บี้ซํ้าส่วยหวย เขย่า‘ผบช.น.’ ยุบชุดฉก.ทล.

"วิโรจน์" เขย่าตำรวจต่อ  แฉส่วยหวย ดักคอมวยล้มทางหลวง ตั้ง คกก.ถ่วงเวลาสอบแก้เกี้ยว ขณะที่ "ผบ.ตร.-จรูญเกียรติ" ประสานเสียงยอมรับ ปัญหาซุกใต้พรมมานาน สั่งยุบชุดเฉพาะกิจ ตร.ทล. ฮึ่มล้างทั้งระบบ   ขณะที่ "คมนาคม" หนังคนละม้วน โต้กลับด่านตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกใช้ระบบไอที ไม่เอื้อต่อการจ่ายส่วย 

เมื่อวันพุธ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร   ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล    กล่าวถึงประเด็นปัญหาส่วยทางหลวง    โดยระบุว่า ต้นเหตุของปัญหาส่วยทางหลวง จุดเริ่มต้นอยู่ที่ข้าราชการของกรมทางหลวงบางคน ตำรวจท้องที่ และตำรวจทางหลวงบางนาย อาศัยช่องว่างทางกฎหมายไปรังควานผู้ประกอบกิจการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจควันดำ ตรวจเสียง การตั้งด่านตาชั่งลอยเพื่อชั่งน้ำหนัก การเดินตรวจรอบรถแบบจุกจิกเพื่อหาเรื่องปรับ การเรียกตรวจพนักงานขับรถ

นายวิโรจน์ให้รายละเอียดเพิ่มเติมอีกว่า สติกเกอร์แต่ละดวงมีมูลค่าแตกต่างกัน ตั้งแต่ 3,000-5,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับระยะทางและจำนวนด่าน บางพื้นที่อาจแพงถึงหลักหมื่น จำนวนรถบรรทุกในประเทศไทยมีทั้งสิ้นประมาณ 1.4 ล้านคัน ถ้ามีรถบรรทุก 300,000 คัน ต้องเสียเงินซื้อสติกเกอร์เดือนละ 3,000-5,000 บาท เท่ากับคิดเป็น 900-1,500 ล้านบาทต่อเดือน ในปีหนึ่งมูลค่าส่วยทางหลวงอาจสูงถึง 20,000 ล้านบาท

นายวิโรจน์ระบุว่า เมื่อดูข้อมูลเรื่องทุจริตที่ร้องเรียนมายังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในแต่ละปี รวมกันเป็นมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท เฉพาะส่วยทางหลวงจึงคิดเป็นราว 10 เปอร์เซ็นต์แล้ว เรื่องส่วยทางหลวง จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่ามีหรือไม่ เพราะคำตอบคือมีแน่ และมีมานาน ดังนั้นสิ่งที่ประชาชนคาดหวังจากข้าราชการระดับบังคับบัญชา ย่อมไม่ใช่คำตอบที่บอกว่าไม่รู้หรือการปฏิเสธ ตอบแบบนั้นนอกจากประชาชนอาจหัวเราะเยาะ ยังจะตั้งข้อสังเกตด้วยว่าข้าราชการคนนั้นมีส่วนพัวพันกับส่วยทางหลวงหรือไม่

"อีกคำตอบหนึ่งที่ยอมรับไม่ได้คือการบอกว่าจะตั้งคณะกรรมการสอบแบบแก้เกี้ยว ถ่วงเวลาให้เรื่องเงียบ สุดท้ายก็จับมือใครดมไม่ได้ ก่อนจะบอกประชาชนว่าถ้าใครมีหลักฐานให้แจ้งมา การตอบแบบนี้ ประชาชนมีสิทธิจะตั้งคำถามกลับว่า ถ้ารู้อยู่แก่ใจว่ามีขยะอยู่ในบ้านตัวเอง ทำไมถึงไม่ยอมเก็บกวาด ทำไมต้องรอให้ประชาชนมาชี้ว่ากองขยะกองอยู่ตรงไหน" นายวิโรจน์ระบุ

นายวิโรจน์กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาส่วยทางหลวง ต้องทำควบคู่กัน 2 ด้าน ประกอบด้วย ด้านที่ 1 คือการปราบปรามวงจรการส่งส่วยให้สิ้นซาก หากหลักฐานสาวถึงข้าราชการคนใด ต้องส่ง ป.ป.ช. เอาเรื่องให้ถึงที่สุด และใช้กลไกของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในการยึดทรัพย์ และด้านที่ 2 คือการทบทวนกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องในการปฏิบัติงานจริง เปิดช่องว่างให้ข้าราชการบางคนใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้ง รังควาน รีดไถ หรือเรียกรับผลประโยชน์จากประชาชน ถ้าพบต้องมีการดำเนินการทั้งคดีอาญาและทางวินัย ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง

ทั้งนี้ นายวิโรจน์ยังโพสต์เฟซบุ๊กว่า  ส่วยสติกเกอร์นี่มีทุกหย่อมหญ้าจริงๆ  ไม่ได้มีแค่รถบรรทุกอย่างเดียวนะครับ  ยิ่งสาวยิ่งเจอ รถตู้รับส่งนักเรียนก็มีสติกเกอร์  ขนาดคนตัวเล็กตัวน้อยที่ขายลอตเตอรี่หาเช้ากินค่ำ ก็ยังต้องซื้อสติกเกอร์จ่ายส่วย อันนี้ผมปวดใจที่สุด กับคนที่เดินขายลอตเตอรี่ หาเช้ากินค่ำ  คุณยังกล้าไปรีดไถ เก็บส่วยเขาเดือนละ 500-800 บาท

นายวิโรจน์ยังได้ทวีตข้อความด้วยว่า  “ผบช.น. ต้องมีคำตอบ คนที่ขายลอตเตอรี่เป็นคนตัวเล็กๆ หาเช้ากินค่ำ ที่ต้องขายแพงก็เพราะรับมาแพง ถ้าจะแก้ ต้องไปจับขาใหญ่โน่น นี่ถึงกับเอาช่องว่างของกฎหมายมาทำสติกเกอร์รีดไถคนตัวเล็กๆ เดือนละ 500 ก็ยังเอา โคตรทุเรศ! ตร.บางนายที่ทำแบบนี้ คุณทำลงคอได้ยังไง”

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)  ระบุว่า ยอมรับว่ามีจริง จึงได้สั่งการให้จเรตำรวจรีบไปดำเนินการ ซึ่งจเรตำรวจแห่งชาติบอกว่าจะทำให้เสร็จภายใน 15 วัน และเมื่อวันที่ 30 พ.ค.66 ทาง บช.ก.มีคำสั่งให้ ผบก.ทล. มาช่วยราชการเพื่อความโปร่งใส และให้เจ้าหน้าที่ของจเรตำรวจและ บช.ก.เข้าไปทำงานให้สะดวกและเกิดความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น เร็วๆ นี้คงปรากฏ หากสืบสวนขยายไปถึงผู้รับ ผู้ให้ ใครที่เกี่ยวข้องกระทำผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาด เรื่องนี้มีความผิดทั้งอาญาและวินัย

เมื่อถามว่า การที่มีส่วยจริงใครเป็นคนจ่ายส่วยและเป็นผู้รับส่วย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์กล่าวว่า เรื่องนี้ขอรอผลการตรวจสอบ ถ้ามีส่วยผู้ที่จ่ายคือคนขนส่ง ผู้รับอาจเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือตัวกลาง ซึ่งจะต้องนำรายละเอียดมาสรุปผลการดำเนินการอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้จะตั้งชุดเฉพาะกิจขึ้นมา หากมีจุดไหนละเลย หย่อนยาน สถานีไหนละเลย เมื่อชุดเฉพาะกิจไปจับได้ตรวจสอบพบว่าเกิดความหย่อนยาน ก็จะถือว่าต้องรับผิดชอบในความบกพร่องนั้นด้วย จะทำจริงจัง

ผู้สื่อข่าวถามถึงชุดเฉพาะกิจที่จะตั้งขึ้นมาใหม่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์กล่าวว่า  จะมีคำสั่งให้ บช.ก.ได้ตรวจซ้อนดูว่าใครปล่อยปละละเลย ก็ขอให้มีการจับกุม เมื่อตอนเห็นข่าวต่อไปก็ไม่อยากเห็นส่วยสติกเกอร์อีกแล้ว อยากจะทำให้หมดไปให้ได้ เท่าที่จะทำได้ในยุคนี้ จะทำเต็มที่ สั่งการทุกหน่วยว่า ถ้าหน่วยไหนยังปล่อยให้มี ขอให้รีบแจ้งเบาะแสมา จะรีบไปดำเนินการ ทั้งส่วยสติกเกอร์ต่างๆ จะไม่ให้มีแล้ว

"ที่ผ่านมาอาจจะมีการลักลอบ เราไม่สามารถไปรู้ได้ทุกจุด เมื่อจุดไหนยังมีปัญหาอยู่ ขอให้รีบแจ้งมา ก็จะรีบดำเนินการ แต่ชุดเฉพาะกิจชุดนี้จะไปหาข่าวเองในการทำงาน เช่น อาจไปสังเกตดูว่าตรงไหนมีรถบรรทุกน้ำหนักเกิน หรือฝ่าฝืนเวลา ก็จับกุม ถ้าจับกุมแล้วพื้นที่ปล่อยปละละเลยก็ต้องถูกลงโทษ" ผบ.ตร.ระบุ

เมื่อถามต่อว่า จะประกาศสงครามกับส่วยสติกเกอร์หรือไม่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์กล่าวว่า ไม่ใช่ประกาศสงคราม ก็ทำตามหน้าที่ ไม่ใช่เรื่องถึงขั้นประกาศสงคราม ไม่ได้มีสงครามกับใคร

ที่กองบังคับการตำรวจทางหลวง ถ.ศรีอยุธยา กรุงเทพฯ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. รักษาราชการแทน ผบก.ทล. ระบุว่า ในฐานะตำรวจทางหลวง ไม่อยากตอบว่ามันไม่มีเรื่องส่วยเกิดขึ้น เพราะมันอยู่ในพรมมานาน ในฐานะที่ตนได้รับมอบหมายให้มาดำเนินการตรวจสอบในเรื่องนี้ ยืนยันว่าจะนำพาหน่วยนี้ให้ไปในทางที่ถูกต้อง และหากข้าราชการ เจ้าหน้าที่ตำรวจรายใดเข้ามาเกี่ยวข้อง จะต้องถูกดำเนินการเช่นเดียวกัน อีกทั้งในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ตนจะแก้ไขทั้งระบบไปด้วยกัน ไม่แก้เฉพาะจุด อะไรที่ถูกหมักหมมมานาน หรือมีความเหลื่อมล้ำก็จะแก้ไขปรับปรุงไปด้วย

พล.ต.ต.จรูญเกียรติระบุว่า ขณะนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และตนจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงนี้ด้วย เราจะไม่ให้ความช่วยเหลือใคร ใครทำอะไรไว้ก็จะต้องรับในสิ่งนั้นไม่มียกเว้นแน่นอน มาตรงนี้แม้มาแก้ไขในช่วงสั้นๆ แต่ก็จะยกเลิกคำสั่ง แก้ไขปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมายโดยเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ ในบรรดาหน่วยเฉพาะกิจ ตนจะยกเลิกทั้งหมด อะไรที่เป็นปัญหาส่อทุจริต อาจจะพิจารณายกเลิกในวันนี้ และหลังประชุมเสร็จสิ้นอาจจะสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร

พล.ต.ต.จรูญเกียรติระบุอีกว่า ได้สั่งการให้ตำรวจทางหลวงทั่วประเทศเร่งตรวจสอบเรื่องสติกเกอร์ ถ้าส่อว่ามีการทุจริต ขอให้รวบรวมมาเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนสืบสวนดำเนินการ เรื่องกรอบระยะเวลาการดำเนินการแก้ไขปรับปรุงปัญหาเรื่องนี้ ตนเองขอไม่ช้า ส่วนเรื่องเส้นทางการเงิน ถ้าพบข้อเท็จจริงจะประสาน ป.ป.ป.เข้ามาดูในเรื่องการทุจริต โดยจะทำควบคู่กัน อาจจะเรียกเข้ามาพูดคุย จากนั้นจะมีขั้นตอนดำเนินการอีกครั้งในภายหลัง

วันเดียวกัน นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) กล่าวว่า ขณะนี้ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะทำงานย่อยเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และรวบรวมเอกสารพยานหลักฐานต่างๆ จากบุคคล เพื่อนำกลับมารายงานผลอีกครั้งในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ จากการชี้แจงของกรมทางหลวง (ทล.) เกี่ยวกับข้อกล่าวหาของการรับสินบนเพื่อแลกกับการยกเว้นตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกนั้น เบื้องต้นทราบว่า ทล.มีการติดตั้งด่านตรวจน้ำหนักรถบรรทุก ซึ่งใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาตรวจจับน้ำหนักตั้งแต่ปี 2549 โดยปัจจุบันมีด่านเปิดใช้งานแล้วจำนวน 97 ด่าน และมีแผนจะพัฒนาเพิ่มเป็น 128 ด่านทั่วประเทศ

 “ทางหลวงใช้ระบบไอทีเข้ามาตรวจจับน้ำหนักรถบรรทุก ดังนั้นข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการติดสติกเกอร์เพื่อแลกกับการไม่ตรวจชั่งน้ำหนักคงไม่ใช่ เพราะหากรถเข้าด่านแต่มีน้ำหนักเกินกำหนด หากติดสติกเกอร์เครื่องก็สามารถตรวจจับน้ำหนักได้อยู่แล้ว และเมื่อพบว่ามีน้ำหนักเกินก็ต้องถูกเรียกปรับตามกฎหมายกำหนด” นายพิศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้คณะทำงานชุดนี้มีหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของ ทล. ตามที่มีการกล่าวประเด็นถึงเรื่องติดสินบน พร้อมชี้แจงถึงการทำงานในช่วงที่ผ่านมา ส่วนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับตัวบุคคล ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดกระทรวงคมนาคม จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการรับสินบนอย่างไรนั้น คณะทำงานจะตรวจสอบข้อเท็จจริง และหากบุคคลที่เกี่ยวข้องส่วนใด มีข้อมูลเพิ่มเติม ก็สามารถประสานมายังกระทรวง เพื่อตรวจสอบต่อไป

 ด้านนายจิระพงศ์ เทพพิทักษ์ รองอธิบดีฝ่ายบำรุงทาง กรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ทล.ไม่ได้ใช้ระบบคนในการตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุก แต่เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นคงไม่เกี่ยวเนื่องว่ารถที่มีสติกเกอร์เท่านั้นที่จะผ่านด่านตรวจน้ำหนัก เพราะระบบอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ตรวจจับที่น้ำหนัก ไม่ได้ยกเว้นสติกเกอร์ประเภทใด และหากตรวจจับน้ำหนักแต่ละคันมีผลอย่างไรนั้น ระบบหน้าด่านก็จะส่งผลมายังศูนย์ควบคุมกลางเพื่อดำเนินการเปรียบเทียบปรับต่อไป

 “กรณีที่มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐในประเด็นดังกล่าวว่า ปัจจุบัน ทล.มีการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจชั่งน้ำหนัก โดยจะมีการสลับพื้นที่หัวหน้าด่านฯ ซึ่งเป็นข้าราชการประจำหน่วยทุกๆ 8 เดือน เพื่อป้องกันการกระทำความผิด ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และตอบข้อสงสัยของสังคม ทล.จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นผู้ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง” นายจิระพงศ์กล่าว

 นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเกี่ยวกับการกระทำผิดส่วยบรรทุก โดยมีนายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดี ขบ. และโฆษก ขบ. เป็นประธาน เพื่อรวมรวบข้อมูลตรวจสอบเกี่ยวกับการร้องเรียนหรือกระแสสังคมที่มีการกระทำผิดกรณีส่วยรถบรรทุกหรือรถขนส่งสาธารณะทุกประเภทที่ ขบ.กำกับและดูแล ซึ่งต้องดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 15 วัน ก่อนที่จะเสนอกระทรวงคมนาคมให้รับทราบต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง