รำลึก31ปีพฤษภา ปลุกไม่สูญเสียซ้ำ ยึดครรลองปชต.

รำลึก 31 ปีพฤษภา ปลุกสังคมไม่ให้เกิดความสูญเสียซ้ำรอยอดีต   "ปริญญา" ชี้ต้องเดินตามครรลองประชาธิปไตย ยึดหลักเสียงข้างมาก  พร้อมได้รับการตรวจสอบจากองค์กรอิสระ ขณะที่ก้าวไกลถอด 4 บทเรียนสร้างหลักประกันปิดวงจรรัฐประหาร   สกัดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด "หญิงหน่อย" วอนพรรคการเมืองฝ่าวงล้อมจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ ไร้วาระแอบแฝงซ่อนเร้น ด้านผู้นำแรงงานกระตุกนักการเมืองยืนอยู่บนผลประโยชน์ชาติ-ประชาชน 

ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ถ.ราชดำเนิน เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 จัดงานรำลึก 31 ปี เหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม โดยช่วงเช้าเป็นพิธีวางพวงมาลาและกล่าวสดุดีวีรชน ก่อนมีพิธีสงฆ์และการเสวนาในช่วงบ่าย

โดยนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล  ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม วางพวงมาลาเป็นคนแรก พร้อมกล่าวว่า   การจะไม่ให้เกิดความสูญเสียอย่างในอดีตเกิดขึ้นอีก คือการทำตามครรลองประชาธิปไตย ยึดหลักเสียงข้างมาก และรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่พร้อมรับการตรวจสอบจากองค์กรอิสระและจากทุกภาคส่วน หรือการยึดหลักความโปร่งใส โดยในระบอบประชาธิปไตยที่แม้ว่าจะมีความเห็นต่างกัน แต่จะสามารถเดินหน้าไปด้วยกันได้ ซึ่งเมื่อ 9 ปีก่อนการเมืองรถถังหรือฝ่ายเผด็จการรัฐประหารชนะ แต่เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประจักษ์ชัดแล้วว่าฝ่ายประชาธิปไตยได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ดังนั้นเมื่อกระแสแห่งประชาธิปไตยได้กลับมาอีกครั้ง คนไทยจะต้องไม่ทำให้มันล้มเหลวอีก

จากนั้นผู้แทนพรรคการเมืองต่างๆ   วางพวงมาลาและกล่าวรำลึกวีรชน โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า การรำลึกถึงผู้สูญเสียวันนี้มีเหตุการณ์ที่ต้องจารึกมากมาย ขอให้ทุกฝ่ายนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง  มั่นใจว่าพรรคการเมืองเป็นสถาบันที่จะเป็นแกนกลางในการสืบสานเจตนารมณ์วีรชนพฤษภา'35 เพื่อให้ประชาธิปไตยที่แท้จริงปรากฏเป็นจริง เพราะพรรคการเมืองคือกลไกที่สำคัญที่สุดที่จะรับมอบอำนาจจากประชาชน และการมอบอำนาจนั้น เพื่อความสุขของประเทศชาติและประชาชน

ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ระบุว่า 31 ปีมี 4 บทเรียนที่ไม่มีบทสรุปร่วมกันในสังคมไทย บทเรียนแรกคือการยอมรับกติกาประชาธิปไตยร่วมกัน จะไม่นำมาซึ่งการสูญเสียใด ซึ่งวันนี้สังคมไทยสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันที่ยืนอยู่บนพื้นฐานและหลักการประชาธิปไตยได้ โดยไม่เกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจหรือประชาชนไม่ต้องสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิต

นายชัยธวัชกล่าวว่า บทเรียนที่ 2 ต้องปฏิรูปกองทัพ เพื่อเป็นหลักประกันว่าในอนาคตจะไม่มีเหตุการณ์รัฐประหาร หรือการแทรกแซงการเมืองโดยกองทัพอีก หากไม่ทำให้กองทัพออกจากบทบาทปัญหาความมั่นคงภายในแล้วปล่อยให้การจัดการปัญหาความมั่นคงภายในเป็นหน้าที่ของพลเรือนอย่างจริงจัง ก็ไม่มีหลักประกันว่าจะไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก

ส่วนบทเรียนข้อที่ 3 การไม่ปล่อยให้เกิดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ซึ่งเหตุการณ์พฤษภา'35 ยังไม่เคยมีการไต่สวน  สอบสวน แสวงหาข้อเท็จจริง แล้วนำผู้ที่มีบทบาทในการปราบปรามประชาชนมารับผิด มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้มีอำนาจ ดังนั้นหากไม่ต้องการเห็นผู้มีอำนาจรัฐใช้อำนาจในการปราบปรามประชาชนจนเกิดการบาดเจ็บล้มตายหรือสูญหายอีกในอนาคต  จำเป็นต้องไม่ปล่อยให้มีวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดอีกต่อไป โดยต้องแสวงหาข้อเท็จจริงในหลายเหตุการณ์ในอดีต

 “การไม่ยอมให้เกิดการนิรโทษกรรมโดยผู้มีอำนาจและกลไกในกระบวนการยุติธรรมที่จะนำเอาผู้มีอำนาจที่ทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายมารับผิดชอบจึงเป็นความจำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างเหตุการณ์พฤษภา'35 อีก และบทเรียนข้อ 4 คือ เสรีภาพสื่อมวลชน ไม่ถูกเซ็นเซอร์ปิดปาก ซึ่งเป็นวาระสำคัญในสังคมไทย” เลขาธิการพรรคก้าวไกลระบุ

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า นอกจากให้กำลังใจ เชิดชู และเคารพวีรชนผู้เสียสละแล้ว อยากให้กำลังใจ ซึ่งประชาชนได้ใช้สิทธิ์เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ชัยชนะไม่ได้จบที่ปลายปากกาของประชาชน แต่มันจะต้องมีความพยายามมากไปกว่านั้น ในการรักษาสิทธิและอำนาจของประชาชนเองที่ได้เลือกพรรคการเมืองให้ไปทำงาน

คุณหญิงสุดารัตน์ระบุว่า ที่สำคัญทางออกที่จะแก้ไขปัญหาอย่างถาวรคือ ต้องร่วมกันทำภารกิจ 2 อย่างคือ อย่างแรก ทำให้พรรคการเมืองที่ประชาชนมอบฉันทามติได้เดินหน้าต่อในการจัดตั้งรัฐบาล โดยที่ไม่มีอะไรที่จะมีวาระแอบแฝงซ่อนเร้น ภารกิจที่ 2 คือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคไทยร่างไทยได้เสนอเข้าสภาแล้ว จึงอยากเชิญชวนทุกคนร่วมกันสนับสนุน

"ไม่อยากเห็นความสูญเสียแม้แต่ชีวิตเดียวในอนาคตอีกแล้ว ต้องให้สิทธิ์และเคารพเสียงประชาชนอย่างแท้จริงช่วยกันแก้กติกายุติการสืบทอดอำนาจให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน มาร่วมกันสร้างสิ่งที่จะแก้ปัญหาให้ประเทศอย่างถาวร ไม่ใช่แก้จุดหนึ่งแล้วก็จะเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา" คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

ขณะที่ตัวแทนผู้ใช้แรงงาน นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า เผด็จการนั้นแต่งตัวมาหลายรูปแบบ  หากมีอาวุธมีรถถังเป็นเครื่องมือก็เห็นภาพได้ชัดเจน แต่ยังมีเผด็จการที่ซ่อนรูป คือเผด็จการทุนนิยม โดยในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น เจตนารมณ์ของประชาชนชัดเจนแล้วว่าต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง  ขณะที่ชนชั้นผู้ใช้แรงงานไม่ต้องการให้ผู้ใดไปเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์นี้

 “จึงขอฝากถึงนักการเมืองที่ได้เข้าสภาว่า ต้องเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา แต่ไม่ต้องการเห็นลักษณะพวกมากลากไป  ขอให้ยืนอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง และอย่าสร้างเงื่อนไขให้ฝ่ายเผด็จการที่จะยกอ้างในการขอรัฐประหาร โดยเฉพาะการทุจริตคอร์รัปชัน และทุกฝ่ายอย่าบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน ให้กระบวนการทั้งหมดเดินหน้าไปตามครรลองประชาธิปไตย หากไม่พึงพอใจกับพรรคการเมืองหรือใครก็แล้วแต่ ก็มีหนทางประชาธิปไตยในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริงในท้ายที่สุด และนักการเมืองลืมศักดิ์ศรีและคำมั่นที่เคยให้ไว้กับประชาชน” นายสาวิทย์ระบุ

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวยืนยันว่า จะดำเนินการสืบสานเจตนารมณ์วีรชนจนถึงวันสุดท้ายของลมหายใจ และกล่าวว่า ญาติวีรชนได้ทำเจตนารมณ์ 3 อย่างครบถ้วน แต่ขาดอยู่อย่างเดียวที่ยังไม่ได้ทำให้ญาติวีรชน คือการชดเชยเยียวยาให้กับญาติวีรชน จึงฝากถึงผู้แทนราษฎรที่จะได้เป็นรัฐบาลในสมัยหน้าพิจารณาเรื่องนี้ด้วย  เพราะที่ผ่านมาญาติวีรชนไม่ร้องขอและไม่ยอมรับการชดเชยที่ไม่มีศักดิ์ศรี โดยเฉพาะจากรัฐบาลเผด็จการ และฝากถึงพรรคการเมืองให้ทำตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่มีมติบอกนักการเมืองชัดเจนแล้วว่า ต้องการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นฝ่ายการเมืองต้องทำให้ได้ อย่าให้ประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงผิดหวัง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง