"วงศ์สยาม" คาดมี ส.ว. 20 เสียงหนุน "พิธา" ผบ.ทร.ยังไม่ชี้ชัดส.ว.เหล่าทัพจะโหวตทิศทางเดียวกัน ยันอยากเห็นตั้งรัฐบาลราบรื่น "บิ๊กกี่" บอกเขาให้อยู่นิ่งๆ "หมอพรทิพย์" ลั่นไม่ขวางนั่งนายกฯ ย้ำจุดยืนปกป้องสถาบัน เครือข่ายนักวิชาการยก 3 ล้านเสียงบี้สภาสูงเคารพความเห็นประชาชน
เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ว่าที่ ร.ต.วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีว่า ขอตัดสินใจในวันโหวตว่าจะสนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกฯหรือไม่ ซึ่งเกณฑ์ที่จะใช้ตัดสินใจคือ บ้านเมืองจะต้องมีสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นหลัก ถ้าจะแก้ไขมาตรา 112 ต้องมาดูจะแก้ไขอย่างไร แม้คนที่ชนะที่หนึ่งในการเลือกตั้งจะได้คะแนนเสียงมากที่สุด แต่ไม่เบ็ดเสร็จ พรรคที่ได้คะแนนลำดับถัดๆ มาได้คะแนนนิยมจากประชาชนเช่นกัน ทุกคนทุกคะแนนมีความหมายเท่ากัน
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในที่สุดแล้วฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรน่าจะไปรวบรวมเสียงได้เกิน 376 คน โดยไม่ต้องมาพึ่ง ส.ว. ในการโหวต ยังมีเวลาอีกเกือบ 2 เดือน ฝ่าย ส.ส.คงไปจัดการกันเองได้ ส่วนที่นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี ระบุขณะนี้มี 75 เสียง ส.ว.ที่พร้อมโหวตสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ นั้น คงไม่น่าจะถึง ดูแล้ว ส.ว.ฝั่งที่โหวตให้นายพิธาคงมีอยู่ราว 20 เสียง ยืนยันไม่มีใครมาสั่ง ส.ว.ในการโหวตได้ ทุกคนมีอิสระ สามารถคิดวิเคราะห์แยกแยะเองได้
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวว่า ส.ว.ไม่ได้แบ่งว่าเป็นสายใคร ทุกคนเป็นอิสระ ขณะนี้พรรคก้าวไกลต้องการเสียงจาก ส.ว.กว่า 60 เสียง ไม่มีใครรู้ว่าจะครบหรือไม่ ยังเหลือเวลาอีก 1-2 เดือน วันนี้คิดอย่าง พรุ่งนี้อาจคิดอีกอย่างก็ได้ จึงไม่สามารถสรุปได้ว่ามี ส.ว.จะสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ กี่คน แต่ที่เห็นตอนนี้มีอยู่ 5-6 คน จึงต้องรอดูสถานการณ์ การที่ฝ่ายค้านเดิมไปทำเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาลแค่ตกลงเจรจาร่วมกัน แต่ใครจะเปลี่ยนอะไรก็เกิดขึ้นได้ ไม่แน่นอน การเมืองไทยเปลี่ยนได้ทุกคน
ส่วนที่นายพิธายืนยันจะแก้ไขมาตรา 112 นั้น ส.ว.ยืนยันไม่เห็นด้วย ส.ว.มีประเด็นเดียว พรรคใดคิดแก้มาตรา 112 เราไม่เอา เป็นคนละเรื่องกับที่ ส.ว.ไม่เห็นด้วยกับพรรคที่ได้คะแนนเสียงมาอันดับ 1 ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ ส.ว. แต่อยู่ที่พรรคก้าวไกล ถ้ายังยืนยันแก้มาตรา 112 เราไม่เอาด้วย แต่ถ้ายอมถอน ไม่แก้ไข ก็ไม่มีปัญหา ส.ว.ก็เห็นชอบกันได้ เราก็อยากเห็นนโยบายที่ดี นโยบายพิสดารที่ประชาชนได้ประโยชน์ อยากให้พรรคก้าวไกลได้บริหาร แต่ติดเรื่องเดียวคือ อย่าไปยุ่งกับสถาบัน หากไม่มีเรื่องเหล่านี้ เดินตามนโยบายที่หาเสียงไว้ก็จบแล้ว เท่านั้นเอง
พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ส.ว. น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์เมื่อถูกถามถึงจุดยืนจะโหวตเลือกนายพิธาเป็นนายกฯ หรือไม่
เช่นเดียวกัน พล.อ.นพดล อินทปัญญา ส.ว. ที่เป็นเพื่อนสนิทและเพื่อนร่วมรุ่น ตท.6 ของ พล.อ.ประวิตร ปฏิเสธให้สัมภาษณ์เช่นกัน โดยตอบเพียงสั้นว่า “เขาให้ ส.ว.อยู่นิ่งๆ”
พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวว่า ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น ขณะนี้ตามกระบวนการประชาธิปไตย พรรคการเมืองที่ได้รับเสียงข้างมากต้องทำการรวบรวมเสียงและเจรจาจัดตั้งรัฐบาล เมื่อเรียบร้อยแล้วค่อยเสนอเข้ามาที่สภา ตามระยะเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด ยังไม่ถึงขั้นตอนการโหวต เพราะตอนนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการจัดตั้งรัฐบาล ส่วน ผบ.เหล่าทัพจะเห็นตรงกันหรือไม่ ยังไม่ถึงเวลานั้น
เมื่อถามว่า ส.ว.ต้องพิจารณาบุคลิกท่าทีของผู้ที่จะมาเป็นนายกฯ ใช่หรือไม่ พล.ร.อ.เชิงชายกล่าวว่า ต้องรอการเสนอขึ้นมา ส่วนการเปลี่ยนผ่านของรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคการเมืองใหม่ๆ มีคะแนนนิยมมาก ประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่นั้น ต้องดูนโยบายที่รัฐบาลหรือผู้นำประเทศที่จะวางการดำเนินการในอนาคต แต่ตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดของนโยบายที่ชัดเจน มีเพียงข้อมูลที่หาเสียงกับประชาชนไว้ อย่างไรก็ตาม เราอยากให้การตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีข้อขัดแย้ง และไม่เกิดเหตุการณ์วุ่นวาย ส่วนกองทัพเป็นกลไกของรัฐบาล ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะรัฐบาลใดต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว
'หมอพรทิพย์' ย้ำป้องสถาบัน
พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ทวีตข้อความพร้อมรูปบูรพกษัตริย์ ระบุว่า "ความปั่นป่วนทางการเมืองมาจากความกลัวที่จะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี หากตำแหน่งนั้นจะเป็นของเรามันก็จะได้เป็น เชื่อสิ ประเด็นอยู่ที่ว่าผู้นำตั้งใจจะมาสร้างอะไรให้กับคนไทย สังคมไทย ก่อนเลือกตั้งหลังเลือกตั้ง สิ่งที่สื่อสารออกมามีแต่เรื่องตั้งใจจะทำลาย กำจัดทิ้งโดยเฉพาะสถาบันหลักของไทย นโยบายที่ตั้งใจสร้างสิ่งดีๆ ให้สังคมอาจจะไปต่อไม่ได้เพราะวางลำดับความสำคัญผิด สะดุดขาตัวเอง ล้มเอง ถ้าล้มแรงก็กลับมาเหมือนเดิมได้ยาก คนที่เกิดมาก่อน คนที่เห็นต่างก็เป็นคนไทย เมื่ออ้างประชาธิปไตยต้องรับฟัง ระบบประชาธิปไตยไม่ใช่การใช้อารมณ์ การไล่ล่า การกดดัน การทำร้าย ทำลายฝ่ายตรงข้าม
หมอต้องการความชัดเจนว่าเมื่อเป็นรัฐบาลคุณจะทำอะไรอย่างไรกับนโยบายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะนโยบายตอนหาเสียง สมาชิกพรรคพูดและแสดงออกคือการทำลาย ต้องไม่ลืมหลักธรรมะแห่งพุทธ การกระทำของเราเกิดจากตัวเรา เสียดายที่การเรียนวิชาประวัติศาสตร์หายไป แถมเรียนในสภาพแวดล้อมที่ที่เน้นวัตถุพัฒนากิเลส บางคนไปเรียนแต่เมืองนอก จึงไม่เคยทราบความจริงที่ไม่มีในสังคมโซเชียล ปฐมกษัตริย์ของประเทศไทย พ่อขุนผาเมืองทรงรบเพื่อสร้างสุโขทัย ยกบัลลังก์ให้เพื่อนขึ้นปกครองก็เพื่อให้เป็นไทย และปลีกวิเวกไปปฏิบัติธรรม กษัตริย์ทุกพระองค์ทรงใช้ธรรมะปกครองแผ่นดินจนทำให้ไทยเป็นไทยมาจนทุกวันนี้
หมอตั้งใจกระตุ้นเตือนคนไทยที่รักแผ่นดิน รักสถาบัน ถึงเวลาที่ต้องไม่ปล่อยให้ภัยคุกคามแบบนี้ทำร้ายสังคม ไม่ต้องรอใครทำก่อน พลังความดีจะปกป้องเรา เราไม่ได้ขัดขวางที่คุณจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ แต่เราจะขัดขวางและร่วมปกป้องสถาบันแน่นอน สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมีมติหรือเสียงส่วนใหญ่ นักรบแห่งแผ่นดินจักต้องปกป้องรักษาไว้ด้วยชีวิต"
นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ยืนยันว่า หากนายพิธาสามารถรวบรวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็พร้อมที่จะยกมือสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ซึ่งที่ผ่านมาก็มีจุดยืนเช่นนี้มาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนและหลังเลือกตั้ง แต่อาจจะเป็นการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าตนเองนั้นคัดค้าน ซึ่งไม่ใช่แม้แต่นายพิธาเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นใคร หากรวบรวมเสียงข้างมากได้ ก็สนับสนุนทุกคน ไม่ได้จะไปขัดขวาง
สำหรับกระแสสังคมที่กดดัน ส.ว.ในขณะนี้ถือเป็นเรื่องปกติ และทุกอย่างต้องทำความเข้าใจกันต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องของคนที่จะมาเป็นรัฐบาล ที่ต้องทำหน้าที่ประสานทำความเข้าใจกับทุกพรรคการเมืองและ ส.ว.ทุกคน เพราะ ส.ว.มี 250 คน ก็ย่อมมีความเห็นที่แตกต่างกัน ดังนั้น ขึ้นอยู่กับวิธีการของแต่ละคนที่จะทำความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกันทางโทรศัพท์ หรือพูดคุยกันเป็นกลุ่ม ซึ่งขณะนี้ยังมีเวลาอีก 2-3 เดือน ทั้งนี้ ไม่ทราบว่า ส.ว.แต่ละคนมีประเด็นใดที่ยังมีข้อสงสัยในตัวนายพิธา หรือพรรคก้าวไกล ซึ่งต้องพูดคุยกัน เชื่อว่าถ้าได้พูดคุยก็น่าจะเห็นตรงกันได้ เพราะ ส.ว.ทุกคนมีความเป็นผู้ใหญ่ ไม่จำเป็นต้องไปตั้งแง่กัน นอกจากนี้ ยังมองไม่เห็นว่ามีอะไรที่จะเป็นเหตุของความขัดแย้งหรือมีอะไรที่เป็นอุปสรรค เป็นเพียงการคิดและคาดเดากันไปเองเท่านั้น
บี้สภาสูงเคารพเสียง ปชช.
ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่ายนักวิชาการเสียงประชาชน นำโดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมแถลงผลโหวตเสียงประชาชน “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่ ส.ว.ควรเคารพเสียงประชาชน และโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมากของ ส.ส.” และข้อเสนอแนะถึง ส.ว. และพรรคการเมืองเสียงข้างมากในการตั้งรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา
โดย ผศ.ดร.ปริญญาเปิดเผยผลโหวตเสียงประชาชนเห็นด้วยว่า ส.ว.ควรเคารพเสียงประชาชน โดยโหวตเลือกนายกฯ ตามเสียงข้างมากของ ส.ส. จากการเปิดโหวตระหว่างวันที่ 15-18 พ.ค.66 มีผู้โหวต 3,487,313 ครั้ง เห็นด้วย 85% ไม่เห็นด้วย 15% พบความผิดปกติ และน่ากังวลใจ เพราะจากเดิมมีประชาชนเห็นด้วย 93% แต่ก่อนปิดโหวต 12 ชั่วโมง พบว่ามีการโหวตพร้อมๆ กัน 300,000 ครั้ง ทำให้ผลโหวตเหลือ 85% คล้ายกับจงใจทำให้ผลโหวตของประชาชนลดลง
ส่วนข้อเสนอแนะต่อ ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชน ต่างจาก ส.ส.ที่ได้ฉันทามติจากประชาชน ส.ว.จึงควรต้องฟังเสียงประชาชน ไม่ควรทุ่มเถียงและเกี่ยงงอน หรือบอกประชาชนอย่ากดดัน เพราะเป็นเรื่องส่วนรวมที่ประชาชนเจ้าของประเทศมีสิทธิส่งเสียงได้ ยังมีเวลาอีก 60 วัน ให้ว่าที่รัฐบาลเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลหาเสียงครั้งที่ 2 ชี้แจงนโยบายกับ ส.ว.และ ส.ส.ที่เหลือ ให้ร่วมโหวตนายกฯ แต่จะหาเสียงอย่างไรให้เป็นเรื่องวิธีการของพรรคที่กำลังจัดตั้งรัฐบาล
รศ.ดร.พิชายกล่าวว่า ส.ว.หลังเลือกตั้งมีจำนวนไม่น้อยที่ออกมาเคารพเสียงประชาชน เชื่อว่า ส.ว.ที่เหลือจะฟังเสียงประชาชน เพราะถ้าประเทศไทยสามารถเดินไปตามครรลองของประชาธิปไตย เราจะมีศักดิ์ศรีมากขึ้นในเวทีโลก และยังจะช่วยป้องกันความขัดแย้งภายในประเทศด้วย ขอ ส.ว.อย่ากังวลใจ เพราะยังเหลือวาระอีก 1 ปี ในการดำเนินงานของรัฐสภา ดังนั้นควรฟังเสียงของประชาชน ช่วยกันเอาฟืนออกจากกองไฟ ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้แสดงฝีไม้ลายมือ ยิ่งยื้อ ยิ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ
“เราเคยเห็นพฤษภาทมิฬ ประวัติศาสตร์บอกไว้แล้วว่า ถ้าไม่ทำตามเจตจำนงของประชาชนท่ามกลางความคุกรุ่นของแรงกดดันที่มีการตื่นตัวทางการเมืองที่เห็นเด่นชัดมาตั้งแต่การเลือกตั้ง ประชาชนเฝ้าติดตามให้ ส.ว.ทำตามเจตจำนง ส.ว.จึงต้องตระหนัก และกลับไปพิจารณา” รศ.ดร.พิชายระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ