ปธ.สภาของก้าวไกล ป๊อกฮึ่ม!ห้ามถอยให้‘พท.’ พลิ้วขึ้นค่าแรงฟังเอกชน

“พิธา” ย้ำเอ็มโอยู 23 ข้อแค่เพดานขั้นต่ำ ยืนยันก้าวไกลพร้อมดันกว่า 300 นโยบายและ 45 กฎหมายต่อไป กลิ่นความเจริญเริ่มตุๆ เข้าพบ ส.อ.ท.โปรยยาหอมไม่ขึ้นค่าแรง 450 บาททันควัน บอกต้องหารือกันอย่างรอบด้าน! “ปิยบุตร” โพสต์สั่งก้าวไกลห้ามถอยเรื่องเก้าอี้ประธานสภาเด็ดขาด  ชี้ยอมทั้งเรื่อง MOU แจกเค้กกระทรวงต่างๆ และนโยบายแล้ว “วิษณุ” กางไทม์ไลน์รัฐบาลใหม่อย่างเร็ว เลือกประธานสภาฯ 25 ก.ค. ส่วน 3 ส.ค.โหวตนายกฯ ครม.บิ๊กตู่อยู่ถึงแค่ 11 ส.ค. “บิ๊กป้อม” ลั่นไม่มียุบ ยังเดินหน้าสร้าง พปชร.เป็นสถาบัน

เมื่อวันอังคารที่ 23 พฤษภาคม 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงการลงนามในบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) จัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค เมื่อวันจันทร์ที่ 22 พ.ค. ว่า เป็นแค่วาระร่วมกันขั้นต่ำ เพราะพรรคมีกว่า 300 นโยบายที่เคยหาเสียงไว้ ซึ่งพรรคจะพยายามผลักดันให้สำเร็จผ่านกลไกบริหาร ซึ่งเมื่อเป็นนายกฯ จะมีอำนาจบริหารจัดการ เพื่อให้วาระของพรรคก้าวไกลที่ได้นำเสนอไว้เกิดผลความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ส่วนรัฐมนตรีของพรรคที่อยู่ตามกระทรวงต่างๆ ในการผลักดันวาระที่ไม่อยู่ในเอ็มโอยู แม้พรรคไม่ได้เป็นเจ้ากระทรวง แต่สามารถผลักดันในการประสานงานของรัฐบาลร่วม เพื่อให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงผลักดันนโยบายของพรรคเราได้

“ส่วนกลไกฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเฉพาะ 45 กฎหมายที่เราได้สัญญากับประชาชนไว้ เนื่องจากเรามี ส.ส. 152 คนที่สามารถผ่านกฎหมาย เพื่อให้เกิดการถกเถียง และให้เกิดกรรมาธิการเพื่อให้ผ่านสภาเป็นกฎหมาย ซึ่งเอ็มโอยู 23 ข้อเป็นวาระร่วมแค่ขั้นต่ำ แต่ในขณะเดียวกันหลายประเด็นอาจทำให้ประชาชนต้องลำบาก และต้องการความเปลี่ยนแปลงผ่านกฎหมายที่ก้าวหน้า” นายพิธากล่าว

เมื่อถามถึงกรณีนายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ออกมาแนะนำภายหลังการแถลงเอ็มโอยู ที่ระบุว่าหัวข้ออาจซ้ำกับรัฐธรรมนูญปี 2560 มีที่มาขั้นตอน และกระบวนการในการร่างอย่างไร นายพิธากล่าวว่า คงเป็นความกังวลใจของนายปิยบุตร ซึ่งก็เข้าใจ ส่วนเอ็มโอยูและรัฐธรรมนูญที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คิดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร หรือไม่มีความเข้าใจผิดอะไรในภาพรวม

เมื่อถามว่า ภายหลังการลงนามเอ็มโอยู จะมีขั้นตอนอย่างไรต่อไป มีการเลือกบุคคลที่จะเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ และรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ หรือยัง นายพิธากล่าวว่า คิดว่าจะเป็นการเดินสายรับฟังพี่น้องประชาชนมากกว่า และจะเชิญพรรคร่วมเข้ารับฟังให้มากขึ้น เพราะต้องทำนโยบายร่วม ในการแถลงต่อรัฐสภา แต่รับประกันได้ว่าต้องเป็นคนที่เหมาะสมกับงาน

ขณะที่นายปิยบุตรโพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตำแหน่งที่พรรคก้าวไกลเสียไปไม่ได้เป็นอันขาด ระบุว่า การเมือง คือ ศิลปะของการทำสิ่งที่คนเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ แต่เมื่อดุลกำลังอำนาจยังไม่เพียงพอ การประนีประนอมกันเพื่อรักษาสถานะความเป็นไปได้ของการทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ ก็เป็นเรื่องจำเป็น หากพรรคก้าวไกลต้องการเป็นรัฐบาล ก็ต้องมีพรรคเพื่อไทยร่วมด้วยสถานเดียว หากไม่มีพรรคเพื่อไทยร่วมด้วย ก็ไม่มีทางที่พรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล

นายปิยบุตรโพสต์อีกว่า 2-3 วันมานี้ มีข่าวปรากฏออกมาตามสื่อมวลชนว่า พรรคเพื่อไทยขอให้พรรคก้าวไกลปล่อยตำแหน่งประธานสภาฯ ให้พรรคเพื่อไทย   เห็นว่าพรรคก้าวไกลปล่อยตำแหน่งนี้ให้พรรคใดๆ ไม่ได้ เพราะการเจรจาต่อรองเพื่อกำหนดเนื้อหาในเอ็มโอยู เห็นได้ชัดเจนว่าพรรค ก.ก.ได้ถอยหลายประเด็น จนเหลือแต่ประเด็นที่ทุกพรรคยอมรับได้ และเมื่อถึงคราวจัดสรรกระทรวงให้แต่ละพรรค พรรค ก.ก.ก็คงต้องยินยอมเฉือนอีกหลายกระทรวงให้  โดยเฉพาะกระทรวงเกรดเอ รวมถึงช่วงเขียนนโยบายของรัฐบาลเพื่อแถลงต่อสภา ก.ก. ก็ต้องประสานเอาความต้องการของทุกพรรคเข้ามาไว้ด้วยกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องประหลาดในทางการเมือง และเป็นเรื่องปกติในรัฐบาลผสม

“ปัญหามีว่าพรรคก้าวไกลต้องถอยจนถึงเมื่อไร ต้องยินยอมถึงขนาดไหน เพื่อให้ทุกพรรคพอใจและตั้งรัฐบาลได้ และไปต่อได้ การประนีประนอม การเจรจาต่อรองของพรรคก้าวไกลต้องไม่ไปถึงขนาดที่ยกตำแหน่งประธานสภาฯ ให้ ส.ส.พรรคอื่น เพราะนโยบายพรรคที่ใช้รณรงค์หาเสียงจนได้คะแนนมากกว่า 14 ล้านเสียง หลายเรื่องต้องผลักดันผ่านสภา ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ ต้องมี ส.ส.ของพรรคตนเองทำหน้าที่ประธานสภาฯ เพื่อคุมวาระและญัตติ โดยเฉพาะกรณีการนิรโทษกรรม และการแก้ไขมาตรา 112 ที่ต้องใช้กลไกสภาในการผลักดัน หากไม่ได้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรมา ก็อาจประสบปัญหาอุปสรรคได้” นายปิยบุตรโพสต์

ห้ามยกเก้าอี้ประธานสภาฯ

นายปิยบุตรโพสต์อีกว่า  พรรค ก.ก.ต้องมีคนของตนเองทำหน้าที่ประธานสภาฯ เพื่อคุมเกม ช้และตีความข้อบังคับการประชุม และกำหนดทิศทางในการประชุมเพื่อลงมติเลือกนายกฯ ด้วย  การประนีประนอมและการเจรจาทางการเมือง เป็นเรื่องเข้าใจได้ในการตั้งรัฐบาลผสม แต่การถอยถึงขนาดยอมยกตำแหน่งประธานสภาฯ ให้พรรคอื่น เป็นเรื่องเข้าใจไม่ได้ หวังว่าพรรคก้าวไกลจะพิจารณาประเด็นนี้ให้ถ้วนถี่

นายพิธายังได้กล่าวถึงนโยบายขึ้นค่าแรง 450 บาท ว่าเรากำลังเดินหน้ารับฟังผู้ที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบ แต่ยืนยันว่าค่าแรงขั้นต่ำมีความจำเป็นต้องขึ้น และต้องขึ้นอย่างสม่ำเสมอโดยอัตโนมัติ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทั้ง 2 ฝั่ง เพราะที่ผ่านมาไทยไม่ได้มีการขึ้นค่าแรงบ่อยครั้ง นับตั้งแต่สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จึงอาศัยการคำนวณค่าเงินเฟ้อ และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมถึงประสิทธิภาพของแรงงานที่เพิ่มขึ้น ค่าแรงควรอยู่ที่ประมาณ 425-440 บาทต่อวัน พรรคจึงเสนอ 450 บาท ควบคู่กับมาตรการดูแลผู้ประกอบการไปด้วย

 “ยืนยันไม่ได้ขึ้นค่าแรงตามใจตัวเอง ขึ้นแบบมีหลักการ หลักสากล ตอนนี้ยังมีเวลาก่อนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรอง ดังนั้นในเวลา 2 เดือนนี้ ผมจึงต้องเดินสายทำงานให้รอบคอบ” นายพิธากล่าว

ทั้งนี้ นายพิธาพร้อมทีมเศรษฐกิจพรรค ก.ก. เข้าพบนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง โดยนายพิธากล่าวถึงการหารือเรื่องค่าแรงว่า ได้คุยกันในภาพรวม และได้อธิบายให้ ส.อ.ท.สบายใจว่าไม่ได้มองเหรียญเพียงด้านเดียว เพราะต้องช่วยผู้ประกอบการด้วย อาทิ การลดภาษีให้ธุรกิจเอสเอ็มอี การให้ธุรกิจหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่านาน 2 ปี และมาตรการที่สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์เคยทำ คือเพิ่มสภาพคล่องให้เอกชน ส่วนกรอบตัวเลขนั้น พรรค ก.ก.ยังคงไว้ที่ 450 บาท และต้องหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมีกรอบตัวเลขที่ต่างกัน รวมถึงหารือสภาแรงงาน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยืนยันจะไม่ปรับขึ้นแบบกระชากระบบ ส่วนเรื่องค่าไฟที่ ส.อ.ท.เสนอมาว่าไม่ควรเกิน 4.72 บาทต่อหน่วยนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ ดูจากแนวโน้มราคาพลังงาน ก๊าซธรรมชาติ และทิศทางการเปลี่ยนสูตรโครงสร้างราคาใหม่

ด้านนายเกรียงไกรกล่าวว่า ได้ขอให้รัฐบาลกิโยตีนกฎหมายที่ล้าสมัย ทำกฎหมายใหม่ให้อุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้น ต่อไปจะมีคณะทำงานร่วมกันระหว่าง ส.อ.ท.กับรัฐบาลแยกรายกลุ่มอุตสาหกรรม เสริมกับการทำงานของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ซึ่งเป็นภาพใหญ่ ยอมรับว่าที่เคยกังวลกับนโยบายการขึ้นค่าแรงของพรรคร่วมรัฐบาลก็เบาใจลง เพราะนายพิธารับฟังและจะนำไปหารือ เพราะนายพิธาเองก็เคยเป็นสมาชิก ส.อ.ท. จึงเข้าใจผู้ประกอบการเป็นอย่างดี

ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ นั้น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค พท. พร้อมแกนนำพรรค รวมทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ เตรียมจัดประชุมสัมมนาผู้สมัคร ส.ส.พรรคที่สอบได้และสอบตกในวันที่ 24 พ.ค.นี้ ที่ชั้น 7 อาคารโอเอไอ ทาวเวอร์ ซึ่งเป็นที่ทำการพรรค เพื่อให้กำลังใจ รวมทั้งเพื่อหารือสรุปบทเรียน ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา เพื่อให้พรรคกลับมายืนได้อย่างเข้มแข็ง กลับมาเป็นพรรคอันดับหนึ่งอีกครั้งในอนาคต

บิ๊กตู่โนคอมเมนต์ MOU

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยก่อนการประชุม พล.อ.ประยุทธ์กล่าวทักทายสื่อมวลชน ว่า สวัสดีทุกคน พร้อมกับถอดแมสก์ ซึ่งจังหวะนั้นสายแมสก์ได้เกี่ยวขาแว่นตาทำให้แว่นตาตกลงพื้น พล.อ.ประยุทธ์จึงกล่าวว่า เนี่ยเดี๋ยวก็เอาไปออกอีก ก่อนกล่าวอีกว่า ก็ไม่มีอะไรนะ ก็ทำงานต่อไป ก็ดูหน้าสิ พร้อมชี้นิ้วไปที่ใบหน้าและยิ้มให้สื่อ

ภายหลังการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ได้มาแถลงข่าว โดยเมื่อถึงโพเดียม พล.อ.ประยุทธ์ได้ถอดแมสก์และไปเกี่ยวกับขาแว่นตาเกือบหล่นอีกรอบ พล.อ.ประยุทธ์จึงกล่าวว่า “รู้สึกจับตาดูทุกอย่างเลยนะ จะเดินอะไรก็ไม่ได้ อะไรหลุดก็ไม่ได้ ทำนองนี้ ขอร้องว่าอย่าจุกจิกอะไรกับฉันมากนักเลยนะ ขอร้องเถอะ มันไม่ใช่เรื่อง ไม่ใช่ประเด็น มันจะยิ่งทำให้คนมีความรู้สึกว่ามันแย่มาก ก็ขอร้องแล้วกัน ช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องรักษาสถานการณ์ให้ปกติมากที่สุด ก็ขอร้องกันให้ทุกคนอยู่ในความสงบเรียบร้อย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการตั้งรัฐบาลใหม่”

ผู้สื่อข่าวถามในมุมมองของนายกฯ มีสเปก รมว.กลาโหมในอนาคตต้องเป็นอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่รู้ ไม่ทราบ อนาคตไม่ทราบ ทราบแต่ปัจจุบัน

เมื่อถามว่า มีความเห็นเรื่องเอ็มโอยูของพรรคก้าวไกลที่เซ็นร่วมกับพรรคการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า โนคอมเมนต์ เมื่อซักอีกว่าแล้วโนพรอบเบลมด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ตอบเธอ ถามอะไรอย่างอื่นที่มันดีกว่านี้ได้ไหม เมื่อถามว่า บรรดาแฟนคลับหรือผู้สนับสนุนของนายกฯ ยังมีความหวังอยากเห็นนายกฯ ในการจัดตั้งรัฐบาล ถ้าสูตรอื่นไปไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเช่นเดิมว่า โนคอมเมนต์                   เมื่อถามว่าในฐานะที่เป็นทหารเก่า นายกฯ จะสู้แค่นี้หรือยังมีประตูในการสู้ พล.อ.ประยุทธ์ย้อนว่า สู้อะไรกับใคร เมื่อถามว่าเพื่อให้ดูแลบ้านเมืองเกิดความสงบ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องของประชาธิปไตย กระบวนการประชาธิปไตยก็เริ่มมาแล้วก็ว่าไปตามนั้น อะไรจะเกิดขึ้นก็แล้วแต่ ก็เป็นเรื่องของอนาคต วันนี้ก็เป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ ยังเป็นนายกฯ อยู่ ก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดจนกว่าจะไม่ได้ทำ แค่นั้นเอง ยากตรงไหน คำถามคำตอบไม่เห็นยากเลย อย่าไปสร้างความขัดแย้งอะไรอีกเลย พอแล้ว

เมื่อถามว่า ในฐานะที่เป็นรัฐบาลรักษาการ อยากพูดอะไรตรงนี้หรือไม่ เพื่อให้เกิดความสงบ พล.อ.ประยุทธ์ รีบกล่าวทันทีว่า ไม่อยากๆ อยากเพียงอย่างเดียวให้บ้านเมืองมันสงบ จบ เมื่อถามว่าได้คุยกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เรื่องอนาคตการเมืองด้วยกันหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ได้คุยเรื่องอื่น แต่คุยเรื่องงานในหน้าที่ มอบความรับผิดชอบกันไป ก็ติดตามทำอะไรถึงไหนอย่างไร ก็คุยกันไม่มีปัญหาอะไร คุยกันเรื่องงาน บอกแล้วไม่ได้คุยเรื่องอื่น ประเทศชาติมันต้องเดินหน้าอยู่หรือเปล่าในช่วงนี้ มันต้องทำงานต่อหรือเปล่า หรือหยุดตั้งแต่วันนี้ไม่ต้องทำ ประชาชนต้องได้รับการดูแลหรือเปล่า ก็ต้องทำทุกอย่างจนถึงเวลาที่รัฐบาลใหม่เข้ามาก็เท่านั้นเอง ไม่เห็นยากตรงไหน อย่าไปตั้งประเด็นทุกอันเลย การไปตั้งประเด็นในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นมามันก็คือปัญหาและสร้างความตื่นตระหนก

“ขอร้องเถอะ อย่างสร้างปัญหาอะไรให้มากขึ้นกว่านี้ ผมไม่มีปัญหากับใครอยู่แล้ว เคารพกระบวนการประชาธิปไตยทุกอย่างทุกประการ” พล.อ.ประยุทธ์ย้ำ

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกระแสข่าวจะมีการรอตั้งนายกฯ ไปจนกว่าให้บทเฉพาะที่ให้อำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ ว่าจะรออะไรให้นานขนาดนั้น รัฐบาลชุดนี้ก็ต้องรักษาการต่อไปด้วย และแม้ ส.ว.ปัจจุบันหมดอายุ เขาก็ยังรักษาการอยู่ จึงไม่มีประโยชน์

วิษณุกางไทม์ไลน์รัฐบาลใหม่

“ส.ว.จะมีอำนาจโหวตนายกฯ จนถึงวันที่ 11 พ.ค.2567 แต่การทำหน้าที่ของ ส.ว.ในเรื่องอื่นๆ สามารถทำต่อไปได้ และหากถึงเวลาหลังจากวันที่ 11 พ.ค. หากมีการเลือกนายกฯ ก็เป็นหน้าที่ของ ส.ส.เท่านั้น และจะยืดระยะเวลาอะไรไปขนาดนั้นประเทศจะอยู่ไม่ได้ เพราะจะทำอะไรก็ต้องขอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)”

เมื่อถามว่า ในฐานะผ่านการเมืองมานาน ทิศทางการตั้งรัฐบาลมันจะไปทางไหน นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มอง เจอมาสิบครั้งแล้ว จึงเฉยๆ ส่วนการตั้งรัฐบาลครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่นั้น เคยตอบไปแล้ว ยังไม่เห็นเหตุผลอะไรที่จะตั้งไม่ได้

เมื่อถามว่า เอ็มโอยูตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลไม่มีเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การเสนอแก้ไขประเด็นนี้แตกต่างกันอย่างไรระหว่างเสนอในนามรัฐบาลกับพรรคการเมืองเป็นผู้ผลักดัน นายวิษณุกล่าวว่า เสนอเองก็เหมือนกับที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เสนอเรื่องกัญชา รัฐบาลไม่มีส่วนรับผิดชอบ

ถามอีกว่า ในอดีตนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เคยวินิจฉัยว่าการเสนอเรื่องดังกล่าวขัดต่อข้อกฎหมาย  ประธานรัฐสภาคนใหม่ต้องวินิจฉัยเหมือนกันหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า หากเขาฉลาดก็แก้สักตัวสองตัว ส่วนพรรคก้าวไกลจำเป็นต้องเป็นประธานรัฐสภาเองหรือไม่นั้น ไม่ทราบ และไม่รู้ว่าหากประธานรัฐสภาเป็นของพรรคอื่นจะเป็นอย่างไร

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในที่ประชุม ครม. นายวิษณุได้อธิบายไทม์ไลน์การจัดตั้งรัฐบาลให้ ครม.รับฟังถึงไทม์ไลน์อย่างเร็ว ว่าวันที่ 13 ก.ค. จะเป็นวันสุดท้ายที่ กกต.จะรับรองผลเลือกตั้ง หากเกิดความล่าช้าคงเกิดจากการร้องเรียน โดยหลังจากนี้ ครม.จะพิจารณาพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภา ซึ่งวันที่ 20 ก.ค. จะเป็นวันสุดท้ายที่ให้ ส.ส.รายงานตัว จากนั้นวันที่ 24 ก.ค.จะมีพิธีเปิดประชุมรัฐสภา วันที่ 25 ก.ค.จะมีการเลือกประธานสภา วันที่ 26 ก.ค.จะมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภา ก่อนที่วันที่ 3 ส.ค.จะมีการเลือกนายกฯ ขณะที่วันที่ 10 ส.ค.มีการแต่งตั้ง ครม. และวันที่ 11 ส.ค.จะมีการถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ซึ่งเป็นการทำงานวันสุดท้ายของ ครม.รักษาการ

โดย พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า เรามีเวลาทำงานอีกนานพอสมควร ขอให้ตั้งใจทำงาน ทำงานให้บ่อย พูดให้น้อย ใครจะว่าอะไรก็ว่าไป และขอบคุณทุกคนไม่ต้องเสียใจ พวกเรารักกันตลอดไป ทำงาน 4 ปีไม่มีข้อขัดแย้ง ทำงานร่วมกันอีกหลายเดือน ปัญหามีมาให้แก้ทุกวัน ขอให้ช่วยกันทำงานกันต่อไป และหลังจากนี้ให้แต่ละกระทรวงสรุปงานที่ทำมาแล้วว่ามีอะไรบ้าง ระหว่างนี้ทำอะไรอยู่ และแผนงานในอนาคตมีอะไรให้ไปรวบรวมไว้สำหรับการส่งมอบงาน เพราะผลงานวันนี้เขาอาจไม่เห็น แต่ถ้าเห็นในอนาคตจะได้รู้ว่ามาจากรัฐบาลชุดไหน

ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์หลังประชุม ครม.ด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้มถึงกระแสข่าวจะลาออกจากการเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรค พปชร.ว่าโอ้โห ยังไม่ได้คิดเลย ต้องไปถามคนที่วิเคราะห์เรื่องนี้ ไปถามเขาดู แล้วจะไปไหน

บิ๊กป้อมฟิตลั่นยังไม่มีถอย

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะวางมือ ถอยทางการเมืองหรือไม่ พล.อ.ประวิตรย้อนว่า จะไปถอยที่ไหน ยังไม่ได้คิดเลย เมื่อถามย้ำว่าจะยังทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพรรค พปชร.ต่อไปใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “เป็นสิ แล้วผมเป็นอยู่หรือเปล่าล่ะ” เมื่อถามว่ายืนยันจะไม่ลาออกใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรสวนว่า  ถามเหลือเกิน

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง และเลขาธิการพรรค พปชร. กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า เป็นเฟกนิวส์ เป็นข่าวที่ผู้ไม่หวังดีสร้างขึ้น ในพรรคมีความเข้มแข็งกลมเกลียว และไม่เคยมีแนวคิดอย่างนี้เลยแม้แต่คนเดียว ไม่ว่าจะเป็นผู้สมัครที่เป็น ส.ส. ไม่รู้ว่าข่าวนี้มาจากไหน พรรคทำงานเพื่อบ้านเมือง อยู่ๆ จะมีเหตุอะไรที่ทำให้ไม่มีพรรคเป็นไปไม่ได้เลย

“ไอ้ข่าวพวกนี้ น่าจะเป็นเฟกนิวส์ ที่มาสร้างกระแสลบแก่พรรคมากกว่า หัวหน้าพรรคก็ยืนยันกับผมตลอดว่าท่านจะทำงาน เป็นหัวหน้าพรรคอย่างเข้มแข็ง ไม่มีอะไรเลย” นายสันติกล่าว

รายงานข่าวจากพรรค พปชร.แจ้งว่า ในการประชุมพรรค พล.อ.ประวิตรได้เน้นย้ำในที่ประชุมถึงการเดินหน้าขับเคลื่อนพรรคต่อไป โดยไม่ยุบไม่รวมกับพรรคไหน พรรคต้องเป็นสถาบันการเมือง พร้อมย้ำว่า เราเคยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล สร้างนายกฯ มาแล้ว 1 คน วันนี้ถึงกระแสพรรคจะเป็นอย่างไรก็ยังเป็นพรรค อยู่ท่ามกลางวิกฤตการต่อสู้ เราเคยรุ่งโรจน์ได้ ส.ส. 120 คน วันนี้ต้องทำงานดูแลประชาชนตามแนวทางของพรรคต่อไป ฝากพรรคไว้กับทุกคนด้วย อย่าให้ใครดูถูก ว่าเราเป็นพรรคเฉพาะกิจ เราจะช่วยดูแลกันต่อไป

“เราจะต้องก้าวข้ามความขัดแย้งในพรรคเราเองด้วย” พล.อ.ประวิตรกล่าวทิ้งท้ายสร้างเสียงหัวเราะในที่ประชุม   แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการประชุมครั้งนี้ พล.อ.ประวิตรพยายามพูดเพื่อปลุกใจและสร้างความเชื่อมั่นในกับลูกพรรค แต่ไม่มีการระบุถึงกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่นำโดยพรรคก้าวไกลแต่อย่างใด

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกระแสพรรค ปชป.จะไปร่วมกับบางพรรคจัดตั้งรัฐบาลว่า การจัดตั้งรัฐบาลชัดเจนระดับหนึ่งว่ามี 8 พรรคการเมืองร่วมกัน สถานการณ์เวลานี้ต้องเป็นไปตามนั้น ส่วนจุดยืนพรรคมีหน้าที่อะไรต้องทำหน้าที่นั้นให้สมบูรณ์แบบที่สุด เราเคยทำมาทุกหน้าที่

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรักษาการเลขาธิการพรรค ปชป. กล่าวถึงข่าวที่ว่าจะนำว่าที่ ส.ส.ในสังกัดไปสังกัดพรรคก้าวไกล ว่าเป็นข่าวมั่ว ขอให้รับข่าวสารอย่างมีสติ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงเอ็มโอยู 8 พรรคจะมีผลต่อการตัดสินใจของ ส.ส.พรรค ชทพ.ในการโหวตลงมติเลือกนายกฯ หรือไม่ว่า ยังไม่ถึงเวลา ยังเหลือเวลาอีกหลายวัน การลงนามเอ็มโอยูเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ก็เป็นความรับผิดชอบของพรรคที่อยู่ตรงนั้น ส่วนการเลือกนายกฯ ก็เป็นเรื่องของอีกช่วงเวลาหนึ่ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อวยทักษิณชนะนายกอบจ.

"ภูมิธรรม" โว พท.ชนะนายก อบจ.อุดรฯ เป็นเรื่องธรรมดา เหตุ ปชช.ยังรัก “ทักษิณ” ชอบผลงานที่ทำมา