ขีดเส้นห้ามม็อบเข้าสภา

ตำรวจล้อมคอกม็อบ 23 พ.ค. สแกนยิบพื้นที่ ขีดเส้นห้ามเข้าไปในรัฐสภา พร้อมจัดควบคุมฝูงชนสกัดผู้ชุมนุมเดือดจัดล้อมรถ ส.ว. ด้าน "หมอพรทิพย์" ควันออกหู เหยียบย่ำหัวใจคนรักสถาบัน "คำนูณ" ถอดรหัส 112 โยงเลือกประธานสภาสำคัญไม่แพ้ตำแหน่งนายกฯ ขณะที่ "ยิ่งลักษณ์" ไล่บี้รัฐประหารผ่านโซเชียล ลั่น ปชช.ไม่ทนพวกเผด็จการอีกต่อไป

เมื่อวันจันทร์ ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า มีความเคลื่อนไหวจากฝ่ายรักษาความปลอดภัยของสภา ภายหลังแกนนำราษฎรและกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ประกาศนัดชุมนุมหน้ารัฐสภาในวันที่ 23 พ.ค. เวลา 17.00 น.เพื่อเรียกร้องให้ ส.ว.โหวตนายกรัฐมนตรีตามมติของประชาชน โดยวันนี้ พล.ต.ต.โชคชัย งามวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) พ.ต.อ.วิทวัส เข่งคุ้ม ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลบางโพ (ผกก.สน.บางโพ) พร้อมกับผู้บริหารของสภา อาทิ นายอรุณ ลายผ่องแผ้ว ผู้อำนวยการสำนักรักษาความปลอดภัย สภาผู้แทนราษฎร นายรุ่งธรรม เปรมมางกูร ผอ.สำนักบริหารงานกลาง วุฒิสภา เป็นต้น ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่เพื่อวางมาตรการรับมือประชาชนที่จะมาชุมนุม

 พล.ต.ต.โชคชัยกล่าวว่า ตนมาดูแลพื้นที่และประสานกับเจ้าหน้าที่รัฐสภา ซึ่งได้ร่วมกันประเมินสถานการณ์ความเรียบร้อยของพื้นที่ โดยยังไม่พบข้อกังวลในการสถานการณ์ที่จะมีความรุนแรง ส่วนวันพรุ่งนี้ (23 พ.ค.) จะมีการประชุมร่วมกันอีกครั้งเพื่อหาข้อยุติ ทั้งนี้ การเตรียมการของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะใช้กำลังของ สน.บางโพเป็นหลัก ส่วนจะใช้กำลังจากหน่วยอื่นหรือไม่ขอดูอีกครั้ง

 “ไม่น่าจะมีความรุนแรง เพราะเราอยู่ในสถานการณ์ที่เรากำลังจะมีรัฐบาลใหม่ การสร้างสถานการณ์หรือทำอะไรที่ไม่เรียบร้อยไม่เป็นผลดีกับใครเลย” พล.ต.ต.โชคชัย ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การหารือดังกล่าวเบื้องต้นจะมีการใช้รั้วเหล็กตั้งเป็นแนวกั้นพื้นที่ เพื่อจำกัดบริเวณการชุมนุมให้อยู่ในเฉพาะทางเท้าด้านหน้ารัฐสภา และไม่อนุญาตให้รุกล้ำเข้าไปยังพื้นที่ด้านในรัฐสภา อย่างไรก็ดี ในการประเมินสถานการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เตรียมหน่วยควบคุมฝูงชน (คฝ.) จำนวน 450 นายเพื่อดูแลความเรียบร้อย โดยมีความกังวลว่ากลุ่มผู้ชุมนุมอาจก่อความรุนแรง เช่นล้อมรถของ ส.ว. เพราะในวันดังกล่าวจะมีการประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ และมีวาระพิจารณาหลายเรื่อง ซึ่งอาจล่วงไปจนถึงช่วงบ่าย

อย่างไรก็ดี ในการนัดประชุมวุฒิสภาพบว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ได้นัดประชุมกัน เช่น คณะ กมธ.พัฒนาการเมือง ของนายเสรี สุวรรณภานนท์ ที่นัดประชุมในเวลา 13.30 น. โดยมีวาระหารืออย่างไม่เป็นทางการ เกี่ยวกับ MOU ของพรรคก้าวไกล ทั้งนี้เมื่อเวลา 14.30 น.ได้ยกเลิกการหารือดังกล่าวแล้ว เพราะกังวลต่อสถานการณ์การชุมนุมหน้ารัฐสภา

 ขณะที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของวุฒิสภา แจ้งให้สื่อมวลชนทราบถึงแนวทางปฏิบัติในการติดตามทำข่าวการประชุมวุฒิสภาของวันที่ 23 พ.ค.ว่า ให้ใช้พื้นที่บริเวณ ชั้น 1 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) สำหรับการสัมภาษณ์หรือทำข่าวต่างๆ สามารถเข้าเก็บภาพหรือทำข่าวในห้องประชุมวุฒิสภา ณ ห้องทำข่าวสื่อมวลชน ชั้น 3 ได้ปกติ แต่ไม่อนุญาตให้เข้าบริเวณชั้น 2 อาคารรัฐสภา (ฝั่ง ส.ว.) โดยเด็ดขาด

ด้าน พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก มีใจความช่วงหนึ่งว่า "การเตรียมม็อบออกมาในวันที่ 23 พ.ค. จะยิ่งทำให้เห็นทุนที่อยู่เบื้องหลังว่าตั้งใจเหยียบย่ำหัวใจคนไทยที่ทำเลียนความจงรักภักดีในรัชกาลที่ 9 ยิ่งกดดันก็ยิ่งไม่ได้สิ่งที่ปรารถนา ยิ่งอ้าปาก ก็เห็นลิ้นไก่หมด อย่าประเมินความรักในแผ่นดินต่ำ พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงธรรม ทรงทำนุบำรุงพระศาสนา ทรงเสียสละเพื่อรักษาชาติ ทรงสละทรัพย์เพื่อรักษาแผ่นดิน อย่าประเมินพลังรักแผ่นดินของคนไทยที่จะออกมาปกป้องสถาบันกษัตริย์ต่ำ ไม่เชื่อรอดู นักรบรักแผ่นดินพร้อมที่จะปกป้อง #อย่าแตะสถาบัน #อย่าแตะ112 #ช้างรักแผ่นดิน"

ด้าน น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำกลุ่มราษฎร โพสต์เฟซบุ๊ก Panusaya Sithijirawattanakul ระบุว่า "ว่าไปนะ เรามาได้ไกลกันมาก ไกลขนาดที่เราก็คงไม่คิดกันว่ามันจะเร็วขนาดนี้ และที่มาได้ขนาดนี้เพราะพวกเราทุกคนสู้ สู้ด้วยหลักการและสิทธิว่าการชุมนุมต้องเกิดขึ้นได้ การแสดงความคิดเห็นต้องเกิดขึ้นได้ การเมืองต้องเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่แค่กลุ่มอำนาจ ทุกคนต้องได้มีอำนาจในการกำหนดอนาคตของตนและสร้างสรรค์สังคมที่พวกเราทุกคน ที่หมายถึงทุกคนทุกกลุ่มต้องการ"

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra ระบุว่า "วันนี้เป็นวันครบรอบ 9 ปีของการรัฐประหารที่ความรู้สึกของดิฉันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศที่ถูกรุกไล่อย่างหนักจากฝ่ายเผด็จการ วันนี้ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นเครื่องสะท้อนแล้วว่า ประชาชนไม่ทนกับกลุ่มคนที่ได้อำนาจมาโดยมิชอบอีกต่อไปแล้ว"

ที่ทำการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรค ตอบคำผู้สื่อข่าวในฐานะที่ตั้ง ส.ว.มาจะบอกอะไรเกี่ยวกับท่าทีในการโหวตเลือกนายกฯ หรือไม่ว่า “ไม่ใช่เรื่องของผม เป็นเรื่องของกระบวนการกฎหมายที่จะว่ากันไป จะให้ผมพูดอะไรได้ล่ะ คำถามบางคำถามไม่ควรจะมาถามผม”

ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง “ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 26” ระบุใจความว่า "การเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรจะเกิดขึ้นก่อนการเลือกนายกรัฐมนตรี โดยทั่วไปตำแหน่งนี้จะตกเป็นของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล แต่จะเป็นของพรรคร่วมรัฐบาลพรรคไหนนั้น แล้วแต่จะตกลงกัน ปกติตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรก็สำคัญมากอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้จะสำคัญมากเป็นพิเศษ หนึ่งในความสำคัญมากเป็นพิเศษก็เนื่องจากจะเกี่ยวข้องกับประเด็นมาตรา 112"

นายคำนูณระบุอีกว่า "เชื่อว่าการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะไม่เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีชุดเสียงข้างมากที่กำลังฟอร์มทีมเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกันอยู่ในขณะนี้ แต่ผมก็ยังเชื่อเช่นกันว่าพรรคก้าวไกลจะเสนอร่างกฎหมายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในนามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตรงนี้แหละครับคือประเด็น เพราะเมื่อเสนอร่างกฎหมายในนามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่ใช่จะเข้าสู่การพิจารณาโดยอัตโนมัติ จะต้องผ่านการวินิจฉัยจากประธานสภาผู้แทนราษฎรให้บรรจุเข้าระเบียบวาระเสียก่อนจึงจะพิจารณาได้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคก้าวไกลเคยเสนอร่างฯ มาแล้วตั้งแต่เมื่อต้นปี 2564 แต่แม้เสนอแล้ว ก็ไม่เคยได้รับการบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเลยจนครบวาระ แม้จะมีการทวงถามจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคก้าวไกลหลายครั้ง เพราะเข้าใจว่าท่านชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่แล้ว วินิจฉัยว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6 จึงไม่บรรจุเข้าระเบียบวาระ"

 “ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่จะวินิจฉัยเหมือนหรือต่างจากประธานสภาผู้แทนราษฎรคนก่อน หากพรรคก้าวไกลเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามหลักการเดิมที่ปรากฏอยู่ในนโยบายของพรรค และตามตัวร่างพระราชบัญญัติที่เคยเสนอมาเมื่อต้นปี 2564 คือ 'ย้ายหมวด-ลดบทลงโทษ-ยอมความได้-เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด-ให้สำนักพระราชวังฟ้องแทน' เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรชุด 2566 อีกครั้ง? พรรคต้นสังกัดของท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญยิ่งต่อคำตอบนี้ ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่่ 26 สำคัญไม่แพ้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30” นายคำนูณระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ

“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป