เอกชนห่วงสุญญากาศ ชี้ขึ้นค่าแรงซํ้าเติมศก.

ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เม.ย. ลดลงในรอบ 4 เดือน อยู่ที่ระดับ 95.0 เหตุผู้ประกอบการยังกังวลค่าไฟ-ราคาน้ำมัน ส.อ.ท.บี้เร่งตั้งนายกฯ หวั่นเศรษฐกิจเกิดสุญญากาศ จ่อทำสมุดปกขาวชงรัฐบาลใหม่เบรกขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน เม.ย.2566 อยู่ที่ระดับ 95.0 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 97.8 ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เนื่องจากมีปัจจัยลบจากการชะลอตัวของภาคการผลิต ที่เดือน เม.ย.มีวันหยุดต่อเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ประกอบกับอุปสงค์ต่างประเทศยังคงอ่อนแอ สะท้อนจากดัชนีคำสั่งซื้อและยอดขายต่างประเทศปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากผลกระทบเศรษฐกิจโลกถดถอย

นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทยอยปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีมีภาระหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งมองไประยะต่อไป คาดการณ์ดัชนีฯ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 105.0 ลดลงจากเดือนก่อน  คาดอยู่ที่ระดับ 106.3 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูงจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าชะลอตัว ส่งผลลบต่อภาคการส่งออกของไทย  สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบในตลาดโลก ทำให้ต้นทุนการผลิตยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากอัตราค่าระวางเรือที่ทยอยปรับลดลงตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 การขยายตัวการบริโภคในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.จึงมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐให้ส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้าและกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ ทั้งภายในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) และอเมริกาใต้ รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า และออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า เช่น จัดสรรงบประมาณเป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบและลดต้นทุนการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม

นายมนตรีกล่าวว่า ขณะนี้ ส.อ.ท.อยู่ระหว่างจัดทำสมุดปกขาวนำเสนอรัฐบาลใหม่ ดังนั้นสิ่งสำคัญขณะนี้คือ การเร่งจัดตั้งรัฐบาลและการตั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำงานล่าช้าจนถึงเดือน ก.ย.-ต.ค. 2566 ไทยจะมีช่วงสุญญากาศ 4-5 เดือน อาจกระทบการใช้เงินงบประมาณปี 2567 และการจัดทำงบปี 2568 จึงอยากให้เร่งโดยเร็ว เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้า

โดยประเด็นที่จะนำเสนอในสมุดปกขาว จะเป็นเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทย ที่ขณะนี้ลดลง โดยการปรับโครงสร้างกฎระเบียบภาครัฐ 1,000 ฉบับ ที่เคยศึกษาไว้จะช่วยลดงบประมาณได้กว่า 90,000 ล้านบาท โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ ส.อ.ท.มีความกังวล เพราะพรรคการเมืองมีการหาเสียงไว้จะปรับขึ้นแบบก้าวกระโดดไปที่ 450-600 บาทต่อวัน จึงควรเน้นการเพิ่มค่าแรงจากทักษะฝีมือแรงงานมากกว่า ควบคู่กับการลดค่าครองชีพด้วย ส่วนข้อเสนออื่นๆ คือการสนับสนุนเปิดเสรีไฟฟ้า ที่เห็นตรงกับพรรคการเมืองหาเสียง เพื่อปรับโครงสร้างใหม่ เป็นการลดต้นทุนด้านพลังงาน เป็นต้น

ด้านนายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท.ยังมองการจัดตั้งรัฐบาลเป็นแบบบวกว่าจะดำเนินการได้ ซึ่งนโยบายพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยมีหลักการคล้ายกัน แต่ต่างวิธีการทำเท่านั้น โดยการปรับขึ้นค่าแรงเป็นอีกนโยบายหนึ่งที่ห่วง เพราะหากขึ้นเร็วแบบก้าวกระโดด จะกระทบผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ขณะที่รายใหญ่มีศักยภาพในการจ่ายเพิ่มอยู่แล้ว แต่จะไปหนุนให้ใช้ระบบหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรกลมากขึ้น

 “ส.อ.ท.ไม่ได้คัดค้านการขึ้นค่าแรง แต่อยากให้ตัวเลขสอดคล้องกับข้อเท็จจริง จึงหวังว่าเมื่อเป็นรัฐบาลแล้วจะหารือกันบนข้อมูลก่อนตัดสินใจ ซึ่งหลายนโยบายเป็นประชานิยม ทางประธาน ส.อ.ท.ก็ระบุไว้ชัดว่าทำได้แต่ต้องพอดี ต้องมีแหล่งที่มาของเงินรายได้ ซึ่ง ส.อ.ท.เองยินดีให้ข้อมูลและทำงานร่วมกัน” นายวิวรรธน์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง