กมธ.พัฒนาการเมืองฯ วุฒิสภา ชี้ "ส.ว.จเด็จ" เจตนาดี มองการณ์ไกล ชง "รัฐบาลแห่งชาติ" หวังแก้วิกฤตเลือกนายกฯ แต่เป็นไปได้ยาก เตรียมร่อนหนังสือจี้ กกต.ส่งศาล รธน. หาข้อยุติปมหุ้นสื่อ "พิธา" หวั่นปล่อยสภาโหวตนายกฯ เสี่ยงเกิดความวุ่นวายในสังคม "3 พรรคเล็ก" ร้องศาล ปค. สั่งโมฆะเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เหตุไม่สุจริต
ที่รัฐสภา วันที่ 6 มิ.ย. มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นประธานคณะ กมธ. โดยภายหลังการประชุมนายเสรีแถลงว่า ที่ประชุมได้รับฟังความเห็นของนายจเด็จ อินสว่าง ส.ว. ในฐานะรองประธาน กมธ. กรณีการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และมองว่าเป็นการมองการณ์ไกล และไม่ใช่เจตนาร้าย แต่เป็นความหวังดีเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่อาจมีข้อขัดแย้งประเด็นคุณสมบัติการเป็นผู้สมัคร ส.ส. การถือหุ้นสื่อ นโยบายที่มีประเด็นความมั่นคงต่างประเทศที่ให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซง ปัญหาเศรษฐกิจ การบริหารการคลัง รวมถึงการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ที่มีผลกระทบหมวด 1, หมวด 2 ที่กระทบต่อความมั่นคงและสถาบันเบื้องสูง ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาบ้านเมืองได้
นายเสรีกล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปได้ยาก เพราะเป็นเรื่องนอกรัฐธรรมนูญ และ 18 ปีที่ผ่านมาเกิดข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติ 8 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ อย่างไรก็ดี การสร้างความปรองดอง กมธ.มองว่าจะเกิดขึ้นได้ต้องได้รับความเห็นพ้องจากทุกฝ่าย โดยมีแนวทางที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้คือ มาตรา 272 วรรคสอง ว่าด้วยการเห็นพ้องของที่ประชุมรัฐสภา 2 ใน 3 หรือ 500 เสียง ที่ร่วมเว้นบทบัญญัติใช้แคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรคการเมือง หรือเปิดช่องให้นายกฯ คนนอก ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นไปได้ยาก เว้นแต่พรรคใหญ่ ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลเห็นชอบร่วมกันจะง่ายที่เกิดนายกฯ คนนอก ซึ่งกระบวนการที่ได้รับความร่วมมือร่วมใจนั้นไม่ต่างจากรัฐบาลแห่งชาติ
"กมธ.เห็นว่าโอกาสที่จะเสนออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้ตามมาตรา 272 วรรคหนึ่ง แต่การจะแก้ปัญหาต้องได้รับความร่วมมือจากทุกพรรค ทุกฝ่าย ตามมาตรา 272 วรรคสอง ดังนั้นเป็นทางที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตและคนมองข้ามไป แต่นายจเด็จมองเห็นอนาคต ต้องการให้เกิดความปรองดอง สามัคคี ไม่มีอะไรแอบแฝงใดๆ ทั้งสิ้น" ประธาน กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ กล่าว
นายเสรีให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ที่ประชุม กมธ.พิจารณาเรื่องร้องเรียนการถือครองหุ้นไอทีวีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ โดยที่ประชุมเห็นว่าเรื่องนี้มีหลายคนไปยื่นร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เนื่องจากเป็นประเด็นสำคัญที่จะแสดงให้เห็นนายพิธามีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญที่จะเป็นนายกฯ ต่อไปได้หรือไม่ ซึ่ง กมธ.ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าจะส่งเรื่องแจ้งให้ กกต.และ กมธ. เพราะเป็นเรื่องที่ต้องหาข้อยุติโดยเร็วเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายพิธา เพื่อแก้ปัญหาอื่นที่จะตามมา และมีผลกระทบอีกจำนวนมาก
"ทาง กมธ.จะทำหนังสือแจ้งไปยัง กกต. เพื่อให้เร่งรัดในการที่จะตรวจสอบคุณสมบัติของนายพิธา และถ้าเห็นว่าสิ่งที่ได้ร้องเรียนกันนั้นเป็นเรื่องสำคัญและมีมูล กกต.ควรเร่งรัดในการเสนอเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยชี้ขาด เพื่อความชัดเจนในการที่จะแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ เพราะอย่างน้อยที่สุดการที่ศาลได้ตัดสินวินิจฉัยชี้ขาด ก็จะเป็นที่ยอมรับของคนทั้งประเทศและของคนหมู่มาก หากรอไปจนถึงขั้นตอนของวุฒิสภาลงมติโหวตนายกฯ เกิดวุฒิสภาไม่เห็นชอบหรือไม่เห็นด้วย ไม่ว่าประการใดก็จะเกิดคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเรื่องเหล่านี้ ก็จะเกิดความไม่สงบเรียบร้อย เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง" นายเสรีกล่าว
ถามว่า ในที่ประชุม กมธ.เห็นว่านายพิธาขาดคุณสมบัติแล้วใช่หรือไม่ ปธ.กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ กล่าวว่า ถ้าดูตามหลักฐาน ข้อกฎหมาย และข้อบังคับของพรรคก้าวไกล มีมูลที่จะเห็นได้ว่านายพิธาขาดคุณสมบัติตั้งแต่เป็นสมาชิกพรรคตั้งแต่สมัครรับเลือกตั้ง และถ้าขาดคุณสมบัติรับเลือกตั้ง ก็มีผลกับการไปรับรองผู้สมัครพรรคให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ฉะนั้นเรื่องเหล่านี้เป็นข้อมูลหลักฐานที่ปรากฏต่อสาธารณชนอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือ กกต.ที่รับผิดชอบในการรับเรื่องร้องเรียนต้องเร่งรัด แก้ปัญหาให้ปรากฏและให้ข้อยุติ และสรุปเนื้อหาทั้งหมดโดยเร็ว
"การเสนอตัวเป็นนายกฯ ถือว่าเป็นคุณสมบัติเดียวกันกับการเป็น ส.ส. เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติเชื่อมโยงกันเป็นทอดๆ ตั้งแต่การเป็นสมาชิก สมัครรับเลือกตั้ง การเสนอชื่อเป็นนายกฯ เพราะฉะนั้นในรัฐธรรมนูญและข้อบังคับพรรคก้าวไกล ได้บัญญัติในเรื่องเหล่านี้ไว้แล้ว ซึ่งเป็นไปในทางเดียวกัน" ปธ.กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ กล่าว
ซักว่ามีข่าวนายพิธาขายหุ้นไปแล้ว จะมีผลหรือไม่ นายเสรีกล่าวว่า ไม่ว่าจะโอนหุ้นด้วยวิธีใดก็ตาม ต้องดูว่าเขาโอนช่วงใด ถ้าโอนช่วงนี้ก็ไม่มีผล เพราะการที่มีคุณสมบัติที่จะเป็นนายกฯ ได้หรือไม่เริ่มตั้งแต่ตอนที่เสนอชื่อในบัญชีพรรคการเมือง ฉะนั้นถ้าถือหุ้นตั้งแต่เสนอชื่อในบัญชี และส่งให้ กกต. ถือว่ามีผลในทางกฎหมายแล้วว่าไม่มีคุณสมบัติ เพราะฉะนั้นนายพิธาจะมาขายหรือโอนหุ้นในตอนนี้ก็ไม่ได้ทำให้ข้อเท็จจริงตรงนั้นเปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้านายพิธาโอนหุ้นไปก่อนหน้านี้แล้วมาสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคและไม่ได้ไปรับรองใคร แล้วถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ ในช่วงนี้แล้วไปถอนหุ้นออกก่อน ก็ยังมีผลทางข้อกฎหมาย เพราะการเสนอชื่อในบัญชีไม่ได้มีผลตอนที่สภาจะลงมติ แต่มีผลตั้งแต่เสนอชื่อ ดังนั้นหากมาขายหุ้นตอนนี้ก็ไม่มีผลอะไร
ที่สำนักงาน กกต. นายพรรณธนู วรรณกางซ้าย ผู้สมัคร ส.ส.เขต 7 จ.บุรีรัมย์ พรรคเพื่อไทย (พท.) เข้าร้องเรียนต่อ กกต. หลังพบว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งนับคะแนนไม่ตรงกับความเป็นจริง รวมทั้งจำนวนบัตรเสียมากกว่าผลต่างคะแนนของผู้ที่ได้ลำดับที่ 1 และ 2 เป็นจำนวนมาก และเจ้าหน้าที่บางหน่วยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
"ผมในฐานะผู้สมัคร จึงต้องการคำชี้แจงจาก กกต.ถึงกระบวนการทั้งหมด พร้อมขอเรียกร้องให้ กกต.สั่งนับคะแนนใหม่ และหากพบว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งจริง ก็ขอให้สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในพื้นที่เขต 7 จ.บุรีรัมย์" นายพรรณธนูกล่าว
ส่วนที่ศาลปกครอง นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล หัวหน้าพรรคเพื่อชาติไทย และนายลิขสิทธิ์ ใสกระจ่าง หัวหน้าพรรคพลัง พร้อมทีมทนายความ เดินทางมายื่นคำฟ้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อสั่งให้การจัดการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พ.ศ.2566 เป็นโมฆะ และ กกต.จัดการเลือกตั้งในส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ โดยที่ กกต.ทั้ง 7 คนเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด เนื่องจากเห็นว่า กกต., เลขาธิการ กกต., สำนักงาน กกต. และกระทรวงการคลัง ร่วมกันจัดการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ไม่เป็นสุจริตเที่ยงธรรม
นายคฑาเทพกล่าวว่า วันนี้พวกเรา 3 พรรคเล็ก ได้แก่ พรรคเพื่อชาติไทย, พรรคพลัง และพรรคแรงงานสร้างชาติ มาเรียกร้องความเป็นธรรมจากการจัดการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใสของ กกต. ไม่ใช่ขี้แพ้ชวนตี เพราะเรามีหลักฐานทั้งเอกสารและพยานบุคคลชี้ชัดที่จะเอาผิด กกต.ได้ว่าจัดการเลือกตั้งไม่สุจริต เพราะ กกต.รู้ดีว่าทำอะไรอยู่ รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก แต่ไม่ทำ ทำให้มีปัญหาคะแนนเขย่ง ดังนั้นพวกเรามีความเชื่อมั่นว่าผลการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อต้องเป็นโมฆะ และต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ และหากว่าศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ พวกเราจะเดินหน้าฟ้องเอาผิดทางอาญากับ กกต.ทั้ง 7 คนในข้อหาทุจริตต่อหน้าที่ พร้อมทั้งส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินคดีอีกทางหนึ่งด้วย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตั้งกก.สอบผกก.บางซื่อ ทนายปาเกียวเล็งทิ้งตั้ม
“ดีเอสไอ” เตรียมสรุปสำนวนคดี 18 บอสดิไอคอนเสนออัยการคดีพิเศษภายใน 20 ธ.ค.นี้
นิกรหักเพื่อไทย เตือนส่อผิดกม. ให้กมธ.ตีความ
“นิกร” หักข้อเสนอ “ชูศักดิ์” เลยช่วงเวลาแปลงร่างประชามติเป็นกฎหมายการเงินแล้ว
‘สนธิ’ลั่นการเมืองใกล้สุกงอม!
“อุ๊งอิ๊ง” เมินปม กกต.สอบครอบงำต่อ เด็ก พท.ยันเป็นการดำเนินการตามปกติ
จ่อส่งคดีหมอบุญให้DSI
ตร.สอบปากคำอดีตภรรยา-ลูกสาว “หมอบุญ” เพิ่มเติม
ทักษิณรอดคลุมปี๊บ! ส้มเหลวปักธงอุดรธานี ‘คนคอน’ตบหน้า‘ปชป.’
เลือกตั้ง อบจ. 3 จังหวัด “เพชรบุรี-อุดรธานี-นครศรีธรรมราช” ราบรื่น
ล่า ‘หมอบุญ’ เมียแค้นเอาคืน
ออกหมายจับ "หมอบุญ" พร้อมพวก 9 คน ร่วมหลอกลวงประชาชนร่วมลงทุนธุรกิจ รพ.ขนาดใหญ่หลายโครงการ เสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท