เสด็จฯวางศิลาฤกษ์ แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่9 น้อมรำลึก 5 ธันวา

"รัฐบาล" เชิญชวนประชาชนเฝ้าฯ รับเสด็จในหลวง-พระราชินี ในพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 9 พร้อมร่วมกิจกรรมถวายพระราชกุศลแบบชีวิตวิถีใหม่ วันที่ 5 ธ.ค. นักวิชาการอิสระด้านการเกษตรฯ เผย แม้แต่ในพระตำหนักที่ประทับก็เต็มไปด้วยการค้นคว้าทดลอง เพื่อหาหนทางแก้ปัญหา บรรเทาทุกข์ให้แก่เกษตรกร

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เนื่องวันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม เป็นวันคล้ายวัน พระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ  และวันพ่อแห่งชาติ

ในการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ขอเชิญชวนพสกนิกรชาวไทย ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เวลา 16.00 น. ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และกิจกรรมที่รัฐบาลได้จัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณฯ แบบชีวิตวิถีใหม่ โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงานได้เฉพาะผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบ และต้องดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

นายธนกรกล่าวว่า กิจกรรมประกอบด้วย 1.การจัดพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล ในวันที่ 5 ธันวาคม 2564 สำหรับภาครัฐ ส่วนกลาง จัดพิธี ณ ท้องสนามหลวง เวลา 07.30 น. โดยนิมนต์พระสงฆ์จำนวน 89 รูป มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมภริยา ส่วนภูมิภาค ทุกจังหวัดพิจารณาจัดพิธี ณ ศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่ที่เหมาะสม ต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุล พิจารณาจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม สำหรับภาคเอกชนและภาคประชาชน สามารถพิจารณาทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศลที่วัดใกล้สถานที่ทำงานหรือบ้านพัก

2.การจัดพิธีวางพานพุ่มดอกไม้และพิธีถวายบังคม ในวันที่ 5 ธันวาคม 2564 เฉพาะภาครัฐ ส่วนกลาง จัดพิธี ณ ท้องสนามหลวง เวลา 08.30 น. ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีทำบุญตักบาตร โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีวางพานพุ่มในนามนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี และภริยานายกรัฐมนตรีวางพานพุ่มในนามคู่สมรสคณะรัฐมนตรี  ส่วนภูมิภาค ทุกจังหวัดพิจารณาจัดพิธี ณ ศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่ที่เหมาะสม ต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุล พิจารณาจัดพิธี ตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม

3.การจัดตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมเครื่องราชสักการะ ทุกภาคส่วนสามารถพิจารณาจัดตามอาคารสถานที่ของหน่วยงานและบ้านเรือน หรือสถานที่ที่เห็นสมควร ระหว่างวันที่ 1-31 ธันวาคม 2564

และ 4.จัดกิจกรรมจิตอาสา “รู้รักสามัคคี รักษ์สิ่งแวดล้อม พัฒนาคุณภาพชีวิต” เพื่อถวายพระราชกุศลในวันชาติ วันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2564 และเนื่องในวันรู้รักสามัคคี 4 ธันวาคม 2564 ตามช่วงเวลาที่เหมาะสม ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

ร่วมรับเสด็จในหลวง-พระราชินี

“รัฐบาลขอเชิญชวนพสกนิกรชาวไทยร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ร่วมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในพิธีวางแท่นศิลาฤกษ์ฯ ในวันที่ 5 ธันวาคม และกิจกรรมอื่นๆ ที่ภาครัฐจัดขึ้น โดยรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดเตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคม ด้านความปลอดภัย และมาตรการทางด้านสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อรองรับประชาชนที่จะมาเข้าร่วมพิธี และดำเนินการตามมาตรการด้านสาธารณสุขของแต่ละจังหวัดอย่างเคร่งครัด” โฆษกประจำสำนักนายกฯกล่าว

ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลินิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ ร่วมกับนางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล นักวิชาการอิสระด้านการเกษตรและการพัฒนาชนบท เสนอผลสำรวจเรื่อง ปีติสุข ของคนไทย ต่อในหลวง ร.9 กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,170 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-3 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา

เมื่อถามถึงความทรงจำต่อแนวทางและโครงการต่างๆ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9  ทรงทำไว้เพื่อประโยชน์สุขและปีติสุขของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.4 ระบุหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รองลงมาคือร้อยละ 96.6 ระบุ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้าน ป่า ดิน น้ำ, ร้อยละ 96.3 ระบุ โครงการฝนหลวง, ร้อยละ 96.2 ระบุ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำต่างๆ, ร้อยละ 96.1 ระบุโครงการแก้มลิง, ร้อยละ 95.7 ระบุโครงการสถานีเกษตรหลวงต่างๆ,  ร้อยละ 95.5 ระบุโครงการชั่งหัวมัน ในขณะที่ร้อยละ 95.4 ระบุโครงการพัฒนาระบบนิเวศป่าชายเลนและชายฝั่งทะเลต่างๆ และร้อยละ 95.1 ระบุโครงการประดิษฐ์ พลังงานเชื้อเพลิง เช่น ไบโอดีเซล

ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงบทเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9  ที่ฟังแล้วมีความสุขใจ อยากฟังมากถึงมากที่สุข พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.0 ระบุใกล้รุ่ง รองลงมาคือร้อยละ 78.2 ระบุความฝันอันสูงสุด, ร้อยละ 77.2 ระบุพรปีใหม่, ร้อยละ 76.7 ระบุ ยามเย็น, ร้อยละ 76.3 ระบุยิ้มสู้, ร้อยละ 75.5 ระบุไกลกังวล, ร้อยละ 75.5 เช่นกัน ระบุสายฝน ในขณะที่ร้อยละ 75.3 ระบุลมหนาวและเพลงชะตาชีวิต โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.5 ระบุบทเพลงแสงเทียน

ไม่มีพระราชวังไหนในโลกเหมือน

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงความปีติสุข ของประชาชนต่อแบบอย่างของในหลวงรัชกาลที่ 9 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.8 ระบุทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชนทั่วไป ทั้งเรื่องความกตัญญู ทรงเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ ทรงเรียบง่าย สมถะ ทรงเป็นนักกีฬา นักดนตรี และทรงเป็นผู้ให้แท้จริง, ร้อยละ 96.8 ระบุ ทรงมีความเพียรพยายาม มุ่งมั่น อดทน ในการทรงงานโครงการต่างๆ ในทุกวิกฤตเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน,  ร้อยละ 96.4 ระบุทรงเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อชาติบ้านเมืองและประโยชน์สุขของประชาชน ได้รับการถวายรางวัลความสำเร็จระดับสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์จากองค์การสหประชาชาติ

ยิ่งไปกว่านั้น ร้อยละ 96.4 ระบุทรงมีความเมตตา กรุณา ทรงช่วยเหลือประชาชน ในทุกวิกฤตและในยามปกติไม่ว่างเว้น, ร้อยละ 95.9 ระบุทรงบริหารงานโดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน เจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ ประชาชนทั่วไป เด็กและเยาวชนร่วมแสดง ความคิดความเห็นทำงานร่วมกัน ภาพจำ เด็กนักเรียนห้อมล้อมพระองค์ท่านที่ทรงลงพื้นที่และทรงงานในพื้นที่ และเมื่อสอบถาม ความปีติสุข โดยรวมของประชาชนคนไทย ในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทุกคนทุกหมู่เหล่าในผืนแผ่นดินไทย พบว่าอยู่ที่ร้อยละ 96.9

นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล นักวิชาการอิสระด้านการเกษตรและพัฒนาชนบท  กล่าวเสริมว่า พระราชกรณียกิจที่ปรากฏในผลการสำรวจครั้งนี้ เป็นเพียงบางตัวอย่างของโครงการและการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานแก่คนไทยมาตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับเกษตรกร ที่แม้แต่ในพระตำหนักที่ประทับ ก็เต็มไปด้วยการค้นคว้าทดลอง เพื่อหาหนทางแก้ปัญหา บรรเทาทุกข์ให้แก่เกษตรกร

ดังปรากฏในคำกราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลของพลอากาศเอก หะริน หงสกุล ประธานรัฐสภา ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2523 ว่า “ไม่มีพระราชวังไหนในโลกเหมือนพระตำหนักจิตรลดา และบริเวณสวนจิตรลดา ที่เต็มไปด้วยบ่อเลี้ยงปลาและไร่นาทดลอง อีกทั้งผองโคนม ผสมด้วยโรงสีและโรงงานหลากหลาย จึงพูดได้อย่างเต็มปากว่า ในประเทศไทยไม่มีช่องว่างระหว่างเกษตรกรและพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทำงานอย่าง หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ด้วยพระองค์เอง”

สำหรับคนไทย ทุกลมหายใจที่น้อมรำลึกถึงพระองค์ ความปีติที่เต็มตื้นในหัวใจ คือความสุขที่เกิดขึ้นพร้อมกับสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง