3พรรคเล็กฟ้องศาลล้มเลือกตั้ง

3 พรรคเล็กจ่อยื่นศาลปกครองให้เลือกตั้งโมฆะ ปม กกต.คำนวณผลคะแนน “เอกนัฏ” ลั่นใครไม่เอา “บิ๊กตู่” คือไม่เอา รทสช. “สมชาย” ข้องใจพวกเคลมเสียงโหวตนายกฯ พร้อมจำแนก ส.ว.มี 4 กลุ่ม “ศปปส.” ขอสภาสูงไม่ยกมือให้พรรคแก้ ม.112 “สมาคมทนายความ” ระบุไทยต้องมีกฎหมายคุ้มครองสถาบัน

เมื่อวันที่ 26 พ.ค. นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล หัวหน้าพรรคเพื่อชาติไทย  แถลงถึงการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 14 พ.ค. ไม่ชอบมาพากลว่า ผลการเลือกตั้ง ส.ส. มีผู้มาใช้สิทธิ จำนวน 39,284,752 คน บัตรดี จำนวน 37,522,746 ใบ บัตรเสีย จำนวน 1,762,006 ใบ นับคะแนนเมื่อวันที่ 18 พ.ค. จำนวน 37,312,618 คน คิดเป็นร้อยละ 99.44 คงเหลือร้อยละ 0.56 เท่ากับ 210,128 คน โดยเมื่อวันที่ 25 พ.ค.66 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รับคะแนนครบ 100% ตามตารางประกอบแผ่นที่ 1 กกต.ประกาศผลคะแนนที่สามารถตรวจสอบได้ ในระดับที่ 1-20 ของตาราง มีคะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 507,277 คน และลำดับที่ 21-67 ไม่สามารถตรวจสอบได้

นายคฑาเทพกล่าวว่า จากการตรวจสอบคะแนนที่ 1-20 ของตารางพรรคการเมือง คะแนนที่น่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.56% เท่ากับ 210,128 คน แต่กลับเพิ่มขึ้นลำดับที่ 1-20 เป็น 507,227 คะแนน เพียงตรวจสอบในลำดับที่ 1-20 คะแนนเกินความเป็นจริง 297,149 คน ไม่รวมพรรคลำดับที่ 21-67 ดังนั้น การกระทำของ กกต.ก่อให้เกิดความเสียหายจากการคำนวณสูตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่คาดว่าพรรคเพื่อชาติไทยจะได้รับการแต่งตั้งได้ ส.ส. จำนวน 1 ที่นั่ง และรวม 3 พรรค ดังนี้ 1.พรรคพลัง ได้ ส.ส.จำนวน 1 ที่นั่ง 2.พรรคเพื่อชาติไทย ได้ ส.ส. จำนวน 1 ที่นั่ง และ 3.พรรคแรงงานสร้างชาติ ได้ ส.ส. จำนวน 1 ที่นั่ง ถือว่าการเพิ่มขึ้นของคะแนนมากกว่า 100% ก่อให้เกิดความเสียหายต่อพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรค

“ถือว่าไม่ชอบ มีพิรุธ ซ่อนเร้น ไม่โปร่งใส ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องยื่นศาลปกครอง เพื่อขอให้การไต่สวนและมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อไม่ให้ กกต.ประกาศรับรองรายชื่อ ส.ส.อย่างเป็นทางการ ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองจนกว่าคดีจะถึงที่สุด โดยพรรคการเมือง 3 พรรค จะเดินทางไปยื่นศาลปกครองในวันที่ 30 พ.ค. เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ” นายคฑาเทพกล่าว

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงการขับเคลื่อนพรรคหลังการเลือกตั้งว่า วันนี้ รทสช.ยังคงเดินหน้าทำงานด้านการเมืองอย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อยอดจากกว่า 4 ล้าน 7 แสนคะแนนเสียงให้มากขึ้น อีกทั้งยังรักษาจุดยืนไว้ คือการไม่แก้มาตรา 112 ตอนนี้ภารกิจการจัดตั้งรัฐบาลเป็นหน้าที่ของพรรคที่ได้คะแนนเสียงในลำดับต้นๆ ซึ่ง รทสช.จะไม่เข้าไปยุ่ง ไม่เข้าไปกีดกัน ไม่ขัดขวาง แต่ยืนยันหนักแน่นว่า พรรคจะไม่ยืนร่วมกับรัฐบาลที่มีวาระแก้ หรือยกเลิกมาตรา 112 อย่างแน่นอน ถ้ามีก็สมัครใจที่จะเป็นฝ่ายค้าน และจะไม่โหวตกับนายกรัฐมนตรีที่มีเจตนาจะไปแก้มาตรา 112

“เงื่อนไขเรื่องมาตรา 112 เรายอมไม่ได้ ถอยไม่ได้ เรายืนยันแล้วว่าเราไม่แก้ เขาต้องชัดเจนเหมือนกัน เพราะหลายเรื่องเขาไปสัญญาไว้ วันนี้ถึงเวลาว่าต้องพิสูจน์กันว่าจะทำตามสิ่งที่ได้สัญญากับประชาชนไว้ได้หรือไม่” นายเอกนัฏระบุ

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และอาจจะมีสูตรใหม่ ที่มีคนกล่าวถึง รทสช. นายเอกนัฏตอบว่า ขณะนี้ยังไม่ได้คิดถึงไปถึงขนาดนั้น ตอนนี้คิดแค่ปัจจุบัน พร้อมกลับมาทำงาน และทบทวนในการที่จะพัฒนาตัวเอง อย่างไรต่อไป ยังไม่ได้คิดไปไกลขนาดนั้น

ต่อข้อถามว่า หากมีพรรคอื่นมาชวนไปร่วมรัฐบาล แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายเอกนัฏ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์คือ รทสช. และ รทสช.คือ พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นไม่ต้องสร้างเงื่อนไขแบบนี้ ถ้าไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ต้องเอา รทสช. ฉะนั้น ถ้าปฏิเสธ พล.อ.ประยุทธ์ จะเอาพรรคเราไปร่วมมันคงไม่ง่าย

แบ่ง ส.ว.เป็น 4 กลุ่ม

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์เฟซบุ๊ก โดยเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า กลวิธีหาเสียง ส.ว.โหวตนายกฯ หรือไง อย่าขู่ไปเคลียร์ไปเคลมไป ส.ว.ทำหน้าที่อย่าขู่ไม่มีกลัว ดำเนินคดีตามกฎหมายถึงที่สุด เห็นคนจากพรรคการเมืองสัมภาษณ์และออกสื่อเคลมรายวันว่ามี ส.ว.หนุนแล้วเท่านั้นเท่านี้ อ้างสื่อในทีมก็อ้างว่ามีมากขึ้นทุกวันมากถึง 19-20 คนบ้าง กำลังเจรจาบ้าง อ้างและเคลมว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 20-40 คนนั้น ขอพูดในฐานะคนใน ส.ว. ว่าตรวจสอบแล้วและยืนยันว่า ไม่จริงครับ อย่าเคลม เพราะตรวจสอบแล้วมี ส.ว.ที่ประกาศตัวระบุชื่อว่าจะเลือกนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยอาจไม่พิจารณาคนอื่นนั้น เวลานี้เพียงแค่ 5-6 คนเท่านั้น

เมื่อตรวจสอบสมาชิกวุฒิสภาที่ทุกท่านล้วนมีวุฒิภาวะ หลายท่านแสดงเจตนารมณ์ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใดๆ ซึ่งอยากแบ่งเป็นหลายกลุ่ม พอสรุปได้ดังนี้ 1.กลุ่มที่รับพิจารณาว่าจะโหวตตามเสียงข้างมาก ข้อเท็จจริงยังมีเวลาอีกประมาณ 2 เดือน จึงจะถึงวันโหวตและเห็นของจริงว่ามีการเสนอชื่อและพรรคร่วมแข่งขันกันหรือไม่ ดังนั้น จึงไม่อาจให้เคลมว่า ส.ว.กลุ่มนี้ท่านตัดสินใจโหวตเลือกนายกฯ แล้ว

2.กลุ่มที่มีเงื่อนไขไม่ต้องการให้แก้ไขมาตรา 112 และรัฐธรรมนูญหมวด 1-2 ที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะความเป็นราชอาณาจักรไทยเป็นหนึ่งเดียวแบ่งแยกมิได้ หมวดพระมหากษัตริย์ และมาตราที่เกี่ยวข้อง 3.กลุ่ม ส.ว. ที่ปิดสวิตช์ตัวเอง ด้วยการโหวตงดออกเสียง 4.กลุ่ม ส.ว.ส่วนใหญ่ คาดว่าอาจจะมากถึงร้อยละ 80 ยังคงติดตามข่าวสาร ตรวจสอบข้อมูล องค์ประกอบต่างๆ โดยมีเกณฑ์พิจารณาคล้ายกันหรือแตกต่างกันไป เช่น คุณสมบัติ ความประพฤติ พฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่เสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อวันศุกร์ ที่รัฐสภา นายอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนป้องสถาบัน (ศปปส.) พร้อมด้วยนายนพคุณ ทองถิ่น รองประธาน ศปปส. และกลุ่มกระทิงแดงไทยพิทักษ์ กลุ่มศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูก Bully ทางสังคมออนไลน์ ศชอ. กลุ่มนักรบเลือดสีน้ำเงินปกป้องราชบัลลังก์ เข้ายื่นหนังสือต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ ส.ว. ไม่โหวตให้กับพรรคที่ต้องการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 โดยมีนายวุฒิชัย วงศ์เมธีสุเมธ ผู้อำนวยการสำนักงานประธานวุฒิสภา รับยื่นหนังสือ

นายนพคุณกล่าวว่า ทาง ศปปส.ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมีความกังวลใจเกี่ยวกับนโยบายของพรรคก้าวไกลที่จะยกเลิกมาตรา 112 ถึงแม้ว่าจะมีการแถลงถึงภารกิจของรัฐบาลที่จะไม่กระทบต่อรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ก็ตาม แต่ข้อความในข้อตกลง MOU ข้อที่ 1 ระบุว่าฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนให้เร็วที่สุด โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ซึ่งตนมองว่ามีความหมายที่เป็นนัยแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ ซึ่งทาง  ศปปส.ไม่ไว้วางใจให้กลุ่มบุคคลที่มีทัศนคติไม่ดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112

ด้านนายอานนท์ระบุว่า ที่ผ่านมาเป็นแน่ชัดแล้วว่าพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมีนโยบายแก้ไข ยกเลิกมาตรา 112 อีกทั้งยังมีสมาชิกหลายคนในพรรคถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ถึงแม้ว่าศาลจะยังไม่ตัดสิน ศปปส.จึงมีความไม่ไว้วางใจกลุ่มดังกล่าวที่มีทัศนคติไม่ดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะมาแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ในระบบรัฐสภาไม่ได้อย่างเด็ดขาด เนื่องด้วยเราประชาชนปกป้องสถาบันไม่สามารถเข้าไปโหวตในสภาได้ จึงขอให้ ส.ว.พิจารณา ซึ่งควรพิจารณาคนที่จะมาเป็นนายกฯ ควรต้องปกป้องไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยืนยันว่าพรรคก้าวไกลที่หาเสียงไว้เรื่องแก้มาตรา 112 แม้จะไม่มีเรื่องแก้มาตรา 112 แต่ในรัฐสภาเขาจะต้องแก้ไขมาตรา 112 แน่นอน ฉะนั้น ส.ว.พิจารณาให้ดีๆ

ขอสภาสูงอย่ายกมือให้

เมื่อถามว่า ท้ายที่สุดหาก ส.ว.โหวตให้แคนดิเดตพรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ จะทำอย่างไรต่อ นายอานนท์ตอบว่า เรื่องนี้น่ากลัว ไม่ใช่เฉพาะ ศปปส. ตนว่าคนไทยหลายสิบล้านคนไม่ยอมแน่ เกรงจะเกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นในประเทศ หากพรรคการเมืองหรือผู้นำประเทศไปแตะมาตรา 112 และตนเคลื่อนไหวแน่นอน เราไม่เคยหยุดเคลื่อนไหวตอบโต้ไม่ว่ากลุ่มไหนที่มาจาบจ้วง หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายต่อสถาบัน เราแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที

ขณะที่นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ความตอนหนึ่งระบุว่า ตามที่เกิดประเด็นถกเถียงกรณีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นว่า ควรมีการยกเลิก ควรมีการแก้ไข และไม่ควรแตะต้องเลยนั้น สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยเห็นว่า ไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่อปกป้องสถาบันหลักของประเทศ ได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งประมวลกฎหมายอาญาได้มีบัญญัติเพื่อการปกป้องสถาบันหลักทั้ง 3 แล้ว ดังนี้ 1.การปกป้องสถาบันชาติ ได้แก่ ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐตามมาตรา 116 มีโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี 2.การปกป้องสถาบันศาสนา ได้แก่ ความผิดต่อศาสนาตามมาตรา 206 มีโทษจำคุกหนึ่งปีถึงเจ็ดปี และ 3.การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้แก่ ความผิดตามมาตรา 112 มีโทษจำคุกสามปีถึงสิบห้าปี

ดังนั้น การที่พรรคการเมืองบางพรรคเสนอให้มีการยกเลิกมาตรา 112 นั้น เห็นว่า เป็นข้อเสนอที่มีอคติและไม่มีเหตุผลรองรับ เพราะประเทศมีกฎหมายปกป้องสถาบันชาติและศาสนาแล้ว เหตุใดจึงจะยกเลิกการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนที่เสนอให้แก้เป็นความผิดที่ยอมความได้ และมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปียิ่งขาดเหตุผล เพราะมาตรา 112 เป็นกฎหมายที่มีหลักการเดียวกับมาตรา 116 และ 206 จึงต้องเป็นความผิดต่อรัฐที่ยอมความไม่ได้และมีอัตราโทษเช่นเดียวกัน  ส่วนที่บางฝ่ายเห็นว่าควรมีการแก้ไขอัตราโทษให้สอดคล้องกับมาตรา 116 และ 206 ก็เป็นเรื่องที่รัฐสภาจะต้องพิจารณาตามความเหมาะสม

ปัญหาที่แท้จริงของมาตรา 112 ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากประชาชนทั่วไปสามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ จึงเกิดการกลั่นแกล้งโดยใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือทำร้ายอีกฝ่าย ส่วนที่เสนอให้สำนักพระราชวังเป็นผู้เสียหาย ยิ่งไม่บังควร เพราะจะเป็นการดึงเอาสถาบันมาเป็นคู่กรณีกับประชาชน

สำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวควรมีการตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองว่าการกระทำใดเป็นความผิดต่อมาตรา 112 หรือไม่ เพื่อให้ตำรวจและอัยการถือปฏิบัติไม่ให้เกิดกรณีฟ้องไว้ก่อนเพื่อเอาตัวรอด ส่วนศาลก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวให้เป็นเช่นเดียวกับความผิดฐานอื่น  หาไม่แล้วจะทำให้ประชาชนเข้าใจผิดต่อสถาบัน เพราะความขลาดกลัวและการใช้ดุลพินิจที่เลือกปฏิบัติของศาล.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!

"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย

‘จ่าเอ็ม’ ผวาขออารักขา

กัมพูชาส่งตัว "จ่าเอ็ม" ให้ไทยแล้ว นำตัวเข้ากรุงสอบเครียดที่ สน.ชนะสงคราม แจ้งข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เจ้าตัวร้องขอเจ้าหน้าที่คุ้มครองเป็นพิเศษ

เป็นแม่ที่ดีหรือยัง! ‘อิ๊งค์’ เปิดอกวันเด็กสมัยก่อนไม่มีไอแพดโวยถูกบูลลี่

"นายกฯ อิ๊งค์" เปิดงานวันเด็กคึกคัก! เด็กขอถ่ายรูปแน่น พี่อิ๊งค์ล้อมวงเปิดอกตอบคำถามเด็กๆ มีพ่อเป็นต้นแบบ เผยวัยเด็กไม่มีไอแพด โทรศัพท์ ไลน์ พี่มีลูกสองคน

‘บิ๊กอ้วน’ เอาใจทอ. เคาะซื้อ ‘กริพเพน’

ปิดจ๊อบภายในปีนี้! "บิ๊กอ้วน" ไฟเขียว ทอ.เลือก "กริพเพน" มั่นใจคนใช้เป็นคนเลือก รออนุมัติแบบหลังทีมเจรจาออฟเซตกับสวีเดนจบ แจงทูตสหรัฐแล้ว ไทยยันไม่มีนโยบายกู้เงินซื้ออาวุธตามข้อเสนอขายเอฟ