เทียบรถป้ายแดง ‘ชัชชาติ’อ้างเหตุ คะแนนนิยมร่วง

นิด้าโพลเผยผลสำรวจผลงาน 1 ปี “ชัชชาติ” 47% บอกค่อนข้างพอใจ แต่แก้ปัญหาปากท้องไม่ตรงใจ   “ผู้ว่าฯ กทม.” น้อมรับผล อ้างเหมือนรถป้ายแดงถอยออกมาราคาก็ตกลง    เตรียมให้ทีมงานหาจุดอ่อน พร้อมโชว์ความคืบหน้า 200 นโยบาย นัด 6 มิ.ย.หารือ “พิธา” พร้อมทีมงาน

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน 2566  ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง 1 ปี ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ซึ่งสำรวจประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร (กทม.)  ครอบคลุมพื้นที่ 50 เขต จำนวน 2,000  หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการทำงานในรอบ 1 ปี ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

โดยเมื่อถามถึงความพึงพอใจของคนกรุงเทพฯ ต่อการทำงานในรอบ 1 ปี  ของนายชัชชาติ พบว่า 47.45% ระบุว่าค่อนข้างพอใจ เพราะขยันตั้งใจทำงาน  ปัญหาในพื้นที่ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว และ กทม.มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น, 27.75% ระบุพอใจมาก เพราะลงพื้นที่รับฟังเสียงของประชาชนอย่างสม่ำเสมอ ปัญหาที่ร้องเรียนได้รับการแก้ไข ขณะที่บางส่วนระบุว่าทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน,   14.80% ระบุว่าไม่ค่อยพอใจ เพราะทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ได้น้อย และปัญหาใน กทม.ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เช่น ปัญหาการจราจร และ 10% ระบุว่าไม่พอใจเลย เพราะผลงานไม่ชัดเจน และยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างไปจากเดิม

ทั้งนี้ เมื่อถามถึงการทำงานในรอบ 1 ปีของนายชัชชาติในประเด็นต่างๆ พบว่า 1.การเพิ่มพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ 42.20% ระบุว่าค่อนข้างดี,   27.55% ดีมาก, 14.75% ระบุว่าไม่ค่อยดี, 10.95% ไม่ดีเลย และ 4.55% ไม่มีข้อมูล 2.การแก้ไขปัญหาความสะอาด ขยะ ฝุ่นละออง น้ำเสีย 44.35% ค่อนข้างดี, 23.45% ดีมาก, 18.45% ไม่ค่อยดี, 12.35% ไม่ดีเลย และ 1.40% ไม่มีข้อมูล 3.การส่งเสริมการท่องเที่ยวใน กทม. 43.85% ค่อนข้างดี, 22.40% ดีมาก, 15.40% ไม่ค่อยดี, 9.70% ไม่มีข้อมูล และ 8.65% ระบุว่าไม่ดีเลย 4.การปรับปรุงการให้บริการในหน่วยงานของ กทม. 41.85% ค่อนข้างดี, 21% ดีมาก, 18% ไม่ค่อยดี, 10.20% ไม่ดีเลย และ 8.95% ไม่มีข้อมูล 5.การปรับปรุงและจัดระเบียบทางเท้า เช่น หาบเร่แผงลอย การจอดยานพาหนะหรือตั้งร้านบนทางเท้า ตัวอย่าง 44.05% ค่อนข้างดี, 20.75% ดีมาก, 18.40% ไม่ค่อยดี, 14.30% ไม่ดีเลย และ 2.50% ไม่มีข้อมูล 6.การป้องกันอาชญากรรมและสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เช่น การติดไฟส่องสว่าง กล้องวงจรปิด ระบบรักษาความปลอดภัย 43.10% ค่อนข้างดี, 19.95% ดีมาก, 20% ไม่ค่อยดี, 11.95% ไม่ดีเลย และ 5% ไม่มีข้อมูล 7.การสนับสนุนการกีฬา 42.40% ค่อนข้างดี,  19.85% ดีมาก, 17.35% ไม่ค่อยดี,  12.25% ไม่มีข้อมูล และ 8.15% ไม่ดีเลย 

8.การปรับปรุงทัศนียภาพ ถนน ตรอก ซอย 48.40% ค่อนข้างดี, 19.70% ดีมาก, 17.25% ไม่ค่อยดี,  12.05% ไม่ดีเลย และ 2.60% ไม่มีข้อมูล 9.การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม  ตัวอย่างร้อยละ 36.15 ระบุว่าค่อนข้างดี รองลงมา ร้อยละ 19.25 ระบุว่าดีมาก, ร้อยละ 16.10 ระบุว่าไม่มีข้อมูล, ร้อยละ 15.70 ระบุว่าไม่ค่อยดี และร้อยละ 12.80 ระบุว่าไม่ดีเลย 10.การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ในหน่วยงานของ กทม. 29.35% ค่อนข้างดี, 21.45%ไม่ค่อยดี, 18.25% ดีมาก, 17.05% ไม่มีข้อมูล และ 13.90% ไม่ดีเลย 11.การจัดระเบียบการชุมนุม 40.55% ค่อนข้างดี,  17.70% ดีมาก, 16.05% ไม่ค่อยดี,  14.65% ไม่มีข้อมูล และ 11.05% ไม่ดีเลย 12.การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า เรือ 37.15% ค่อนข้างดี, 19.95% ไม่ค่อยดี, 15.90%ดีมาก, 15.80% ไม่มีข้อมูล และ 11.20% ไม่ดีเลย 13.การพัฒนาการศึกษา แก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน 36.75% ค่อนข้างดี, 20.55% ไม่ค่อยดี,  16.70% ไม่มีข้อมูล, 15.05% ดีมาก และ 10.95% ไม่ดีเลย 14.การแก้ไขปัญหาสุขภาพ/สาธารณสุข 45.05%ค่อนข้างดี, 20.05% ไม่ค่อยดี, 14.45%ดีมาก, 10.60% ไม่ดีเลย และ 9.85% ไม่มีข้อมูล 15.การจัดระเบียบ คนเร่ร่อน คนจรจัด ขอทาน 40.30% ค่อนข้างดี,  27.10% ไม่ค่อยดี, 13.85% ไม่ดีเลย,  10.40% ดีมาก และ 8.35% ไม่มีข้อมูล 16.การแก้ไขปัญหาจราจรและรถติด 39.75% ค่อนข้างดี, 26.85% ไม่ค่อยดี,  18.45% ไม่ดีเลย, 10.30% ดีมาก และ 4.65% ไม่มีข้อมูล และ 17.การแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ/ปากท้อง ตัวอย่าง 35% ไม่ค่อยดี, 27.15% ค่อนข้างดี,  19.55% ไม่ดีเลย, 12.85% ไม่มีข้อมูล และ 5.45% ดีมาก

นายชัชชาติกล่าวถึงผลโพลที่ความพึงพอใจการบริหาร กทม.ลดลงว่า ไม่ได้กังวลใดๆ ได้แค่นี้ถือว่าดีแล้ว และจะนำสิ่งที่ประชาชนคิดเห็นไปปรับปรุง เปรียบนักการเมืองก็เหมือนรถใหม่ วันแรกที่ถอยรถออกมาราคาปกติ จากนั้นราคาก็ลดลง แต่จะนำความเห็นทุกอย่างมาปรับปรุงให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันต้องคุยกับรัฐบาลใหม่ด้วย โดยเฉพาะปัญหาค่าครองชีพของประชาชน

“ไม่เป็นไร เป็นเรื่องธรรมดา พร้อมน้อมรับและนำมาปรับปรุง ดีแล้วที่มีคนติ ถ้ามีคนชมอย่างเดียวเราไม่รู้จะปรับปรุงตรงไหน เราก็ต้องหน้าเต็มที่ คำติเหมือนเป็นแรงผลักดันของเรา ยิ่งกว่าคำชมอีก เรายิ่งต้องเปลี่ยนมาเป็นพลังบวกให้ได้ ก็ขอบคุณ 1 ปีเราทำเต็มที่แล้ว เชื่อว่าเราได้รับความร่วมมือหลายๆ ด้าน” นายชัชชาติระบุ

นายชัชชาติกล่าวอีกว่า ไม่ได้วิเคราะห์ว่าคะแนนนิยมที่ลดลงมาจากสาเหตุใด แต่ถือเป็นเรื่องธรรมดาต่อการทำงาน ย่อมมีคนชอบและไม่ชอบ แต่ได้มอบหมายให้ทีมงานแต่ละด้านไปวิเคราะห์จุดอ่อน และจะพยายามทำงานเต็มที่เช่นเดียวกับ 1 ปีที่ผ่านมา และขอขอบคุณผลโพลที่ทำให้ทราบรายละเอียดที่ต้องแก้ไข

ผู้ว่าฯ กทม.ยังกล่าวถึงการรับมือกับฤดูฝนว่า เชื่อว่าสถานการณ์ปีนี้จะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เพราะได้ทำตามแผนการระบายน้ำและลอกท่อ รวมถึงโครงการหลายอย่างได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปบ้างแล้ว โดยโครงการประตูระบายน้ำที่เสร็จสิ้นไปแล้ว 50% และเตรียมความพร้อมแบบชั่วคราวในการรับมือด้วย ขณะเดียวกันกว่า 500 จุดที่มีปัญหาน้ำท่วมใน กทม. จะนำมาเป็นบทเรียน จัดทำเป็นแผนที่แก้ไขแล้ว ยืนยันว่าอุโมงค์ระบายน้ำมีประสิทธิภาพอยู่ แต่พบว่าน้ำไม่ไปถึงอุโมงค์ระบายน้ำ ดังนั้นต้องทำโครงการเส้นเลือดฝอยให้เข้มแข็ง ทั้งการดูแลปั๊มสูบน้ำและการลอกท่อ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 3,000 กิโลเมตร และภายในปีนี้จะลอกได้ 100% ซึ่งก็ยอมรับว่าประชาชนรับทราบน้ำมีการระบายได้เร็วขึ้น โดยใน 4 ปี ประชาชนจะได้เห็น 200 นโยบายที่ประกาศไว้ อาจจะมีบางข้อที่จะต้องปรับปรุงเนื่องจากไม่ทันสมัย แต่อาจต้องมาปรับปรุง ขณะเดียวกัน คาดว่าสัปดาห์หน้าเว็บไซต์ที่ติดตาม 200 นโยบายจะแล้วเสร็จ ซึ่งจะเป็นการติดตามงานได้มากขึ้น เพราะทุกเขตจะมีการรายงานทุกปัญหาเข้ามา

“ในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ จะหารือกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล  และว่าที่ ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล โดยมี 17-18 ประเด็นในการหารือ ส่วนตัวมองว่าไม่ว่าเป็นใครก็ตามที่เป็นรัฐบาลก็ต้องหารือในประเด็นนี้ โดยเฉพาะการใช้ทรัพยากรหลักในการเข้ามาสนับสนุนการทำงานใน กทม. ทั้งใช้พื้นที่ใต้ทางด่วนปลูกต้นไม้ การคมนาคมขนส่ง การจราจร สาธารณสุข สวนสาธารณะ บางเรื่อง กทม.ไม่มีอำนาจเต็มโดยตรง” นายชัชชาติระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง