"สถาพร วิสาพรหม" ชวด นั่งกรรมการ ป.ป.ช. สภาสูงโหวตคว่ำ 138 เสียง หลังโดนร้องคุณสมบัติไม่ตรงตามกฎหมายกำหนด ชี้ตำแหน่งรอง ปธ.ศาลอุทธรณ์ไม่ใช่ตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดี เห็นชอบ "ศิลักษณ์" ฉลุย นั่งกรรมการ สตง. หลังถกลับเคลียร์ปม "ติดหล่ม" คุณสมบัติกรรมการสรรหาสเปกสูงเกิน
ที่รัฐสภา วันที่ 23 พฤษภาคม ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบ นายสถาพร วิสาพรหม รองประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนาญพิเศษ เป็นบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังจากที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ที่มี พล.อ.อู้ด เบื้องบน ส.ว. เป็นประธาน กมธ. พิจารณาเสร็จแล้ว
ทั้งนี้ ก่อนการประชุมเป็นการลับ นายประพันธ์ คูณมี ส.ว. ในฐานะ กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ นำเสนอรายงานช่วงหนึ่งว่า ได้รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายสถาพร ที่ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มาตรา 9 (1) ที่กำหนดให้ต้องรับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษาไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ปัจจุบัน นายสถาพร รองประธานศาลอุทธณ์คดีชำนาญพิเศษ และก่อนหน้านั้นเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลอุทธรณ์ในคดีชำนาญพิเศษ เท่ากับไม่เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลใดมาก่อน ดังนั้นไม่มีคุณสมบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้ ข้อร้องเรียนดังกล่าวเป็นจดหมายสนเท่ห์ ลงชื่อผู้ช่วยผู้พิพากษารุ่นที่ 29 รุ่นเดียวกับนายสถาพร
นายประพันธ์กล่าวด้วยว่า หนังสือร้องเรียนระบุด้วยว่า การถืออัตราเงินเดือนเท่ากันเป็นเกณฑ์เทียบ ไม่มีกฎหมายใดให้ทำได้ จะทำให้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และมีคำกล่าวอ้างเป็นหนังสือของศาลยุติธรรม ศย.003/113 เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2565 กรรมการ ก.ต. ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการแต่งตั้งโยกย้ายและลงโทษทางวินัยมีมติยืนยันเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2565 ตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ และผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์คดีชำนาญพิเศษ ไม่ใช่ตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดีผู้พิพากษาขึ้นไป ตามประกาศของ ก.ต. ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. หากตีความว่า 2 ตำแหน่งเทียบเท่ากับอธิบดีผู้พิพากษาแล้ว สิทธิสมัครตามรัฐธรรมนูญจะเข้าตามมาตรา 9 (1) แต่จะมีประเด็นที่ไม่มีมาตรฐานต่อการยื่นบัญชีทรัพย์สิน
“กมธ.ส่วนใหญ่มีมติว่าการวินิจฉัยของกรรมการสรรหาผูกพันเฉพาะผู้สมัครและกรรมการ ไม่มีผลผูกพันต่อส.ว.ที่จะให้ความเห็นชอบ ตามหนังสือร้องเรียนปัญหาคุณสมบัติของนายสถาพรหลายฉบับ มีความเห็นของนายพิสิฐ ลี้อาธรรม สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอรายละเอียดกับคุณสมบัติของนายสถาพร มีความเห็นว่าขาดคุณสมบัติเช่นกัน” นายประพันธ์กล่าว
ทั้งนี้ นายพรเพชรกล่าวว่า กรณีความเห็นต่างที่เกิดขึ้น ทางกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ ได้ทำเรื่องสอบถามไปยังคณะกรรมการสรรหาที่ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา, ประธานสภาฯ, ผู้นำฝ่ายค้าน หรือไม่ ทั้งนี้ ก่อน กมธ.จะให้คำตอบ นายพรเพชรได้สั่งให้วุฒิสภาประชุมลับ
จากนั้นที่ประชุมวุฒิสภาประชุมลับ เพื่อพิจารณาคุณสมบัตินายสถาพร โดยให้ ส.ว.ลงคะแนนลับจะให้ความเห็นชอบนายสถาพรเป็น ป.ป.ช.หรือไม่ ผลการลงมติที่ประชุมไม่ให้ความเห็นชอบ 138 เสียง ให้ความเห็นชอบ 40 เสียง ไม่ออกเสียง 27 เสียง ทำให้นายสถาพรไม่ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช.
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การประชุมวุฒิสภา ที่มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดย พล.อ.อู้ด เบื้องบน ส.ว. ในฐานะ กมธ. เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ สตง. ชี้แจงผลการตรวจสอบความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของ น.ส.ศิลักษณ์ ปั้นน่วม ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ สตง. โดยมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 60 วัน นับตั้งแต่ตั้ง กมธ.ขึ้นมาในการประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งกมธ.พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติแล้วเสร็จ และจัดทำสรุปผลรายงานแบบลับ
พล.อ.อู้ดกล่าวต่อว่า กมธ.มีข้อสังเกตเกี่ยวกับกระบวนการการได้มา และการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงใช้อำนาจของ กมธ.สรรหากรรมการ สตง. ตามมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 1.กรณีที่องค์กรอิสระไม่สามารถดำเนินการเสนอชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหากรรมการ สตง. ภายใน 20 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขาธิการวุฒิสภา 2.กรณีการปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจของกรรมการสรรหากรรมการ สตง. ในกรณีที่กรรมการสรรหามีไม่ครบ หรือพ้นกำหนดระยะเวลาการคัดเลือกแล้ว และไม่ได้มีการเสนอชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหากรรมการ สตง.
จากนั้น กมธ.ได้ขอให้มีการชี้แจงสรุปผลการดำเนินงานเป็นรายงานลับตามที่กำหนดในข้อบังคับการประชุม และขอให้มีการประชุมลับก่อนเสนอรายงาน
โดย พล.อ.อู้ดกล่าวชี้แจงว่า เราได้สอบถามไปยังคณะกรรมการสรรหาฯ ได้รับคำตอบว่าหาคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนมาเป็นกรรมการสรรหาไม่ได้ และไม่รู้จะทำอย่างไร เนื่องจากเวลามีจำกัดเพียง 20 วัน เป็นเพราะการตั้งคุณวุฒิของกรรมการสรรหาสูงเกินไป
หลังจากประชุมลับเป็นเวลาประมาณ 40 นาที นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมต่อ ได้แจ้งผลการออกเสียงลงคะแนนลับ ปรากฏว่า น.ส.ศิลักษณ์ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 182 คะแนน ไม่เห็นชอบ 1 คะแนน งดออกเสียง 4 ถือว่าได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงเป็นผู้ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ สตง. จากนั้นนายพรเพชรได้แจ้งอ่านพระบรมราชโองการประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2566 ต่อสมาชิก และได้ปิดประชุมในเวลา 14.00 น..
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตั้งกก.สอบผกก.บางซื่อ ทนายปาเกียวเล็งทิ้งตั้ม
“ดีเอสไอ” เตรียมสรุปสำนวนคดี 18 บอสดิไอคอนเสนออัยการคดีพิเศษภายใน 20 ธ.ค.นี้
นิกรหักเพื่อไทย เตือนส่อผิดกม. ให้กมธ.ตีความ
“นิกร” หักข้อเสนอ “ชูศักดิ์” เลยช่วงเวลาแปลงร่างประชามติเป็นกฎหมายการเงินแล้ว
‘สนธิ’ลั่นการเมืองใกล้สุกงอม!
“อุ๊งอิ๊ง” เมินปม กกต.สอบครอบงำต่อ เด็ก พท.ยันเป็นการดำเนินการตามปกติ
จ่อส่งคดีหมอบุญให้DSI
ตร.สอบปากคำอดีตภรรยา-ลูกสาว “หมอบุญ” เพิ่มเติม
ทักษิณรอดคลุมปี๊บ! ส้มเหลวปักธงอุดรธานี ‘คนคอน’ตบหน้า‘ปชป.’
เลือกตั้ง อบจ. 3 จังหวัด “เพชรบุรี-อุดรธานี-นครศรีธรรมราช” ราบรื่น
ล่า ‘หมอบุญ’ เมียแค้นเอาคืน
ออกหมายจับ "หมอบุญ" พร้อมพวก 9 คน ร่วมหลอกลวงประชาชนร่วมลงทุนธุรกิจ รพ.ขนาดใหญ่หลายโครงการ เสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท