จับโป๊ะพิธาล้วงขรก. ติงทำหน่วยรัฐอึดอัด/ก.ก.ยกก้น‘ศิริกัญญา’ขุนคลังเจ๋งสุด

"พิธา" ยกทีม ศก.ก้าวไกลจับเข่าหารือสภาหอการค้าไทย ลั่นเห็นตรงกันขึ้นค่าแรง ระบุ 450 บาทต้องรอจังหวะคุยไตรภาคีให้ครบ "เอกชน" หวังตั้งรัฐบาลไวสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน  แย้มคิว 1 มิ.ย. "หัวหน้า ก.ก." พบ อปท.อีก "ศิริกัญญา" แจงปมวิจารณ์อายุน้อยนั่ง "รมว.การคลัง" บอกให้ดูผลงานเก่าในสภา "ชลน่าน" สุดหวาน ยัน "ก้าวไกล" สะดุดขาก็ไม่ทิ้งกัน ย้ำเดินหน้าตั้งรัฐบาล เลือกประธานสภาฯ-นายกฯ ต้องสำเร็จ "บิ๊กตู่" ตอกหน้า "ทิม" ขรก.ไม่เคยเชิญมาหารือ "วิษณุ" ชี้ปมหุ้นไอทีวีต้องดูคนร้องฟ้องกี่ประเด็น  "ชวน" บอกไม่แปลกเพื่อไทยขอเก้าอี้ "ปธ.สภาฯ"

เมื่อวันที่ 31 พ.ค. เวลา 14.00 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค และคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรค ก.ก. เดินทางมาที่สภาหอการค้าไทย ตามที่นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย ส่งเทียบเชิญ เพื่อแสดงความยินดีและให้ข้อมูลและแผนการทำงานของรัฐบาลภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้น

นายพิธาพร้อมด้วยนายสนั่นร่วมกันแถลงภายหลังการหารือครั้งนี้ โดยนายพิธากล่าวว่า มีการหารือกับประมาณ 13 ประเด็น เช่น คอร์รัปชัน, EEC, การบริหารเศรษฐกิจ BCG, เศรษฐกิจชายแดน เป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของพรรคก้าวไกลที่ผ่านมา และอัปเดตกับภาคเอกชนผ่านประธานสภาหอการค้าไทย เรื่องความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล และคณะกรรมการประสานงานเพื่อการเปลี่ยนผ่านมีหน้าที่อะไรบ้าง

"วันนี้กระชั้นชิดไปนิด จึงมีเพียงพรรคก้าวไกล แต่ครั้งหน้าจะมีคณะทำงานที่มีตัวแทนของแต่ละพรรคมาร่วมพูดคุยในหลายประเด็น จากทั้งฝั่งภาคเอกชนและรัฐบาล เช่น ตัวเลขส่งออก  ตัวเลขเศรษฐกิจ ค่าเงินเฟ้อ รวมทั้งความเร็วในการจัดตั้งรัฐบาลก็ขึ้นอยู่กับการทำงานของ กกต.ว่าจะรับรอง ส.ส.ได้เมื่อใด แล้วเมื่อนับหนึ่งได้แล้วก็จะมีกรอบเวลาที่ชัดเจนในการเปิดประชุมสภาและโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี" นายพิธากล่าว

ถามถึงแนวนโยบายปรับขึ้นค่าแรง 450 บาทภายใน 100 วันแรกหลังได้เป็นรัฐบาล นายพิธากล่าวว่า ได้ชี้แจงให้สภาหอการค้าไทยได้มองภาพครบทุกมิติ ทั้งเรื่องของอัตราค่าเงินเฟ้อและผลิตภาพของแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ค่าแรง 450 บาทมีความเหมาะสม ไม่ได้ประสงค์จะขึ้นค่าแรงอย่างเดียว  แต่คิดว่าจะทำให้แรงงานสามารถพัฒนาทักษะและดำรงชีวิตต่อไปได้ด้วย

"ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนในอัตราการขึ้นค่าแรงในระยะเวลา 100 วันหรือไม่ เพราะต้องพูดคุยให้ครบทั้งไตรภาคี อย่างไรก็ดี ค่าแรงที่จะเพิ่มขึ้นนั้นไม่ได้เชื่อมโยงกับราคาสินค้าที่จะแพงขึ้นเสมอไป มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ โดยจะพยายามทำให้อยู่ในกรอบเวลา 100 วันแรก" นายพิธากล่าว

ด้านนายสนั่นกล่าวว่า เป็นการพบปะที่สร้างสรรค์ มีความสบายใจเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน แต่หลายเรื่องก็มีความน่าเห็นใจ พรรคก้าวต้องทำงานร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งต้องประชุมและมอบหมายบุคคลติดต่อประสานงานหลัก คือ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล

"เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ความเห็นของทั้งสองฝ่ายไม่ได้แตกต่างกันมาก ทางหอการค้าเองเห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง แต่ต้องมาจับเข่าคุยกันในเรื่องของจังหวะเวลาและอัตราการปรับขึ้น ในเรื่องนี้หากเราสื่อสารกับสาธารณะไม่เข้าใจก็จะเกิดการโต้แย้ง สำคัญสุดคือต้องลงรายละเอียดในเชิงลึก เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหว เชื่อว่าทางพรรคก้าวไกลได้ฟังเสียงจากประชาชนเป็นเรื่องดีที่มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อจะได้หารือให้เกิดทางออกที่เหมาะสม อีกประเด็นคือเราต้องการเห็นการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเร็วที่สุด โดยคาดว่าประมาณภายในเดือน ก.ย.จะแล้วเสร็จ ซึ่งหากรัฐบาลมีเสถียรภาพก็จะสร้างความสบายใจให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ" นายสนั่นกล่าว

คิวต่อไป 'พิธา' พบ 'อปท.'

ถามว่า จากประสบการณ์ของหอการค้าไทย เชื่อมั่นในศักยภาพของพรรคก้าวไกลที่จะทำงานได้ตามที่หาเสียงไว้หรือไม่ ประธานหอการค้าไทยระบุว่า แนวทางด้านเศรษฐกิจและการแก้ปัญหา สอดคล้องกับนโยบายของหอการค้าที่มีอยู่ ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาต่างๆ  มองว่าตรงกันหมดและมาถูกทาง

ต่อมาระหว่างที่นายพิธาเดินทางกลับ ได้หันมาให้สัมภาษณ์สื่ออีกครั้งว่า ในวันที่ 1 มิ.ย. ตนจะพบกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประเด็นการพูดคุยคงเป็นเรื่องการบริหารงานส่วนท้องถิ่น 

เมื่อถามถึงคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ  กรณีการถือหุ้นไอทีวี นายพิธากล่าวว่า ไม่กังวล ส่วนอาจจะผูกพันไปที่เรื่องว่าที่ ส.ส.ภายในพรรคด้วยหรือไม่ นายพิธากล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าจะอนุมานได้หรือไม่ คงต้องดูที่คำร้อง

ซักถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณี น.ส.ศิริกัญญาเหมาะสมกับตำแหน่ง รมว.การคลังหรือไม่ เนื่องจากหลายเวทีคำตอบด้านเศรษฐกิจไม่เป็นที่พอใจสำหรับนักลงทุน หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวว่า มั่นใจในตัว น.ส.ศิริกัญญาเกินร้อย บางคนอาจจะมีโอกาสได้คุยกับน.ส.ศิริกัญญาไม่นานมาก แต่ตนทำงานด้วยกันมา 4 ปี เขาคือ รมว.การคลังที่ดีที่สุดในช่วงนี้

ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ชี้แจงถึงกระแสที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า พอมีคำวิพากษ์วิจารณ์ เราจำเป็นที่จะต้องรับฟัง นำมาปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาด สิ่งที่ไม่สามารถสื่อสารได้อย่างชัดเจน ซึ่งตนคิดว่าการที่เรามาทำการเมืองในรูปแบบใหม่ๆ ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ แน่นอนว่าจะต้องมีคนที่ได้รับผลกระทบ มีคนที่จะต้องเสียผลประโยชน์บ้าง แต่ก็เข้าใจดีและจะพยายามสร้างสมดุลให้เกิดขึ้น ในเรื่องของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในการเยียวยาที่จะทำให้ทุกฝ่ายไม่รู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบจากมาตรการต่างๆ 

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า เราพยายามที่จะแสดงความชัดเจนในฐานะพรรคการเมือง สุดท้ายแล้วนโยบายของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร ยังคงมีหลายขั้นตอน ขอให้รอการจัดตั้งรัฐบาลให้แล้วเสร็จ และการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ชัดเจนว่านโยบายของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร ณ วันนี้ เราจะแสดงความชัดเจนในนโยบายของพรรคก้าวไกลก่อน เพื่อทำให้ความไม่ชัดเจนต่างๆ หายไป ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีคนไหนในโควตาของพรรคก้าวไกล คงหนีไม่พ้นว่าต้องเป็นคนหน้าใหม่ ประสบการณ์ อายุ ประมาณนี้ ดังนั้นขอให้ดูเนื้อหาผลงานของเรา อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องของปรากฏการณ์ว่าเคยทำอะไรมาก่อน 

 “อยากให้ดูในสิ่งที่เราได้สื่อสารกับประชาชน หรือดูย้อนหลังในการอภิปรายก็ได้ ว่าเรามีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางจริงหรือไม่ เมื่อเทียบกับ ส.ส.อื่นๆ ที่เคยมีมาหรือไม่ ซึ่งคิดว่าจะเป็นการแสดงจุดยืนและตัวตนของพวกเราได้ดีกว่า การที่ตัดสินด้วยอายุหรือประสบการณ์” น.ส.ศิริกัญญากล่าว 

ถามว่า ขณะนี้มีข้อกังวลหรือติดขัดอะไรในการทำงานร่วมกับพรรคร่วมอื่นๆ หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ยังไม่มี ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการประสานงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาล โดยในการลงนามข้อตกลง เรามีวาระและนโยบายร่วมกันแล้ว แต่ในกระบวนการทำงานอาจจะยังต่างกัน นี่จะเป็นเวทีที่จะได้พูดคุยและตกผลึกระหว่างกัน ที่จะนำไปสู่การแถลงต่อรัฐสภา รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในนัดแรกๆ ซึ่งอาจจะเจอเรื่องยาก และจำเป็นที่จะต้องมีการตัดสินใจเร่งด่วน เราก็ไม่อยากให้เวลาที่เราจะต้องรอ กกต.รับรองผล ส.ส. และข้้นตอนต่างๆ หลังจากนั้น ไม่อยากทิ้งเวลาไปอย่างสูญเปล่า อยากเตรียมความพร้อมให้ได้มากที่สุด

พท.ลั่นไม่ทิ้งก้าวไกลแน่

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค พท. กล่าวถึงความคืบหน้า 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลว่า หลังจากที่พูดคุยกันแล้ว บรรยากาศน่าจะดีขึ้นในมุมสร้างความมั่นใจให้ประชาชน เรามุ่งมั่นทำงานร่วมกัน เสียงตอบรับเป็นไปในทางที่ดี โดยคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลที่มีนายพิธาเป็นประธาน จะเริ่มประชุมนัดแรกในวันที่ 6 มิ.ย. ที่พรรค พท. ส่วนคณะทำงานภารกิจ 7 คณะ เราคาดหวังจัดทำเป็นตัวนโยบายของรัฐบาลที่คณะทำงานฯ จะรวบรวมเพื่อเสนอคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมต่อไป และส่งเข้าที่ประชุมหัวหน้าพรรคทั้ง 8 พรรค เพื่อกำหนดเป็นแนวทางในการจัดทำนโยบายร่วมกัน

"การส่งต่อภารกิจจากรัฐบาลรักษาการ ก็จะเป็นไปตามกฎหมายอยู่แล้ว ซึ่งเราตระหนักตลอดว่าเรายังไม่มีหน้าที่และอำาจในการเป็นรัฐบาล เพราะอยู่ในขั้นตอนเตรียมจัดตั้งรัฐบาล และถ้าเราจะมีอำนาจจริง เราต้องจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ ตั้งสภาให้ได้ เลือกนายกฯ ให้ได้ และตั้งคณะรัฐมนตรีให้ได้ และสุดท้ายคือการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาจึงจะทำหน้าที่ได้” นพ.ชลน่านกล่าว

ถามว่า จะได้ข้อสรุปเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ เมื่อไร หัวหน้าพรรค พท.กล่าวว่า ทางคณะเจรจาเริ่มงานกันตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค. โดยได้เริ่มพูดคุยกันไปส่วนหนึ่งแล้ว ซึ่งจะไม่เกี่ยวข้องกับในส่วนของฝ่ายบริหาร เราเห็นว่าตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่สังคมคาดหวังว่าจะต้องไม่เกิดข้อขัดแย้งระหว่างพรรค ก.ก.และพท. โดยตำแหน่งดังกล่าวจะไม่ใช่โควตาพรรคใดพรรคหนึ่ง ให้คณะเจรจาพูดคุยเสมือนเป็นพรรคเดียวกัน

เมื่อถามถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่าหากนายพิธาขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.ในประเด็นถือหุ้นไอทีวี และถูกร้องเรื่องการรับรองผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ก.ก. อาจจะต้องเลือกตั้งซ่อมทั้งประเทศในเขตที่พรรค ก.ก.ชนะนั้น นพ.ชลน่านกล่าวว่า  ประเด็นนี้มีการพูดคุยกันอยู่ เพราะคุณสมบัติของหัวหน้าพรรคที่ไปลงนามรับรองผู้สมัครของพรรค มีคุณสมบัติครบหรือไม่อย่างไร ต้องไปดูประเด็นนั้น

ซักว่า หากเกิดอะไรขึ้นกับนายพิธาซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรค ก.ก. ในส่วนของพรรค พท.ยังคงให้โอกาสก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ยืนยันว่าเรามัดกันแน่น และยังคงทำงานร่วมกันเหมือนเดิม ไม่ว่าจะมีอะไรขึ้น ก็ยังคงทำงานกันต่อไป ส่วนรายละเอียดก็ดูเป็นเรื่องๆ ไปว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร มีข้อกฎหมายรองรับอะไรหรือไม่อย่างไร

วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณี 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลใหม่มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อเปลี่ยนผ่านว่า ไม่มีความคิดเห็นเรื่องนี้ ถือว่าเป็นสิทธิที่ท่านจะทำ ส่วนจะทำได้หรือไม่ได้นั้น เป็นสิทธิที่ท่านจะทำ ทำแล้วไม่กระทบกับหน่วยงานราชการก็ไม่มีปัญหา แต่มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทุกคนเลยมองว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจอะไรทำนองนี้ แต่ก็ทำไป
ถามว่า จะทำให้ข้าราชการอึดอัดใจหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คงไม่ เพราะเราเองก็เชื่อมการทำงานของเราอยู่ ตามกฎระเบียบ อะไรก็ตามที่ทำนอกกรอบวินัยของข้าราชการก็มีความผิด ถ้าตรวจสอบแล้วยังไม่มีใครไปพบอะไรกับ

ใคร

ซักว่า นายพิธาระบุข้าราชการติดต่อไปเองนั้น นายกฯ กล่าวว่า ก็ไม่รู้ ตนถามข้าราชการว่าเขาขอมาหรือไม่ เขาก็บอกว่าไม่มี ใครจะพูดอะไรก็ตามอย่าเชื่อทั้งหมด ต้องหาข้อมูลข้อเท็จจริง

ขออย่าทำ ขรก.อึกอัด
เมื่อถามว่า จะกระทบกับสิ่งที่นายกฯได้สั่งข้าราชการว่าให้เตรียมข้อมูลเพื่อส่งมอบงานให้รัฐบาลชุดต่อไปหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า มันก็เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว เราต้องสรุปงานทั้งหมด เพื่อส่งมอบให้รัฐบาลชุดต่อไปว่า 4 ปีที่ผ่านมาทำอะไรไปบ้าง ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ คืออะไร เพราะทุกวันมีความคืบหน้า เพียงแต่ว่าอุปสรรคไม่ได้แก้กันง่ายๆ บางอย่างมีข้อกฎหมาย รวมถึงสัญญาต่างๆ จะต้องมีการแก้ไข จะต้องไปดูว่าจะแก้ไขกันอย่างไร ซึ่งตนอยากจะทำเรื่องเหล่านี้ แต่ทำได้ยาก เพราะหลายอย่างมันทำไปแล้วมีทั้งสัญญาเดิมและสัญญาเก่า ถ้าหากเขาทำได้ก็ทำ
"คาดหวังว่าประเทศไทยจะมีรัฐบาลที่ดีได้ เราผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว เพียงแต่ว่ามันยังมีอีกหลายขั้นตอน เพราะขณะนี้ยังไม่ได้มีการรับรอง ผมเข้าไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้ตรงนี้ แต่ถ้าเขาผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรอง ถึงจะจัดตั้งรัฐบาลได้ไม่ใช่หรือ ทุกอย่างเป็นไปตามกลไก" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ถามต่อว่า ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ถ้าใครมาแก้มาตรา 112 จะขวางใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า แน่นอนอยู่แล้ว ไม่ถามก็ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะมันอยู่ในหัวใจของทหาร ตำรวจ ข้าราชการทุกคน และประชาชนอีกจำนวนมาก เขาก็ไม่เห็นด้วยตรงนี้ ก็แค่นั้น แล้วถามว่าทำทำไม
เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ และพรรคเพื่อไทยมาจัดตั้งรัฐบาล พรรค รทสช.ร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ทราบ พอถามถึงกรณีนายวิษณุระบุนายพิธาถูกดำเนินคดีเรื่องการถือหุ้นสื่อ อาจจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ทั่วประเทศ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องกฎหมายให้ไปถามนายวิษณุ
ถามย้ำว่า พรรค รทสช.และ พล.อ.ประยุทธ์จะสู้ต่อหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า พรรคก็ยังอยู่ ส่วนหวังอะไรกับรัฐบาลใหม่มากที่สุด ที่กำลังจะเข้ามาไม่ว่าใครก็ตาม นายกฯ กล่าวว่า อยากให้บ้านเมืองสงบ ปลอดภัย มีการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อถามอีกว่าหวังหรือไม่ว่าสิ่งที่ทำมา 8 ปีจะไม่เสียหายตอนนี้ นายกฯ กล่าวว่า ก็ต้องอย่างนั้นแหละ
ส่วนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลใหม่มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อเปลี่ยนผ่านให้ข้าราชการไปให้ข้อมูลว่า การที่เขาจะขอความร่วมมือจากข้าราชการประจำไปชี้แจงหรืออะไร ถือเป็นการทำโดยสันถวไมตรีอันดีงาม ก็ทำได้ เพราะในอดีตมีการเคยทำ แต่ช่วยทำให้แนบเนียนหน่อย ไม่เช่นนั้นข้าราชการประจำเขาจะลำบากใจ เพราะถึงอย่างไรเขาก็ยังทำงานอยู่กับรัฐบาลนี้ และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ข้าราชการเขายังไม่รู้ว่าใครจะเป็นรัฐบาล เหมือนในอดีตเมื่อมีวี่แววชัดๆ ว่าพรรคไหนจะเป็นรัฐบาล เช่น สมัยพรรคไทยรักไทย เป็นรัฐบาลกว่า 300 เสียง ก็มีความชัดเจนแล้ว ไม่มีจะกลับเป็นอย่างอื่นได้ ในตอนนั้นถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ  ตั้งนายกรัฐมนตรี ก็มีการไปขอความร่วมมือจากข้าราชการประจำ ไปให้ข้อมูล ตัวเลขต่างๆ ก็เคยทำ ทำนิ่งๆ เนียนๆ หน่อยก็ไม่มีปัญหา

ถามว่า ข้าราชการที่ไปให้ข้อมูลถือว่ามีความผิดหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ผิดหรอก แต่เขาอาจจะอึดอัดใจ ลำบากใจ และอยู่ที่ว่าขอข้อมูลอะไร 

"ก็ไม่เป็นไร อย่าไปถือเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต ก็เขาเชื่อว่าเขาจะเข้ามาบริหาร เขาก็จำเป็นต้องมีข้อมูล ผมถึงได้บอกว่าทำได้ แต่เงียบๆ เนียนๆ ไม่ได้มีปัญหา เพราะบางครั้งเขาอาจจะต้องการข้อมูลที่เกี่ยวกับอัตรากำลังพล ซึ่งต้องเชิญ ก.พ.ไปถาม เรื่องเกี่ยวกับงบประมาณก็ถามสำนักงบประมาณ ถามเกี่ยวกับแผนพัฒนาก็ถามสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศเขาก็จำเป็นต้องมีข้อมูล ก็ทำแบบเงียบๆ เนียนๆ อย่าอึกทึกครึกโครม อย่าแสดงตนว่าผมเป็นรัฐบาลแล้วผมเรียกมา มันไม่ใช่" นายวิษณุกล่าว

ถามถึงข่าวอาจมีการเลือกตั้งใหม่หากนายพิธาถูกศาลวินิจฉัยเรื่องขาดคุณสมบัติจากกรณีถือครองถือหุ้นไอทีวี ทำให้ขัดกับคุณสมบัติการเป็น ส.ส. จะกระทบกับการเป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงการรับรองผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคก้าวไกลที่ผ่านมาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า  ตนตอบไม่ถูก ซึ่งเรื่องนี้อยู่ที่ผู้ร้องว่าร้องในประเด็นใด ถ้าร้องในประเด็นว่าขาดจากการเป็น ส.ส. นายพิธาก็สามารถเป็นนายกฯ ได้ เพราะนายกฯ ไม่ต้องเป็น ส.ส.ก็ได้ หรือถ้าร้องว่าขาดจากความเป็นนายกฯ ก็สามารถเป็น ส.ส.ได้ แต่ถ้าคนร้องร้องทั้ง 2 เรื่อง ศาลก็จะวินิจฉัยทั้ง 2 เรื่อง หรืออาจจะกระทบไปอีกประเด็น คือการรับรองสมาชิกพรรค ฉะนั้นอยู่ที่คำร้องว่าจะร้องอย่างไร จะร้องทั้ง 3 ประเด็นเลยหรือไม่ แต่อย่าเพิ่งคิดไปไกลขนาดนั้น เอาทีละประเด็น

ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงตำแหน่งประธานสภาฯ ว่า กรณีที่มีการถกเถียงคะแนนของพรรค ก.ก.และพรรค พ.ท.มีความใกล้เคียงกัน จึงเป็นประเด็นใหม่ ดังนั้นการที่พรรค พท.เสนอขอเป็นประธานสภาฯ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะคะแนนไม่ห่างกันมาก

"การจะใช้ตำแหน่งประธานสภาฯ ทำประโยชน์ให้พรรคการเมืองตัวเองนั้น เป็นเรื่องเข้าใจผิด ขอให้ไปศึกษารัฐธรรมนูญและข้อบังคับสภาดูว่าประธานสภาฯ มีหน้าอะไรบ้าง ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ประธานสภาฯ สามารถเปลี่ยนชื่อนายกรัฐมนตรีได้ แต่ปัจจุบันเขาลงมติกันในสภา เมื่อสภาเลือกใคร ประธานสภาฯ จะไปทำอย่างอื่นไม่ได้ และมีหน้าที่นำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเท่านั้น เพราะโดยทั่วไปตามข้อกำหนด ประธานสภาฯ ต้องเป็นกลาง" นายชวนกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง