นต้องแจ้งใน 7-14 วัน หากไม่แจ้งจะถือว่าไม่มีการโอนหุ้น ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่าน่าจะโอนแล้ว และน่าจะโอนหลังจากที่ร้องเรียนตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. และเข้าให้ถ้อยคำต่อ กกต.เมื่อวันที่ 29 พ.ค. น่าจะมีการขายในช่วงนี้ ขณะที่บริษัทต้องจดแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นการโอนโดยตราสาร ใบหุ้นสลักหลัง หรือขอให้ออกใบหุ้นใหม่ เขียนเอาไว้หมด
“ขอเรียกร้องไปยังนายพิธา ขอให้เปิดเผยข้อมูลต่อสื่อมวลชนเถอะ หากยังไม่ได้โอนก็ตอบมาเลยว่ายังไม่ได้โอน ถ้าโอนก็ขอให้แสดงหลักฐานว่าโอนแล้ว และจดแจ้งต่อบริษัทไอทีวีแล้ว แค่นั้นเอง ไม่เห็นมีปัญหาอะไร ที่ผมพูดเช่นนี้เพราะเว็บไซต์พรรคก้าวไกลย้ำเสมอถึงคำว่าโอเพนดาต้า แต่ข้อมูลของตัวท่าน ในฐานะที่แสดงตนเป็นหัวหน้าพรรค แต่ทำไมไม่เปิดเผย ทำไมต้องให้ กกต.รับคำร้องผม แล้วถามไป แล้วการที่ขายไปแล้วเจตนาคืออะไร ผมคงไม่ก้าวล่วง แต่ถ้าคิดว่าโอนแล้วจะทำให้กลับมาเป็นบัญชีนายกฯ โดยชอบ ผมคิดว่าก็คงไม่ใช่ เพราะเป็นไปตามข้อกฎหมาย” นายเรืองไกรกล่าว
เปิดพยานเด็ดปีก ‘พิธา’
ทั้งนี้ ระหว่างนายเรืองไกรให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ปรากฏว่านายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือทนายอั๋น บุรีรัมย์ ได้ยืนรับฟังการให้สัมภาษณ์ด้วย ทำให้นายเรืองไกรให้สัมภาษณ์ด้วยสีหน้ากังวลและระแวดระวังตัวเอง ก่อนจบสัมภาษณ์อย่างรวดเร็วโดยไม่เปิดให้สื่อมวลชนซักถาม ขณะที่ทนายได้เดินปรี่พยายามเข้าไปประชิดตัวนายเรืองไกรพร้อมตะโกนถามว่าได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาไหม พี่เป็นคนบุรีรัมย์หรือเปล่า แต่นายเรืองไกรไม่เผชิญหน้าแล้วเดินไปยื่นหนังสือต่อ กกต.ต่อไป
จากนั้นนายภัทรพงศ์ และนายวีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล หรือลุงศักดิ์ เข้ายื่นหนังสือต่อ กกต. คัดค้านคำร้องของนายเรืองไกร รวมถึงบุคคลอื่นที่มายื่นร้องขอให้ กกต.ตรวจสอบการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา โดยเห็นว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน ต้องดูบรรทัดฐานสังคม ซึ่งเพิ่งจะมีคำพิพากษาศาลฎีกาในกรณีนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเสี่ยงว่าจะผิดมากกว่านายพิธาอีก เพราะกิจการสื่อที่นายชาญชัยถือหุ้นอยู่ยังประกอบกิจการอยู่ แต่ไอทีวียุติการออกอากาศมาตั้งแต่ปี 2551 จึงหวังว่า กกต.จะปัดตกคำร้องของนายเรืองไกรและผู้อื่นๆ ที่มายื่นร้องเรื่องการถือหุ้นของพิธา เหมือนกับที่ปัดตกคำร้องของนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยกรณีร้องนโยบายหาเสียงกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทย
ต่อมานายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ยื่นคำร้องเพิ่มเติมต่อ กกต. ขอให้เชิญนายนิกม์ แสงศิรินาวิน ผู้สมัครพรรคภูมิใจไทย เขต 17 คลองสามวา กรุงเทพมหานคร เป็นพยานกรณีที่ได้ยื่นให้ตรวจสอบการถือหุ้นสื่อไอทีวีของนายพิธา
นายนพรุจกล่าวว่า การร้องให้ตรวจสอบการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา เกิดจากนายนิกม์เป็นผู้ให้สัมภาษณ์คนแรกเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ซึ่งนายนิกม์เคยเป็นผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 และได้ถือหุ้นไอทีวีเช่นเดียวกับนายพิธา ซึ่งตอนนั้น อนค. มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตัดสิทธินายธนาธร นายนิกม์ก็ไม่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แต่นายพิธาได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. โดยขณะนั้นนายพิธายังไม่ได้ขายหุ้น วันนี้จึงจำเป็นที่ต้องเอานายนิกม์เข้ามาเป็นพยานบุคคล เพราะถือเป็นพยานปากเอก ซึ่งตนมั่นใจว่านายนิกม์พร้อมที่จะมาให้ข้อมูลต่อ กกต.ในฐานะพยาน หรือหากไม่สะดวก กกต.สามารถเชิญสื่อมวลชนที่นายนิกม์ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาให้ถ้อยคำได้
“หาก กกต.มีการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างเป็นทางการ ซึ่งรวมถึงการรับรองนายพิธาด้วยนั้น ก็ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติการเป็นแคนดิเดตนายกฯ และสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที” นายนพรุจกล่าว
‘พิธา’ รับแล้วโอนหุ้นให้ทายาท
ด้านนายพิธาได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านนัดแรกที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าพยายามหลีกเลี่ยงสื่อมวลชน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. หลังมีกระแสข่าวว่านายพิธาขายหุ้นไอทีวี โดย
นายพิธาไม่ได้เข้าด้านหน้าพรรคซึ่งมีสื่อมวลชนปักหลักรออยู่ แต่ได้เข้าด้านหลังและขึ้นลิฟต์ไปห้องประชุมทันที
โดยหลังประชุมนายพิธาตอบข้อถามกรณีนายเรืองไกรระบุว่ามีการขายหุ้นไอทีวีไปแล้วว่า ไม่ใช่ขาย แต่โอนให้ทายาทเรียบร้อยแล้ว ที่ผ่านมามั่นใจในข้อกฎหมายและหลักฐาน ซึ่งในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะมีความพยายามในการฟื้นคืนชีพไอทีวีขึ้นมา ถ้าเกิดขึ้นจริงไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางธุรกิจหรือทางการเมือง จึงตัดสินใจโอนหุ้นไอทีวีให้กับทายาท ซึ่งไม่คิดจะเป็นประเด็นอะไร เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาเรื่องที่ต้องชี้แจงทั้งเรื่องครอบครัวและเรื่องหุ้นไอทีวีก็เป็นไปตามที่โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊ก แต่จุดตัดอยู่ที่อนาคตมีโอกาสที่ไอทีวีจะฟื้นฟูกลับมาทำธุรกิจต่อ
“หลายคนก็ออกมาบอกว่ามีความพยายามสกัดกั้นผมออกจากการเมือง ผมได้ยินอย่างนี้ แน่นอนว่าต้องกังวล เพราะอดีตกับอนาคตไม่เหมือนกัน อย่างที่บอกว่าอดีตก็คืออดีต แต่ในอนาคตมีความไม่แน่นอนอยู่ ดังนั้นต้องมีความแน่นอนเพื่อให้ตั้งรัฐบาลให้ได้” นายพิธากล่าว
เมื่อถามว่า จะกระทบคุณสมบัติการเป็น ส.ส.หรือไม่ นายพิธากล่าวว่า ต้องดูในรายละเอียด แต่รอทาง กกต.ประสานมาจะได้ชี้แจง เพราะไม่แน่ใจว่าสงสัยในประเด็นใด ซึ่ง กกต.อาจส่งหนังสือภายในสัปดาห์นี้
ถามต่อว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าการโอนหุ้นเป็นการปัดเรื่องให้พ้นตัวหรือไม่ นายพิธากล่าวว่า เป็นการโอนเพื่อป้องกันอนาคต ในการฟื้นคืนชีพไอทีวี ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางธุรกิจของเขา หรือเป็นเพราะเหตุผลทางการเมืองในการสกัดกั้นตนเอง เพราะฉะนั้นเราต้องป้องกันความเสี่ยงตรงนี้เพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลได้
ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงศาลปกครองสูงสุดกำลังพิจารณาตัดสินคดีระหว่าง สปน.กับไอทีวี ว่าไม่ทราบ ต้องถามปลัด สปน. เพราะผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะหลายหน และยังมีคดีอื่นๆ ค้างอยู่ มีทั้งคดีศาลปกครอง ศาลอาญา และศาลแพ่ง
เมื่อถามว่า หากมีการฟื้นให้ไอทีวีกลับมาเป็นสื่อจะกระทบกับนายพิธาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ควรตอบ เรื่องนี้คุณควรคิดเองได้ และเมื่อถามอีกว่าล่าสุดนายพิธาบอกว่าโอนหุ้นไอทีวีไปแล้ว จะมีผลกระทบอะไรหรือไม่ นายวิษณุปฏิเสธไม่ตอบคำถาม รวมทั้งบอกไม่รู้ ไม่ตอบเมื่อถูกถามเรื่องการโอนหุ้นในภายหลัง ต้องดูกรอบระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ใช่หรือไม่ด้วย
‘วิษณุ’ แย้มเหตุตายน้ำตื้น
ถามอีกว่า ขณะนี้เกิดประเด็นการตีความกฎหมายกรณี พ.ร.ป.พรรคการเมืองไม่ได้กำหนดเรื่องการถือหุ้นสื่อของหัวหน้าพรรค แต่ข้อบังคับพรรค ก.ก.ไปกำหนดเรื่องคุณสมบัติของหัวหน้าพรรคว่าต้องห้ามการถือหุ้นสื่อ ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินโดยยึดแนวทางใด นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ตอบ แต่ พ.ร.ป.ไม่ได้เขียนไว้จริง ไม่มีข้อห้ามเรื่องการถือหุ้น สมาชิกพรรคและกรรมการบริหารพรรคถือหุ้นสื่อได้ หัวหน้าพรรคซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารพรรคถือหุ้นสื่อได้ แต่ผู้สมัคร ส.ส.ถือหุ้นสื่อไม่ได้ รัฐมนตรีและนายกฯ ถือหุ้นสื่อไม่ได้ ว่าที่นายกฯ ที่อยู่ในบัญชีพรรคการเมืองถือหุ้นสื่อไม่ได้ ก็มีแค่นี้ ส่วนข้อบังคับพรรคไปเขียนอะไรออกมาอีกก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องไปวินิจฉัย ไม่ขอตอบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า แปลว่าพรรค ก.ก.ไปออกข้อบังคับเข้มข้นกว่า พ.ร.ป.พรรคการเมืองโดยยึดรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ทั้งมาตรา ถือว่าเป็นเสรีภาพ และอาจต้องรับผลกระทบที่ตามมาด้วยใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็เป็นอย่างนั้นแหละ ที่พูดๆ มาก็วนอยู่ตรงนี้ ถามย้ำว่า เพราะพรรค ก.ก.ไปเขียนข้อบังคับให้เข้มข้นเองใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็ใช่
เมื่อถามถึงกรณีนายเรืองไกรร้องนายพิธาว่าขาดคุณสมบัติการเป็นแคนดิเดตนายกฯ ด้วย มองอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ และไม่รู้เรื่องจริงๆ
สำหรับความเคลื่อนไหวในการประชุมทำงานชุดเล็กทั้ง 7 คณะที่ตั้งขึ้นตามมติพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล นายพิธากล่าวว่า ได้กำหนดคณะทำงานเพิ่มได้แก่ 1.คณะทำงานเศรษฐกิจและรัฐบาลดิจิทัล 2.คณะทำงานต่อต้านคอร์รัปชันและส่วย 3.คณะทำงานสาธารณสุข โดยเน้นเรื่องการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล 4.คณะทำงานเพื่อความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม และ 5.คณะทำงานปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ทั้งนี้เป็น 5 คณะทำงานที่เราได้ตั้งใหม่ ซึ่งหวังว่าจะมีคำตอบให้กับสังคมในช่วงที่ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งเป็นการทำงานล่วงหน้า
“อายุของคณะทำงานที่ได้ตั้งมีแค่ 2 เดือน ซึ่งมีความน่าจะเป็นที่จะได้เป็นรัฐบาลใหม่ก็ต้องทำงานล่วงหน้า อีกทั้งในการประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วงร้อยวันแรกจะสามารถคิดได้ว่าควรจะเรียงลำดับความสำคัญอย่างไรในการที่จะแก้ไขปัญหาของประชาชน” นายพิธากล่าว
ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า พรรคมีข้อเสนอแนะ 5 ข้อที่เป็นกรอบการทำงานใหญ่ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน ประกอบด้วย 1.ข้อเสนอเรื่องความมั่นคงทางการคลัง โดยทุกนโยบายที่ต้องใช้งบประมาณต่างๆ นั้นต้องคิดคำนวณทุกบาททุกสตางค์ให้มีผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจออกมาให้คุ้มค่า โดยตั้งใจลดการขาดทุนทางการคลัง และเข้าสู่สมดุลทางการคลังในอีก 7 ปีข้างหน้า 2.ข้อเสนอแนะเรื่องระบบภาษี ซึ่งต้องมีฐานภาษีที่สูงขึ้น มีคนเข้าสู่ระบบฐานภาษีได้มากขึ้น 3.ข้อเสนอแนะในการออกแบบนโยบายต้องคิดและคำนวณอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจควบคู่กับการเท่าเทียมของการกระจายรายได้ 4.แต่ละคณะทำงานต้องวางแผนการทำงานในระยะสั้นในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน รวมถึงการวางแผนในระยะกลางและยาว และ 5.เปิดให้ประเทศมีการหารายได้เข้ามาจากการต่างประเทศที่สร้างรายได้ เปิดให้ประเทศไทยเชื่อมต่อโลกดึงการค้าการลงทุนเพื่อให้เข้ามาในประเทศ
อึ้ง! เครื่องดื่มทางการเมือง
ภายหลังจากการประชุมเสร็จสิ้น นายพิธาได้ลงมาซื้อเครื่องดื่มช็อกโกแลตมินต์ เมนูยอดฮิตตามคำแนะนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ พรรค พท. รวมทั้งซื้อกาแฟส้มซึ่งเป็นเมนูโปรดของนายพิธาที่ร้าน Think lab โดยนายพิธาได้ชิมเมนูช็อกมินต์ก่อน พร้อมระบุว่าให้เกียรติเจ้าบ้านก่อน ซึ่งหลังจากชิมแล้วระบุว่ารสชาติดีเกินร้อย จากนั้นได้ชิมกาแฟส้ม โดยระบุว่ารสชาติดีเหมือนที่ร้าน Sol bar ของพรรค ก.ก.เลย ซึ่งเครื่องดื่มทั้งสองเมนูมีรสชาติที่แตกต่างกัน แต่เมื่อดื่มพร้อมกันแล้วก็กลมกล่อม รวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ทั้งนี้ ในวันที่ 20 มิ.ย.ที่จะมีการประชุม 8 พรรคร่วมที่พรรค ก.ก. จะชวน น.ส.แพทองธารไปชิมเมนูช็อกมินต์และกาแฟส้มที่ร้าน Sol bar ด้วย
ต่อมาคณะของนายพิธาได้เดินทางไปหารือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) โดยนายพิธากล่าวว่า ปัญหาของกรุงเทพฯ ทั้งเรื่องเก่าและความท้าทายใหม่ จะแก้ไขได้อย่างฉับไวมีประสิทธิภาพ ต้องทำงานร่วมกันตั้งแต่ระดับรัฐบาล รัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร ผู้ว่าฯ กทม. และสภา กทม. ซึ่งการหารือมี 3 ประเด็นหลัก 1.ข้อเสนอ 21 ข้อของ กทม. ซึ่งต้องอาศัยการประสานงานกับรัฐสภาในการแก้ไขกฎหมาย พรรค ก.ก.พร้อมให้ความร่วมมือ 2.ร่างกฎหมาย 45 ฉบับที่พรรค ก.ก.จะเสนอต่อสภาที่เกี่ยวข้องกับ กทม. คือการแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าเขต และ 3.การตั้งคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านในการทำงานระหว่างพรรค ก.ก. และ กทม.
วันเดียวกัน ยังคงมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองในส่วนต่างๆ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังประชุม ครม.ถึงการพูดคุยกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ถึงกระแสทางการเมืองว่า ไม่มีอะไร ท่านก็ไปดูฟุตบอลเฉยๆ ไม่มีหรอก จะไปดีลลับอะไร คนเยอะขนาดนั้น ในสนามฟุตบอลคนเป็นหมื่นจะไปดีลอะไรกันตรงไหน นั่งตรงไหนยังไม่รู้เลย
เมื่อถามว่า สถานการณ์ตอนนี้มีการพูดถึงการดีลรัฐบาลข้ามขั้ว พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ทราบ ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของการเมือง เรื่องการเป็นรัฐบาลไม่ใช่เรื่องของตน นั่นเป็นกลไกที่จะพูดกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายที่มีอยู่ ตนไม่เกี่ยวเป็นรัฐบาลรักษาการ ดูแลพี่น้องประชาชนของเราและขับเคลื่อนแผนงานโครงการต่างๆ ที่ทำได้
เมื่อถามว่า ในใจของนายกฯ ยังหวังจะกลับมาเป็นนายกฯ อีกหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “ไม่มีในใจนอกใจ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น ทำไมต้องหาคำตอบอันนี้ให้ได้เลยนะ” เมื่อถามว่าจะได้รู้ว่านายกฯ จะตัดสินใจไปต่อหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "แล้วไปได้หรือไม่ ไปได้ไหมล่ะ" เมื่อถามว่านายกฯ ก็มีโอกาส พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “ผมยังไม่เห็นโอกาสเลย ท่านเห็นยังไงล่ะ จะไปได้ยังไง”
พล.อ.ประยุทธ์ยังตอบคำถามถึงความกังวลหรือไม่จะถูกเช็กบิลย้อนหลังหากมีการเปลี่ยนขั้วการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า ไม่กลัว
เช็กบิล ‘บิ๊กตู่’ สร้างวัฒนธรรม!
นายพิธากล่าวในประเด็นนี้ว่าอนุมานได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ยินดีที่จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบว่าในช่วง 9 ปีผ่านมามีการประพฤติผิดมิชอบอะไรบ้างเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ตั้งแต่รัฐบาลชุดแรกถึงชุดที่ 2 เรียน พล.อ.ประยุทธ์ ว่าไม่ใช่เรื่องส่วนตัวที่จะต้องการเช็กบิลหรือแก้แค้นแต่อย่างใด แต่ต้องการเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมรับผิดรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่อำนาจผ่านการทำรัฐประหาร การใช้มาตรา 44 ในหลายๆ เรื่องที่มีผลกระทบต่อประชาชนในหลายกฎหมายทางการทวงคืนผืนป่า หรือกระทบต่อสิทธิมนุษยชน
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ได้เดินยิ้มแย้มออกจากห้องประชุม ครม. แต่ปฏิเสธตอบทุกคำถามของสื่อมวลชนในเรื่องการเมือง
ส่วนนายอนุทินให้สัมภาษณ์ครั้งแรก ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ยืนยันว่าไม่มีเรื่องดีลลับ และไม่รู้เรื่องเลย ส่วนภาพในสนามฟุตบอลนั้น ก็เป็นการเจอกันในบรรยากาศไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ต่างคนต่างเป็นแขกของเรื่องฟุตบอล ซึ่งพรรค ภท.ยังทำตามที่พูดไว้เสมอ เราต้องให้พรรคมีคะแนนเสียงมากที่สุดได้จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งขณะนี้เขาก็กำลังจัดตั้งอยู่ เราก็ต้องช่วยกันให้กำลังใจ
เมื่อถามว่า เมื่อถึงเวลาโหวตนายกฯ เหมือนมีการเรียกร้องเรื่องสปิริตให้รัฐบาลปัจจุบันไปโหวตให้นายพิธาเป็นนายกฯ นายอนุทินกล่าวว่า พรรค ภท.ตอนหาเสียงมีจุดยืนชัดเจนว่าเรารับอะไรได้ รับอะไรไม่ได้
รายงานข่าวจากที่ประชุม ครม.แจ้งว่า ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ค่อนข้างอารมณ์ดี โดยได้หยิบบทความเกี่ยวกับการวิเคราะห์สถานการณ์ด้านการลงทุนและเศรษฐกิจไทยมาอ่านให้ฟัง และช่วงหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ยังบอกกับ ครม.ว่าเรื่องการเมืองคงไม่มีอะไรต้องพูดกันมาก ให้รัฐมนตรีแต่ละคนพูดแต่เรื่องงานในกระทรวงของแต่ละคนที่ทำมา เพราะไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ปล่อยให้เป็นการแสดงความคิดเห็นในเชิงวิเคราะห์ของแต่ละพรรคการเมืองไป ให้นิ่งและรอดูความชัดเจนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล เบื้องต้นนี้ต้องรอดู กกต.ในการที่จะประกาศรับรอง ส.ส. เพราะยังไม่รู้ว่าจะมีการให้ใบเหลืองใบส้มกันหรือไม่ และจะต้องเลือกตั้งซ่อมกันกี่เขต
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ.2566 โดยยังไม่ได้ระบุวันที่เรียกประชุมรัฐสภา เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พร้อมมอบให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีประสานกับสำนักงาน กกต. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานองคมนตรี เมื่อมี ส.ส.ได้รับเลือกตั้งถึง 95% หรือ 475 คน แล้วให้นําร่าง พ.ร.ฎ.ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป
ช่วงค่ำ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม กกต.ได้มีการพิจารณากรณีสำนักงาน กกต.รายงานผลการดำเนินการเกี่ยวกับคำร้องขอให้ตรวจสอบว่านายพิธามีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และมาตรา 42 (3) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจากถือหุ้นไอทีวีหรือไม่ โดยสำนักงานเสนอว่า เรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติ ส.ส. เนื่องจากนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 10 พ.ค.66 ซึ่งพ้นระยะเวลาการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครส.ส. ตามมาตรา 51 ประกอบมาตรา 60 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่กำหนดว่าต้องยื่นภายใน 7 วันนับแต่ กกต.ประกาศรายชื่อเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง จึงต้องเสนอ กกต.ให้มีคำสั่งเป็นความปรากฏต่อ กกต.ว่านายพิธามีลักษณะต้องห้ามของการลงสมัครรับเลือกตั้ง และการยินยอมให้พรรคส่งชื่อตนเองเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลลำดับที่ 1 รวมถึงยอมให้เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เข้าข่ายรู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังคงลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่ โดยให้พนักงานสืบสวนไต่สวนของสำนักงาน กกต.เป็นผู้ดำเนินการสืบสวนไต่สวนต่อตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวนและการวินิจฉัยชี้ขาด 2561 ซึ่งก็จะนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการไต่สวน
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กกต.ยังเห็นว่าที่สำนักงานเสนอมีรายละเอียดไม่ครบถ้วน เช่น คำร้องมีการร้องในประเด็นใดบ้าง หลักฐานเป็นอย่างไร ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไร จึงให้ไปดำเนินการมาให้ครบถ้วนและเสนอที่ประชุม กกต.พิจารณาใหม่โดยเร็ว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘อิ๊งค์’ลุยภูเก็ต หนุนท่องเที่ยว กลุ่ม‘ลักซ์ชูรี’
"นายกฯ อิ๊งค์" เปิดงานแสดงเรือนานาชาติ หนุนท่องเที่ยวลักซ์ชูรีไลฟ์สไตล์
2สัปดาห์ส่ง‘จ่าเอ็ม’กลับ เชื่อมีผู้ร่วมขบวนการอีก
นายกฯ สั่งทบทวนมาตรการป้องกันก่ออาชญากรรมในไทย
ชงแก้สัญญารถไฟฟ้าเชื่อม3สนามบิน
บอร์ดอีอีซีชงแก้สัญญารถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน เข้า ครม.ภายในเดือนเม.ย.นี้
ศาลนัด10ก.พ. 16บอสขอสิทธิ์ ได้ประกันสู้คดี
"ทนายดิไอคอน" จ่อยื่นประกันตัว 16 บอส ช่วงนัดตรวจหลักฐาน
นโยบายตปท.เสียเหลี่ยมเพื่อนบ้าน
สส.ฝ่ายค้านชำแหละ “นโยบายต่างประเทศ” เงียบๆ เสียเหลี่ยมเพื่อนบ้าน
ระวังไม่มีแผ่นดินอยู่ ชวนย้อนคำเตือนแม้ว18ปี ชี้สส.แก่สุดในเพื่อไทย2คน
"ชวน" สวนกลับ “ทักษิณ” สส.แก่สุดอยู่ในพรรคเพื่อไทย 2 คน