‘พิธา’ดอดขายหุ้นทิ้ง ‘เรืองไกร’ชงหลักฐานมัดความผิดสำเร็จ/‘อ้วน’ปัดตั้งรบ.แข่ง

“เรืองไกร” ตามขยี้หุ้นพิธา เตรียมยื่นปมศาลปกครองคดี สปน.-ไอทีวีมัดซ้ำ พร้อมแฉดอดเทขายหุ้นทิ้งเกลี้ยงตั้งแต่ พ.ค.66 แต่ความผิดสำเร็จแล้ว ยกเคส ป.ป.ช.ขึ้นเงินเดือนตัวเอง “พิธา-ชัยธวัช” กัดฟันแจงมั่นใจไม่ผิด ไม่ลุกลาม แต่อุบเงียบเรื่องขายหุ้นแล้ว เลขาฯ ก.ก.ยันประชุม 6-7 มิ.ย.ไร้เรื่องเก้าอี้ทั้งประธานสภา-รมต. “สหายอ้วน” รีบแจงด่วนปัดตั้งรัฐบาลแข่ง แต่กั๊กหากก้าวไกลไม่รอดก็ต้องหารือ 8 พรรคเพื่อดันรัฐนาวาประชาธิปไตยไปต่อ

เมื่อวันจันทร์ ยังคงมีความต่อเนื่องในกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ถือครองหุ้นไอทีวี 42,000 หุ้น โดยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ผู้ยื่นคำร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา เปิดเผยว่า วันอังคารที่ 6 มิ.ย.นี้ เวลา 10.00 น.จะเดินทางไปยื่นเอกสารเพิ่มเติมของนายพิธาให้ กกต. ซึ่งเป็นคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่อาจทำให้เห็นได้ว่า คำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการกรณีสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) บอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานกับไอทีวีโดยไม่มีสิทธิหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลปกครองกลางเห็นว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นจึงจะขอให้ กกต.ตรวจสอบว่าสัญญาเข้าร่วมงานของไอทีวียังควรถือว่ามีผลอยู่หรือไม่

นายเรืองไกรกล่าวอีกว่า จะขอให้ กกต.ตรวจสอบเพิ่มเติมว่านายพิธาได้ขายหุ้นออกไปแล้วหรือไม่ หลังมีรายงานว่านายพิธาได้ขายหุ้น ITV จำนวน 42,000 หุ้น ออกไปแล้วเมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งหากขายหุ้นดังกล่าวไปจริงก็ไม่มีผลใดๆ เพราะถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว เพราะนายพิธาถือหุ้นดังกล่าวก่อนลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อปี 2562 และ 2566 ที่อยู่ในบทบัญญัติข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หากนายพิธามาขายหุ้นหลังยื่นลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.และหลังที่พรรคก้าวไกลเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็ไม่ได้มีผลใดๆ ไม่ได้ทำให้ลักษณะต้องห้ามหายไป

“ขอยกตัวอย่างคดีที่อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยมีมติขึ้นเงินเดือนตัวเอง แล้วต่อมา ส.ว.ในช่วงนั้นเข้าตรวจสอบและยื่นเรื่องให้เอาผิดกับ ป.ป.ช.ชุดดังกล่าว จนต่อมา ป.ป.ช.ได้มีมติยกเลิกการขึ้นเงินเดือนตัวเองและคืนเงิน แต่ถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว ศาลฎีกาก็ตัดสินว่ามีความผิด” นายเรืองไกรระบุ

 ทั้งนี้ คดีดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงปี 2548 โดยเป็น ป.ป.ช.ชุดที่มี พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ เป็นประธาน ซึ่งศาลฎีกาตัดสินว่ามีความผิดฐานกระทำผิดทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยคำพิพากษาตอนหนึ่งมีว่า “จำเลยทั้งหมดที่เป็นอดีต ป.ป.ช. 9 คนได้กระทำความผิดตามฟ้อง และแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองโดยอำเภอใจ ถึงแม้ภายหลังจำเลยจะนำเงินที่ได้มาส่งกลับคืน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความผิดที่สำเร็จแล้วสูญหายไป” ศาลจึงมีมติ 6 ต่อ 3 พิพากษาให้จำคุกจำเลยคนละ 2 ปี แต่เนื่องจากเมื่อพิจารณาจากตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยทั้ง 9 แล้ว โทษจำคุกศาลให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี

ขณะที่นายพิธาปฏิเสธที่จะกล่าวถึงเรื่องการขายหุ้นไอทีวี โดยระบุเพียงว่า นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกลได้อธิบายไปแล้ว ก่อนขึ้นรถออกจากที่ทําการพรรคทันที

ด้านนายชัยธวัชกล่าวถึงกรณีนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระบุกรณีหุ้นสื่อของนายพิธาอาจขัดรัฐธรรมนูญ 4 มาตรา และขาดคุณสมบัติการเป็นแคนดิเดตนายกฯ และ ส.ส.ว่า เรื่องคดีหุ้นไอทีวียังมั่นใจเหมือนเดิมว่าจะชี้แจงและต่อสู้ได้ เหลือแค่รอ กกต.ประสานงานมาทางนายพิธาและพรรค ก.ก.

เมื่อถามว่า ฝ่ายกฎหมายของพรรคเข้าข่ายตามที่นายสมชายระบุหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า ไม่เข้าข่าย เพราะเป็นรายละเอียดที่เตรียมต่อสู้ทางคดีอยู่แล้ว

ท่องคาถาถือหุ้นไม่ผิด

ถามถึงกรณีนายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ยกกรณีว่าหากศาลตัดสิทธิ์นายพิธา จะกลายเป็นว่าการรับรอง ส.ส.ของนายพิธาอาจขาดไปด้วย และอาจมีปัญหาในเรื่องของการส่งผู้สมัครครั้งที่แล้ว กังวลหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า คงไม่ไปไกลถึงขนาดนั้น เพราะต้องพิจารณาก่อนว่านายพิธามีความผิดหรือไม่ ซึ่งยืนยันว่านายพิธาไม่มีความผิด ซึ่งข้อบังคับพรรคเขียนไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ คิดว่าเป็นการตีความที่ไปไกลเกินไป

เมื่อถามย้ำว่า วันนี้พรรคต้องรอดูว่าคุณสมบัติของนายพิธามีการถือหุ้นจริงใช่หรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า ตอนนี้เรื่องสำคัญที่สุดคือการทำความเข้าใจกับ ส.ว. เพราะคดีถือหุ้นสื่อต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึ่ง ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นก่อนคือการเลือกนายกฯ และพยายามประสานงานกับ ส.ว. ซึ่งขณะนี้ก็มีความคืบหน้าแล้ว ส่วนใหญ่ก็เหมือนเดิมอย่างที่เคยชี้แจงไป ว่าเมื่อได้พูดคุยกันแล้วกำแพงที่มีอยู่ก็ลดลง

เมื่อถามถึงกระแสข่าว ว่าได้มีการเทขายหรือโอนหุ้นไปก่อนแล้วจริงหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า ต้องดูรายละเอียด แต่จริงๆ การตีความกฎหมายและบรรทัดฐานมาตรฐานการวินิจฉัย ซึ่งมีหลายกรณีที่สามารถเทียบเคียงได้ ไม่น่าจะมีอะไร

นายชัยธวัชยังกล่าวถึงการรับรอง ส.ส.ของ กกต.อาจต้องเลือกตั้งใหม่กว่า 20 คนจากเรื่องร้องเรียนว่า พรรคไม่ได้กังวล และไม่ทราบว่ามี ส.ส.ของพรรคตกหายหรือไม่ แต่เบื้องต้นคิดว่าไม่น่าจะมี ส่วนของพรรคอื่นๆ ที่จัดตั้งรัฐบาลร่วมกันไม่ได้มีการสอบถาม อาจพูดคุยกันในสัปดาห์หน้า 

เมื่อถามว่า หากเสียงหายจริงจะทำให้ต้องหาเสียงเหนื่อยขึ้นในการโหวตนายกฯ หรือไม่ นายชัยธวัชยอมรับว่า การโหวตเลือกนายกฯ กระทบแน่นอน ซึ่งคิดไว้ล่วงหน้าแล้วหาก กกต.รับรอง ส.ส.ไม่ครบ ในวันโหวตก็ต้องคิดฐานคะแนนของพรรคร่วมรัฐบาลชุดใหม่ให้น้อยลงกว่าเดิม แต่ในช่วงกลางเดือน มิ.ย.น่าจะมีข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น

ถามย้ำว่า จะกระทบกับอำนาจต่อรองของพรรค ก.ก.ด้วยหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า คงไม่มีผล พรรคมั่นใจว่าว่าที่ ส.ส.ของพรรคชนะการเลือกตั้งด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม จึงไม่ได้กังวลเรื่องนี้ แต่ภาพรวมคงต้องเตรียมการไว้ หากจำนวน ส.ส.ซีกรัฐบาลมีจำนวนลดลงในวันโหวตเลือกนายกฯ และต้องทำงานหนักขึ้นในการคุยกับ ส.ว. เพราะเลี่ยงไม่ได้ว่าต้องใช้เสียง ส.ว.มากขึ้น เป็นเรื่องที่ว่ากันไปตามระบบ

เมื่อถามว่า จำเป็นต้องอาศัยเสียง ส.ส.จากพรรคที่ไม่ได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วยหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีที่เราจะออกจากความขัดแย้งทางการเมืองในรอบกว่า 10 ปี หาก ส.ส.จากพรรคที่ไม่ได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลยินดีโหวตให้นายพิธา เพื่อทำให้การเมืองไม่เดินไปสู่ทางตัน เพื่อรักษาระบบและเจตจำนงของประชาชนไว้ แต่พรรคคงไม่เหมาะสมที่จะไปแสดงความคิดเห็น เป็นการตัดสินใจของแต่ละพรรคหรือของ ส.ส.แต่ละบุคคล ซึ่งวันนี้ยังไม่มีการเจรจาเพิ่มเติม แต่ก็มีความเป็นไปได้ อาจจะไม่ได้เป็นในนามพรรค แต่เป็นรายบุคคล

สำหรับการประชุมคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านที่จะมีขึ้นในวันอังคารที่ 6 มิ.ย.นั้น นายชัยธวัชระบุว่า เรื่องหลักคือการติดตามการทำงานของคณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน ว่าแต่ละเรื่องมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง แต่ละพรรคจะส่งใครเข้ามาเป็นตัวแทนในคณะทำงานย่อย และคงพูดคุยกันต่อว่าจะตั้งคณะกรรมการอื่นๆ จากร่างเอ็มโอยูหรือไม่

เมื่อถามว่า การประชุมในวันที่ 6 มิ.ย.และการประชุมระดับหัวหน้าในวันที่ 7 มิ.ย.จะหารือเรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎรกับเก้าอี้รัฐมนตรีด้วยหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า คงยังไม่พูดคุย เรื่องประธานสภาเป็นกระบวนการพูดคุยระหว่างพรรค ก.ก.และ พท. ส่วนเรื่องการจัดสรรตำแหน่งฝ่ายบริหารก็จะล้อไปตามกระบวนการของคณะกรรมการเปลี่ยนผ่าน เพราะคณะกรรมการจะดูวาระสำคัญ และประเมินถึงการแบ่งงานต่างๆ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.)  กล่าวถึงการประชุมในวันที่ 6 มิ.ย.ว่า พรรคก้าวไกลยังไม่ส่งวาระมาให้เลย แต่การประชุมในวันที่ 9 มิ.ย.ของคณะทำงานย่อยพรรคร่วมรัฐบาลว่าด้วยเรื่องสันติภาพชายแดนใต้ ปาตานี อาจย้ายไปที่พรรค ก.ก.แทนศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย              

สหายอ้วนรีบปัดตั้ง รบ.แข่งขัน

ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค พท.โพสต์เฟซบุ๊กหลังไปออกรายการทางสถานีไทบพีบีเอส ซึ่งต่อมาพิธีกรได้ทวีตบทสรุปเรื่องการจับมือกันจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะสลับขั้วไปจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคอื่นนอกเหนือจาก 8 พรรคเดิม และมีการส่งต่อกันในโลกโซเชียลจนก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เกิดความไม่สบายใจต่อประชาชนและสมาชิกบางส่วนของพรรคแกนนำ เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในความร่วมมือของพรรคที่จะร่วมมือกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลนั้นว่า ขอเรียนยืนยันอย่างหนักแน่นในจุดยืนของพรรค พท.ที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้บริหารว่า พรรคยืนยันในจุดยืนที่ชัดเจนที่ประกาศต่อสาธารณะหลายครั้ง ว่าเราจะไม่จัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคก้าวไกล แม้ว่าเป็นพรรคอันดับสอง

“ผมและพรรคเพื่อไทยมีท่าทีหลายครั้งที่ชัดเจนว่า เรายืนยันที่จะสนับสนุนและผลักดันให้การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลและ 8 พรรคร่วม ที่ได้แถลงอย่างชัดเจนว่าจะจับมือกันและสนับสนุนให้คุณพิธาได้บรรลุเป้าหมายจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ส่วนเรื่องการสมมุติต่างๆ อย่างเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ เรื่องการสลับขั้ว หรือเรื่องการสรรหานายกฯ คนนอก ผมได้ตอบชัดเจนว่ายังไม่ใช่เรื่องที่ควรให้ความสำคัญที่จะต้องนำมาหารือในปัจจุบัน เพราะประเด็นนี้ไม่สะท้อนเจตจำนงของพี่น้องประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้งที่ผ่านมา และสถานการณ์ของความร่วมมือในการจัดตั้งรัฐบาลกำลังอยู่ในกระบวนการที่เป็นไปด้วยดี หากมีสถานการณ์ใหม่เกิดขึ้นและมีความชัดเจนว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก็จะเป็นเรื่องที่ทั้ง 8 พรรคร่วมควรนำมาหารือถึงทางออกร่วมกัน โดยอยู่บนจุดยืนของการยึดประชาธิปไตยตามมติของพี่น้องประชาชนเป็นฐาน” นายภูมิธรรมโพสต์ไว้

นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า "การเมืองต่อแต่นี้ มีแต่นิพพิทา โดยเมื่อวันวิสาขบูชาได้สนทนาธรรมกับพระอาจารย์โชคดี เกจิหนุ่มร่วมสมัย เจ้าอาวาสวัดไก่เตี้ย เขตตลิ่งชัน พูดให้ฟังว่าหัวหน้าพรรคอักษรย่อ ป.ที่ดอดมาทำพิธีก่อนเลือกตั้งที่วัดไก่เตี้ยก็คือ นายปิติพงศ์  เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม ที่กำลังจะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล ก็ถึงบางอ้อนึกว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์หรือ พล.อ.ประวิตรเสียอีก ซึ่งนายปิติพงศ์เป็นอดีต ส.ส.เขตตลิ่งชันหลายสมัย นึกไม่ถึงว่าจะเป็นอิทธิฤทธิ์ของหลวงพ่อสัมฤทธิ์ประสิทธิโชค ทำให้เขากลับมาผงาดบนเวทีการเมืองอีกครั้ง ในขณะที่ ป.คนอื่นกำลังหายไป"

"พระอาจารย์โชคดีท่านบอกว่าดูจากทางลึกของดวงดาวแล้ว นับแต่นี้เป็นต้นไปประเทศจะตกอยู่ในสภาวะแห่งกฎไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือความไม่แน่นอน  ความวุ่นวาย ไม่มีใครยอมใคร เหมือนยืนอยู่ปากเหวพร้อมที่จะมีเรื่องได้ตลอดเวลา ปัญหาพร้อมที่จะปะทุได้ทุกเมื่อ  ที่ว่าจะได้ กลับไม่ได้ ที่ได้แล้วก็ได้ไม่นาน มันเป็นอนิจจัง  ทุกขัง อนัตตา ตลอดเวลา สถานการณ์ตอนนี้มันไม่เที่ยงแท้แน่นอนจริงๆ อะไรก็เกิดขึ้นได้ บางเรื่องก็ซ้ำซ้อนกันขึ้นมากว่าเรื่องที่เป็นอยู่ จะผีซ้ำด้ำพลอยหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ กฎแห่งไตรลักษณ์มันทำงานหนักมากในระยะเวลา 1 ปีนี้  ทั้งคน ทั้งอำนาจ ทั้งพรรคการเมือง ทั้งองคาพยพต่างๆ ในบ้านเมืองอยู่ในกฎแห่งอนิจจัง ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ และเมื่อถึงเวลานั้น ปรากฏการณ์แห่งสัจธรรมก็จะบังเกิดด้วยคำที่ว่าเราหยุดแล้ว แต่ท่านยังไม่หยุด ในที่สุดก็จะเกิดนิพพิทา ความเบื่อหน่าย ผู้มีอำนาจและผู้แสวงหาอำนาจ ทั้งผู้ที่จะช่วงชิงอำนาจ จะต้องมีธรรมะอย่างมากๆ ทั้งขันติและสติ ต้องยึดมั่นให้ดี”

วันเดียวกัน ที่พรรค ก.ก. กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เดินทางมาที่พรรคเพื่อแถลงการณ์การสนับสนุนพรรคการเมืองเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล พร้อมยื่นหนังสือแก่พรรค โดยมีนายชัยธวัชเป็นตัวแทนมารับหนังสือ

พีมูฟหนุนสุดลิ่มโหวตพิธา

โดยกลุ่มพีมูฟได้ตั้งขบวนอยู่บริเวณชั้น 1 ของที่ทำการพรรค พร้อมถือป้ายข้อความแสดงเจตจำนงต่างๆ เช่น  สนับสนุนนโยบายดีๆ การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต รัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย, เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน, ไม่เอารัฐประหาร ไม่เอารัฐเผด็จการ จะเอารัฐสวัสดิการ, ต้องมีโฉนดชุมชน ต้องมีสิทธิชุมชน, พวกเรา  99% ก็คนเหมือนกัน, พอแล้วรัฐเผด็จการ รัฐสวัสดิการต้องมาแล้ว และ ฯลฯ

ก่อนอ่านคำแถลงการณ์ นายจำนงค์ หนูพันธ์ ประธานคณะกรรมการบริหารพีมูฟ ได้กล่าวว่า จริงๆ แล้วอยากเจอนายพิธา รักนายพิธา อยากเจอสักครั้งหนึ่ง ขณะที่นายชัยธวัชกล่าวขอบคุณกลุ่มพีมูฟที่มาติดตามการบ้านที่พรรค ก.ก.ให้ไว้ก่อนเลือกตั้ง ซึ่งความคิดเห็นของกลุ่มพีมูฟเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนความนึกคิดของประชาชนจำนวนมากต่อผลการเลือกตั้ง และไม่อยากให้มีปัญหากระบวนการบิดเบือน มองว่าการเลือกตั้งเป็นกระบวนการทางประชาธิปไตยที่สามารถหาข้อยุติจากความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้อย่างสันติวิธีที่สุด และที่สำคัญประชาชนจำนวนมากก็กำลังรอคอยรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาหลายอย่างจากรัฐบาลชุดเดิม โดยเฉพาะหลังรัฐประหารเป็นต้นมา ยืนยันว่าพรรค ก.ก.จะพยายามทำอย่างเต็มที่ที่สุดเพื่อจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว เพื่อผลักดันนโยบายหลายอย่างที่จะสร้างความเป็นธรรมมากขึ้นในสังคม

ทั้งนี้ แถลงการณ์พีมูฟเรื่องร่วมสนับสนุนพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วที่สุดใน 3 ข้อ คือ 1.เราในฐานะประชาชน เรียกร้องต่อพรรคการเมืองทั้งหมด ให้โหวตรับรองนายกฯ ที่มาจากการรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อร่วมกันสร้างหลักการประชาธิปไตยที่ต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ที่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร 2.กรณีคุณสมบัติของนายพิธา เราขอเสนอต่อ กกต.และศาลรัฐธรรมนูญ ควรพิจารณาประเด็นปมถือหุ้น ด้วยการเคารพเจตนารมณ์ของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และแนวทางการวินิจฉัยที่มุ่งสร้างหลักการประชาธิปไตยของประชาชน และ 3.ต่อกรณีการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ 8 เครือข่ายทุกภูมิภาค ต้องเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง อำนาจการบริหารรวมศูนย์ ดังนั้นต้องเร่งรัดติดตามการแก้ไขปัญหา และจำเป็นต้องมีรัฐมนตรีที่มีความเข้าใจในปัญหา ไม่มีอคติต่อภาคประชาชน ดำรงตำแหน่งในกระทรวงต่างๆ ทำงานร่วมกันกับภาคประชาชน เพื่อสร้างบรรยากาศความร่วมมือ อีกทั้ง พีมูฟพร้อมมีส่วนร่วมในการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้อง

“เราขอยืนยันว่าเสียงของประชาชน คือฉันทามติที่ทรงพลังกว่าอำนาจใดๆ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพรรคการเมืองทุกพรรค ว่าที่ ส.ส.ทุกคนจะร่วมกันสร้างการเมืองที่ถูกต้อง เป็นประชาธิปไตย โดยประชาชน ของประชาชน  และเพื่อประชาชน สถาปนารัฐสภาอันทรงเกียรติ ซึ่งมีผู้แทนราษฎรที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติ เพื่อพิทักษ์อำนาจอธิปไตยและประโยชน์ของประชาชนได้อย่างแท้จริงต่อไป”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง