เครือข่ายกัญชาไทย ยกผลศึกษาแก้ไขปัญหาการใช้กัญชาของ กมธ.สาธารณสุข เตือนสติ "ก้าวไกล-เพื่อไทย-ประชาชาติ" เคยลงมติต้องเอากัญชาออกจากยาเสพติด วันนี้ทำไมกลับกลอก แนะกลับมาติดกระดุมเม็ดแรกใหม่ให้ถูกก่อน ด้านผู้ประกอบการกัญชาขอนแก่น วอนรัฐคุยกับผู้ประกอบการก่อน หากต้องนำกัญชากลับคืนเป็นยาเสพติดกระทบทั้งระบบแน่ โดยเฉพาะเกษตรกรที่ลงทุนไปจำนวนมาก
เมื่อวันจันทร์ นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊กโดยหยิบยกรายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่อง “การศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชาอย่างเป็นระบบ” โดยคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชาอย่างเป็นระบบ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางการไขปัญหาเกี่ยวกับใช้กัญชา กัญชง และกระท่อมอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร ขึ้นมาประกอบ
โดยนายประสิทธิ์ชัยระบุว่า "นักการเมืองอย่างไรเสียก็ตัดสินใจนโยบายตามผลประโยชน์ทางการเมือง กรณีกัญชานั้นชี้ให้เห็นความกลับกลอกของนักการเมืองได้เป็นอย่างดี พวกเขาพูดอย่างหนึ่งแล้วก็เปลี่ยนไปในเวลาไม่กี่เดือน พวกเขาตัดสินเรื่องกัญชาโดยละทิ้งข้อเท็จจริง
สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติตั้ง กมธ.ขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อ 'ศึกษาปัญหา กัญชา กัญชง กระท่อม' โดยการศึกษาของ กมธ.ชุดนี้มีข้อสรุปร่วมกันว่า 'ต้องเอากัญชาออกจากบัญชียาเสพติด' และยังเสนอแนวทางของการนำประโยชน์จากกัญชามาใช้อย่างเป็นระบบ พวกเขาลงมติกันเป็นที่เรียบร้อยว่า 'ต้องเอากัญชาออกจากบัญชียาเสพติด' พอมาถึงวันนี้พวกเขา 'เปลี่ยนมติของตัวเอง' ซึ่งกรรมาธิการชุดนี้มิได้มีเฉพาะ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนพรรคการเมืองเท่านั้น แต่ยังมีผู้เชี่ยวชาญหลากหลายเข้ามาร่วม ฉะนั้นงานศึกษาชิ้นนี้จึงทำอย่างเป็นระบบ ภายใต้มาตรฐานการทำงานของกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร
คำถามคือ 3 พรรคการเมืองกลับลำจากงานการศึกษาที่ตัวเองมีส่วนในการศึกษาและลงมติไว้ 'พรรคก้าวไกล-เพื่อไทย-ประชาชาติ' มีแนวทางร่วมกันว่า ต้องเอากัญชาสู่ยาเสพติด เป็นการประกาศนโยบายสวนทางกับที่ตัวเองศึกษาและลงมติเอาไว้ สิ่งที่หนักหนาสาหัสกว่านั้นก็คือว่า การทำงานของพรรคการเมืองยึดถือผลประโยชน์พรรคเป็นหลัก การตัดสินใจไม่ได้ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง แม้กระทั่งสิ่งที่ตัวเองลงมติไว้ยังกลับลำได้
ถ้าหากการกลับลำนั้นเป็นการค้นพบข้อเท็จจริงใหม่ที่ร้ายแรงกว่าวันที่ กมธ.ลงมือศึกษานั้นย่อมรับได้ แต่นี่เปล่าเลย นั่นแสดงให้เห็นว่า พรรคการเมืองตัดสินใจบนฐานคะแนนเสียงไม่ใช่ข้อเท็จจริง พฤติกรรมนี้ไม่เว้นแม้กระทั่งพรรคที่สถาปนาตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย 3 พรรคการเมืองนี้ การตัดสินใจเรื่องกัญชามิใช่เป็นไปด้วยความไม่รู้ แต่ตัดสินใจบนผลประโยชน์ทางการเมือง แม้ว่าต้องกลืนน้ำลายตัวเอง"
"เมื่อผลการสำรวจความเห็นของคนส่วนใหญ่บอกว่าไม่เอากัญชา พรรคเหล่านี้ก็เดินตาม โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงที่ศึกษาไว้แล้ว ฉะนั้นเมื่อกระดุมเม็ดแรกติดผิดพลาด ตลอดเส้นทางก็จะเต็มไปด้วยความผิดพลาด วิธีแก้ปัญหาแบบนี้คืออย่าดึงดันอีกต่อไป และให้หันกลับมาเริ่มต้นที่กระดุมเม็ดแรกเสียใหม่ นั่นคือกลับมาพิจารณาที่ข้อเท็จจริง" นายประสิทธิ์ชัยระบุ
ที่ จ.ขอนแก่น ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่พบกับผู้ประกอบการธุรกิจร้านกัญชา โดยเฉพาะที่ร้าน "420 CARE" ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารโอโซน วิลเลจ 238/8 ถ.เทพารักษ์ อ.เมืองขอนแก่น และพบว่าผู้ประกอบการมีความกังวลหากจะนำกัญชากลับไปเป็นสิ่งเสพติดเหมือนเดิม โดยอยากให้มีการพูดคุยกันระหว่างผู้ประกอบการและภาครัฐ เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและหาทางออกร่วมกัน เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการมีความกังวลอย่างมาก
นางแสงพิรุณ วงศ์ตะวัน อายุ 30 ปี ผู้จัดการบริษัท โฟร์ทเวนตี้แคร์ จำกัด กล่าวว่า หากกัญชาถูกนำกลับไปเป็นยาเสพติดจริง โดยส่วนตัวก็มีทั้งกังวลและไม่กังวล โดยในส่วนเรื่องที่ว่าไม่กังวลนั้น เพราะร้านได้เปิดขายโดยมีการขออนุญาตตามที่ สสจ.กำหนดทุกอย่าง ทั้งขออนุญาตขายและการเก็บข้อมูลลูกค้าที่อายุเกิน 20 ปีบริบูรณ์ ซึ่งร้านเก็บข้อมูลส่ง สสจ.ทุกเดือนจึงค่อนข้างที่จะไม่กังวลในเรื่องนี้ เพราะที่ร้านมีสโลแกนว่า สะอาด ถูกต้อง ใส่ใจผู้บริโภค และคำนึงถึงสังคม
"เรื่องที่ว่ากังวลจะเป็นเรื่องกฎหมายที่ยังไม่ชัดเจนนั้น ที่ร้านเองก็ยังตั้งรับไม่ถูก จึงได้แต่รอเวลาอย่างเดียวว่ากฎหมายจะไปทิศทางไหน ซึ่งที่ยังไม่ชัดเจนก็คือกฎหมายการควบคุมดูแลร้านค้าที่ขาย ว่ามาตรฐานจะต้องประมาณใด และเรื่องที่สำคัญอยากให้ร้านค้ากัญชาแบบนี้ทุกร้าน ช่วยทำการขออนุญาตขายให้ถูกต้องตามกฎหมาย จะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจด้านนี้อยู่ได้นานขึ้น"
"ถ้านำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดเหมือนเดิม อยากให้มีการพูดคุยกันระหว่างกลุ่มผู้ใช้และภาครัฐ อยากให้หาทางออกร่วมกันจะควบคุมแบบไหน ถ้านำกลับไปเป็นยาเสพติดจริงๆ ก็อยากจะให้ใช้ในทางการแพทย์มากกว่า และลดการสันทนาการลง เพราะในประเทศไทยคนที่ใช้ในทางการแพทย์มีเยอะมาก คนที่น่าห่วงไม่ใช่ผู้ใช้ น่าจะเป็นเกษตรกรที่ทำเป็นวิสาหกิจชุมชน ผู้ค้ารายย่อย เพราะว่ากว่าจะมาเป็นธุรกิจต้องลงทุนไปเยอะ ค่อนข้างจะกระทบมากพอสมควร และปัญหาตอนนี้ของผู้ปลูกคือ ไม่มีตลาดที่จะรับซื้อผลผลิตมากพอเท่าที่ควร" นางแสงพิรุณกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กฤษฎีกายี้กม.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
จับตา ครม.ถกร่าง กม.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ 13 ม.ค.นี้
กสม.ตบปากทักษิณ ซัดปราศรัยเหยียดเชื้อชาติ/‘พท.’ชง‘ลูกอิ๊งค์’คุยพ่อลดดีกรี
"ประธาน กกต." ลั่นพร้อมดูแลเลือกตั้งนายก อบจ. 1 ก.พ.แล้ว
ชทพ.ย้ำห้ามแตะสถาบัน สว.ค้านหั่นเสียง‘สภาสูง’
ชาติไทยพัฒนายันแก้รัฐธรรมนูญห้ามแตะต้องหมวด 1 และ 2 เด็ดขาด “สว.” ย้ำไม่เอาแน่หากเสนอตัดเสียงสภาสูงออก
นายกฯสั่งดูแล คนไทยในสหรัฐ เหตุไฟป่า‘L.A.’
“แพทองธาร” บอกเช็กแล้วไม่มีคนไทยในสหรัฐบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากไฟป่า
คึกคักจัดงานวันเด็กแห่งชาติ
หลายจังหวัดคึกคัก จัดงานวันเด็กแห่งชาติ เหล่าทัพจัดเต็มแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์
‘ภรรยาลิม’โอด ช่วงสามีถูกยิง! ไร้‘ผู้ช่วยเหลือ’
ผกก.สน.ชนะสงครามยันออกหมายจับมือยิง “ลิม กิมยา” แค่ 2 คน “เมียอดีต สส.ฝ่ายค้าน”