ละเมิด‘กษัตริย์’มิได้ เคาะMOU23ข้อ กก.แก้ม.112เอง ป๊อกชี้บ่วงรัดคอ

“พิธา” ถือฤกษ์ 9 ปีรัฐประหาร คสช.จับมือรวม 8 พรรค 313 เสียงลงนามเอ็มโอยู เคาะ 23 นโยบายหลัก พร้อม 5 แนวทาง ลั่นเป็นหมุดหมายใหม่ที่เห็นร่วมกันว่าไม่กระทบกับรูปแบบของรัฐและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ “แดดดี้ทิม” ยัน ก.ก.จะชงเข้าสภาเองทั้งเรื่อง ม.112-นิรโทษกรรม มั่นใจสถานการณ์เปลี่ยนจากปี 2564 เชื่อ ส.ว.จะเข้าใจมากขึ้น เพราะการโหวตหนุนนั่งนายกฯ เป็นเรื่องของระบบไม่ใช่เรื่องส่วนตัว “ลุงตู่” ร่อนสารถึงสมาชิก รทสช.อย่าท้อ

เมื่อวันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม 2566 ที่ห้องบอลรูม โรงแรมคอนราด ซึ่งถือเป็นวันครบรอบ 9 ปีการทำรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.), นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.), คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.), นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.), พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.), นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม (ปธ.), นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ หัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ (พ.ส.ม) และนายวสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง (พทล.) ร่วมแถลงข่าวและลงนามบันทึกข้อตกลงร่วม (เอ็มโอยู) จัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค จำนวน 313 เสียง หลังเจรจานานเกือบ 2 ชั่วโมง

โดยนายพิธาแถลงว่า วันนี้เป็นวันที่สำคัญกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย 2-3 นัย คือครบรอบวันรัฐประหารเมื่อปี 2557 และเป็นวันที่พวกเราเซ็นเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาล ถือเป็นวันหมุดหมายที่ดี สะท้อนความสำเร็จของสังคมไทย ที่สามารถเปลี่ยนผ่านกลับมาสู่ระบบประชาธิปไตยผ่านระบบรัฐสภาอย่างสันติ ซึ่งจุดประสงค์ในการทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล เป็นการรวบรวมวาระร่วมที่เราเห็นตรงกัน และพร้อมผลักดันผ่านกลไกของรัฐบาลและรัฐสภา ขณะเดียวกันเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้ นี่เป็นจุดประสงค์เมื่อรวมวาระ ความตั้งใจ การผลักดัน ความรับผิดชอบที่เสนอประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

“บันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาลระหว่าง 8 พรรค ทำเพื่อสร้างพื้นฐานของรัฐบาล และการทำงานร่วมกันระหว่างพรรค ทุกพรรคเห็นร่วมกันว่า ภารกิจของรัฐบาลทุกพรรคที่จะผลักดันร่วมกันนั้น ต้องไม่กระทบกับรูปแบบของรัฐและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่สักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์”

สำหรับเอ็มโอยูนั้นประกอบด้วย 1.ฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนให้เร็วที่สุด โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน 2.ยืนยันและผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับประกันสิทธิสมรสสำหรับคู่รักทุกเพศ โดยจะไม่บังคับประชาชนที่เห็นว่าขัดแย้งกับหลักการของศาสนาที่ตนเองนับถือ 3.ผลักดันการปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม ให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย โดยยึดหลักความโปร่งใส ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน 4.เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เป็นระบบสมัครใจ ทั้งนี้ยังคงไว้ซึ่งกำลังทหารในยามศึกสงคราม

5.ร่วมผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชน การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงทบทวนภารกิจของหน่วยงานและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง 6.ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และปราศจากการทุจริต 7.แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันโดยการสร้างระบบและวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน 8.ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม 9.ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น ตัด ลด หรือพักใช้ชั่วคราวซึ่งการอนุมัติ อนุญาตที่ไม่จำเป็น และเป็นอุปสรรคเพื่อปรับปรุงใหม่ ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องทางด้านการเงินและสร้างแต้มต่อให้กับ SME พร้อมกับมุ่งเน้นการเติบโต GDP ของ SME สนับสนุนอุตสาหกรรม และสินค้าไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้

นำกัญชากลับบัญชียาเสพติด

10.ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยพรรคประชาชาติขอสงวนสิทธิ์ในการไม่เห็นด้วยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเหตุผลด้านศาสนา 11.ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ด้วยการผลักดันกฎหมายปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมแก้ปัญหาแนวเขตป่าไม้และที่ดินของรัฐที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชน รวมถึงการทบทวนคดีที่เป็นผลจากนโยบายทวงคืนผืนป่า 12.ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า การคำนวณราคา และกำลังการผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดค่าครองชีพประชาชนและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน 13.จัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นใช้วิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์

14.สร้างระบบสวัสดิการดูแลประชาชนตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและภาระทางการคลังระยะยาว 15.แก้ไขปัญหายาเสพติดโดยเร่งด่วน 16.นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษผ่านบัญญัติของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา 17.ส่งเสริมเกษตรและปศุสัตว์ปลอดภัย คุ้มครอง รักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิตส่งเสริมการตลาด ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี และแหล่งน้ำ สร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรเพื่อวางแผนการผลิตและรักษาผลประโยชน์เกษตรกร ส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 18.แก้ไขกฎหมายประมง ขจัดอุปสรรค เยียวยา ฟื้นฟู และพัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน

19.ยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพให้มีสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม และได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมสอดคล้องกับค่าครองชีพและการเติบโตของเศรษฐกิจ 20.ยกระดับระบบสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ทั้งการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ 21.ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต 22.สร้างความร่วมมือและกลไกภายในและระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษ รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด และ 23.ดำเนินการนโยบายการต่างประเทศ โดยการฟื้นฟูบทบาทผู้นำของไทยในอาเซียน ตามกรอบความร่วมมือต่างๆ โดยเฉพาะกรอบพหุภาคี และรักษาสมดุลการเมืองระหว่างประเทศของไทยกับประเทศมหาอำนาจ

เปิด 5 แนวทางบริหารประเทศ

นายพิธายังแถลงอีกว่า ทุกพรรคเห็นพ้องกันว่าจะร่วมกันบริหารประเทศด้วยแนวทางการปฏิบัติดังต่อไปนี้ 1.ทุกพรรคจะคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชนทุกคน 2.ทุกพรรคจะทำงานโดยซื่อสัตย์สุจริต หากมีบุคคลของพรรคใดมีพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชัน ทุกพรรคจะยุติการดำรงตำแหน่งของบุคคลนั้นๆ ทันที 3.ทุกพรรคจะทำงานโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน จริงใจต่อกัน สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน โดยยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งมากกว่าผลประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง 4.ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจฝ่ายบริหารของรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนของแต่ละพรรคการเมือง และ 5.ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงนี้ โดยอาศัยอำนาจนิติบัญญัติของผู้แทนราษฎรที่สังกัดแต่ละพรรคการเมือง

ต่อมานายพิธาได้ตอบคำถามถึงการยื่นแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ยืนยันจะทำอยู่หรือไม่ว่า ยืนยันว่าจะมีการทำอยู่ โดยเมื่อ ก.พ.64 พรรค ก.ก.ได้ยื่นเข้าสู่สภาแล้ว แต่ไม่มีการบรรจุวาระเข้าที่ประชุม แต่ครั้งนี้คิดว่าน่าจะประสบความสำเร็จลุล่วงด้วยดี โดยเป็นการดำเนินการของพรรค ก.ก.

เมื่อถามว่า หากใช้สภาในการแก้ไขมาตรา 112 จะส่งผลกระทบต่อเสียงที่จะสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ หรือไม่ นายพิธากล่าวว่า ไม่คิดว่าอย่างนั้น เพราะพรรคมีทีมเจรจาเพื่อคลายความกังวลใจจากวุฒิสภาหลายเรื่อง โดยเจตจำนง เนื้อหากฎหมายตั้งใจทำให้มาตรา 112 ไม่โจมตีทางการเมือง คำอธิบายที่ยื่นไปแล้ว หรือเทียบกับความเป็นสากลก็ดี ซึ่งเอ็มโอยูเขียนชัดเจนว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันละเมิดมิได้ จะทำให้วุฒิสภาสบายใจมากขึ้น รวมถึงประชาชนจำนวนมากยืนยันว่ามาตรา 112 เป็น 1 ใน 45 กฎหมายที่พรรคเตรียมยื่นเข้าสภาเพื่อพูดคุยอย่างมีวุฒิภาวะ ในมุมกลับจึงไม่สร้างความกังวลใจ เมื่อพูดคุยกันได้รับฟังข้อมูล เป็นแนวทางที่ดี นี่คือสิ่งที่ได้รับรายงานจากทีมเจรจาของพรรคก้าวไกล

ฟุ้ง ม.112 สถานการณ์เปลี่ยนไป

เมื่อถามว่า หากผลักดันมาตรา 112 เข้าสภาท่าทีของอีก 7 พรรคร่วมที่เหลือเป็นอย่างไร นายพิธากล่าวว่า ย้ำว่าทุกพรรคมีเอ็มโอยูตรงกัน หากพูดคุยถึงวาระร่วมของเรา การผลักดันนโยบายร่วมมีทั้งวาระร่วม และวาระเฉพาะของแต่ละพรรคอยู่ แต่ละพรรคมีโอกาสผลักดันนโยบายเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้ขัดแย้งจากเอ็มโอยู โดยผ่านกลไกของรัฐมนตรีในฝ่ายบริหาร และผลักดันผ่าน ส.ส.ในฝ่ายนิติบัญญัติ

ถามย้ำถึงจุดยืนของพรรค ก.ก.จะเป็นพรรคเดียวหรือไม่ที่จะผลักดันแก้มาตรา 112 เป็นวาระเฉพาะในสภา และสถานการณ์ตอนนี้เปลี่ยนไปอย่างไรกับเมื่อ ก.พ.64 ที่ยื่นร่างเข้าสภาไปแล้ว นายพิธากล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้เปลี่ยนไปเยอะ ทุกสำนักข่าวตอนนี้มีการพูดคุยกันเรื่องนี้ แตกต่างกับปี 2562-2564 ที่ไม่มี และประเด็นต่างๆ เรื่องของมาตรา 112 ได้ตอบไปแล้ว

ถามถึงกรณีไม่บรรจุประเด็นการอำนวยความยุติธรรม หรือนิรโทษกรรมในเอ็มโอยู แสดงว่าจะผลักดันเป็นวาระเฉพาะใช่หรือไม่ นายพิธากล่าวว่า การนิรโทษกรรมมีความพยายามพูดคุยกัน แต่เราตัดสินใจว่าจะเป็นวาระเฉพาะแต่ละพรรค โดยก้าวไกลยืนยันจะดำเนินการตามที่หาเสียงไว้ เป็นวาระเฉพาะของพรรค

เมื่อถามถึงแผนสำรองของพรรคก้าวไกล หากนายพิธาไม่ผ่านเสียง ส.ว.ในการโหวตเป็นนายกฯ จะทำอย่างไร นายพิธากล่าวว่า คิดว่ากระบวนการของเรา ไม่ว่าคณะเจรจา หรือคณะเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองของรัฐบาลเป็นไปด้วยดี ไม่จำเป็นที่ต้องมีแผนสำรอง ส่วนกระแสข่าวพรรคเพื่อไทยเตรียมรวมกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นั้น ในฐานะเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาลทำงานด้วยกันมา 4 ปี และที่คุยกันมา 1 สัปดาห์ พรรคร่วมมีความหนักแน่น ไม่ว่าข่าวลือหรือพูดอะไรต่างๆ มาสั่นคลอน ยืนยันไม่หวั่นไหว ทุกพรรคบนนี้ทำงานด้วยความเคารพ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่มีความกังวลเรื่องนี้แต่อย่างใด

นพ.ชลน่านกล่าวประเด็นนี้ว่า ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยไม่เคยรับรู้ รับทราบ ในฐานะหัวหน้าพรรคขอปฏิเสธ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ยืนยันครั้งที่ 501 เรายังยึดมั่นเจตนารมณ์ที่ประกาศหนุนนายพิธาเป็นนายกฯ คนที่ 30 และร่วมมือกับพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลให้ได้

ส่วนกรณีพรรคอื่นและ ส.ว.ต้องโหวตให้นายพิธาเป็นนายกฯ หรือไม่นั้น นายพิธากล่าวว่า พรรคอื่นที่ไม่ได้อยู่ที่นี่ หรือ ส.ว.นั้น การโหวตให้พวกเราถือเป็นการรักษาระบบ ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับเรา แต่เป็นการประคับประคองระบอบประชาธิปไตยให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ยืนยันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของระบบก่อนหน้านี้ คุณหญิงสุดารัตน์ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องมาตรา 112 ว่า สิ่งที่อยู่ในเอ็มโอยูคือสิ่งที่ต้องทำ ดังนั้นคือไม่มีแก้มาตรา 112 ฉะนั้นเรื่องมาตรา 112 จะเป็นนโยบายแต่ละพรรคที่จะไปผลักดันในสภา ไม่เกี่ยวกับการร่วมรัฐบาล หากเป็นกฎหมายที่พรรคใดพรรคหนึ่งอยากผลักดันก็สามารถที่จะเสนอได้ แต่จุดยืนของพรรคเราชัดเจนตั้งแต่แรก และย้ำว่าจุดยืนของเราไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112

ขณะเดียวกัน นายนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง ได้เดินทางมาที่โรงแรมคอนราดด้วย โดยระบุว่ามาสังเกตการณ์ เนื่องจากเป็นห่วงว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลที่ฮ่องกง เพราะขณะนี้มีแผนสองและมีเรื่องหุ้นสื่อเป็นเดิมพัน ที่จะพลิกขั้วใหม่ให้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านกับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

ด้าน นพ.ชลน่าน, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค พท. และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค พท. ประสานเสียงพร้อมกันถึงกระแสจัดตั้งรัฐบาลที่ฮ่องกงว่า “ไม่มีๆ” โดยเมื่อถามว่ายืนยันใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านตอบทันทีว่า "เพื่อไทยยืนยัน"

ช่วงค่ำวันเดียวกัน นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า "ผมได้อ่าน MOU การร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกลแล้ว ผมไม่เห็นด้วยในสองประเด็น ซึ่งแตกต่างไปจากเนื้อหาที่ปรากฏในร่าง MOU สุดท้ายที่หลุดออกมาทางสื่อ ประเด็นแรก การเพิ่มข้อความที่ว่า 'ต้องไม่กระทบกับรูปแบบของรัฐและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์' ข้อความเหล่านี้ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่แล้ว

 การบัญญัติข้อความนี้ซ้ำลงไป ไม่ส่งผลใดๆ ในทางกฎหมายและในทางการเมือง เพราะอย่างไรเสีย รัฐบาลใดที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐและระบอบการปกครองได้อยู่แล้ว พวกที่ทำแบบนี้ได้ คือ พวกก่อการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญเท่านั้น ตรงกันข้าม การเขียนลงไปแบบนี้ คือ การแสดงออกแบบ 'กินปูนร้อนท้อง' หรือ 'วัวสันหลังหวะ' เสียมากกว่า นอกจากนั้น การเพิ่มถ้อยคำที่ว่า 'สถานะอันเป็นที่สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ขององค์พระมหากษัตริย์' ก็อาจเป็น 'บ่วงรัดคอ' เมื่อพรรคก้าวไกลเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็อาจจะถูก ส.ส. ส.ว. และศาลรัฐธรรมนูญ นำมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญมาผสมผสานกับข้อความใน MOU ดังกล่าว มาขยายความตีความแบบพิสดาร เพื่อมัดไม่ให้พรรคก้าวไกลได้ใช้กลไกสภาแก้ไขมาตรา 112 ได้

 ประเด็นที่สอง การตัดเรื่องการผลักดันให้มีการนิรโทษกรรมคดีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง ผ่านกลไกรัฐสภาออกไป พรรคก้าวไกลมีพันธกิจสำคัญที่รับมาจากความคาดหวังของประชาชน เยาวชน จำนวนมาก ในการยุติปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่พัวพันกันมาตั้งแต่รัฐประหารปี 49 ผ่านเหตุการณ์ปี 53 ผ่านรัฐประหาร 57 และการชุมนุมของ 'ราษฎร' ในปี 63-65 การจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้สำเร็จ ต้องใช้กลไกการนิรโทษ ถ้าทุกพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล 313 เสียง เห็นตรงกันตั้งแต่วันนี้ ก็เป็น 'แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์' ให้ประชาชนคนธรรมดาทุกกลุ่ม ทุกฝักฝ่าย ที่ออกมาชุมนุมทางการเมือง แสดงออกทางการเมือง"

ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) โพสต์ภาพระหว่างไปไหว้พระและพักผ่อนกับครอบครัวที่ฮ่องกงเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมภาพทานขนมหวานกับหวานใจจ๊ะจ๋า โดยระบุว่า "แบบนี้เหรอที่มีข่าวแพร่ออกไปว่ามาตั้งรัฐบาลที่ฮ่องกง"

สั่งแจงด่วนปัดบิ๊กป้อมไขก๊อก

สำหรับความเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในกระแสข่าวลือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร.จะสละสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และลาออกจากหัวหน้าพรรค เพื่อเปิดทางให้ ส.ส.ไปอยู่กับพรรค พท.นั้น พล.อ.ประวิตรได้มอบหมายนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง ในฐานะเลขาธิการพรรค พปชร.มาแถลงชี้แจงเรื่องดังกล่าวในวันที่ 23 พ.ค.ทันที

ส่วนที่พรรค รทสช.นั้น นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค รทสช. ยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหมยังอยู่กับพรรค เป็นสมาชิกและประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรค และเป็นแคนดิเดตนายกฯ ส่วนการทำงานของพรรคก็คงปรับเปลี่ยนไปตามจังหวะเวลาอย่างเหมาะสมอยู่แล้ว

“หัวหน้าและเลขาธิการพรรคยังเป็นคนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมาเรา 2 คน ทั้งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค เรียกว่าเสื่อผืนหมอนใบออกมาตั้งพรรค รทสช.ตั้งแต่ยังไม่มีอะไรเลย และทํามาได้จนถึงขนาดนี้ ก็ต้องถือว่าทุกที่นั่ง ทุกคะแนนเสียง สำหรับพรรคเกิดใหม่ถือว่าเป็นความสำเร็จของพรรค”

ต่อมาในเวลา 14.30 น. นายณัฐกานต์ สังขดี ประธานสภาพัฒนาเยาวชนกรุงเทพมหานคร ได้ยื่นจดหมายจากคนรุ่นใหม่ถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้กำลังใจและขอให้ยืนหยัดเคียงข้างประชาชนต่อไป และก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเดินขึ้นลิฟต์เพื่อไปยังห้องประชุม มีแฟนคลับมาสวมกอดให้กำลังใจพร้อมร้องไห้ และระบุว่าให้  พล.อ.ประยุทธ์อดทนอย่าท้อ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “อย่าไปอ่านโซเชียลมากอาจทำให้ไม่สบายใจ" นอกจากนี้ยังมี น.ส.จารุณี สุขสวัสดิ์ ดารานักแสดงชื่อดังมาให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ โดย น.ส.จารุณีกล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้ไม่เคยแสดงจุดยืนทางการเมือง แต่จุดยืนของตัวเองคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และไม่ต้องการเห็นชาติสูญสิ้นสลาย

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ได้ส่งสารถึงเพื่อนสมาชิกพรรค รทสช.ทุกคน โดยระบุตอนหนึ่งว่า "อยากให้กำลังใจ อย่าเพิ่งท้อถอย ขอให้มีกำลังใจ เดินหน้าเข้าหาประชาชนให้มากหลังเลือกตั้ง เพื่อขอบคุณที่ให้การสนับสนุน พร้อมกับขอคำแนะนำเพื่อการปรับปรุงการทำงานให้เข้าถึงพี่น้องประชาชนได้กว้างขวางขึ้น เร่งสรุปบทเรียนและเตรียมความพร้อมเพื่อความสำเร็จในคราวถัดไป"

ส่วนนายราเมศ  รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงข่าวถึงกระแสข่าวพรรคจะไปร่วมรัฐบาลว่า พรรคยังไม่มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ข่าวที่ออกมาบิดเบือนทั้งสิ้น เพราะเรามีกฎเกณฑ์กติกาที่ต้องทำตามระบบและระเบียบ ส่วนสมาชิกพรรคที่แสดงความเห็นเรื่องการยกมือโหวตให้นายพิธานั้นเป็นความเห็นส่วนบุคคลทั้งสิ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง