ประชาชนจ่อกระอัก “ขุนคลัง” ออกกฎกระทรวงเลิกอุ้มดีเซลลิตรละ 5 บาทที่จะสิ้นสุด 21 ก.ค.แล้ว เหตุให้เกียรติรัฐบาลใหม่ตัดสินใจ เพราะต้องใช้งบประมาณและกระทบจัดเก็บรายได้ สกนช.เชื่อไม่ปรับรวดเดียว “นักวิชาการ” แนะขยับขึ้นแค่ครั้งละ 1 บาท
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม 2566 มีความเคลื่อนไหวในเรื่องเศรษฐกิจที่น่าสนใจ เมื่อนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามในกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 34) พ.ศ.2566 ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.2566 และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนที่ 31 ก เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2566 และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.
สำหรับสาระสำคัญของกฎกระทรวงดังกล่าวคือ การยกเลิกประกาศการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ตั้งแต่ 21 ก.ค.2566 เป็นต้นไป หรือไม่มีการขยายมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ที่จะสิ้นสุดวันที่ 20 ก.ค. ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อนุมัติ ก่อนจะยุบสภาผู้แทนราษฎร
ทำให้ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. กรมสรรพสามิตจะจัดเก็บภาษีน้ำมันตามอัตราปกติ โดยน้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันเกิน 0.005% โดยน้ำหนัก ที่เคยจัดเก็บ 1.44 บาทต่อลิตร จะกลับมาเก็บ 6.44 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 0.005% โดยน้ำหนัก ที่จัดเก็บ 1.44 บาทต่อลิตร จะกลับมาเก็บ 6.44 บาทต่อลิตร ขณะที่น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมไม่เกิน 4% ที่จัดเก็บ 1.44 บาทต่อลิตร จะมาอยู่ที่ 6.44 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสม เกิน 4% แต่ไม่เกิน 7% หรือดีเซลบี 7 ที่เก็บ 1.34 บาทต่อลิตร มาเก็บ 5.99 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมเกิน 7% แต่ไม่เกิน 9% ที่เคยเก็บ 1.33 บาทต่อลิตร ภาษีเดิม 5.93 บาทต่อลิตร เป็นต้น
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า สาเหตุที่นายอาคมได้ลงนามประกาศกฎกระทรวงดังกล่าวที่ไม่ต่อมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 5 บาทต่อลิตรออกไปนั้น เนื่องจากจะรอรัฐบาลใหม่มาพิจารณา เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ หากมีการดำเนินการจะต้องเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตัดสินเหมือนกับกรณีการอุ้มค่าไฟฟ้า และยังกระทบต่อการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตที่หายไปด้วย
สำหรับมาตรการการลดภาษีดีเซลที่ผ่านมาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้ดำเนินการรวม 7 ครั้ง กระทบรายได้รัฐ 158,000 ล้านบาท ประกอบด้วย วันที่ 18 ก.พ.-20 พ.ค.2565 (3 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 3 บาท สูญรายได้ 18,000 ล้านบาท, วันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค.2565 ลดภาษีลิตรละ 5 บาท สูญรายได้ 20,000 ล้านบาท, วันที่ 21 ก.ค.-20 ก.ย.2565 ลดภาษีลิตรละ 5 บาท สูญรายได้ 20,000 ล้านบาท, วันที่ 21 ก.ย.-20 พ.ย.2565 ลดภาษีลิตรละ 5 บาท สูญรายได้ 20,000 ล้านบาท, วันที่ 21 พ.ย.2565-20 ม.ค.2566 ลดภาษีลิตรละ 5 บาท สูญรายได้ 20,000 ล้านบาท, วันที่ 21 ม.ค.-20 พ.ค.2566 ลดภาษีลิตรละ 5 บาท สูญรายได้ 40,000 ล้านบาท และวันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค.2566 ลดภาษีลิตรละ 5 บาท สูญรายได้ 40,000 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานแจ้งว่า ได้รับทราบถึงประกาศกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตดีเซลแล้ว ซึ่งคงหารือกับกระทรวงการคลังอีกครั้ง เพราะหากขึ้นทันที 5 บาท/ลิตร จะกระทบต่อประชาชน ที่สำคัญช่วงสิ้นสุดของมาตรการลดภาษีดีเซล 21 ก.ค.2566 น่าจะยังไม่ได้รัฐบาลใหม่ ทำให้กระทรวงพลังงานคงต้องหารือกับกระทรวงการคลัง และสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ที่จะทำแผนรับมือเอาไว้ และคงจะต้องหารือกับรัฐบาลรักษาการว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้กระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด หากในช่วงเวลาดังกล่าวราคาดีเซลตลาดโลกไปในทิศทางขาขึ้น และกองทุนไม่อาจจัดเก็บรายได้จากดีเซลเข้าสะสมมากพอ
“2 กระทรวงต้องตัดสินใจอีกเรื่องคือ การคาดการณ์นโยบายล่วงหน้าของรัฐบาลชุดใหม่หลังเลือกตั้งว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่อย่างไร และใครจะมาบริหารราคาพลังงาน เพราะอีกไม่นานนายกุกิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน จะเกษียณอายุราชการในปี 2566 นี้ ซึ่งการสานต่อนโยบายรัฐบาล ก็จะต้องดูว่าใครจะมาบริหารงานในตำแหน่ง รมว.พลังงานคนใหม่ และจะใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ บริหารจัดการราคาน้ำมันอีกหรือไม่ อย่างไร” แหล่งข่าวระบุ
ขณะที่นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการ สกนช. กล่าวว่า สกนช.คงต้องหารือกับทุกฝ่าย เพื่อที่จะวางแนวทางในการรับมือ แต่ขณะนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถจัดเก็บเงินจากดีเซลเข้าสะสมในกองทุนน้ำมันฯ เฉลี่ยราว 5 บาท/ลิตร ดังนั้นคงต้องติดตามราคาน้ำมันตลาดโลกเป็นสำคัญ และยังพอมีเวลา ขอประชาชนอย่าตกใจว่าราคาจะขึ้นทันที 5 บาท/ลิตร เพราะต้องอยู่กับปัจจัยต่างๆ ณ วันนั้นด้วย ซึ่งหากราคาโลกลดลง เงินกองทุนฯ สะสมมากขึ้นเพียงพอดูแลเสถียรภาพ เร่งแก้ปัญหาหนี้เดิม สภาพคล่องเพิ่มขึ้น ราคาดีเซลอาจลดลง เมื่อขึ้นภาษีแล้ว ราคาขายปลีกก็อาจไม่เพิ่มขึ้นมาก
“เมื่อสิ้นสุดมาตรการลดภาษีดีเซล ตอนนั้นต้องดูหลายปัจจัยสำคัญ ทั้งราคาตลาดโลก เงินกองทุนฯ ที่เก็บจากดีเซล ภาระหนี้ของกองทุนฯ ดังนั้นจึงยังพอมีเวลา อย่าตกใจว่าราคาจะขึ้นทันที 5 บาทต่อลิตร ไม่ใช่ อย่างที่บอกต้องอยู่กับปัจจัยต่างๆ ณ วันนั้นด้วย” นายวิศักดิ์กล่าว
นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องนำเอาบัญชีทางการเงินของกองทุนน้ำมันฯ และบัญชีการลดภาษีดีเซลมาชั่งน้ำหนักดูให้ดี เพราะหากต่อมาตรการลดภาษีไปอีก ก็จะกระทบต่อรายได้ประเทศ ส่วนตัวมองว่าหากรัฐบาลไม่ต่อมาตรการลดภาษีการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลควรจะทยอยปรับขึ้นครั้งละ 1 บาท ไม่ควรปรับขึ้นทันที 5 บาท
สำหรับสถานะกองทุนน้ำมันฯ วันที่ 21 พ.ค.2566 ติดลบอยู่ที่ 72,731 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 26,111 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 46,620 ซึ่งมากกว่าบัญชีน้ำมันแล้ว เนื่องจากปัจจุบันกองทุนน้ำมันยังใช้เงินพยุงราคาก๊าซหุงต้ม LPG เฉลี่ยเดือนละประมาณ 600 ล้านบาท ตกวันละ 25 ล้านบาท และมีการกู้เงินก้อนที่เหลือจะนำมาชำระหนี้ผู้ค้ามาตรา 7 อีกราว 70,000 ล้านบาท.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฉายาสภาเหลี่ยม(จน)ชิน
ถึงคิวสื่อสภา ตั้งฉายา สส. "เหลี่ยม (จน) ชิน" จากการพลิกขั้วรัฐบาลเขี่ย
ตอกฝาโลงกิตติรัตน์ ‘กฤษฎีกา’ชี้ขาดคุณสมบัติ เหตุมีส่วนกำหนดนโยบาย
"กฤษฎีกา" ชี้ชัดสมัย "นายกฯ เศรษฐา" ตั้ง "กิตติรัตน์" เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ
‘เท้งเต้ง’ไม่ทน! ชงแก้ข้อบังคับ รมต.ตอบกระทู้
ทนไม่ไหว! “หัวหน้าเท้ง” หารือประธานสภาฯ ขอให้แก้ข้อบังคับการประชุม
แม้วพบอันวาร์กลางทะเล เตือนเสือกทุกเรื่องทำพัง!
ปชน.จี้ถามรัฐบาล “ทักษิณ” มีอำนาจจริงปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่
ให้กำลังใจจนท.ดูแลปีใหม่ เข้มงวด‘ความปลอดภัย’
นายกฯ ให้กำลังใจตำรวจ-กรมทางหลวง ทำงานหนักช่วงปีใหม่
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"