“อาคม” เชื่อตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าไม่กระทบเศรษฐกิจ ยันนักลงทุนมั่นใจเสถียรภาพการเงิน-การคลังประเทศ โยนเคาะงบประมาณปี 67 พร้อมจี้ทำนโยบายการคลังแบบมุ่งเป้าอย่าหว่านแห “เอกชน” แนะรีบจบเรื่องจัดตั้ง ครม. ผวาสุญญากาศงบ นักวิชาการชี้ไม่ง่ายทำรัฐสวัสดิการเหมือนยุโรป
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 พ.ค. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ล่าช้าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้หรือไม่ว่า เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องของมุมมองการประเมิน ไม่ว่าจะหน่วยงานของรัฐ เอกชน รวมทั้งหน่วยงานของต่างประเทศ ซึ่งเชื่อว่าจะพิจารณาจากความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการสร้างขีดความสามารถในอนาคต ซึ่งในส่วนของไทยที่ผ่านมา การลงทุนก็มีความชัดเจนว่าจะลงทุนในเทคโนโลยีชั้นสูง จึงเป็นสิ่งที่ต่างชาติมอง
“มุมมองการขยายตัวเศรษฐกิจเป็นเรื่องของปัจจัยภายนอกมากกว่าที่จะเข้ามากระทบ ส่วนปัจจัยภายในแง่การบริหารเศรษฐกิจมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว อัตราการเติบโตแม้ว่าตัวเลขไม่ได้สูงมากนัก แต่ในแง่เสถียรภาพ ทั้งด้านการคลัง และด้านการเงิน อยู่ในเกณฑ์ดี ต่างชาติเชื่อมั่นเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจและเสถียรภาพการคลังของประเทศ” นายอาคมกล่าว
รมว.การคลังกล่าวอีกว่า มั่นใจว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ตามที่คาดไว้ และอาจเร่งตัวขึ้นสวนกระแสเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะชะลอลง ซึ่งสะท้อนจากตัวเลขการส่งออกที่หดตัวในช่วงที่ผ่านมา ก็เป็นเรื่องต้องแก้ไขในบางหมวดสินค้าที่ต้องเร่งส่งออกให้มากขึ้น ในส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยเอสเอ็มอี (ธพว.) ก็เข้ามาเชื่อมต่อ ถ้าขาดเงินในช่วงใด ก็พร้อมให้ความช่วยเหลือสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง
นายอาคมยังกล่าวถึงการจัดทำงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้าว่า ต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาดูงบประมาณ ซึ่งตามปฏิทินก็ต้องเริ่มจัดทำแล้ว รัฐบาลใหม่ก็ต้องเข้ามาดูว่ามีส่วนไหนจะปรับปรุงอย่างไร ส่วนมาตรการที่ดำเนินการไปแล้ว เช่น บัตรบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็มีการดำเนินการตามกฎหมาย รอบปี 2564-2565 มีการลงทะเบียนจ่ายเงินไปหมดแล้ว ถ้าจะมีการปรับเปลี่ยนก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลใหม่
“การทำนโยบายรัฐสวัสดิการยังจำเป็น โดยควรทำนโยบายการคลังที่มุ่งเป้ากลุ่มที่มีความเดือดร้อน การให้ความช่วยเหลือแบบกว้างขวางเหมือนในช่วงโควิด-19 ตอนนี้ทุกอย่างก็คลี่คลายไปแล้ว ดังนั้นการใช้นโยบายการคลังต้องมุ่งเป้าเป็นทิศทางเดียวกับต่างประเทศ ส่วนความกังวลต่อนโยบายรัฐบาลชุดใหม่หรือไม่นั้น ยังไม่รู้ ต้องรอให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาก่อน แต่ความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างประเทศก็เชื่อมั่นมาตลอด” นายอาคมระบุ
นายธวัชชัย เศรษฐจินดา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังไม่มีความชัดเจนว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้า จะเป็นปัญหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณ ส่งผลให้เกิดสุญญากาศทางเศรษฐกิจ และหากการเมืองไม่เกิดเสถียรภาพหรือไม่ลงตัว สิ่งที่น่ากังวลคือจะเกิดการต่อต้าน และเกิดมีประชาชนลงถนนแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจหลัก เพราะปีนี้การส่งออกขยายตัวน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ไทยจึงมีการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลัก แต่ถ้าเกิดปัญหาความวุ่นวายในประเทศ จะทำให้การท่องเที่ยว และการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่เลือกเข้ามาพักผ่อนในไทยเลือกที่จะไปประเทศอื่นแทน
"อยากให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว โดยเกิดความเห็นชอบจากทุกฝ่าย และพยายามเอาผลประโยชน์ของชาติเป็นตัวตั้ง" นายธวัชชัยกล่าว
นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่ผลักดันนโยบายส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ได้แก่ รถยนต์ รถกระบะ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสาร รถบรรทุก เรือ รถไฟไฟฟ้า และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน
ศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า หากรัฐบาลใหม่วางเป้าหมายต้องการให้ประเทศไทยมีระบบรัฐสวัสดิการแบบยุโรปเหนือย่อมทำได้ แต่เป็นเรื่องที่อาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ และไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน เพราะการเดินหน้าระบบรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบในไทย เรื่องแรกที่ต้องตอบให้ได้คือ ระบบราชการไทยเป็นอย่างไร กรณีไทย ต้องปรับเปลี่ยนระบบราชการให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพก่อน คือต้องปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่พร้อมกับการกระจายอำนาจการจัดระบบสวัสดิการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องที่สองคือต้องปฏิรูปรายได้ภาครัฐและเพิ่มภาษี และเรื่องที่สาม ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมเมื่อเทียบกับจีดีพีและเทียบกับงบประมาณ
“การยกระดับประเทศไทยสู่ระบบรัฐสวัสดิการต้องใช้เวลา ประเมินจากฐานะการเงินการคลังของประเทศ รายจ่ายด้านสวัสดิการสังคม โครงสร้างประชากรล่าสุด สภาวะเศรษฐกิจและสังคมของไทย คาดว่าต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีจึงบรรลุเป้าหมายการมีระบบรัฐสวัสดิการที่มีมาตรฐานแบบยุโรปเหนือ จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่มีนโยบายสร้างระบบรัฐสวัสดิการทำงานต่อเนื่องอย่างน้อยสองวาระจึงจะบรรลุเป้าหมายได้” ศ.ดร.อนุสรณ์ระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'มาริษ' บอกยิ่งลักษณ์ยังไม่ประสานกลับไทยไม่รู้พ่อนายกฯ มีกี่สัญชาติ!
'มาริษ' เผยคืบตั้ง คกก.เจทีซี รอพิจารณาเพิ่มบุคคล ยันชง ครม. เร็วที่สุด ปัด 'ยิ่งลักษณ์' ยังไม่ประสานกลับไทย
ครม.ไร้วาระโต้ง ชื่อยังไม่ถึงคลัง ผวาขัดกฎหมาย
นายกฯ เมินเสียงวิจารณ์ "กิตติรัตน์" นั่ง ปธ.บอร์ด ธปท.
สันติผงาด‘น.1’ ‘ก.ตร.’ถกเดือด อาวุโสน้อยพรึ่บ
"นายกฯ อิ๊งค์" นั่งหัวโต๊ะประชุม ก.ตร. 20 พ.ย. แต่งตั้งรอง ผบ.ตร.-ผบช. กว่า 40 ตำแหน่ง จับตาถกเดือด!
‘อิ๊งค์’ตีปี๊บผลงาน100วัน
“นายกฯ อิ๊งค์” ต่อสายยินดี “ทรัมป์” พร้อมชวนมาเมืองไทย นายกฯ
สุริยะสั่งฟ้องเขากระโดง ‘ที่ดิน’ยันยึดคำพิพากษา
ปมเขากระโดงยังไม่จบ “สุริยะ” ย้ำที่ดินพิพาทเป็นของ รฟท.
60ปีเฮได้เงินหมื่น จ่ายไร่ละพันพักหนี้
“นายกฯ อิ๊งค์” ชี้ “ทักษิณ” จ้อการเมืองแค่สีสันสนุกสนาน ไม่ฉุดเศรษฐกิจดิ่ง